วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์








         พระยาทรงฯมีชื่อเดิมคือเทพ พันธุมเสน เป็นบุตรของร้อยโทไท้ นายทหารกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกแล้ว ได้ทุนไปศึกษาต่อ ที่ประเทศเยอรมนี เข้าโรงเรียนนายร้อย เมื่อสอบผ่านหลักสูตร 2 ปีแล้ว นักเรียนจะมียศเป็น ฟาฮ์นริช (Fahnrich ตรงกับระดับชั้นนายสิบ) แต่จัดว่าเป็น "นักเรียนทำการนายร้อย" มีสิทธิพิเศษแตกต่างจากนายสิบชั้นประทวนทั่วไป ท่านเข้าเรียนต่อวิชาทหารช่าง ทั้งฝึกทั้งเรียนหนักอีก2ปี จึงได้เข้าสอบเลื่อนขึ้นเป็น "เดเก้น-ฟาฮ์นริช" (degen แปลว่า กระบี่) คือมีสิทธิใช้กระบี่และเครื่องแบบนายทหารสัญญาบัตร เว้นแต่ยังคงใช้อินทรธนูนายสิบ ชั้นยศนี้คงจะเทียบเท่า "ว่าที่ร้อยตรี" รอจนกว่า จักรพรรดิ์ไกเซอร์ วิลเฮล์มองค์จอมทัพจะโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรยศจากพระหัตถ์ในทุกๆวันเฉลิมพระชนม์พรรษา 27 มกราคม พร้อมกันนั้นจะได้รับพระราชทานพระฉายาลักษณ์ ขนาด 10 นิ้ว x 12 นิ้วที่ทรงลงพระปรมาภิไธยเองทุกพระรูป  จึงจะเปลี่ยนใช้อินทรธนูได้เป็น "นายร้อยตรี" (Oberleutnant) อย่างสมบูรณ์
       นายร้อยตรีเทพ พันธุมเสนได้เข้าประจำการในกองทัพเยอรมันที่กองทหารในเมืองมักเคเบอร์ก ก่อนที่จะเดินทางกลับสยามเมื่อสงครามโลกครั้งแรกระเบิดขึ้นในปี พ.ศ. 2458 และเข้ารายงานตัวเพื่อรับราชการในกองทัพบกต่อจนได้รับพระราชทานยศเป็น ร้อยเอกหลวงรณรงค์สงครามเมื่อพ.ศ. 2461 และย้ายไปเป็นผู้บังคับการทหารช่างรถไฟ กองพันที่ 2 กรมทหารบกที่ 3 มีผลงานสำคัญคือ
ก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือ จากถ้ำขุนตานถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่
ก่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออก จากแปดริ้วถึงสถานีรถไฟอรัญประเทศ
ก่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงนครราชสีมา
       สุด ท้ายก่อนที่จะมีบทบาทยิ่งใหญ่  ได้รับพระราชทานยศนายพันเอก และบรรดาศักดิ์เป็นพระยาทรงสุรเดช ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร โรงเรียนนายร้อยทหารบกเป็นที่รู้กันว่า พวกนักเรียนนอกมักจะมีแนวความคิดที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของ ประเทศมาเป็นประชาธิปไตย พระยาทรงนั้นท่านเห็นว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่สยามใช้อยู่ขณะนั้น เจ้านายน้อยใหญ่หลายองค์ได้แสดงความประพฤติไม่เหมาะสมเป็นที่ดูแคลนของคน ทั่วไป แต่ก็ยังดำรงยศฐาบรรดาศักดิ์บังคับให้ราษฎรกราบกรานอยู่  ที่แย่คือการให้อภิสิทธิแก่เจ้านายเท่านั้นในการเข้าดำรงตำแหน่งสูงๆทั้ง ด้านการทหารการปกครอง และงานราชการทั่วไปโดยไม่คำนึงถึงความสามารถ สามัญชนที่ถึงแม้จะมีความเหมาะสมกว่า ก็ไม่มีโอกาสได้ทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองได้เต็มที่ สมกับความรู้ที่ได้ไปเล่าเรียนมา ในบันทึกของพระยาทรงสุรเดชเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า " พวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แทบทั้งหมด มุ่งแต่เพียงทำตัวให้โปรดปรานไว้เนื้อเชื่อใจจากพระเจ้าแผ่นดินไม่ว่าด้วย วิธีใด ตลอดทั้งวิธีที่ต้องสละเกียรติยศด้วย..."
        วิธีหลังนี้ พระยาทรงท่านได้พิสูจน์ตนเองจนถึงที่สุดแห่งชีวิตว่า คนอย่างท่านทำเช่นนั้นไม่ได้  เมื่อมีความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้อยู่ เพื่อนรุ่นน้องที่ห่างกันมากแต่สนิทสนมตั้งแต่เด็ก คือ ร้อยโทประยูร ภมรมนตรีจึงสามารถเชื่อมโยงให้ไปร่วมกันคิดอ่านกับกลุ่มนักเรียนนอกฝรั่งเศส ซึ่งคนสำคัญในกลุ่มนั้นคือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(ปรีดี พนมยงค์) และนายพันตรีหลวงพิบูลสงคราม(แปลก ขิตะสังคะ) ตกลงว่าจะร่วมมือกันกระทำการเปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครองของสยามให้เป็น ประชาธิปไตยให้ได้โดยเร็ว ไม่รอให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯพระราชทานรัฐธรรมนูญลงมาเองตามที่ทรงแสดง พระราชประสงค์ไว้ เพราะไม่ทราบว่าวันนั้นจะเป็นเมื่อไรและเนื้อหาจะเป็นอย่างไร
 พระยาทรงป็นนักเรียนนายร้อยเยอรมันรุ่นเดียวกับพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน) และเป็นรุ่นพี่พันโท พระประศาสตร์พิทยายุทธ์(วัน ชูถิ่น) จึงชักชวนนายทหารทั้งสองมาเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์  หลังจากนั้นได้ดึงพันเอก พระยาฤทธิ์อัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในพระนครอันสำคัญมาร่วมด้วย ต่อมาทั้งสี่คนนี้ได้รับฉายาว่า “สี่ทหารเสือ” แห่งคณะราษฎร ซึ่งมีพระยาพหลผู้อาวุโสที่สุดได้รับการเลือกจากผู้ร่วมก่อการทุกสายให้เป็น หัวหน้าคณะ ส่วนพระยาทรงเป็นหัวหน้าเสนาธิการผู้วางแผนการยึดอำนาจในครั้งนี้
     ท่านสรศัลย์ แพ่งสภาผู้ล่วงลับได้เขียนเรื่องตอนนี้ไว้ในหนังสือ “นักเรียนนายร้อยไทยในเยอรมัน ยุคไกเซอร์” ทำให้คนรุ่นหลังสามารถแกะร่องรอยที่มาที่ไปในอดีตได้ว่า พระยาทรง ท่านได้เพาะศัตรูไว้กับผู้ใดพ.อ. พระยาทรงสุรเดชที่ยอมรับกันว่าปราดเปรื่องเฉียบคมเป็นมันสมองของคณะราษฎร เป็นบุคคลที่หัวหน้าสายทหารกลุ่มหนุ่มไม่ใคร่ชอบ แต่ยังแซงขึ้นมาได้ติดด้วยอาวุโสและบารมี พระยาทรงฯถือตัวอาวุโสว่าเป็นครูบาอาจารย์ ชอบใช้วิธีอธิบายเชิงสอน และออกจะพูดแรงตรงไปตรงมาสั้นๆ อย่างเรื่องแผนและวิธีปฏิบัติสำหรับวันที่ 24 มิถุนายน พระยาทรงฯ ถามในที่ประชุมว่า ถ้าราษฎรรวมตัวเข้าต่อสู้ขัดขวางด้วยความจงรักภักดีในราชบัลลังก์ คณะราษฎรจะทำอย่างไร นายทหารหนุ่มเหล่าปืนใหญ่ท่านหนึ่งตอบว่า "ยิง" ตามแบบคนหนุ่มไฟแรงใจร้อน
พระยาทรงสุรเดชสวนทันควัน “ยังงี้บรรลัยหมด กำลังเรามีเท่าไหร่ กำลังราษฎรกับทหารหน่วยอื่นเท่าไหร่ ….ทำไมไม่เตรียมวิธีการประนีประนอมปลอบให้เข้าใจจุดมุ่งหมายของคณะราษฎร”

   พระยา ทรงฯ มีจุดอ่อนจุดแข็งอยู่ที่เคยเป็นครูบาอาจารย์มานาน ก็เลยเป็นครูอยู่ตลอดเวลา พูดจาโผงผางครูสอนศิษย์พูดจาทุบแตกและทุบโต๊ะ วันดีคืนดีใครตอบไม่ถูกเรื่องอาจจะได้รับคำชมว่า "โง่" ก่อนที่ท่านจะอธิบายถูกผิด เป็นไปได้เป็นไปไม่ได้ในปัญหายุทธการ ใครที่โดนตอกหน้าแตกหน้าชามาก็สุมความแค้นไว้เงียบๆ
นี่คงเป็นเหตุหนึ่ง ที่คณะราษฎรรุ่นหนุ่มถือเป็นเรื่องขื่นๆอยู่ ข้ามาจากฝรั่งเศสหนึ่งในตองอูเหมือนกัน อำนาจยศศักดิ์มันไม่เข้าใครออกใคร หากมักใหญ่ใฝ่สูงจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินก็ต้องกำจัด"สี่เสือ" หัวหน้าคณะราษฎรชั้นอาวุโสลงเสียก่อน และก็ "พันเอก พระยาทรงสุรเดช" นี่แหละ เป็นบุคคลแรกที่ต้องกำจัดออกไปโดยเร็ว เพราะฉลาดเกินไป ตรงเกินไป ซื่อเกินไป รู้ทันเกินไป ผู้ใต้บังคับบัญชาลูกศิษย์ลูกหารักใคร่เกินไป พันเอกพระยาทรงสุรเดช ไม่รู้ตัวเลยว่ามีศัตรูในพวกเดียวกัน ที่จ้องจะเชือด

                                             

    ในการวางแผนยึดอำนาจ พระยาทรงแสดงความเป็นทหารอัจฉริยะอย่างเต็มที่ โดยพระยาทรงกล่าวว่าการปฏิวัติ2475เป็นเรื่องของยุทธวิธี ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ เพราะการปฏิวัติที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ตื่นตัวต้องการเรียกร้อง ความเปลี่ยนแปลง จะหวังใช้กำลังพลจำนวนมากนั้นไม่ได้เรื่องแน่ เนื่องจากความลับจะรั่วไหลแล้วกลายเป็นกบฎ ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คง ทราบดีอยู่แล้วว่า แผนยุทธวิธีที่พระยาทรงวางไว้นั้น ยอดเยี่ยมเพียงใดในการใช้กำลังทหารเพียงหยิบมือเดียว ปฏิบัติการไม่ถึงครึ่งวันก็สำเร็จเรียบร้อยแบบไม่สูญเสียเลือดเนื้อ คณะผู้ก่อการได้ประชุมกันเพียง 2 ครั้ง ครั้งแรกก็เพียงไม่กี่เดือนก่อนลงมือที่บ้านพักของพระยาทรงเอง และครั้งที่ 2 ที่บ้านพักของร้อยโทประยูร ภมรมนตรี ที่สรุปแล้วพระยาทรงสุรเดชเสนอแผนการทั้งหมด 3 แผนให้ที่ประชุมเลือก คือ
     แผนที่ 1 ให้นัดประชุมบรรดานายทหารที่กรมเสนาธิการ หรือที่กรมยุทธศึกษา หรือที่ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ผู้ใดไม่เห็นด้วยก็จะเข้าควบคุมตัวไว้ ในระหว่างนั้นคณะผู้ก่อการฝ่ายทหารเรือและพลเรือนแยกย้ายกันไปคุมตัวเจ้านาย และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มากักตัวไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคมหรือบนเรือรบ
     แผนที่ 2 ให้จัดส่งหน่วยต่าง ๆ ไปคุมตามวังเจ้านายและข้าราชการคนสำคัญ ในขณะเดียวกันให้จัดหน่วยออกทำการตัดการสื่อสารติดต่อ เช่น โทรเลข โทรศัพท์ และให้จัดการรวบรวมกำลังทหารไปชุมนุม ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยวิธีออกคำสั่งลวงในตอนเช้าตรู่แล้วประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อหน้า ทหารเหล่านั้น และจัดนายทหารฝ่ายก่อการเข้าควบคุมบังคับบัญชาทหารเหล่านั้นแทนผู้บังคับ บัญชาคนเดิม แล้วทหารก็คงจะฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาคนใหม่ต่อไป การณ์ก็คงสำเร็จลงโดยเรียบร้อยโดยมิต้องมีการต่อสู้จนเลือดนองแผ่นดิน
     แผนที่ 3 ให้หน่วยทหารหนึ่งจู่โจมเข้าไปในวังบางขุนพรหม และเข้าจับกุมพระองค์สมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิตมาประทับที่พระที่นั่ง อนันตสมาคม เพื่อเป็นประกันในความปลอดภัยของคณะราษฎร และให้ดำเนินการอย่างอื่น ๆ ตามที่กล่าวแล้วในแผนที่ 2
แผนที่1เป็น ทางเลือกที่พระยาทรงเสนอมาให้ดูเวอร์ๆเข้าไว้ว่าเพื่อดักทางให้ที่ประชุม เห็นชอบกับแผนที่2ควบกับแผนที่ 3 และให้ลงมือในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปหัวหิน เพื่อทอดพระเนตรการทดลองการยิงปืนใหญ่ ซึ่งมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ แม่ทัพ นายกอง จะร่วมโดยเสด็จด้วยเป็นส่วนมาก กำหนดวันลงมือกระทำการในวันที่ 24 มิถุนายน โดยที่ประชุมยังไม่รู้ว่า ผู้ก่อการคนใดจะนำทหารที่ไหนออกมาใช้ยึดอำนาจและจะทำได้อย่างไร เพราะพระยาทรงยังอุบไว้เป็นความลับแผนการณ์สุดยอดในใจของพระยาทรงใน วันคอขาดบาดตายนั้นก็คือ การปล่อยข่าวลับลวงพราง ล่อหลอกให้นายทหารแต่ละกรมกองนำกำลังพลออกมาชุมนุมร่วมกันที่ลานพระบรมรูป ทรงม้าโดยไม่ทราบล่วงหน้าว่า จะมีเข้าร่วมในการแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองกับเขาด้วย

 ถึงท่านจะไม่ระบุชื่อ แต่คนที่สนใจประวัติศาสตร์ช่วงนี้ก็ทราบได้โดยไม่ยากว่านายทหารหนุ่มดังกล่าวคือนายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม
 ล่วง หน้าหนึ่งวัน พระยาทรงในฐานะเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร ของโรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้ไปพบพันโทพระเหี้ยมใจหาญ ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย เพื่อขอให้นำนักเรียนนายร้อยทั้งหมดพร้อมอาวุธปืนบรรจุกระสุนไปที่ลานหน้า พระบรมรูปทรงม้าในตอนเช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน เพื่อฝึกยุทธวิธีทหารราบต่อสู้รถถัง โดยจะใช้นักเรียนนายร้อยทำหน้าที่ทหารราบและนำรถถังจากกรมทหารม้ามาใช้ในการ ฝึก ต่อจากนั้นได้ไปพบผู้บังคับกองพันทหารราบที่รู้จักอีกสองคน เพื่อขอร้องให้นำทหารไปฝึกหน้าลานพระบรมรูปทรงม้าเวลาหกโมงเช้า และไปพบผู้บังคับการกองพันทหารช่างที่บางซื่อ เพื่อขอร้องให้นำทหารมาที่สนามหน้าโรงทหารในเวลาหกโมงเช้าเช่นกัน เพื่อจะนำไปฝึกต่อสู้กับรถถัง
       เช้าวันที่ 24 มิถุนายน พระยาทรงตื่นตั้งแต่เวลา 4.00 น. และออกจากบ้านไปพร้อมกับร้อยเอกหลวงทัศนัยนิยมศึก(ทัศนัย มิตรภักดี) ผู้ที่มารับ จากนั้นแผนการนำทหารออกมาใช้เปลี่ยนแปลงการปกครองของพระยาทรงก็ได้ถูกเปิด เผยให้แก่ผู้ร่วมก่อการ เวลา5.00น. ทั้งหมดก็ได้มุ่งหน้าไปยังกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ สี่แยกเกียกกาย โดยมีเป้าหมายที่จะยึดรถเกราะ รถรบ เปิดเอาอาวุธออกจากคลังกระสุน และหลอกพาทหารเดินมาขึ้นรถบรรทุกของกรมทหารปืนใหญ่ ภายใต้การบังคับบัญชาของพระยาฤทธิอัคเนย์ ที่อยู่ใกล้กัน ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปลานพระบรมรูปทรงม้า
        เมื่อไปถึงกรมทหารม้า พระยาทรง พระยาพหล และพระประศาสน์ ตบเท้าเข้าไปถามหาตัวผู้บังคับการกองรักษาการณ์ พูดด้วยเสียงดุดันว่า
"เวลานี้เกิดกบฏกลางเมืองขึ้นแล้ว มัวแต่หลับนอนอยู่ได้ เอารถเกราะ รถรบ เอาทหารออกไปช่วยเดี๋ยวนี้"
ตัว ผู้บังคับการเองเป็นนายทหารชั้นผู้น้อย เมื่อเห็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ครูบาอาจารย์ทั้งสามก็หลงเชื่ออย่างสนิทใจ รีบออกคำสั่งให้เป่าแตรแจ้งสัญญาณเหตุสำคัญปลุกทหารทั้งกรมตื่นขึ้นโดยฉับ พลัน
       ในช่วงเวลาระทึกใจนี้ ผู้ที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ไว้แล้วก็แยกย้ายกันปฏิบัติงาน พระยาพหลใช้กรรไกรตัดเหล็กที่เตรียมมาตัดโซ่กุญแจคลังแสงออกแล้วช่วยกัน ลำเลียงกระสุนมาขึ้นรถอย่างรวดเร็ว พระประศาสน์ตรงไปยังโรงเก็บรถพร้อม ร.อ.หลวงทัศนัยเร่งให้ทหารสตาร์ตรถถัง รถเกราะ ออกมาโดยเร็ว ร้อยเอกหลวงรณสิทธิชัยและพรรคพวกมุ่งไปยังโรงทหาร ออกคำสั่งแก่พลทหารให้แต่งเครื่องแบบทันทีไม่ต้องล้างหน้า ไม่กี่นาทีต่อมาก็ออกไปขึ้นรถบรรทุกทหารภายในกรมทหารปืนใหญ่ที่ได้นัดแนะกับ พระยาฤทธิอัคเนย์เอาไว้แล้ว  แล้วพระประศาสน์ก็นำขบวนรถถัง รถเกราะ รถขนกระสุนและปืนกลเบารวม15 คัน ออกจากที่ตั้งนำขบวนรถทั้งหมดมุ่งหน้าตรงไปยังลานพระบรมรูปทรงม้าซึ่งนัก เรียนนายร้อยคงแต่งชุดฝึกมารออยู่แล้ว ระหว่างทางแล่นผ่านกองพันทหารช่าง พระยาทรงก็กวักมือตะโกนเรียกผู้บังคับการทหารช่างว่าได้เวลาที่จะไปฝึกการ ต่อสู้รถถังตามที่ตกลงกันเมื่อเย็นวาน เหล่าทหารกำลังฝึกอยู่บนสนามหน้ากองพัน จึงได้รับคำสั่งให้ขึ้นรถบรรทุกไปกับเขาด้วย  ปฏิบัติการทั้งหมดนี้ ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง มีคำถามมากมายต่อมาว่าเกิดอะไรขึ้น เหตุใดกองรักษาการณ์กรมทหารม้าจึงร่วมมืออย่างง่ายๆ ทำไมยามคลังแสงจึงปล่อยให้พระยาพหลงัดประตูเอากระสุนออกไปได้ ทำไมนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในกรมนี้จึงปล่อยให้นายทหารที่อื่นนำทหารของ ตัวออกไปได้ โดยไม่แสดงปฏิกิริยาอันใดเลย  สำหรับคำถามเหล่านี้ ได้บันทึกของพระยาทรงได้ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า  “เป็น เพราะนายทหาร นายสิบ พลทหารเหล่านั้นเห็นด้วยในการปฏิวัติหรือ...เปล่าเลย ทั้งนายทหาร นายสิบ พลทหาร ไม่มีใครรู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่มีใครเคยได้เห็นได้รู้ การปฏิวัติทำอย่างไร เพื่ออะไร มีแต่ความงงงวยเต็มไปด้วยความไม่รู้ และข้อนี้เองเป็นเหตุสำคัญแห่งความสำเร็จ! สำหรับพลทหารทั้งหมดไม่ต้องสงสัยเลย เขาทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของเขาโดยไม่มีข้อโต้แย้ง เขาถูกฝึกมาเช่นนั้น และหากนายทหารอื่นมาสั่งให้ทำโดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เขาก็ทำเช่นเดียวกัน ทำไมเขาจะไม่ทำ เพราะในชีวิตเป็นทหารของเขา เขายังไม่เคยถูกเช่นนั้น เพราะฉะนั้นเขาจะรู้ไม่ได้เลยว่าเป็นการลวง ในเมื่อเขาโดนเป็นครั้งแรก ...นายทหารทั้งหมดส่วนมากได้เรียนในโรงเรียนนายร้อยในสมัยที่ผู้อำนวยการ ฝ่ายทหารเป็นอาจารย์ใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงมีความเคารพและเกรงในฐานผู้ใหญ่…….”
เหตุการณ์อีกด้านหนึ่ง ในตอนเช้าตรู่เวลาประมาณ4.00 น.ของวันเดียวกัน พลตำรวจโทพระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุยส์ จาติกวณิช) อธิบดีกรมตำรวจ ได้ขอเข้าเฝ้าจอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหมเป็นการด่วนที่วังบางขุนพรหม  ด้วยได้รับรายงานทางลับว่ามีคณะบุคคลจะลงมือทำการปฏิวัติยึดอำนาจในเช้า วันนี้ และจะเชิญพระองค์ไปเป็นประกันเพื่อต่อรองกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯด้วย พระยาอธิกรณ์ประกาศได้เตรียมเรือกลไฟเล็กมาจอดคอยอยู่ที่ท่าน้ำตำหนักน้ำ  เพื่อให้สมเด็จกรมพระนครสวรรค์เสด็จหนีไปก่อน และอาจจะทรงตั้งกองบัญชาการชั่วคราวที่กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์สวนเจ้า เชตุเพื่อหาทางต่อสู้ต่อไปได้ ทรงฟังคำกราบทูลของอธิบดีกรมตำรวจด้วยพระทัยเยือกเย็น  รับสั่งให้รอดูเหตุการณ์ไปก่อน “ฉันจะไปได้อย่างไร ฉันรักษาพระนครอยู่ด้วย”หลังจากหลังจากนั้นเพียงครู่เดียวก็มีขบวน รถถังและรถเกราะ6 คัน พร้อมด้วยนักเรียนนายร้อย1หมวด นำโดยพระประศาสน์ และหลวงพิบูลเข้ายึดสถานีตำรวจหน้าวังไว้ และเคลื่อนพลเข้ามาในวังบางขุนพรหม สมเด็จกรมพระนครสวรรค์ทรงเป็นนายทหารสำเร็จจากเยอรมันนี เช่นเดียวกับพระประศาสน์ และทรงเป็นเจ้าภาพแต่งงานให้เสียด้วย จึงมีพระดำรัสด้วยพระสุรเสียงอันไม่สะทกสะท้านแม้แต่น้อยว่า “ตาวัน แกมา ต้องการอะไร”พระประศาสน์ไม่กล้าสบสายพระเนตร  กราบทูลว่า “ขอเชิญเสด็จไปพระที่นั่งอนันต์ มีข้าราชการทหารพลเรือน รออยู่แล้ว ขอเชิญเสด็จเดี๋ยวนี้”
แม้จะมีพระดำรัสขอให้ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์เพราะ ยังทรงอยู่ในชุดนอน  พระประศาสน์ก็มิได้สนองพระประสงค์ จึงเสด็จเข้าประทับในรถที่พระประศาสน์เตรียมมาถวายพร้อมด้วยหม่อมสมพันธุ์ และหม่อมเจ้าหญิงประสงค์สมพระธิดา เป็นอันว่าแผน3ในภารกิจที่สำคัญที่สุดของคณะปฏิวัติได้เสร็จสิ้นลงแล้ว  การได้สมเด็จกรมพระนครสวรรค์มาทรงเป็นองค์ประประกัน  ทำให้ปัญหาการนองเลือดตลอดจนปัญหาการต่อต้านที่จะมาจากทุกทิศทางหมดไปทันที
ต่อ มา พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่และข้าราชการที่ถูกเชิญมาควบคุม ได้เริ่มทยอยเข้ามาในพระที่นั่งอนันตสมาคม เช่นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เป็นต้น นายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้เข้าล้อมเจ้านายทุกพระองค์ไว้เพื่อถวายความปลอดภัย ด้วยพวกคณะปฏิวัติมิได้ถวายพระเกียรติเท่าที่ควร ทำให้อาจเกินเหตุอันมิได้คาดคิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ในตอนบ่ายวันนั้น พระยาพหล พระยาทรง และพระยาฤทธิอาคเนย์ ได้เข้ามาเฝ้ากราบทูลว่า คณะปฏิวัติมีความประสงค์เพียงขอพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินจากพระเจ้า อยู่หัว  และขอให้สมเด็จกรมพระนครสวรรค์ทรงคลี่คลายสถานการณ์อันสับสนในเวลานั้น ด้วยหนังสือกราบบังคมทูลไปถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯแล้ว แต่ยังมิได้พระราชทานคำตอบแต่ประการใด  สมเด็จกรมพระนครสวรรค์ทรงเห็นแก่บ้านเมือง จึงได้ประทานลายพระหัตถ์ให้คณะราษฎร์นำประกาศกระจายเสียงทางวิทยุ  ความว่า “ตามด้วยที่คณะราษฎร์ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเอาไว้ได้โดยมีความประสงค์ข้อ ใหญ่ที่จะให้ประเทศไทยมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น ข้าพเจ้าขอให้ทหารข้าราชการ และราษฎรทั้งหลาย จงช่วยกันรักษาความสงบ อย่าให้เสียเลือดเนื้อคนไทยกันเอง โดยไม่จำเป็นเลย”เมื่อเหตุการณ์ ทั้งหมดคลี่คลายลงแล้ว คณะราษฎรมีความเห็นว่า เจ้านายระดับสูงหากยังประทับอยู่ในเมืองไทยก็จะเกิดปัญหาไม่จบ จึงสมควรต้องเนรเทศซึ่งใช้ภาษาให้สละสลวยว่าอัญเชิญเสด็จไปประทับ ณ ต่างประเทศ พระธิดาของสมเด็จงกรมพระนครสวรรค์ทรงบันทึกไว้ว่า  "ทูนกระหม่อม มีเวลาเตรียมพระองค์ไม่ถึง12 ชั่วโมง ไม่มีเวลาแม้แต่จะกราบถวายบังคมลา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระบรมราชินี ต้องทรงละทิ้งวัง และข้าราชบริพารร่วม400ชีวิตให้ดูแลตัวเอง ขบวนเสด็จจากวังบางขุนพรหมแห่ล้อมด้วยรถถังและรถหุ้มเกราะ สุดที่จะประมาณได้ เมื่อประทับบนรถไฟแล้วมีตำรวจในความควบคุมของพระนรากรบริรักษ์ อีกสองกองร้อยตามเสด็จ เพื่อควบคุมพระองค์ ทรงมีเงินส่วนพระองค์ติดไป 9000บาท ทรงทิ้งความทรงจำแห่งชีวิตราชการที่ทรงมีมากว่าครึ่งพระชนม์ชีพไว้ในความทรง จำ"
       กงกรรมกงเกวียน การเมืองก็มีแต่เรื่องอย่างนี้ ผู้ก่อการคณะราษฎรหลายคนก็ต้องชะตากรรมเช่นเดียวกัน บางคนแม้ไม่ได้ไปเสียชีวิตที่ต่างประเทศ ก็ถูกรถชนตายข้างถนน ลูกหลานไปพบก็อยู่ในสภาพของศพไม่มีญาติเสียหลายวันแล้ว ใครอย่ามาถามผมนะครับว่าท่านที่ผมกล่าวถึงตอนท้ายนี้คือใคร
 ขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรง ตั้งพระทัยจะพระราชทานธรรมนูญการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ติดขัดเพียงบางหลักการที่มีผู้คัดค้านกำลังจะแก้ไข เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นจึงไม่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะต่อต้าน ทั้งๆที่ทหารหัวเมืองทั้งหลายพร้อมอยู่ รอฟังพระราชกระแสรับสั่งจากจอมทัพเท่านั้น หากพระองค์ทรงยึดมั่นถือมั่นที่จะรักษาพระราชอำนาจโดยไม่คำนึงบ้านเมืองแล้ว แน่นอนว่า เลือดคงจะได้ท่วมนองแผ่นดิน ประชาชนทั้งหลายจะพลอยรับเคราะห์บาดเจ็บล้มตาย ทรัพย์สินวินาศสันตะโร ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกยุคทุกสมัย
      วันที่27มิถุนายน 2475 ทรงลงพระปรมาภิไธยในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ที่ทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ไว้ด้วยพระราชหัตถเลขา เนื่องจากทรงยังไม่เห็นด้วยในบางประการ รับสั่งว่า “ให้ใช้ไปก่อน” เพื่อจะแก้ใขในภายหลัง
 ในหนังสือเรื่อง “ชีวิต5แผ่นดินของข้าพเจ้า” เขียนโดยพลโทประยูร ภมรมนตรี มีข้อความตอนหนึ่งเขียนไว้ถึงพระดำรัสที่สมเด็จกรมพระนครสวรรค์มีรับสั่งกับ ตนที่พระที่นั่งอานันตสมาคมในเช้าวันนั้นว่า…แกคงจะรู้จัก โรเบสเปียร์  มารา และดันตอง เพื่อนร่วมน้ำสาบานฝรั่งเศสดีแน่ ในที่สุดมันผลัดกันเอากิโยตีนเฉือนคอกันทีละคน...จำไว้ ฉันสงสารแก ฉันเลี้ยงแกมาตั้งแต่เด็ก นี่แกเป็นกบฏแม้จะรอดจากอาญาแผ่นดินไม่ถูกตัดหัว แต่แกจะต้องถูกพวกเดียวกันฆ่าตาย แกจำไว้….ซึ่งร้อยโทประยูรผู้ก่อการคนสำคัญที่เขามอบหมายให้มาคอยเฝ้าดู พระองค์กราบทูลตอบว่า   “ทราบเกล้าฯแล้ว ตามประวัติศาสตร์มันต้องเป็นเช่นนั้น อย่างมากแค่ตาย”ผมจะไม่เล่าเรื่องของคนอื่นในเวลานี้ เอาเฉพาะชะตากรรมของพระยาทรงตามหัวข้อเรื่องก็แล้วกัน ใครไม่ทราบกล่าวไว้ว่า การปฏิวัติยึดอำนาจนั้นไม่ยาก มันยากที่จะทำอย่างไรจะให้บรรลุอุดมการณ์ของการปฏิวัติได้
ครับ..ผม เห็นด้วย อุดมการณ์มีองค์ประกอบด้วยกิเลศของมนุษย์ ตั้งแต่ตัวละเอียด เช่น ฉันอยากให้ไอ้นั่นดีอย่างนั้นอย่างนี้  ตัวกลางๆเช่น ฉันดีกว่าแก ฉันเหมาะสมกว่าเพื่อน ไปจนถึงตัวหยาบๆเช่นฉันอยากเด่น ฉันอยากรวย ฉันอยากมีอำนาจ และกิเลศมนุษย์ของนักการเมืองนี่แหละครับ ที่เป็นตัวบั่นทอนความสุขความเจริญของมนุษยชาติ    เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จได้เพียงเดือนเดียว พระยาทรง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการ เป็นรองก็เฉพาะพระยาพหลซึ่งเป็นตัวผู้บัญชาการ  ได้เรียกประชุมนายทหารใต้บังคับบัญชาของตน ที่ตึกทหารวังปารุสกวัน ซึ่งในคำพิพากษาศาลพิเศษ2482 (ซึ่งทราบกันทั่วไปว่าผู้พิพากษาทั้งหลายเป็นคนของหลวงพิบูล) ได้เรียกการกระทำดังกล่าวว่า “ลอบประชุม” มิให้พระยาพหลรู้เห็น เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงการของกองทัพบก ในระยะนี้วันหนึ่งพระยาพหลลงไปรับแขกชั้นล่าง จะกลับขึ้นไปห้องทำงานข้างบน ทหารยามที่เฝ้าบรรไดอยู่ทำท่าเตรียมแทง ไม่ให้ขึ้น พระยาพหลจึงร้องเรียกพระยาทรงลงมาดู พระยาทรงบอกว่าบอกว่าทหารชั้นผู้น้อยยังไม่รู้จักผู้บังคับบัญชา(คนใหม่) แต่พระยาพหลเริ่มจะผูกใจว่าพระยาทรงคิดจะแย่งอำนาจเสียแล้วเหตุการณ์ ทำนองคล้ายกันต่อจากนั้นอีกประมาณเดือนเดียว มีสายหลวงพิบูลมารายงานว่าพระยาทรงคิดจะย้ายหลวงพิบูลไปอยู่ตำแหน่งผู้ช่วย รบ เพื่อจะได้ไม่มีสิทธิ์บังคับบัญชาควบคุมกำลังทหาร หลวงพิบูลฉุนจัดจึงจะไปขอเข้าพบเพื่อสอบถาม แต่ทหารยามเอาดาบปลายปืนกั้นไว้ เผอิญพระยาทรงอยู่ที่นั่นจึงเห็นเข้าแล้วร้องห้ามไว้ เมื่อคุยกันแม้พระยาทรงจะปฏิเสธเรื่องดังกล่าว แต่หลวงพิบูลก็ปักใจเชื่อว่ามีมูล เพราะแม้ตนจะอยู่ที่ตำแหน่งเดิม แต่พรรคพวกถูกย้ายออกจากสายคุมกำลังหมดและมีนายทหารลูกน้องพระยาทรงเข้ามา เป็นแทน ศาลพิเศษอ่านคำพิพากษาตอนหนึ่งว่า “การที่พระยาทรงสุรเดชกับพวก กระทำเช่นนี้แสดงว่า พระยาทรงสุรเดชจะคุมอำนาจทหารไว้ฝ่ายเดียว บั่นทอนอำนาจการปกครองของทหารซึ่งหลวงพิบูลสงครามและพวกที่ได้ควบคุมอยู่ นั้น ให้หมดสิ้นไป โดยมีวัตถุประสงค์เกี่ยวแก่การเมืองซึ่งจะได้กล่าวต่อไป ตั้งแต่นั้นมาพระยาทรงสุรเดชกับหลวงพิบูลสงครามก็ไม่ถูกกันเรื่อยๆมา”
สำหรับเรื่องขัดแย้งระหว่างพระยาทรงกับหลวงประดิษฐ์ ความจริงพระยาทรงเขม่นหลวงประดิษฐ์อยู่นานแล้วเพราะทนความเป็นนักวิชาการหัว ก้าวหน้ามากไม่ไหว ในการประชุมคณะราษฎรครั้งแรกๆ พระยาทรงก็หลบออกจากที่ประชุมมาบ่นหลวงประดิษฐ์ให้ร้อยโทประยูร โซ่ข้อกลางระหว่างนักเรียนเก่าเยอรมันกับนักเรียนเก่าฝรั่งเศสฟังด้วยถ้อยคำ รุนแรง และมาถึงที่สุดในวันที่พร้อมกันเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเป็นครั้ง แรกหลังวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งพระยาทรงเป็นหัวหน้าคณะแทนพระยาพหลที่ไม่กล้าเข้าเฝ้าเพราะตนเองอยู่ใน ตำแหน่งนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และโดนพันเอก พระยาสุรเดชรณชิต (ชิต ยุวนะเตมีย์) เพื่อนนักเรียนนายร้อยเยอรมันร่วมรุ่นอีกคนหนึ่งถามแสบๆว่า "ไอ้พจน์ มีทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ชาติไหนมั่งวะที่กบฎต่อพระเจ้าแผ่นดิน" พระยาทรงนำคณะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบขอพระราชทานอภัยโทษ เมื่อพระองค์โปรดเกล้าให้หลวงประดิษฐ์นำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าถวาย ทรงอ่านข้อความในรัฐธรรมนูญแล้ว ตรัสถามพระยาทรงว่าได้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาแล้วหรือยัง พระยาทรงกราบทูลว่ายังไม่ได้อ่าน ทรงหันมาถามร้อยโทประยูรว่าได้อ่านหรือยัง ร้อยโทประยูรกราบทูลตอบว่าไม่ได้อ่านเพราะไม่มีหน้าที่โดยตรง แต่ได้ทราบว่าพระยาทรงได้กำชับหลวงประดิษฐ์ไว้มั่นคงแล้วว่าให้ร่างแบบ อังกฤษที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญพระองค์ก็ตรัสตอบว่าต้องการให้เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ทำไมต้องใช้คำแทนเสนาบดีว่า "คณะกรรมการราษฎร" แบบรัสเซียซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์พระยา ทรงอึ้งอยู่ชั่วครู่จึงกราบบังคมทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานสารภาพรับผิดที่ไม่ได้อ่านมาก่อน  ขอพระราชทานอภัยโทษและขอถวายสัตย์ว่าจะไปร่างมาใหม่ ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ทุกประการ" ทรงตรัสว่า "ถ้าพระยาทรงรับรองว่าจะไปแก้ไขกันใหม่ฉันก็จะยอมเชื่อพระยาทรง แต่อย่างไรก็ตามวันนี้หัวเด็ดตีนขาด ฉันก็ไม่เซ็น" รับสั่งให้กลับไปแก้ไขแล้วนำมาเสนอใหม่ในอีก 2 วันข้างหน้า แล้วจึงเสด็จขึ้น พวกที่เข้าเฝ้าก็ตกตะลึงทำอะไรไม่ถูก ทยอยเดินออกมายืนที่ลานพระราชวัง พระยาทรงโกรธมากถึงกับชี้หน้าหลวงประดิษฐ์แล้วพูดว่า "คุณหลวงทำป่นปี้ ไม่ทำตามที่บอกกล่าวกันไว้ ทำอะไรไปนอกเรื่อง ฉิบหายหมดแล้ว"พระยา ทรงเมื่อแสดงความแค้นเคืองแล้วก็เดินขึ้นรถจากไป หลังจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระยาทรงกับหลวงประดิษฐ์ก็ไม่ดีขึ้น ทั้งสองฝ่ายไม่ยอมปรับความเข้าใจกัน  ซ้ำยังเลวร้ายกว่าเรื่องของหลวงพิบูลเสียด้วยซ้ำ 

     และนั่นก็เป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ต่อท้าย ที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดานำขึ้นทูลเกล้าให้ทรงลงพระปรมาภิไธยที่พระราชวัง สวนจิตรลดา ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ดังกล่าวไปแล้วในกระทู้ก่อนหน้า  พร้อม กันนั้น ได้มีประกาศให้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ทำการรัฐสภาสยาม มีพิธีการชักธงชาติขึ้นสู่ยอดพระที่นั่งเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นสถานที ราชการในวันเดียวกันด้วย

ย้อนรอยประวัติศาสตร์รัฐประหารไทย ตอนกบฎพระยาทรงสุรเดช MP3http://www.mediafire.com/?lgxyf532ga1acl8

กบฎทรงสุรเดช MP4 http://www.mediafire.com/?d1w52378paydzem

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น