วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ความยุติธรรมในนิทาน - ไพร่แขนขาว

ความยุติธรรมในนิทาน


โดย ไพร่แขนขาว



“ไพร่แขนขาว” เคยอ่านนิทานที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง เข้าใจว่าเป็นนิทานอินเดีย ซึ่งศาสตราจารย์ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร หรือท่านมหาแสง ได้เล่าไว้ใน “อนุสรณ์มหาจุฬาฯ” พ.ศ. 2505 นิทานเรื่องนี้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับความยุติธรรมในการแบ่งของ 8 ชิ้นให้แก่คน 2 คน ตามสัดส่วนที่แต่ละคนพึงจะได้รับ


          
           เรื่องมีอยู่ว่ามีกระทาชาย 2 คน เดินทางไปทางเดียวกัน ทั้งสองรู้จักกันในระหว่างเดินทาง ก็ถือเป็นเพื่อนเดินทางไปด้วยกัน ครั้นเดินไปไกล ทั้งสองรู้สึกเหนื่อยจึงนั่งพักที่ใต้ร่มไม้ริมสระแห่งหนึ่งแล้วเปิดห่อ อาหารของตนออก กระทาชายคนหนึ่งมีโรตี 5 แผ่น อีกคนหนึ่งมี 3 แผ่น ทั้งสองเริ่มจะกิน ขณะนั้นมีเศรษฐีคนหนึ่งขี่ม้าเข้ามาใกล้ กระทาชายทั้งสองนั้นจึงทักขึ้นแล้วเชิญให้รับประทานอาหารด้วยกัน เศรษฐีกล่าวขอบใจและบอกว่าตนก็หิวอยู่เหมือนกัน แต่เกรงว่าอาหารของคนทั้งสองนั้นจะไม่พอกิน
กระทาชายเดินทางพูดว่า “หามิได้ นาย! อาหารของเรามีพอ เชิญท่านรับประทานกันเราเถิด”
เศรษฐีลงจากหลังม้า เข้าร่วมวงรับประทานอาหารกับกระทาชายทั้งสองนั้น
ทั้ง 3 คน จึงแบ่งอาหารเท่าๆ กัน แล้วให้เศรษฐีรับประทาน เมื่อเสร็จการรับประทานแล้ว เศรษฐีขึ้นหลังม้าเริ่มจะออกเดินทาง จึงโยนเงินให้ 8 แอนนา แล้วพูดว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกคิดถึงบุญคุณท่านมากที่ท่านได้ให้อาหารข้าพเจ้ารับประทาน ขอท่านได้กรุณารับเงิน 8 แอนนานี้แบ่งกันเถิด”
กระทาชายทั้งสองพูดว่า “ข้าพเจ้าเชิญท่านรับประทานเอง มิได้คิดค่าอาหารเป็นสนนราคาอะไร ทำไมท่านจึง [ทำ] อย่างนี้”
เศรษฐีทำเป็นไม่ได้ยิน เป็นแต่ร้องสั่งว่า “เก็บเงินไว้เถิด” แล้วขับ [sic] ม้าออกจากที่นั้นไป
กระทาชายคนหนึ่งพูดขึ้นว่า “เอาละพี่ชาย แอนนานี่มี 8 อันเรามาแบ่งกันเถอะ ฉันมีโรตี 5 แผ่น ฉันจะเอา 5 แอนนา พี่มี 3 แผ่น พี่เอา 3 แอนนาก็แล้วกัน”
กระทาชายอีกคนค้านว่า “ไม่เอา แบ่งอย่างนี้ไม่ถูก เราทั้งสองต้องแบ่งให้เท่ากัน เธอเอา 4 แอนนา ฉันเอา 4 แอนนา อย่างนี้มันจะยุติธรรม”
กระทาชายคนแรกไม่ยอม คนที่สองก็จะเอา 4 แอนนา ให้ได้ ทั้งสองก็ได้เถียงกันไม่ตกลงกัน ข้างหนึ่งก็จะเอา 5 แอนนา ให้เพื่อนเดินทาง 3 แอนนา ตามจำนวนโรตีเท่าที่มีอยู่ อีกฝ่ายหนึ่งก็จะให้แบ่งเท่าๆ กัน คนละ 4 แอนนา เพราะคิดว่าได้ 3 แอนนาน้อยไป ผู้ที่จะเอา 5 แอนนาก็รู้มากเกินไป เมื่อโต้เถียงกันไม่ตกลงจึงปรึกษากันว่า ถ้ากระนั้นเราไปให้ผู้พิพากษาตัดสินเถิด จะได้รู้ว่าใครได้เท่าไร
ทั้งสองไปหาผู้พิพากษา บอกให้ผู้พิพากษาทราบธุรกิจที่ตนมา ผู้พิพากษาจึงไต่ถามทราบเรื่องชัดเจนแล้ว จึงถามว่า “พี่ชายมีโรตี 3 อันมิใช่หรือ เขาแบ่งแอนนาให้ 3 แอนนาก็ดีแล้วนี่ ทำไมพี่ชายจึงไม่รับส่วนแบ่งล่ะ”
กระทาชายผู้นั้นตอบว่า “มิได้นาย ฉันต้องการให้แบ่งเท่ากันคนละครึ่งจึงจะยุติธรรม ท่านโปรดพิจารณาตัดสินให้ฉันด้วย”
ผู้ พิพากษาพูดว่า “ดีล่ะ ฉันจะตัดสินให้ แต่ท่านต้องไม่โกรธเคืองอีกคนหนึ่งนะ” แล้วผู้พิพากษาก็สั่งให้กระทาชายที่มีโรตี 5 แผ่น ได้แอนนา 7 แอนนา ให้ผู้ที่มีโรตี 3 แผ่น ได้แอนนา 1 อันเท่านั้น
กระทาชายที่ถูกตัดสินให้ได้แอนนา 1 อัน เมื่อได้ยินคำตัดสินของผู้พิพากษาเช่นนั้นก็ทำท่าจะร้องไห้ คิดว่า เอนี่ผู้พิพากษาอะไรกัน ทีแรกเราจะได้ 3 แอนนา เราขอให้เป็น 4 แอนนา แต่แล้วไหงให้เราได้แอนนาเดียวเท่านั้น ผู้พิพากษาอะไรอย่างนี้ อดรนทนไม่ได้ จึงถามขึ้นว่า “ทำไมจะเป็นอย่างนี้ล่ะนาย”
ผู้พิพากษาจึงพูดว่า “เธอคงคิดว่าฉันตัดสินไม่ถูกซินะ เอาละฟังฉันว่า ฉันตัดสินถูกหรือไม่ถูก ให้มันรู้ไปซิไหน โรตีทั้งหมดมีกี่แผ่น?”
“แปดแผ่น”
“คนกิน กี่คน?”
“สามคน”
“แต่ละคนกินเท่าๆ กันหรือ?”
“จ๊ะ เท่าๆ กัน เราแบ่งเท่าๆ กัน”
“โรตีแผ่นหนึ่งๆ แบ่งออกกี่ชิ้น?”
“แผ่นละสามชิ้น”
“ทั้งหมดรวมเป็นกี่ชิ้น?”
“ยี่สิบสี่ชิ้น”
“เอาละ บอกทีหรือว่าคนหนึ่งๆ กินโรตี กี่ชิ้น?”
“คนละ แปดชิ้น”
“เธอล่ะกินกี่ชิ้น?”
“ฉันก็กินแปดชิ้นน่ะซิ”
“แขกที่มา กินโรตีของท่านกี่ชิ้น?”
“ชิ้นเดียว”
“แล้วแขกที่มา เขากินโรตีของอีกคนหนึ่งกี่ชิ้น?”
“เจ็ดชิ้น”
“ถ้าเช่นนั้น เธอบอกมาทีหรือว่า เธอควรจะได้ส่วนแบ่งกี่แอนนา และอีกคนหนึ่งเขาควรจะให้กี่แอนนา?”
นิทานข้างต้นมีข้อที่น่าพิเคราะห์หลายประการ แต่ “ไพร่แขนขาว” ขอกล่าวถึงบางแง่มุมเท่านั้น
1. เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ขอแสดงแบบจำลองการแบ่งโรตีและเงินตอบแทน ดังปรากฏข้างล่างนี้  แต่โปรดพิเคราะห์และตีความกันเองตามอัธยาศัย
Image
A = ผู้มีโรตี 3 แผ่น ซึ่งกินโรตีของตัวเองไปถึง 7 ชิ้นเล็ก แต่แบ่งให้เศรษฐีกินเพียง 1 ชิ้นเล็ก
B = ผู้มีโรตี 5 แผ่น ซึ่งกินโรตีของตัวเองไป 8 ชิ้นเล็ก โดยแบ่งให้เศรษฐีกินถึง 7 ชิ้นเล็ก
C = เศรษฐี ซึ่งกินโรตีของ A ไปเพียง 1 ชิ้นเล็กแผ่น แล้วกินโรตีของ B ไปถึง 7 ชิ้นเล็ก

2. ผลประโยชน์นั้นทำให้คนทะเลาะกัน ทั้ง ๆ ที่ตามเนื้อเรื่องแล้ว กระทาชายทั้งสองมิได้ประสงค์จะรับเงินตอบแทนจากเศรษฐีแต่อย่างใด แถมยังตัดพ้อเศรษฐีว่า ทำไมต้องให้เงินตอบแทนด้วยเล่า หากเศรษฐีไม่ให้เงินมา ปัญหาคงไม่เกิดปัญหาขึ้น แต่ทั้งสองรับเงินแล้วก็จำเป็นต้องแบ่งกันอย่างเป็นธรรม รู้ ๆ กันอยู่ว่าผลประโยชน์นั้นไม่เข้าใครออกใคร ขนาดพ่อแม่ญาติพี่น้องกันยังทะเลาะกันได้เพราะเงินตัวเดียว นับประสาอะไรกับเพื่อนเดินทางที่เพิ่งรู้จักกันล่ะ
3. การแบ่งส่วนดังกล่าวมีเกณฑ์ในการแบ่งอยู่ 2 เกณฑ์ที่ขัดกัน คือ เกณฑ์แรก เป็นเกณฑ์ที่ตรงกับความรู้สึกของคนทั่วไปหรือสามัญสำนึก ที่จะแบ่งเงินตอบแทน (ผลกำไร) เป็น 5 ต่อ 3 ตามสัดส่วนของโรตี (ทุนที่ลง) เกณฑ์นี้มักจะใช้ในการร่วมกันทำธุรกิจ เมื่อคนหนึ่งลงทุน 5 ส่วน อีกคนลงทุน 3 ส่วน ผลกำไรย่อมต้องแบ่งตามสัดส่วน 5:3  ”ไพร่แขนขาว” ขอเรียกการแบ่งตามเกณฑ์นี้ว่าเป็น “ความยุติธรรมแบบหุ้นส่วน” เกณฑ์ที่สอง “ไพร่แขนขาว” ขอเรียกว่าเป็น “ความยุติธรรมแบบสัดส่วน”จะใช้ในกรณีที่ผู้เกี่ยวข้องมิได้เป็นหุ้นส่วนกัน โดยดูว่าผู้นั้นเสียสัดส่วนของตน (เสียหาย) ไปเท่าใด ก็ย่อมจะได้รับการตอบแทน (ชดเชย) ตามส่วนนั้น เมื่อคนหนึ่งเสียส่วนของตนไป 7 ส่วน และอีกคนหนึ่งเสียไป 1 ส่วน การได้รับค่าตอบแทนจึงต้องเป็นไปตามสัดส่วน 7:1  โดยปกติแล้ว เกณฑ์ที่สองนี้มักจะใช้ในกรณีการเฉลี่ยความเสียหายระหว่างกัน หรือการขายสินค้าเฉพาะส่วนของแต่ละคน มิได้มีการร่วมกันลงทุนแต่อย่างใด ซึ่งนับว่าเข้ากับความยุติธรรมตามนิทานข้างต้นนี้พอดี
4.  “ไพร่แขนขาว” เคยทดลองเล่านิทานดังกล่าวให้แก่ผู้ฟังนับถึงปัจจุบันน่าจะรวมพันคนได้ (ต่างเวลาและสถานที่กัน ทั้งนี้เป็นผู้ฟังที่มีการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก) โดยอุบเหตุผลของผู้พิพากษาไว้ก่อน แล้วหยั่งเสียงดู ปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าการแบ่งตามสัดส่วน 5:3 ถูกต้อง เสียงข้างน้อยเห็น 4:4 ถูกต้อง มีเพียง 2–3 ท่านเท่านั้นที่เห็นว่าควรเป็น 7:1 แต่ให้เหตุผลเชิงศีลธรรมคือเพื่อเป็นการลงโทษแก่ผู้ละโมบโลภมาก
5. เมื่อ “ไพร่แขนขาว” เฉลยคำตอบ ผู้ฟังเกือบทั้งหมดก็ยอมจำนนต่อเหตุผลของผู้พิพากษา มีเพียงผู้กล้าหาญท่านหนึ่งที่แสดงความเห็นแย้ง โดยให้เหตุผลพ้องกับแนวคิดของความยุติธรรมแบบหุ้นส่วน ทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้น “ไพร่แขนขาว” ยังมิได้กล่าวถึงเรื่องความยุติธรรมแต่อย่างใด ก็ต้องขอให้กำลังใจและชื่นชมผู้ที่แสดงความเห็นนั้น แม้จะมิได้เห็นตรงกันก็ตาม
6. “ไพร่แขนขาว” สรุปเอาเองว่า คนโดยทั่วไปมักจะตกอยู่ภายใต้กรอบวิธีคิดแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่เวลาขอให้แสดงเหตุผล ก็อึกอัก อ้ำอึ้ง ติดอยู่ในลำคอ (จริง ๆ แล้วอาจจะให้เหตุผลได้อย่างคล่องปากก็ได้ เพียงแต่โชคร้ายที่เกิดมาในวัฒนธรรมที่มีกลวิธีอันแยบคายในการสกัดกั้นการ แสดงความคิดเห็น) อย่างไรก็ดี “ไพร่แขนขาว” สังเกตเห็นว่า ผู้สนับสนุนสัดส่วน 5:3 จำนวนไม่น้อยก็ยังไม่แน่ใจในคำตอบของตนว่าถูกต้อง อาจเป็นเพราะในใจคงคิดว่าไม่เป็นธรรมนั่นเอง แต่ไม่รู้จะเอาวิธีคิดแบบใดมาแทนวิธีคิดแบบเดิมของตน
7. ในนิทานดังกล่าว ผู้พิพากษาเริ่มต้นด้วยการบ่ายเบี่ยงที่จะตัดสิน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือผู้พิพากษากำลังปฏิเสธที่จะใช้เกณฑ์ความยุติธรรมแบบ สัดส่วน (7:1) ตั้งแต่ต้นนั่นเอง โดยยอมรับให้ผู้เกี่ยวข้องใช้เกณฑ์ความยุติธรรมแบบหุ้นส่วน (5:3) ได้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้พิพากษาเห็นว่าการแบ่ง 5:3 เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความรู้สึกของคนทั่วไปในสังคมก็เป็นได้ (ดังที่ “ไพร่แขนขาว” ได้ลองหยั่งเสียงด้วยตนเองมาแล้ว) แต่เมื่อคู่พิพาทยืนกรานให้ตัดสินแล้ว ผู้พิพากษาผู้เที่ยงธรรมก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้เกณฑ์ความยุติธรรมแบบสัด ส่วน (7:1) แม้จะต้องฝืนกับความรู้สึกของสังคมก็ตาม แล้วก็ได้แสดงเหตุผลอย่างสิ้นข้อสงสัย เมื่อเป็นเช่นนี้จุดเน้นของเรื่องจึงมิได้อยู่ที่ผลแห่งคำตัดสิน แต่อยู่ที่การให้เหตุผลเป็นสำคัญ ดังที่ทราบกันดีในหมู่นักนิติศาสตร์ว่า โดยเนื้อแท้แล้ววิชานิติศาสตร์เป็นวิชาว่าด้วยการให้เหตุผล มิใช่วิชาว่าด้วยการเล่นถ้อยคำดังที่นักกฎหมายจำนวนมากถือเป็นวัตรปฏิบัติ กันจนมีผู้ปรามาศว่าเป็นนักนิติอักษรศาสตร์
8. บางท่านอาจคิดว่า ถึงผู้พิพากษาจะตัดสิน 5:3 หรือ 7:1 ผู้คนในสังคมก็ต้องยอมรับอยู่ดี เพราะคำพิพากษาต้องถือเป็นที่สุด โดยไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ ก็ตัดสินไปแล้วจะเอาอะไรกันอีก บางท่านก็ชอบใช้จินตนาการมากกว่าจะฟังเหตุผลของเรื่อง พอได้ยินผลของคำวินิจฉัยไม่ว่าเรื่องใด ถ้าตรงกับจริตของตน ก็จะรีบกล่าวยกย่องสรรเสริญ โดยปราศจากการพินิจพิเคราะห์ถึงความมีเหตุผลของคำพิพากษาเลย บางท่านก็มักจะอ้าง “อำนาจ” ของคำพิพากษามาปิดปากผู้คน บังคับให้ผู้คนต้องเคารพในอำนาจนั้น เชื่อในอำนาจนั้น ผู้ใดวิพากษ์วิจารณ์แม้จะกระทำอย่างมีเหตุมีผลก็ตาม อาจถูกมองจากคนบ้าอำนาจเหล่านี้ว่า เป็นผู้ละเมิดอำนาจแห่งคำพิพากษา ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้วิจารณ์กำลังทำหน้าที่ช่วยกันจรรโลงสถาบันตุลาการมิให้ละทิ้งอุดมการณ์ ของการมีอยู่ของตนเอง
9. นิทานเรื่องนี้ได้เตือนสติให้ “ไพร่แขนขาว” ตระหนักว่าอำนาจที่แท้จริงแห่งคำพิพากษานั้นอยู่ที่ “ความมีเหตุผล” ความมีเหตุผลแห่งคำพิพากษาเท่านั้นที่ทำให้สังคมรับรู้ถึงความยุติธรรม และเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อความน่าเชื่อถือของสถาบันตุลาการ แม้แต่ฝ่ายผู้ต้องเสียประโยชน์จากผลของคำพิพากษาเมื่อได้ยินเหตุผลที่ชอบ ธรรมแล้ว อย่างน้อยก็ยังสบายใจขึ้นว่าที่ตนแพ้นั้น ด้วยเหตุผลอันยุติธรรมแท้จริง สมศักดิ์ศรีแห่งความพ่ายแพ้
10. ถ้าเราเชื่อในอำนาจแห่งความมีเหตุผลของคำพิพากษาแล้ว อุดมการณ์สูงสุดของผู้พิพากษาจึงไม่มีอะไรสูงส่งไปกว่า “เหตุผล เหตุผล และเหตุผล” คำวินิจฉัยที่ปราจากเหตุผล หรืออ่อนด้อยด้วยเหตุผล หรือจงใจละเลยไม่ใช้เหตุผลในการหักล้างประเด็นแห่งคดี หรือทำเนียนประหนึ่งว่าประเด็นนั้นไม่สำคัญจึงไม่ต้องหาเหตุผลมาหักล้าง หาได้มีคุณค่าใดๆ ต่อสังคมไม่ และยังเป็นตัวทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันตุลาการในที่สุด
11. สิ่งที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งที่จะทำให้คำพิพากษาคงอยู่ในร่องในรอยของความ มีเหตุผลได้นั้น คือ การวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบคำพิพากษาโดยสาธารณชนนั่นเอง
ที่บ่นมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องในนิทานเท่านั้น
Image

วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ระบบ Sotus เผด็จการซ่อนรูปในหมู่ปัญญาชน


                     ระบบ Sotus  เผด็จการซ่อนรูปในหมู่ปัญญาชน 


หลักอ้างอิง: อักษรสีฟ้าเป็นลิงค์ที่อ้างอิง


SOTUS การสืบทอดระบบขูดรีด

            เดือนมิถุนายน เดือนนรกที่ให้รุ่นพี่เลวใช้กดขี่นักศึกษาใหม่เวียนมาบรรจบอีกแล้ว ตลอดเดือนนี้หากไปเดินดูตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จะพบว่าช่วงเขากำลังต้อนรับน้องใหม่ แต่ไม่ใช่การร้องรำทำเพลงสนุกสนานแบบที่เราเห็นในทีวีตอนเอ็นท์ติดใหม่ๆ อีกแล้ว เดือนนี้เป็นเดือนนรกสำหรับนักศึกษาปี1เพราะพวกเขาจะถูกรุ่นพี่กดขี่เยี่ยงทาส ราวกับรุ่นพี่ได้รับอำนาจจากฮิตเลอร์ให้มาลงโทษเชลย มัน
คือมิถุนาทมิฬในเดือนมิถุนาทมิฬจะมีการเปิดห้องเชียร์ ให้นักศึกษาปี 1 เข้าไปนั่งในห้องเรียนแคบๆ
ให้รุ่นพี่ใช้อำนาจภายใต้ระบบโซตัส (SOTUS) ทำการ ว้าก หรือการตะคอกข่มขู่ เสียดสีดูถูกต่างๆ
นานาราวกับน้องไม่ใช่คน มีการบังคับให้น้อง บูมหรือตะโกนดังๆ ในเพลงที่ร้องแทบไม่เป็นสำเนียง
ที่เริ่มต้นเป็นเสียงหวีดร้องของผู้หญิง ตามมาด้วยการเลียนเสียงระเบิดของผู้ชาย ตามด้วยภาษาคนป่า
อีกสองวรรค แล้วก็ภาษาต่างด้าวยุโรป แปลออกมาจากน้ำเสียงที่โอหังว่า “ข้าคือใคร ข้าจะบอกให้ก็ได้
 (แล้วก็ลงชื่อสถาบัน)” ลงท้ายด้วยเสียงหวีดร้องและเสียงเลียนแบบระเบิด และปรบมือให้ตัวเอง ที่เก่งกล้า ตะโกนอะไรบ้าๆทำนองนี้ออกมาได้ และดัง!?นอกจากนั้นแล้วก็จะถูกบังคับให้ร้องเพลงซ้ำๆซากๆ ถ้าไม่ใช่เพลงที่มีเนื้อหาลามกชักชวนให้ร่วมเพศก็เป็นเพลงที่มีเนื้อหาโอ้อวดเชิดชู ว่าสถาบันกูแน่ ข้าเป็นใหญ่ ใครมาลองดี มีหวังตาย เพราะข้าพร้อมพลีชีพเพื่อคณะ เพื่อสถาบันของข้า ทั้งหมดนี้น้องจะต้องร้องซ้ำไปซ้ำมา จนกว่ารุ่นพี่จะพอใจร้องดีก็ด่า ร้องไม่ดีก็ด่า หากรุ่นพี่ไม่พอใจ ก็สั่งน้องมุดโต๊ะกลิ้งไปมากับพื้นห้อง หรือสั่งให้มอบกองรวมๆ กัน รุ่นน้องจึงมีสภาพไม่ต่างอะไรกับเชลย
นอกจากนี้ ยังมีการบังคับรุ่นน้อง ให้ทำอะไรแปลกๆ พิเรนทร์ๆ ที่คนปกติไม่ทำกัน ตามแต่รุ่นพี่จะคิด
เช่น ให้คลานลอดหว่างขารุ่นพี่, ให้น้องผู้หญิงปิดตาแล้วเอาเงาะลอดขากางเกงน้องผู้ชาย จากขา
กางเกงซ้ายทะลุขากางเกงขวา, ให้ผู้ชายแต่งตัวแบบซุปเปอร์แมน คือให้ถอดกางเกงต่อหน้ารุ่นพี่
เพื่อเอากางเกงในออกมาใส่ข้างนอก, ให้อมลูกอมแบบปากต่อปากต่อๆกัน, ให้น้องผู้หญิงไปอยู่ในน้ำ
เพราะรุ่นพี่ชายอยากดูหุ่น ฯลฯ แล้วแต่รุ่นพี่จะคิด อยากให้น้องทำอะไร ซึ่งดูๆ แล้ว ไม่ผิดอะไรกับ
การทรมานคนอิรัก ในเรือนจำอาบู - กราอิบ หรือว่ามันมาจากวิธีคิดเดียวกัน!!!

SOTUS มันมาจากไหน
      
      ระบบโซตัส เกิดขึ้นจากระบบอาวุโสในโรงเรียนกินนอนของอังกฤษ (Public School) ทั้งสถาบัน
ของพลเรือนอย่าง Oxford และ  Cambridgeและโรงเรียนนายร้อย Sand Hurst ที่ฝึกคนไปปกครองอาณานิคม ประมาณปี 1850 โรงเรียนทหารของสหรัฐจึงนำไปพัฒนาเป็นระบบโซตัส ที่เข้มข้นขึ้นเพื่อใช้ฝึกให้นักเรียนนายร้อยเหล่านี้มีความสามัคคี เข้มแข็งโดยมี ประเพณีรับน้องใหม่(Initiation ritual)
ที่ทดสอบความอดทน ของน้องใหม่ มีการขู่ตะคอก (Scold) หรือว้ากหรือการดูหมิ่นต่างๆ เป็นต้น
        ต่อมาระบบนี้ก็ได้แพร่หลายไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วสหรัฐ มีการตั้งกลุ่ม Fraternity ของนัก
ศึกษาชาย และกลุ่ม Sorority ของนักศึกษาหญิง ซึ่งกลุ่มทั้ง 2 แบบก็จะมีการรับน้องของกลุ่ม และ
ระบบนี้ก็ถูกนำไปใช้ทีUniversity of the Philippineshttp://www.upd.edu.ph/ (UP) หลังจากที่ฟิลิปปินส์ ตกเป็นอาณานิคมของสหรัฐนิคมของสหรัฐในปี ค.ศ. 1900โซตัสลามเข้าไทย เมื่อมีการก่อตั้งวชิราวุธวิทยาลัยตามแบบ
โรงเรียนกินนอนในอังกฤษ เมื่อมีการตั้งโรงเรียนนายร้อยสำหรับฝึกทหารและตำรวจ เพื่อส่งคน
ไปปกครองตามหัวเมืองต่างๆ และดินแดนอดีตอาณานิคมของสยาม อย่างล้านนา อีสาน มลายูปัตตานี
ที่ทั้งหมดเพิ่งถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติสมัยใหม่หลัง ร.5 เป็นต้นมา
     เมื่อก่อตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนซึ่งต่อมากลายเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบบอาวุโสถูก
นำไปใช้ที่นั่น และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการส่งคณาจารย์
รุ่นแรกๆ ไปเรียนเกษตรที่ http://www.cornell.edu/ สหรัฐอเมริกา กับ University of thePhilippines ที่ฟิลิปปินส์ ระบบโซตัสจึงเริ่มที่มหาวิทยาลัยเกษตร และแพร่ขยายไปทั่วประเทศลามไปที่จุฬาด้วย
ขณะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งตามแบบมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และการเมือง
(Ecole des Sciences et Politiques) ของฝรั่งเศสจึงไม่มีระบบนี้ โดยมหาวิทยาลัย
ในภาคพื้นยุโรป จะไม่มีการรับน้อง ไม่มีระบบอาวุโส หรือยึดติดกับสถาบันมากเท่าพวกอังกฤษและ
อเมริกา (Anglo-Saxon)

*มีอะไรอยู่ใน SOTUS*

              โซตัส มีอักษรย่อ 5 ตัว SOTUS คือ
1.S = Seniority เคารพผู้อาวุโส
2.O = Order ต้องทำตามคำสั่งผู้อาวุโส ต้อง
3.T = Tradition ทำตามประเพณีที่ผู้อาวุโสคิดเอาไว้
4. U = Unity
         ต้องคิดเหมือนๆกันอย่างเป็นเอกภาพห้ามคิดต่าง และ 5.S = Spirit พร้อมพลีชีพเพื่อสถาบัน
ระบบโซตัส คือแนวคิดที่อังกฤษและอเมริกาใช้ปกครองคนในอาณานิคม คือแนวคิดที่อยู่ในหัวของชนชั้นปกครองไทย โซตัสทำให้เห็นคนอื่นไม่ใช่คน เห็นว่ามึงไม่เหมือนกู มึงไม่เท่าเทียมกู ดังนั้นกูจะทำอะไรกับมึงก็ได้เข้าใจไหม ดังนั้นรูปธรรมของโซตัสที่เราเห็น คือสงครามเวียดนามที่นายทหารสหรัฐสั่งพลทหารล้อมฆ่าคนเวียดนามที่ไม่มีอาวุธ คือการทรมานนักโทษอิรักในเรือนจำอาบู - กราอิบ คือการสั่งฆ่าประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตูาคม 2516 ใน 6 ตุลา 2519 ในพฤษภาทมิฬ 2535 และล่าสุดคือการใช้รถหุ้มเกราะ และอาวุธนานาชนิดถล่มมัสยิดกรือเซะ โดยที่คนมลายูปัตตานีที่อยู่ในกรือเซะ ไม่มีสิทธิแม้แต่จะขอมอบตัว
  *ที่จริงแล้ว SOTUS มันน่าจะเป็น 1.Stupid โง่ 2.Out-Dated ล้าสมัย 3.Tyranny
    เผด็จการ 4.Uncivilized ป่าเถื่อนไร้อารยธรรม 5.Stop It เลิกเถิดเรื่องโง่ๆ ไร้สาระมากกว่า เพราะ SOTUS ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เลย*     
      ในสมัยสงครามเย็น สหภาพโซเวียตยึดครองอัฟกานิสถาน หน่วยสืบราชการลับ CIA ของสหรัฐเข้าไปตั้งกลุ่มมูจาฮิดิน (นักรบศักดิสิทธิ์) เพื่อต่อต้านโซเวียต จนกลายเป็นอัลกออิดะห์ เป็นหอกทิ่ม
อเมริกาในปัจจุบัน ทั้งนี้อัลกออิดะห์ ที่เรียกร้องให้ทำสงครามพลีชีพ ก็ไม่ผิดอะไรกับรุ่นพี่โซตัสที่ให้
น้องร้องเพลงเชียร์ที่มีเนื้อหาให้ยอมพลีชีพหากคู่อริมาลองดี ที่น่าสนใจคือ ทั้งอัลกออิดะห์ และรุ่นพี่โซ
ตัส ได้ไอเดียมาจากที่เดียวกัน คือ อเมริกา!!

*SOTUS กับการสืบทอดระบบขูดรีดของทุนนิยม*

         รุ่นพี่ได้พยายามเชื่อมโยงโซตัส ให้เข้ากับวิถีการผลิตปัจจุบัน เพราะการผลิตสมัยใหม่ต้องการคน
จำนวนมากๆ ป้อนเข้าสู่ระบบสายพาน นักศึกษาที่เรียนจบก็ต้องเข้าไปทำงานในสำนักงาน ในโรง
งาน หรือเป็นไปเป็นข้าราชการ รุ่นพี่มักอ้างว่าการรับน้องเป็นไปเพราะพี่รักน้องจริงๆ แต่จริงๆคำ
ว่ารักของรุ่นพี่เป็นเพียงลมปาก ที่จริงแล้วเขามักขู่รุ่นน้องเวลาเลิกการรับน้องในทุกๆวันว่า หากรุ่น
น้องไม่เชื่อฟัง จะถูกลอยแพ จะทำให้
1) ไม่มีใครสมาคมด้วยในมหาวิทยาลัย และรุ่นพี่จะไม่ให้ยืมสมุดหนังสือ
 2) จบออกไปแล้ว เครือข่ายของรุ่นพี่ศิษย์เก่าจะทำให้รุ่นน้องที่จบไปไม่มีงานทำ
      ซึ่งมันได้ผลมากในการ “เอาความไม่แน่นอนของการผลิตแบบทุนนิยม มาตั้งเงื่อนไขเพื่อกดขี่รุ่นน้อง”นอกจากนี้รุ่นพี่มักอ้างว่าการฝึกรุ่นน้องให้อดทน เพราะรุ่นน้องเรียนจบออกไป จะได้เป็น “เจ้าคน
นายคน” จะได้ “คุมคนงาน” ทั้งที่ตัวเองก็เป็นคนงานเหมือนกัน!!! ระบบโซตัสที่ส่งเสริมให้รักพวก
พ้อง รักสถาบัน แทนที่จะบอกให้รุ่นน้องสามัคคีกันต้านนายทุน มันจึงเหมือนกับแนวคิดชาตินิยม ที่พวก
นายทุนใช้เพื่อยุแยงให้กรรมาชีพรักชาติจะได้ฆ่ากันเองในสงครามโลก เพื่อปกป้องนายทุนโซตัสจึงเป็นการขูดรีดสามรอบ รอบแรก รุ่นพี่ให้เราจ่ายค่าคุ้มครอง ด้วยการแลกศักดิ์ศรีการเป็นมนุษย์ ให้พวกมันรับน้อง เพื่อประกันว่าจะใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัย และได้งานทำ ฟังดูแล้วไม่ผิดอะไรกับพ่อเล้าเรียกเก็บค่าคุ้มครองคนที่ทำงานบริการเพศ หรือพวกเก็บค่านายหน้าคนงานไปทำงานต่างประเทศ การขูดรีดรอบสอง หลักประกันสำหรับนายจ้างว่า พวกที่ผ่านโซตัสมาแล้วจะ
 1)จะไม่กล้าหือต่อนายจ้าง นายจ้างจะใช้ทำโอทีอย่างไรก็ได้ และคนงานที่ผ่านระบบโซตัสจะไม่หัวหมอ กล้าต่อรองสวัสดิการและเงินเดือน
2)ที่สำคัญคนงานที่จบจากมหาวิทยาลัย แล้วได้คุมคนงานพื้นฐานอีกทีหนึ่ง พวกนี้จะใช้หลักสูตรโซตัส
 เป็นมือเท้าให้กับนายจ้างคอยกำราบคนงานพื้นฐานไม่ให้ต่อรอง และการขูดรีดรอบสาม หากรุ่นน้องยอมจำนนต่อระบบไปแล้ว ระบบโซตัสก็จะได้ทายาทเพื่อสืบทอดการทรมานทาสในรุ่นต่อๆ ไป เป็นการช่วยกันสืบทอดระบบขูดรีดของทุนนิยม โซตัสเป็นลัทธิยอมจำนนต่อระบบทุนนิยม แทนที่ปล่อยให้เกิดการคิดอ่านเพื่อทำลายระบบบ้าบอนี้เสีย

*มิถุนาทมิฬ โศกนาถกรรมทางการเมืองที่ซ้ำซาก*

           มิถุนาทมิฬ ไม่เหมือนพฤษภาทมิฬ เพราะมิถุนาทมิฬ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุก ๆ ปีซึ่งอาจเกือบ
ศตวรรษนับแต่ที่มีมหาวิทยาลัยในเมืองไทย ผู้ต่อต้านระบบโซตัสมักถูกต่อต้านจากรุ่นพี่ที่ไม่ใช้การกดดันก็ใช้มาตรการรุนแรงจัดการ 23 ตุลาคม พ.ศ.2496 ฝ่ายซ้ายอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์สมัยเป็นนิสิตคณะ
อักษรศาสตร์ จุฬาฯ ถูกพวกนิยมโซตัสจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จับโยนบก (โยนจิตรจากเวทีลงพื้น)
เสกสรร ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาสมัย 14 ตุลา เคยต่อต้านพิธีรับน้องกลางงานจนมีเรื่องกับรุ่นพี่ ธเนศวร์ เจริญเมืองและพรรคพวกรวมเงินกัน พิมพ์ใบปลิวประท้วงห้องเชียร์คณะรัฐศาสตร์แจกไปทั่วจุฬาฯ ช่วงต้นๆ พ.ศ. 2510 จนถูกรุ่นพี่กดดัน ช่วงเวลาเดียวกันนั้นมีการออกหนังสือ อาทิ“หนุ่มหน่ายคัมภีร์” ของ สุจิตร วงศ์เทศ และ “ฉันจึงมาหาความหมาย” ของ วิทยากร เชียงกูลซึ่งมีเนื้อหาเสียดสี และประชดประชันระบบโซตัส
            หลัง 14 ตุลา 2516 การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เป็นประเด็นทางการเมืองสำคัญของชนชั้นล่าง
อย่างชาวนาและคนงาน ยุคนี้เป็นยุคตื่นตัวทางสังคมของนักศึกษา เริ่มมีขบวนการนักศึกษาที่ปฏิเสธ
ความโง่ และความป่าเถื่อนของระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ประเพณีต่างๆ ที่พวกพี่ๆ โง่ นำมาใช้ในสมัยเผด็จ
การทหารก็เลยกลายเป็นเรื่องตลก และถูกยกเลิกไป กิจกรรมนักศึกษาเน้นหนักไปในแนวทาง “ต่อสู้
เพื่อผู้ถูกกดขี่” ค่ายอาสาฯ ได้รับความนิยมกว่าห้องเชียร์ ดังนั้นมิถุนาทมิฬจึงเงียบหายไปจาก
มหาวิทยาลัยในช่วง พ.ศ.2516-2519 เป็นเวลา 3 ปี เหลือเพียงบางคณะในมหาวิทยาลัย
เกษตรศาสตร์ที่มีการรับน้องด้วยโซตัส
          ปัจจุบันผ่านไปแล้ว 30 กว่าปี โซตัสมันกลับมาอีก สาเหตุก็ไม่ใช่เพราะนักศึกษาโง่หรอก แต่เพราะชนชั้นปกครองไทยอยากให้โง่ต่างหาก การเริ่มเคลื่อนไหวทางสังคมของนักศึกษากับประชาชนหลังสมัย 14 ตุลา ชนชั้นปกครองกลัวว่าจะปกป้องอภิสิทธิ์ไม่ได้ จึงมีคำสั่งร่วมลงมาให้สังหารหมู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และมีคำสั่งตามมาให้เผาหนังสือที่อาจปลดแอก
พวกเราจากความโง่ตามห้องสมุด ต่างๆ ด้วยหลัง 6 ตุลาคม 2519 กิจกรรมรับน้องไร้สาระกลับมาอีก
 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยดูจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่กำราบจริงจังกับกิจกรรมโซตัสพวกนี้ เพราะโซตัสได้ทำลายจินตนาการ และพลังการต่อสู้ของคนหนุ่มสาว ไม่ให้มาสนใจกับปัญหาเศรษฐกิจการเมืองหรือแม้แต่เรื่องใกล้ตัวในมหาวิทยาลัย ซึ่งทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยและชนชั้นปกครองก็สมประโยชน์ทั้งคู่ กิจกรรมนักศึกษาที่มีต่อสังคม จึงอยู่ในช่วงขาลง เห็นได้จากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ การปฏิรูปการเมือง และการต่อต้าน โลกาภิวัฒน์ นักศึกษาส่วนใหญ่จึงไม่สนใจ

*อนาคตของ SOTUS นักศึกษาผู้รักความเป็นธรรมทั้งหลายจงตื่นเถิด*

         เราไม่ควรลืมประวัติศาสตร์ของเราเอง ในปี 2475, 2516 และ 2535 มวลชนชาวไทยรวมตัวกัน
ล้มระบบเผด็จการ และชนะ ดังนั้นถ้านิสิตนักศึกษารุ่นใหม่ต้องการล้มเผด็จการของห้องเชียร์ และรุ่น
พี่ ก็คงต้องเรียนบทเรียนจากอดีต คนหนุ่มสาวไทยสามารถล้มเผด็จการได้ และเคยยกเลิกระบบรุ่นพี่
รุ่นน้องในมหาวิทยาลัยด้วย แต่ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องรวมตัวกันปฏิเสธความโง่ แล้วพวกรุ่นพี่ที่ดูเหมือนจะมีอำนาจล้นฟ้าก็จะกลายเป็นมนุษย์น้อยที่น่าสงสารเท่านั้นเอง ดีไม่ดีเขาอาจไหว้เราเป็นการขอบคุณก็ได้เพราะเราสามารถปลดแอกความโง่จากเขา ได้ สิ่งที่สำคัญคือ นิสิตนักศึกษาต้องทำเอง ไม่ใช่ไปหวังว่าคนอื่นหรือใครที่ไหนจะทำให้ อย่าลืมว่าคนสามารถเอาแอกออกจากควายได้ แต่เนื่องจากควายเอาแอกออกเองไม่ได้ ควายจำต้องเป็นทาสของมนุษย์ตลอดกาล*หลังการล้มเลิกระบบโซตัส มีทางเลือกให้กับชีวิตของเรามากมาย ในหมู่นักศึกษาเราจะรักกันโดยไม่แบ่งแยกคณะ ไม่แบ่งแยกสถาบัน เราควรเลิกการรับน้อง แล้วเอาเวลาไปศึกษาโลก และต่อสู้เพื่อสังคม ที่ยังมีผู้ได้รับความอยุติธรรมอยู่ค่อนโลก ค่อนประเทศ แล้วเอาเวลาไปพักผ่อน เล่นกีฬาเล่นเกม มันยังมีประโยชน์กว่าการกดขี่นักศึกษากันเองเป็นไหนๆ !!!*

บทความจาก อาจารย์ป่วย อึ้งภากรณ์  เนื้อหาภายในบทความ ข้าพเจ้าไม่ได้ปรับ หรือแก้ไข แต่มีการเอาเทคนิคของโซเชี่ยนเน็ตเวิร์ค นำลิงค์ ยูทูป มาอ้างอิงประกอบบทความ เพื่อให้ได้ครอบคลุมเนื้อหา  มิได้ลบหลู่อาจารย์แต่อย่างใด ทั้งนี้เนื้อหาภายในบทความคงเป็นประโยชน์แก่ชนรุ่นหลัง        

ขอขอบพระคุณด้วยใจคาระวะที่ให้ความรู้แก่ชนรุ่นหลัง
















วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ถีบลงเขาเผาถังแดง...อุดมคติที่แตกขั้ว ในยุคล่าแม่มดที่พัทลุง

อรุณรุ่งยามเช้า             ท้องฟ้าเศร้าไร้สีสัน
อึมครึมครึ้มม่านควัน        ฟ้าลดหลั่นหลังน้ำตา
และแล้วเป็นเรื่องจริง      มีคนวิ่งร้องเรียกหา
พวกชุดสีขี้ม้า              จับแม่ข้าลงถังแดง

จากนั้นเขาก็หาย        หลบหน้าไปเหมือนเร้นแฝง
ร้อนเลือดยังเดือดแดง    แผ่นดินแล้งยังร้อนรน
ถังแดงยังแดงเดือด       กระหายเลือดดังสับสน
คิดไปใจวกวน              นึกถึงคนที่หายไป
ไม่ถูกจับลงถัง              ชีวิตยังไม่ไปไหน
ดาวแดงแสงพร่างพราย กลับมาใหม่พร้อมด้วยปืน
นี่คือคำบอกเล่า             ของเพื่อนเราใจเต็มตื้น
รู้ว่าเขาจับปืน               ทวงหนี้คืนแสนยินดี

เพลงถีบลงเขาเผาถังแดง http://www.youtube.com/watch?v=Ymph6n2x8Dg 
   
    ประวัติศาสตร์ประชาชน "คอมมิวนิสต์และกรณีถังแดง" พัฒนาการหนึ่งของการขับเคลื่อนชุมชน  3,008 ศพ ที่ถูกสังหารไปในระหว่างปี 2508-2534 ในเหตุการณ์ "ถีบลงเขา เผาถังแดง" ยังเป็นที่จดจำรำลึกถึงและฝังความเจ็บร้าวไว้ในใจของคนที่สูญเสีย และเมื่อม่านควันแห่งความสะพรึงกลัวต่อ "ปีศาจคอมมิวนิสต์" นั้นเริ่มจากหายผ่านพ้นไป บวกกับสถานการณ์การเมืองคลี่คลายลง ประชาชนมีเสรีภาพและมีสิทธิมากขึ้น ตลอดจนสังคมไทยปัจจุบันกำลังสำลักความสะดวกสบายที่เฝ้ารอและเรียกร้องผู้ชนะ ในการแข่งขันอยู่ในกระแสทุนนิยม
         การคุกคามปราบปรามการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) โดย ทางการในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม-ประภาส ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และรุนแรงยิ่ง ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ภัยจากนโยบาย ๓ เรียบ (จับเรียบ ฆ่าเรียบและเผาเรียบ) เจ้าหน้าที่ประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และ อ.ส.เข้าล้อมหมู่บ้าน...จับบรรดาราษฎรที่ต้องสงสัยไปเป็นจำนวนมาก แล้วทำการสอบสวนโดยวิธีการทารุณต่างๆ เช่น สอบสวน แล้วเมื่อไม่รับก็ยิงกรอกหู ใช้ค้อนทุบต้นคอ จับชาวบ้านใส่ถังแดงแล้วเผาทั้งเป็น บางครั้งก็ให้ถือมีด กันคนละเล่มฆ่ากันเอง และมีราษฎรอีกจำนวนมาก ที่ถูกจับไปแล้วหายสาบสูญไม่ได้กลับบ้าน
         บางคราวเมื่อมีฝนตกหนัก ก็มักพบกะโหลกคนกลิ้งลงมาจากเขา ทำให้เชื่อกันว่า ราษฎรที่หายไปนั้น ถูกจับขึ้นเฮลิคอปเตอร์แล้วถีบลงมาจากกลางอากาศ ส่งผลที่โหดร้าย ต่อประชาชน ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้เป็นอย่างมาก มีการจับผู้ต้องสงสัย อย่างเหวี่ยงแห และถูกใส่ร้ายโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ที่เป็นแบบแผนของอารยชน แต่อยู่ภายใต้ อำเภอใจของผู้ปราบปราม ที่ไม่ได้ผ่านการศึกษาในสถาบันที่สอน และยกระดับจิตใจ ให้เห็นคุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิในทางการเมืองของ พลเมืองอย่างเพียงพอ ผู้ต้องสงสัยจำนวนมากถูกจับใส่กระสอบป่าน เอาขึ้นเครื่องบิน แล้วไปถีบลงเขา ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จับกุมผู้คน และเผาบ้านทั้งหมู่บ้านที่ควนหินกอง อำเภอทุ่งสง จับกุมผู้คนและเผาในถังแดง (ถังน้ำมัน ๒๐๐ ลิตร) จำนวนมากมาย ปรากฏตามเอกสารหลายแห่งที่ระบุว่ามีจำนวนถึง ๓,๐๐๘ ศพ ส่วนใหญ่เป็นคนที่จังหวัดพัทลง ุแต่ทางราชการก็ปกปิดเรื่องไว้ จนเพิ่งถูกเปิดโปงอื้อฉาวออกมาภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516
         กระนั้น....จนถึงวันนี้ การกลับมากล่าวถึงความจริง "กรณีถังแดง" กล่าวถึงเหตุแห่งความสูญเสีย กล่าวถึงคุณูปการในการเสียสละต่อสู้กับอำนาจทมิฬ กล่าวถึงพลังทำร้ายต่อกันอันเกิดจากความงมงาย เพราะถูกครอบงำจนหวาดกลัวออกอากัปกิริยาระแวงภัยต่อกันของสังคมไทยโดยเฉพาะ ผู้มีอำนาจ หรือแม้แต่กล่าวถึงบทเรียนของชุมชน ประชาชนชั้นรากหญ้าที่ต้องเข้าไปสู่สนามแห่งการต่อสู้และต้องสูญเสียชีวิต มากมาย เพียงเพื่อลดทอนความระแวงและสะพรึงกลัวของผู้มีอำนาจนั้น กลับไม่เกิดขึ้นเลย แทบจะในทุกๆ พื้นที่การศึกษา ทุกระดับอำนาจของรัฐ หรือในกระบวนการเคลื่อนไหวของสังคม ว่าจะให้ "ดวงวิญญาณผู้สูญเสียชีวิตครั้งนี้ ถูกจารึกไว้ในหน้าใดของประวัติศาสตร์ และในที่ทางใดของหัวใจคนในสังคม"



  ถ่ายทอดความทรงจำของอดีตสหายเขต 07 แห่งเทือกเขาบรรทัด

     "สถานการณ์เริ่มรุนแรงมากยิ่งขึ้นเพราะทางเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าปราบ ปราม  ใช้สงครามจิตวิทยาข่มขู่สารพัดหลายคนถูกจับไปซ้อมและถูกบังคับให้ต่อต้านคน ทุกหมู่บ้านต้องเข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่ถ้าใครไม่ร่วมมือก็อยู่ไม่ได้  คนส่วนหนึ่งทำตามเจ้าหน้าที่ออกหาข่าวค้นหาที่ที่คิดว่าพวกเราอยู่
 ดังนั้นภายในของพวกเราต้องอบรมให้การศึกษาไม่ให้ทุกคนออกไปไหน  เรื่องแสงเสียงและร่องรอยจึงถูกเข้มงวดอย่างจริงจัง  หลายคนรู้สึกท้อแท้เหนื่อยหน่ายบวกกับความกลัวถูกยิงมองไม่เห็นอนาคตที่มา อยู่กลางดินกลางโคลน  นอนไม่เต็มที่ กินไม่เต็มท้อง
 หลายคนคิดจะกลับบ้าน  พวกเราก็ต้องช่วยกันทำงานความคิดให้พวกเขาอดทน  หากออกไปจะไม่ปลอดภัย  คนจำนวนมากมาอยู่รวมกันย่อมเกิดปัญหาเป็นเรื่องธรรมดา  ปัญหาที่เกิดไม่ใช่ความแตกแยกหรือขัดแย้งภายใน  แต่เป็นปัญหาส่วนตัวของแต่ละคน  เช่น บางคนติดหมาก ไม่มีหมากกิน บางคนติดบุหรี่ บางคนติดเหล้า บางคนติดกระท่อม  ปัญหาเหล่านี้สร้างความสับสนปั่นป่วนให้กับกระบวนการ  มีสหายคนหนึ่งติดกระท่อมไม่มีใบกระท่อมกิน  พอตกกลางคืนแกหนีออกไปบอกพวกเราที่เฝ้ายามว่าปวดท้อง  หลังจากออกไป 3 วัน ก็มีคนพบศพถูกทิ้งไว้ในป่าใกล้ๆหมู่บ้าน
 ส่วนพวกเราพอมีคนหนีออกไปแล้ว  ต้องย้ายที่พักในคืนนั้นทันที  ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยก็ได้มีการเรียกประชุมลงมติกันให้แยกกองกำลังออก เป็น 2 ส่วน ตามความสมัครใจว่าใครจะกลับบ้านหรือใครจะอยู่ต่อ  มีคนอยู่ต่อประมาณ 20 คน ส่วนคนที่ทนความยากลำบากไม่ไหวกลับออกไปเกือบ 10 คน
    คนที่ออกไปถูกจับเผาถังแดงทั้งหมด ส่วนพวกเราที่เหลือถูกตามล่า พักถูกตี  ถูกล้อมยิงติดต่อกันไปเรื่อยๆ  พอใกล้รุ่งที่พักร้างก็จะถูกล้อมยิง  บางครั้งออกจากที่พักได้ไม่นานก็ได้ยินเสียงปืนดังเป็นอยู่อย่างนี้ไม่ต่ำ กว่า 7 ครั้ง  คนของเราก็เหลือน้อยลง  ป่าที่ราบก็ไม่มีให้อยู่  สหายจึงตัดสินใจนำกองกำลังที่เหลือเข้าเขตป่าเขาบริเวณบ้านบางหล่อซึ่งอยู่ในตำบลเกาะเต่า อำเภอควนขนุน [ปัจจุบันเป็นอำเภอป่าพะยอม]  จังหวัดพัทลุงที่ นั่นได้สหายเพิ่มอีก 5 คน อยู่ได้ประมาณเดือนกว่าก็ต้องเคลื่อนเข้าป่าลึกเพราะถูกต่อต้านจากมวลชนใน หมู่บ้านบางหล่อ  ที่พักถูกตีออกไปหากินก็ถูกชาวบ้านยิงด้วยปืนลูกซอง  สถานการณ์โดยทั่วไปของตำบลและหลายๆตำบลเริ่มมีการเคลื่อนไหว  ถูกคุกคามและถูกปราบปรามอย่างหนักเกือบตลอดแนวป่าเขา จังหวัดพัทลุง
         วันนี้ประชาชน ชุมชนที่ร่วมรู้เห็นและญาติมิตรที่ต้องสูญเสีย กำลังลุกขึ้นรำลึกพร้อมทั้งสร้างอนุสรณ์สถานให้วีรชนของตน ที่ต้องพลีชีวิตในเหตุการณ์ "ถังแดง" และตลอดจนกล่าวถึงบทเรียนนั้น ทั้งในทางประวัติศาสตร์ ที่รัฐไทยไม่กล้าบันทึกไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา และในทางกระบวนการเรียนรู้เคลื่อนไหวของชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจกับชุมชน ถึงความเป็นมา ว่า "กรณีถีบลงเขา เผาถังแดง" คือพื้นที่หนึ่ง ซึ่งเป็นชุมชนของความทรงจำทางการเมืองของขบวนการภาคประชาชน และคือประวัติศาสตร์อันหาญกล้าของคนเล็กคนน้อย ที่ต้องสังเวยชีวิตสนองอำนาจผู้ปกครองไทยที่ขลาดเขลาและขลาดกลัวในยุคสมัย นั้น
           ณ วันนี้ ชุมชนตำบลลำสินธุ์ และชุมชนอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง ทั้งในเขตอำเภอกงหรา กิ่ง อ.ศรีนครินทร์ และอำเภออื่นๆ ในจังหวัดพัทลุง ก็ยังขับเคลื่อนวิถีชีวิตมาเรื่อยๆ ตราบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เก็บงำเหตุการณ์ เรื่องราว ความทุกข์ยากลำเค็ญมากมายไว้เพียงความทรงจำที่พร่าเลือน แต่มิอาจปฏิเสธได้ว่า บทเรียนการต่อสู้ในยุคนั้น ได้ก่อเกิดกระบวนการเรียนรูอะไรแก่ชุมชนและสังคมไทย โดยเฉพาะคำตราหน้าว่า "คอมมิวนิสต์" แท้จริงในทัศนะของคนในชุมชนคือใครและคืออะไร เกิดขึ้นและเกี่ยวพันกับเขาได้อย่างไร
 นายสมยศ เพชรฉาด นักวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งศึกษาวิจัยกรณีถังแดง กล่าวย้อนถึงวิถีชีวิตชาวตำบลลำสินธุ์ และข้อค้นพบเกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องคอมมิวนิสต์ว่า "ตำบลลำสินธุ์ มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานมาก เกี่ยวพันธ์กับเจ้าเมืองพัทลุง หรือเกี่ยวพันกับชาวกงหรา ซึ่งที่นี่มีประวัติศาสตร์มายาวนานมากพอที่จะยืนยันจากซากกระดูกมนุษย์โบราณได้ ที่กล่าวถึงนี่เพียงเพื่อจะบอกกล่าวถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนที่นี่ว่ามีความเป็นมาที่ยาวนานนะครับ อาชีพส่วนใหญ่ของคนที่นี่ในอดีตคือ การเกษตรที่พึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่งทำมาแต่ดั้งเดิม แต่กระนั้นชาวลำสินธ์ก็ยังต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกด้วยเช่นกัน ทำให้คนที่นี่แต่โบราณเขาก็ออกไปแลกของหรือค้าขายด้วยเช่นกัน เช่น หาลางสาดไปแลกข้าว หาของป่าไปขาย
 ปัญหาของชาวลำสินธ์ก่อนยุคสมัยที่คอมมิวนิสต์จะเริ่มเข้ามานั้นคือ ปัญหาโจรผู้ร้าย ซึ่งชุกชุมมาก ปัญหาการพนัน ปัญหาหญิงสาวในชุมชนถูกฉุดคร่า ไปข่มขืน ในขณะที่กฎหมายเข้ามาไม่ถึง ทำให้สภาพปัญหาในขณะนั้น คือชุมชนไม่รู้จะพึ่งพาใคร พึ่งพาเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ช่วยไม่ได้ เจ้าหน้าที่บางคนกลับเลี้ยงโจรไว้เอง ดังนั้น เงื่อนไขการเข้ามาอาศัยอยู่ได้ของคอมมิวนิสต์คือ สามารถปราบโจรได้ ซึ่งสังคมปัจจุบันอาจจะมองภาพนี้ไม่ออกแล้ว
          ส่วนลัทธิคอมมิวนิสต์ ก็เป็นเพียงอิทธิพลทางความคิดที่เข้ามา เหมือนกับการเข้ามาของอิทธิพลศาสนาพราห์ม หรือพุทธ กับคอมมิวนิสต์นี้ แม้ว่าเราจะรับมาจากฝรั่งก็ตาม แต่ก็เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาสังคม ดังนั้น ในการเสาะหาหนทางแก้ไขปัญหาสังคมของชุมชน ของประเทศชาติ หรือของโลก ถ้าเรามองในหลักการเรื่องเสรี เราก็ควรจะเปิดกว้างให้มากที่สุด แล้วก็หาวิธีแก้ไขที่ดีที่สุดมาแก้ปัญหา ด้วยเหตุนี้อย่างการเข้ามาของลัทธิคอมมิวนิสต์ในพัทลุง การมาฝังตัวที่เขาเจียก หรือที่ไหนก็ตามมันเริ่มตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว และในภาคใต้ก็เริ่มนานแล้ว แม้แต่ในตรังก็เริ่มมีการต่อสู้ของกรรมกรแล้วครับ
          ส่วนการสาเหตุที่ชาวบ้านเข้าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ สาเหตุมาจากรัฐกลั่นแกล้งมากเกินไป จนต้องลุกขึ้นสู้ อย่างความเดือดร้อนเรื่องน้ำจากเขื่อนนาท่อมในสมัยนั้น ชาวบ้านเดือดร้อนร้องเรียนยังไงก็ไม่ได้รับการแก้ไข จนชาวบ้านต้องประกาศจะไประเบิดเขื่อนเลย ถามว่าคอมมิวนิสต์เข้ามาได้อย่างไร ทางไหน ก็ทางนี้แหละครับ แล้วมันก็เติบโตขยายไปตามระบบเครือญาติอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ผู้นำพรรคบางคนเป็นคนท้องถิ่นนี้เอง ซึ่งไม่เคยอ่าน ไม่เคยศึกษาลัทธิมาร์กซ์-เลนินหรอก 

อีกอย่างชาวบ้านเข้าไปร่วมเพราะอยู่ในภาวะเขาควายด้วย ไม่เข้าร่วมกับรัฐก็ถูกยิง ไม่เข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์ก็ถูกยิง ทำให้ส่วนหนึ่งต้องหันมารวมตัวดูแลกันเอง แต่ถึงกระนั้นก็ยังถูกตราหน้าให้เป็นคอมมิวนิสต์ครับ" นายสมยศ กล่าวอธิบาย

นายวัฒนา ดิษฐาอภิชัย หรือ ครูกาด อดีตสมาชิกพรรคสังคมนิยมและนักเคลื่อนไหวเรียกร้องในยุค 14 ตลาฯ กล่าวถึงบริบททางสังคมและสถานการณ์ทางการเมืองของไทยและของโลกในขณะนั้น ที่มีอิทธิพลผลักดันให้ชนชั้นผู้ปกครองไทยหวาดกลัวจนหันมาเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ "ผมก็เกิดและอยู่ร่วมสมัยพอควร แต่ผมอยู่กรุงเทพฯตั้งแต่ 2510 ตอนเกิดเหตุการณ์ถังแดง ผมอยู่กรุงเทพฯ พอเหตุการณ์นี้แดงขึ้นมา คนที่มาจากใต้ทั้งหมดที่ไปเปิดพื้นไฮปาร์คที่สนามหลวง ส่วนใหญ่จะได้รับทราบข่าวผ่านพรรคพวกของตนที่ภาคใต้ จากคนหลายๆ คน ส่วนผมก็รับรู้จากผู้ใหญ่เชือน ลุงสุข ซึ่งเป็นคนในสมัยนั้น
       ส่วนตัวผมไม่ค่อยได้ใกล้ชิดสนิทสนมกับคนที่นี่มากนัก เพราะบ้านผมอยู่ทางทะเลน้อย แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ทำให้เริ่มรู้สึกใกล้ชิด ผมลงมาทุกครั้งจะลงไปที่บ้านลุงสุข บ้านผู้ใหญ่เชือน ซึ่งเท่าที่ผมประมวลจากประสบการณ์ทั้งหมด เหตุการณ์นี้มันแยกไม่ออกจากสถานการณ์โลก เมื่อครู่น้องผมพูดถึงเรื่อง การโฆษณาเรื่องคอมมิวนิสต์ซึ่งในสมัยเด็กๆ ผมชอบไปดูหนังกลางแปลง ประมาณปี 2501-2502 ผมอยู่ชั้นมัธยม 1 - 2 เท่านั้นเอง ในสมัยนั้น ซึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2494 จนถึงผมเข้าโรงเรียน พวกจัดตั้งแบบนี้เริ่มมีเข้ามาแล้ว และก็มีพวกเจ้าหน้าที่รัฐเอาเฉพาะหนังมาฉาย เป็นหนังภาพการ์ตูน ที่มีทศกัณฑ์ มีพระราม ให้พวกคอมมิวนิสต์เป็นทศกัณฑ์ เพราะฉะนั้นในความคิดของเราในตอนนั้นคือ คอมมิวนิสต์ไม่มีศาสนา จับเอาคนไปทำปุ๋ย คนแก่ไปไหนไม่รอดก็เอาไปทำปุ๋ย หรือจับพระไปไถนา เป็นต้น เรากลัวกันมาก เรื่องคอมมิวนิสต์นี่
          หลังจากสงครามเย็น เมื่ออเมริกาเข้ามา เมืองไทยพยายามจะเอาความคิดทุกอย่างเข้ามาใส่ให้คนไทย ไม่ว่าจะผ่านระบบการศึกษา ซึ่งครูบาอาจารย์ผมก็จบจากนั่นเหมือนกัน เพราะผมไปเรียนที่ มศว.ประสานมิตร อาจารย์ส่วนใหญ่จบจากที่นั่น จากระบบการศึกษา จากโฆษณา จากการปฏิบัติงานของฝ่ายรัฐ ก็เลยทำให้เราคิดว่าโลกคอมมิวนิสต์ในสายตาของคนทั้งหมด เป็นโลกที่ไม่ดีเลย แม้แต่ผมก็ถูกปลูกฝัง จนยังเชื่อแบบนั้นอยู่ มันจึงสู้โลกของเสรีภาพไม่ได้ ส่วนจะเสรีภาพเทียมหรือแท้ก็ค่อยคุยกันนะครับ
           ปัญหาก็คือ เมื่อเขามาบอกเราให้เราเชื่อตามนั้น และให้เราคิดตามที่เขาบอกให้คิด เลยทำให้เราไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะถูกบอกให้คิดตามเขา อย่างผมนี้เป็นลูกชาวนา ผมกลับไม่สามารถบอกได้เลยว่า ชาวนานั้นเขาเป็นยังไง เพราะผมเรียนหนังสือตั้งแต่เด็กๆ ผมอาจจะไปช่วยพ่อแม่บ้าง หาบข้าว เก็บข้าว แต่ว่าจะให้เรียนรู้วิถีชีวิตจริงๆ ของชาวนาคงจะยาก และไม่สามารถจะพูดแทนชาวนาได้ ซึ่งตอนนั้นมีคนมาบอกว่าชาวนาเหนื่อยยากผมไม่รู้หรอก เมื่อผมไม่รู้ เวลาที่ผมไปแก้ไขปัญหาชาวนาก็แก้ตามคำเขาบอก ทำอย่างโน้นอย่างนี้
          ตรงนี้คือปัญหากับนักศึกษา ซึ่งเมื่อจบไปแล้วต้องศึกษาสังคมด้วย ว่าสังคมเขาคิดยังไง ที่นี้สังคมมันมีประวัติศาสตร์ความเป็นมา จากยุคสงครามเย็นมาถึงวันนี้ มันเริ่มการปลูกฝังความคิด แล้วพยายามให้สิ่งที่ต้องการของคน โดยเฉพาะทางด้านความจำเป็นก่อน และความจำเป็นที่เขาพยายามสร้างให้เราเห็นว่านั่นคือความจำเป็น ก็มักจะมีวาระซ่อนเร้น เมื่อมีวาระซ่อนเร้นก็กลายเป็นว่า การใช้วิธีคิดแบบการพัฒนา ใช้เศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทำให้การพัฒนานั้นแทนที่จะให้คนได้ปัจจัยการดำรงชีพตามความต้องการ ตามความจำเป็น ปรากฏว่ากลายเป็นความต้องการที่ล้นเกินความจำเป็น ก็เลยทำให้การพัฒนานั้น แทนที่จะทำให้คนอยู่เย็นเป็นสุขกลับ เป็นการทำให้คนทุกข์ยากยิ่งขึ้น เพราะทรัพยากรทั้งหมด ที่เคยอุดมสมบูรณ์ป่า นี้มีถึง 60-70% เหลือแค่ 10% มันหมดเกลี้ยงเลย แร่ธาตุหมด อะไรหมด จากตรงนี้เอง คนที่เห็นภัยจากการพัฒนาแบบนี้ โดยเฉพาะคนที่เคยผ่านการเรียนจากสถาบันการศึกษาก็เลยมีความคิดในการต่อต้าน
          ในขณะที่ประชาชนที่ถูกปกครองในลักษณะที่ดูเหมือนมีสิทธิเสรีภาพ แต่ความจริงๆ กลับไม่มี เพราะว่า รัฐไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เหมือนลูกไก่ที่โตขึ้นมาได้ก็ปล่อยให้มันหากินเอง รัฐไม่ต้องรับผิดชอบอะไร อย่างมากก็รับผิดชอบด้านการศึกษาเพียงเพื่อปลูกฝังความคิด วิธีการพัฒนาแบบทุนนิยม แล้วสร้างวัฒนธรรมแบบทุนนิยม แล้วก็ปล่อยให้หากินกันเอง ดังนั้น คนจึงยากจนอัตคัด ก็เลยทำให้ความเป็นอยู่ลำบาก ผมผ่านช่วงนั้นมาพอสมควร ผมผ่านการไปอยู่ที่โคราช แถวปากช่องมา ปรากฏว่า การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก ทำให้ป่าแถวนั้นฉิบหายหมดเลย มีแต่ไร่ข้าวโพด แล้วยังถูกตกเขียวอีก ตอนนั้นผมไปสอนหนังสือที่นั่น น่าสงสารชาวไร่ชาวนามาก ทำให้ทุกอย่างที่ชาวไร่ชาวนาทำมาเสียเปล่า เพราะเขาไม่มีทุนเลย เวลาไถก็ให้นายทุนไถให้ เมล็ดพันธุ์นายทุนออกให้ ดังนั้นพอได้ผลผลิตออกมานายทุนก็หักเอา ทำให้แทบจะไม่เหลืออะไรเลย พอถึงฤดูผลิตปีต่อมาก็มาเอากับนายทุนอีก ทำให้ความยากจนมันแผ่ขยายออกไปมากเลยในช่วงนั้น
     มันทำให้คนเริ่มที่จะรู้จักปัญหาว่า มันต้องทำยังไง โดยเฉพาะคนที่ผ่านการศึกษามา หรือประชาชนที่ถูกกดขี่ ก็เลยมีการเคลื่อนไหว ในลักษณะที่ไม่ขึ้นกับรัฐ หรือไม่ค่อยเชื่อรัฐ
อีกอย่างในพัทลุงมันก็มีวัฒนธรรมแบบเฉพาะอีกด้วย คือคนพัทลุงมีอุปนิสัยไม่ค่อยยอมใคร มันจึงเป็นตำนานการต่อสู้กับอำนาจรัฐ ซึ่งมันก็มีมาตลอด อย่างชุมโจร
'ดำ หัวแพร' ซึ่งก็คือรายหนึ่งที่ไม่ค่อยยอมใคร เวลาเขาจัดองค์กรในชุมโจรของ 'ดำ หัวแพร' เขาจะมีการจัดตำแหน่งเป็น ท่านขุน ท่านพระ เลียนแบบองค์กรของรัฐเลย นี่คือ ลักษณะทางประวัติศาสตร์ของพัทลุงที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐ ซึ่งมีมาโดยตลอด การต่อสู้นี้ไม่ใช่การสู้เพื่อยึดอำนาจรัฐ แต่เป็นการต่อสู้แบบไม่ยอมคน ไม่ยอมใคร ซึ่งความจริงก็มีสารนิพนธ์อยู่เล่มของ คุณโกศล มณธรรม ที่ทำออกมาดีและถ้านำมาประกอบกับงานวิจัยเรื่องถังแดงจะทำให้ประวัติศาสตร์เรื่องนี้ชัดเจนขึ้นมากครับ
          ส่วนกรณีของคอมมิวนิสต์ จริงๆ แล้ว ผมเองไม่เคยรู้เรื่องคอมมิวนิสต์เลย จนถึงช่วงสุดท้ายของเหตุการณ์จึงได้รู้ว่าคอมมิวนิสต์คืออย่างงี้เอง ผมอยู่กรุงเทพ ฯช่วง 14 ตุลา ผมกับ สมคิด นวลเปี่ยน เพียง 2 คนในมหาวิทยาลัยศีนครินทรวิโรฒ ที่ออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่วันแรก เพราะเหล่าครูไม่มีใครมีความคิดทางการเมืองเลย ที่นั่นเขาไม่สอนเด็กๆ เรื่องการเมือง แม้จนถึงทุกวันนี้ อาจจะมีบ้างก็แอบๆ เช่นพี่ชายของคุณผล ศรีละมุล ที่สอนราชภัฏนครฯ ก็ถูก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) พาไปอบรมอยู่ 2 ปี เพราะพูดเรื่องการเมือง ซึ่งเขาไม่อยากให้ครูพูดเรื่องการเมือง เรื่องนี้ผมยืนยันได้เลย ในมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์ ประสานมิตรเขาห้ามนักศึกษาพูดเรื่องการเมือง ใครพูดเรียบร้อยเลย ถ้าไม่ได้ คะแนน E ก็ถือว่าเป็นบุญเลยครับ ความใจกว้างไม่มีหรอกครับ
         ผมเองไม่รู้เรื่อง พอดีเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ขึ้นมา และเมื่อการเคลื่อนไหวสำเร็จ มันเหมือนน้ำที่ถูกอัดไว้มาก อะไรต่อมิอะไรพากันทะลักลอยขึ้นมาหมดเลยครับ แปลกนะครับ ประเทศอื่นๆ ถ้ายึดอำนาจรัฐ เขายึดโดยปากกระบอกปืน แต่เมืองไทย เปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐโดยเด็ก เด็กนักศึกษานี่เองครับ อย่าง ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ ในตอนนั้นก็พึ่งปี 4 เองครับ หรือ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็ปี 7 สมัยนั้น ปรีดี บุญซื่อ ปี 5 คนเหล่านี้ไม่เรียนหรอก พากันเคลื่อนไหว แล้วก็มาตั้งพรรคสังคมนิยมซึ่งผมเองก็อาจหาญมาก ไม่ไปทำมาหากินหรอก ไปลงเล่นการเมืองกับเค้า โดยลงคู่กับ อรุณ รังสี แล้วผมก็เป็นคอมมิวนิสต์มาตั้งแต่ลงเลือกตั้งนั้นเอง ซึ่งแถวนี้ตำรวจ ทหาร เดินหมดครับ ว่าใครลงให้พรรคสังคมนิยมบ้าง เพราะถ้าใครลงคะแนนให้ก็คือคอมมิวนิสต์ทั้งนั้น ผมนี่เป็นโดยไม่ได้รู้เรื่องเลย โดยเฉพาะครูนี่เขาไม่ให้เรียนเรื่องการเมือง ตำรับตำราอย่างลัทธิมาร์กซ์ นี่ห้ามมีเด็ดขาด ไม่ให้เรียน ไม่มีใครรู้หรอกว่า คืออะไร วิธีคิดของมาร์กซ์ คืออะไร หรือวิวัฒนาการของคอมมิวนิสต์เป็นอย่างไร เราไม่เคยรู้หรอก แต่ก็เป็นไปแล้วคอมมิวนิสต์
          รับราชการปี 2518-2519 ช่วงนั้นมีเหตุการณ์ 'ถีบลงเขา เผาถังแดง' ผมสอนอยู่ในโรงเรียนเดี๋ยวๆ ก็เห็นเฮลิคอปเตอร์บินผ่านไปมา ผมออกจากโรงเรียนได้ก็วิ่งเข้าป่าซึ่งนั่นคือจุดที่เราเริ่มจับปืนต่อสู้ และถูกตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เรื่องแบบนี้ถ้าไม่เจอกับตนเอง หลายๆ คนอาจจะไม่รู้สึก แต่คนที่สูญเสียพ่อ สูญเสียญาติ สูญเสียลูก สูญเสียภรรยาหรือสามี จะรู้ว่าเจ็บปวดอย่างไร แต่เราควรจะเรียนรู้เรื่องนี้ก็เพื่อว่า จะได้เข้าใจว่าเขารู้สึกอย่างไร เขาอยู่กันอย่างไร จะได้ไม่ทำอะไรตามอำเภอใจเมื่อมีอำนาจ
        เมื่อปี 2530-2539 ช่วงนั้น ที่ชาวบ้านเริ่มหันกลับมาฟื้นฟูชุมชนร่วมกัน และ มี พอช.เข้าไปพัฒนาก็พัฒนาอย่างไม่เข้าใจ พัฒนาแบบอื่น เช่น เอารั้วทาสี เอาลูกหินทาสี ซึ่งมันไม่เข้าใจความเป็นชุมชนเลย ในขณะที่ชุมชนเขาทำกลุ่มออมทรัพย์ อย่างในจังหวัดพัทลุงชาวบ้านที่นี่ริเริ่มทำมาก่อน ก่อนที่ พอช. จะเข้ามาเสียอีก ครับ
        ปัญหาความไม่เข้าใจแบบนี้มีในหลายๆ แห่ง ถ้ามีชุมชนที่ดังขึ้นมา แล้วก็มักโดนพวกไปชุบมือเปิปเอา เช่น เสนอให้กลุ่มออมทรัพย์ไปจดทะเบียนเพื่อที่จัดระเบียบ ทำให้เห็นว่า ทุกๆ เรื่องที่รัฐทำให้สมัยนี้ ทำพอจะสอดคล้องกับปัญหาพื้นฐานของชาวบ้านไปบ้าง ก็ล้วนเอาความจริงจากชาวบ้านนี่แหละไปเป็นฐานคิด อย่างชุมชนไม้เรียง คือ คุณประยงค์ รณรงค์ ก็ทำวิสาหกิจชุมชนขึ้นสำเร็จ ซึ่งตอนนี้รัฐเขาทำออกมาเป็นพระราชบัญญัติ เรื่องพวกนี้ชาวบ้านเขาทำเดินหน้าไปมากแล้ว เพียงแต่รัฐมาเรียนรู้ แล้วเอาไปยกระดับเพื่อจะเอากลับมาชี้นำชาวบ้าน อย่างครูชบ ยอดแก้ว คุณอัมพร ด้วงปาน เหล่านี้ชาวบ้านเขาทำมานานแล้ว ถ้าเราสนใจประวัติศาสตร์กับการเคลื่อนไหวทางสังคมของชาวบ้าน ซึ่งเป็นความจริงที่สอนให้เราไม่ปฏิเสธตัวเองครับ"
นายวัฒนาย้ำ
นายผล ศรีละมุล ชาวบ้านที่เคยเข้าร่วมขบวนการสู้รบในเขตป่าตามแนวทางพรรคคอมมิวนิสต์ กล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่แวดล้อมบีบคั้นกับชีวิตชาวบ้านที่นี่จนต้องลุกขึ้นต่อสู้ หาทางออกให้กับญาติพี่น้องและชุมชนตนว่า "ผมอยากพูดถึงวิถีชีวิตของคนที่นี่ ของชุมชนที่นี่ บ้านโล้ะอม และบ้านอื่นๆ ในบริเวณนี้ ว่าถิ่นแถบนี้ในอดีตเป็นที่ดินของท่านขุนคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ดินกว้างมากไปจรดถึงถนนเพชรเกษม ซึ่งในสมัยนั้นมีทาสให้ใช้แรงงานมากมายมาจนถึงยุคต่อมาจึงได้มีการยกเลิกไป ซึ่งความจริงไม่ได้ถูกยกเลิกแบบที่เข้าใจ แต่มาจากการต่อสู้ของลูกหลานทาสเอง หรือแทบจะพูดได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเปลี่ยนแปลงมาจนถึงทุกวันนี้ มาจากการต่อสู้ทั้งสิ้น ไม่ว่าปลาสักตัว หรือข้าวสักเม็ดเราต้องไปต่อสู้กันมาทั้งนั้นแหละครับ ด้วยเหตุนี้มันจึงยอมรับเสมอว่าที่ไหนมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อสู้ ที่ไหนมีแรงกดที่นั่นต้องมีแรงดันเสมอ
ดังนั้น ประชาชนในตำบลสินธุ์ ในยุคนั้นที่ผมจำความได้ วัวสักตัวก็ไม่มี หรือไก่สักหางก็ไม่มีเช่นกัน มันเพราะโจร ผู้ร้าย สมคบกับเจ้าหน้าที่ มันเข้ามาลัก มาปล้น มาขอ บางวันก็มากลางวัน แบกปืนลูกซองมาขอเอาไปง่ายๆ เลย ในยุคนั้น ผมจำภาพของตำรวจและสมุนชาวบ้านได้เลย จนมีสำนวนเรียกภาพนั้นติดปากชาวบ้านว่า 'แบกเหล็กช้างให้นาย' เที่ยวปล้นเอาวัวชาวบ้าน เอาลูกสาวชาวบ้านไปตามใจชอบ
             ชีวิตความเป็นอยู่ของเราจริงๆแล้ว มันแบบพึ่งพาอาศัยกัน ทำนา ถางป่า ไม่มีเครื่องมืออะไรมากมาย ได้ขวานอันหนึ่งก็ช่วยกันออกไปโหมฟันถากถาง มันลำบากมากข้าวสารไม่มีกินกันเลย ในสมัยนั้น ใครมีข้าวสารติดบ้านถือว่าทำมาหากินประสบผลสำเร็จมาก เพราะอย่างอื่นๆ นั้นหาได้ กุ้ง หอย ปู ปลา เอาตามลำคลองได้ วิถีชีวิต ชาวบ้านในสมัยนั้น ต้องเอาไม้ไผ่ใส่น้ำแล้วแบกเอาไปจากคลองที่เห็นนี้แหละ ซึ่งไหลมาจากเทือกเขาบรรทัด อย่างไรก็ตาม ที่นี่เป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์มาก พืชพันธุ์ธัญญาหารมาก เข้าป่าไปเก็บเอามากินกันเหลือเฟือ ในน้ำมีปลา ในนาข้าว ในป่ามีของ
        ถึงกระนั้นอีกด้านหนึ่งมันอยู่กันลำบาก ใครมีลูกสาวมีน้องสาวก็ต้องพาไปหลบนอนในป่า ซึ่งผมเองก็มีคนหนึ่งก็ต้องทำอย่างนั้น เพราะกลัวโจรกันมาก คิดแล้วมันเวทนาตัวเอง นี่คือสภาพชีวิตพวกเราในสมัยนั้น ที่ไม่มีอิทธิพล ไม่มีอำนาจอะไร คล้ายๆ ชาวบ้านอื่นๆ ก็ต้องมีสภาพชีวิตแบบนี้แหละ
 มาช่วงหลังยิ่งอำนาจโจรมีมากขึ้น เราก็ต้องรวมตัวกันมากขึ้น ไปนอนรวมกันทีละมากๆ พาครอบครัว ไปทำไร่ร่วมกัน เกี่ยวข้าวช่วยกัน เพื่อช่วยกันดูแล แล้วก็กลายเป็นชุมชนที่เกาะเกี่ยวช่วยเหลือกัน มันทำให้เห็นว่าเรานี่ถูกบีบคั้นมากทั้งจากโจรและจากเจ้าหน้าที่ พอช่วงหลังมาผู้ชายก็เริ่มต่อสู้บ้าง ใครมีปืนก็ออกลาดตระเวนกลางคืนป้องภัยให้คนแก่ให้ผู้หญิง เมื่อสามารถดูแลชุมชนได้ ชาวบ้านก็รวมตัวกันมากขึ้น ซึ่งจริงๆ พวกเราในพัทลุงแถบนี้ไม่ได้รู้เรื่องพรรคคอมมิวนิสต์เลย มันเจ็บปวดตรงนี้แหละ เพราะจริงๆ แล้วยุคนั้นพรรคคอมมิวนิสต์มันเกิดขึ้นทางภาคอีสาน ทางนี้ไม่มี แต่รัฐบาลกลับเดินนโบายเอาคอมมิวนิสต์มาโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นจับคนแก่มาไถนา ตีคนแก่ สูบเลือดเด็ก ภาพเผาวัดเผาวา สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นถ้าเกิดการรวมตัวกันของคนพวกนี้ ซึ่งแม้ว่าชาวบ้านจะไปลงแขกทำไร่ช่วยกัน ก็จะถือว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์หมด ซึ่งนี่คือภาพของการเกิดคอมมิวนิสต์ขึ้นในแถบนี้
          ผมออกไปใช้ชีวิตในป่า 10 ปี ตอนขึ้นไปบอกลูกๆว่า ในสมัยนั้น ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านถ้าไม่รายงานว่ามีลูกบ้านเป็นคอมมิวนิสต์แล้วไม่ได้ และไม่ใช่ ดังนั้นผู้ใหญ่บ้านก็ต้องรายงานชื่อไป ซึ่งตรงนี้ถ้าเป็นพรรคพวกตัวเองก็เก็บไว้ เอาแต่ชื่อคนอื่นๆ ไปแทน วันนั้นผมเองไม่รู้เลย พี่ชายผมเรียนอยู่ที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จ ขอเงินมา 300 บาท แล้วผมก็ต้องออกไปส่งธนาณัติให้ ไม่ได้ออกปากวานกับผู้ใหญ่ ก็เลยถูกรายงานว่าเป็นคอมมิวนิสต์ทันที มีทหาร 2 กองร้อยไปล้อมบ้านในคืนนั้น ซึ่งโชคดีที่ผมกับคุณแม่ออกไปกรีดยางก่อน แล้วเราก็หลบหนีกัน ไป 2-3 วัน แม่ก็ทนความหิวไม่ไหว ก็กลับเข้าหมู่บ้าน ส่วนผมเข้าป่ายาวเลย
          เมื่อพรรคมาเคลื่อนไหว ในพัทลุง ซึ่งมันสอดคล้องกับสถานการณ์เชือดคอไก่ให้ลิงดู คือ 'กรณีถังแดง' นี่แหละทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นสู้ จับปืนเข้าป่ากันเยอะมากครับ"
นายผลเล่าย้อน
 นายสุชาติ ชายเกตุ ซึ่งเป็นผู้สูญเสียพ่อไปในเหตุการณ์ถังแดง กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า กรณีถังแดง ตลอดจนถึงกรณีลุกขึ้นสู้ของประชาชน ไม่เกิดขึ้นแน่ถ้าผู้ปกครองไทยมีความสามารถกว่านี้ และเข้าใจปัญหาชาวบ้านกว่านี้ เพราะในอดีตชาวบ้านดำรงอยู่อย่างมีความสุข พอเพียง เนื่องจากมีทรัพยากรมาก เหลือกิน เหลือใช้ แต่รัฐเองที่ยึดเอาปัจจัยของชาวบ้านไป และก็กดขี่ทำร้ายชาวบ้านจนต้องต่อสู้ เมื่อสู้กติกาที่เป็นที่รู้จักคือ ผู้แพ้ก็คือขบถ "เมื่อ 30 ปี ที่แล้ว สังคมไทยเป็นอย่างไร ตรงนี้ที่ตำบลลำสินธุ์ ตำบลกงหรา หรือพัทลุงก็เป็น ส่วนหนึ่ง เมื่อ 30 ปี ที่แล้ว ประเทศไทยมีทรัพยากรเพียงพอ และเราก็น่าจะอยู่กันแบบสบายๆ น่าจะกินกันแบบมีกินมีใช้ เพราะทรัพยากรเรามีมาก ถึง 3 เท่า ของปัจจุบัน แต่ว่าสังคมเกิดความวุ่นวาย และคนเกิดความยากลำบากนั้น เหตุก็มาจากการปกครอง หรือผู้ปกครอง ไม่สามารถทำให้ประชาชนอยู่กันได้แบบมีความสุข ทั้งๆ ที่ในสมัยนั้น ถ้าวิสัยทัศน์ของผู้ปกครองพอมีบ้าง หรือผู้นำการเมืองสามารถที่จะเอื้อประโยชน์ให้ประชาชนอยู่กันได้ ในระบบที่เป็นไปตามทำนองคลองธรรม ในยุคสมัยนั้นมันน่าจะสบายมากกว่าสมัยนี้ ถึง 5-6 เท่า เพราะเมื่อมองไปแล้ว มันตรงกับคำที่นักปราชญ์กล่าวไว้เลย นี่คือสิ่งที่ต้องการ คือ เรามีอาหารมากมายเพียงพอให้กินกันทุกคน ในสมัยนั้นทรัพยากรเรามีมาก แล้วคนของเรามีน้อยเสียด้วย เอาแค่หมูป่าก็ชุกชุมมากหามากินวันละตัวยังได้ ผลไม้ก็มากจนไม่มีปัญญาจะแบกไปขาย มังคุด ลังสาด ทุเรียนพื้นบ้าน ล้วนแต่มีมากจนไม่มีปัญญาเอามาขาย
          ประวัติศาสตร์ที่เป็นบทเรียนของเราคือ ในสมัยนั้นการเมืองมันไม่เข้มแข็ง เพราะผู้ปกครองไม่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้มาสู่คำอธิบายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในช่วงหนึ่งที่กำลังพูดถึงว่า ทำไมคนถึงอยู่กันอย่างหวาดระแวงและเกิดการต่อสู้ในสมัยนั้น เพราะเมื่อระบบมันไม่สมบูรณ์ เมื่อผู้ปกครองมันไม่มีคุณธรรมเพียงพอ เมื่อสังคมยังไม่มีความยุติธรรม การต่อสู้มันก็เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะผู้ใดก็ตามที่มันเห็นว่าสังคมมันไม่ได้รับความยุติธรรม มันจะเกิดการต่อสู้ เพื่อเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นเท่านั้นเอง มันเป็นวิถีเช่นนี้มาแต่ประวัติศาสตร์แล้วครับ มันจึงเกิดกรณีถังแดงขึ้นมา
          ในยุคนั้นมันมีคนจำนวนหนึ่งที่กล่าวว่า สังคมมันยังไม่มีความเป็นธรรม อยากจะเรียกร้องต่อผู้ปกครอง หรือผู้มีอำนาจว่า คุณทำให้สังคมมีความเป็นธรรมกว่านี้ได้ไหม มีความยุติธรรมกว่านี้ได้ไหม ทำการเมืองให้มันถูกต้องกว่านี้ได้ไหม เมื่อผู้ปกครองไม่สามารถทำได้ และมองว่าตัวเองทำดีแล้ว ซึ่งนั่นเราก็กลับถูกมองว่า เราเป็นฝ่ายก่อการร้าย เป็นธรรมดาที่เราถูกมองว่าเป็นขบถ นั่นเพราะเราไม่ชนะ ถ้าเราชนะเราคงไม่ใช่ขบถหรอกครับ
          เราต่อสู้ในสิ่งที่ถูกต้องทำในสิ่งที่เป็นธรรมเมื่อแพ้ เราก็ต้องเป็นขบถ มันเหมือนกันทั่วโลกแหละครับสำหรับผู้แพ้ ดังนั้น เรายอมรับว่าเป็นขบถ แต่เราทำในสิ่งที่เป็นคุณธรรม เราในฐานะขบถ เราทำเพื่อเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้น ครับ"
นายสุชาติชี้แจง
 นายอุทัย บุญดำ ชาวบ้านตำบลลำสินธุ์ที่เคยเข้าร่วมกับขบวนการต่อสู้ในเขตป่าอีกคนหนึ่ง กลับยืนยันว่า หลังจากออกจากป่าแล้ว และกลับมามีชีวิตปกติ มาพัฒนาชุมชน อดีตแกนนำ หรืออดีตสหายก็ได้นำเอาบทเรียนและประสบการณ์ในเขตป่าเหล่านั้นมาทำในชุมชนดีขึ้น ผ่านการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ และสามารถพัฒนายกระดับชีวิตชุมชนเป็นเครือข่ายกลุ่มและชุมชนได้อีกด้วย "กรณีถังแดงในช่วงนั้น ชุมชนแถวนี้ ผู้ชาย หนีภัยออกจากบ้านหมด จนผู้หญิงที่พอมีกำลังวังชาก็ต้องออกนอกบ้านเหมือนกัน เพราะอยู่แต่ในบ้านไม่ได้ เมื่อผู้ชายที่เป็นกำลังออกไปเสียแล้ว เจ้านายที่มาตั้งฐานกองกำลังอยู่ใกล้ๆ หมู่บ้านก็เข้ามาบีบคั้นเอาความจริงว่า พวกผู้ชายไปไหน ผู้หญิงคนที่เป็นกำลังหลักในครอบครัวเมื่อถูกถามก็ตอบไม่ได้ สุดท้ายก็หนีออกจากบ้านไปด้วยเหมือนกัน
ในชุมชนแถวนี้ จึงเหลือเฉพาะเด็กๆ คนชรา คนทำงานไม่คล่อง แต่คนในหมู่บ้านหรือคนในตำบลแถบนี้ มันก็มีสัญชาตญาณของการเอาตัวรอดเช่นกัน ก็คือการรวมกลุ่มกัน ช่วยเหลือกัน ในสมัยนั้นตำบลลำสินธุ์ยังไม่ถูกยกเป็นตำบล   ผมอายุประมาณ 14-15 ปีได้ ในขณะนั้น พอรวมตัวกันอยู่ได้ ทั้งลูกเล็กเด็กแดง มารวมตัวกันอยู่ มันได้ร่วมทุกข์ ร่วมสุขกัน แต่ที่ทุกข์หนักคือ ผู้ชายที่เป็นกำลังหลักของเราล้วนสูญหายไป หายไปเพราะเขาอยู่กันดีๆ เจ้านายก็มาพาเขาไป แล้วก็หายสาบสูญไป คนที่ไม่คล่องตัวจึงต้องออกไปตามหาคนที่สูญหาย บางคนก็ไปพบว่ากำลังหุงข้าวให้เจ้านายกิน หรือหาบน้ำให้เขาใช้ หรือไปเป็นศพก็มี แล้วคนซึ่งมีสภาพร่างกายไม่คล่องตัวอยู่แล้ว ต้องไปจัดการกับศพเหล่านี้ สภาพความรู้สึกมันเจ็บปวดมากเกินกว่าจะบอกได้ มันบอกไม่ถูกว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับเขา ลูกเล็กเด็กแดงถามก็ตอบไม่ถูก ทำให้สภาพเราในขณะนั้น บางศพก็พบพิธีพระ บางศพก็ไม่พบพิธีพระเลย เพราะมันไม่สะดวก รถราก็ไม่มี
              เมื่อเขารวมตัวกันอยู่แน่นอนครับ ว่าเขาต้องกิน เมื่อเขาต้องกิน ก็ต้องไปทำงานร่วมกัน 10 คนก็คือ 10 ครอบครัว ยกครอบครัวไปช่วยกันเต็มที่ ในส่วนผมมีอะไรก็ยกไปหมด ไปกินร่วมกันไปช่วยกันทำ ที่เหลือจากนั้น เราก็หาบของในสวนในไร่ไปขาย พอขายได้ก็ไม่ได้เอาไปไหน ก็เอามาเป็นกองกลาง เพื่อเป็นทุนซื้อกินซื้อใช้ต่อไป หรือว่าเด็กๆ ไปโรงเรียนก็จะได้เป็นทุนให้เด็กๆ ไปโรงเรียน เราก็มีชีวิตแบบนี้ แล้วอยู่ๆ ก็เป็นคอมมิวนิสต์ขึ้นมาโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลย มันก็เกิดขึ้นโดยลักษณะ แบบนี้
           สภาพชีวิตที่ชุมชนเราเผชิญอะไรมามาก แล้วร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน มันจึงทำให้เรารวมกลุ่มกันโดยธรรมชาติ พอหลังจากนั้น ประมาณปี 2513 ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการเมือง ในช่วงนั้น รัฐก็พบว่า ยิ่งปราบปราม ก็ยิ่งมีมากขึ้น มีคนต่อสู้มาก พอมาช่วงหลังมีหนักศึกษาเข้ามาร่วมรบด้วย ช่วงนั้นมีนักศึกษามหาวิทยาลัยหนีภัยเข้ามาอยู่ในชุมชนเรา เข้ามาที 20-30 คน ซึ่งเราก็พยายามพาเขาหลบหนีเข้าไปอยู่ในป่าให้ปลอดภัยได้ พอหลังจากนั้น กองกำลังที่ทำการต่อสู้เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ก็มีการนำนโยบายการเมืองนำการทหารขึ้น ทำให้นักศึกษาออกจากป่า เมื่อปี 2523 ทำให้คนที่เข้าป่า ก็เริ่มทยอยออกมาจากป่า จนประมาณปี 2526-2528 ผมก็กลับเข้ามาในหมู่บ้านอีกทีหนึ่ง
         หลังจากนั้นประมาณ 2529 ก็มีหน่วยสันตินิมิตรเข้ามาฟื้นฟูสภาพจิตใจของชาวบ้าน และพอหลังจากสันตินิมิตรออกไป ก็มีหน่วยพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เข้ามาจัดตั้งกลุ่มจำพวกออมทรัพย์ เพื่อการผลิต เข้ามาจัดตั้งเกือบทุกหมู่บ้าน พอตั้งเสร็จก็ออไปแบบไม่ติดตามดูผลเลย ทำให้บางกลุ่มก็อยู่ได้ แต่บางกลุ่มก็ล้มเหลว ตอนนี้อยู่ในช่วงประมาณปี 2531-2534 ประมาณนี้แหละครับ ทำให้พวกที่ออกจากป่าที่พอมีพื้นฐานอยู่แล้ว ก็ใช้แนวคิดที่ได้เรียนรู้ในป่านั่นแหละครับ มาพัฒนาชุมชนตัวเอง โดยเฉพาะกระบวนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกลุ่มที่เข้มแข็งกับกลุ่มที่กำลังล้มเหลว ซึ่งมันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ อีกเหมือนกัน ที่ชาวบ้านเริ่มเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นประมาณปี 2539 เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในช่วงที่มาร่วมพิธีแต่งงาน งานศพ หรืองานอื่นๆ ที่มีคนจากชุมชนอื่นๆ เข้ามาก็เกิดการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดความคิด การบริหารจัดการกลุ่มองค์กรของเขา
        ปัจจุบันหมู่บ้านหมู่ที่ 5 ตอนนั้นเงินที่ออมเริ่มต้นกันคือ 5,000 บาท ในปัจจุบันนี่ 20,000-30,000 บาท ซึ่งชาวบ้านไม่ได้ปันผลออกไปไหนเลย แต่ละปีชาวบ้านจะสมทบเข้าเพิ่มตลอด ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมกันว่า เราน่าจะนัดแต่ละกลุ่มมาพบกันเสียที ประมาณปี 2540-2541 ก็เกิดเวทีเพื่อที่จะหาบทเรียนร่วมกัน ก็นัดมาหมดทั้งตำบลเลย ทำให้เกิดเครือข่ายสินแพรทองขึ้นร่วมกัน และประมาณปี 2543 เราก็ได้มีเวทีร่วมกันขึ้นมาอีก ซึ่งส่วนใหญ่แกนนำที่เข้ามาทำงานกลุ่มเกือบทุกกลุ่ม คือคนที่ลงมาจากเขา ทั้งสิ้น
         กิจกรรมของเราที่ร่วมกันเป็นเครือข่ายก็คือ การได้มาร่วมกันทบทวนดูการบริหาร การทำบัญชี การจัดการของกลุ่ม เพราะแต่เดิมเราไม่รู้เรื่องอะไรเลย เราทำกันแบบชาวบ้าน แต่พอเรามารวมตัวกัน เมื่อเราเปิดเวทีเป็นเครือข่ายเราสามารถทำได้ถึงขนาดกำหนดเป็นแผนพัฒนาตำบล มียุทธศาสตร์หลักร่วมกันในเครือข่าย เช่น ตอนนี้เรามี 3 ยุทธศาสตร์ คือ หนึ่ง เสริมความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชน สอง พัฒนาคุณภาพชีวิต และ สาม ฝ่ายแผนและพัฒนาประชาคม ทั้งสามยุทธศาสตร์นี้ก็ยังมีถึง 18 แผนงานย่อยๆ อีก เมื่อเราทำดังนี้ ก็พบว่าเครือข่ายนี้ไม่ใช่ทำงานแค่เรื่องกลุ่มอย่างเดียว แต่กำลังจะเข้าไปแก้ปัญหาระดับสาธารณะด้วย ที่รัฐเองไม่ได้แก้ปัญหาหรือผู้นำชุมชนฝ่ายทางการแก้ไขไม่ได้ เช่นปัญหาสิทธิที่ดินทำกิน เป็นต้น เพราะตำบลลำสินธุ์ในปัจจุบันนี้ ปัญหาสิทธิที่ดินทำกินนั้น มีปัญหามาก อาจจะมีแค่ 70% เท่านั้น ที่มีสิทธิในที่ดินทำกิน นอกนั้นไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน ตรงนี้เองที่เครือข่ายสินแพรทอง กำลังเข้าไปจัดการแก้ปัญหาให้อย่างได้ผลครับ"
นายอุทัยอธิบาย
 คืนนั้นฉันเข้านอน     อากาศร้อนนอนไม่หลับ
กระส่ายและกระสับ     พอจะหลับเสียงปึงปัง
เสียงปั้งถังใบใหญ่      แล้วเสียงใครร้องในถัง
ทำไมเครื่องยนต์ดัง      เอียงหูฟังไม่เข้าใจ
ทำไมเสียงในถัง      เสียงร้องดังก้องหวั่นไหวเสียงกรีดหวีดร้องไห้ แล้วเปลวไฟโหมไหม้แรง
พักหนึ่งเสียงเงียบหาย    เห็นเปลวไฟเริ่มอ่อนแสง
เครื่องจักรก็อ่อนแรง    ทั้งแสงเสียงก็เงียบงัน
อรุณรุ่งยามเช้า        ท้องฟ้าเศร้าไร้สีสัน
อึมครึมครึ้มม่านควัน     ฟ้าลดหลั่นหลังน้ำตา
และแล้วเป็นเรื่องจริง      มีคนวิ่งร้องเรียกหา
พวกชุดสีขี้ม้า              จับแม่ข้าลงถังแดง
จากนั้นเขาก็หาย          หลบหน้าไปเหมือนเร้นแฝง
ร้อนเลือดยังเดือดแดง    แผ่นดินแล้งยังร้อนรน
ถังแดงยังแดงเดือด       กระหายเลือดดังสับสน
คิดไปใจวกวน              นึกถึงคนที่หายไป
ไม่ถูกจับลงถัง              ชีวิตยังไม่ไปไหน
ดาวแดงแสงพร่างพราย     กลับมาใหม่พร้อมด้วยปืน
นี่คือคำบอกเล่า             ของเพื่อนเราใจเต็มตื้น
รู้ว่าเขาจับปืน               ทวงหนี้คืนแสนยินดี











 



วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

กลยุทธ์ "ปิดฟ้าข้ามทะเล" ยุทธวิธีและการปฏิบัติ

       ที่มาของคำว่า "ปิดฟ้าข้ามทะเล" กลยุทธ์แรกใน "36 กลยุทธ์แห่งชัยชนะ" คราวนี้ขออรรถาธิบายต่อ ว่ายุทธวิธีของกลยุทธ์นี้มีอย่างไรบ้าง
 คำ ว่า "ปิด" ในที่นี้แปลว่า ทำให้ไม่เห็น หรือทำให้ไม่ทราบ หรือสร้างภาพลวงเพื่อปกปิด คำว่า "ข้าม" ในที่นี้หมายถึง ทำภารกิจให้ลุล่วงไปได้ "ปิดฟ้าข้ามทะเล" จึงหมายถึง
 "การ สร้างภาพลวง สร้างสถานการณ์หลอก โดยปกปิดความจริงบางประการ ทำให้ข้าศึกเกิดความคุ้นชิน จนเกิดความละเลยหละหลวม ไม่เตรียมการป้องกัน ไม่ระวังตัว เพื่อฉวยโอกาสในการโจมตี หรือเพื่อบรรลุผลบางประการ"
 ดัง เช่นที่ "ซิยิ่นกุ้ย" และเหล่าขุนนางปกปิดมิให้ "ถังไท่จง" รู้ว่ากำลังประทับอยู่บนเรือลำใหญ่ แต่สร้างภาพให้เข้าใจว่าอยู่ในหมู่บ้านบนพื้นดินธรรมดาๆ เป้าประสงค์ในการทำให้กษัตริย์หายเมาคลื่น เลิกกลัว และเดินทางข้ามทะเลจนถึงฝั่ง จึงบรรลุผลสำเร็จได้ หากถังไท่จงทรงรู้ว่าตัวเองอยู่บนเรือ อาการหวาดวิตกและท้อแท้ต่อการเดินทางก็คงไม่หมดไป ที่สุดย่อมเดินทางไม่ถึงโกกุเรียว
 ในการทำศึกสงคราม ก็เช่นเดียวกัน แม่ทัพผู้ชาญศึกย่อมต้องมีการ "ปกปิด" ข้าศึก หรือแม้แต่ "ปกปิด" พวกของตน ไม่ให้ได้ทราบ "ความจริง" ในบางเรื่อง บางครั้งจำเป็นต้อง "หลอกลวง" สร้างสถานการณ์ ก็เพื่อให้เป้าหมายของพวกตนเป็นผลสำเร็จ
 ที่ คุ้นเคยกันที่สุดในประวัติศาสตร์จีนก็คือ พวกขันที หรือเหล่าขุนนางกังฉิน พยายามเป่าหูฮ่องเต้ ถวายข้อมูลผิดๆ สร้างข้อมูลเท็จ ปกปิดความจริงไม่ให้องค์จักรพรรรดิ์ได้ทราบถึงสถานการณ์บ้านเมือง เพื่อให้พวกตนเองได้รับประโยชน์ ทำให้ประเทศต้องเสียหาย หรือวิปริตผิดเพี้ยนไป
 สมัยราชวงศ์ฮั่นตอนปลาย "ขันทีทั้งสิบ" ปิดหูปิดตา หลอกลวงพระเจ้าเลนเต้ จนบ้านเมืองแตกเป็นเสี่ยง สมัยสามก๊ก ในราชวงศ์สู่ฮั่น "ฮุยโฮ" ขันที ปิดหูปิดตาพระเจ้าเล่าเสี้ยน ยุยงส่งเสริมในทางที่ผิด เอาข้อมูลเท็จกรอกหูทุกวัน
     สมัยสาม ก๊กเช่นเดียวกัน ในราชวงศ์ง่อ "ยิมหุน" ขันทียิ่งแล้วใหญ่ ยุพระเจ้าซุนโฮว่า มีนิมิตรดี พระองค์จะได้ครองแผ่นดินแต่เพียงผู้เดียว ทำให้ฮ่องเต้ใจทราม นอกจากจะไม่ระวังป้องกันแล้ว ยังคะนองจะยกไปตีก๊กจิ้น ทั้งที่กำลังของฝ่ายตัวเทียบเขาไม่ได้เลย
 อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าขันทีเหล่านั้นบรรลุผลสำเร็จของตนเอง
 อีก เหตุการณ์หนึ่ง ที่คล้ายคลึงกับ "ศึกเซ็กเพ็ก" สมัยสามก๊กมากๆ คือใน "ยุคเหนือ-ใต้" เมื่อครั้ง "สุยเหวินตี้" ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์สุย ครองแผ่นดินทางเหนือได้หมดแล้ว ความได้เปรียบขณะนั้นอยู่ในระนาบใกล้เคียงกับ "โจโฉ" ก่อนทำสงครามภูผาแดง จะเหลือก็เพียงแต่ "แคว้นเฉิน" ทางฝั่งใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียงเท่านั้นที่ยังแย่งยึดมาไม่ได้
       แต่ "ก๊กเฉิน" ก็เช่นเดียวกับ "ก๊กง่อ" ของซุนกวน ชัยภูมิเยี่ยม มีแม่น้ำขวางกั้น ยากที่จะตีให้แตก สุยเหวินตี้ ด้วยคำแนะนำจากกุนซือข้างกาย จึงสั่งตระเตรียมกำลังอยู่ริมชายฝั่ง ทำเสียงอึกทึก ราวกับจะยกทัพข้ามน้ำไปตีแคว้นเฉินอยู่ในวันในพรุ่ง อ๋องแคว้นเฉินเห็นดังนั้นจึงรีบตั้งการ์ด สั่งทหารเตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง จัดเวรยามเข้มงวด
       ทว่าวันเวลาผ่านไปๆ ก็ยังไม่ยกไปตีเสียที สุยเหวินตี้ยังสร้างภาพลวงไม่หยุดหย่อน สั่งให้ทหารเอาเรือรบดีๆไปหลบไว้ ที่เอามาจอดประจันหน้ามีแต่เรือรบเก่าๆผุพัง จากนั้น ทหารฝ่ายสุยส่งเสียงอึกทึกครึกโครมอีกหลายครั้ง ฝ่ายเฉินทีแรกก็สะดุ้ง แต่ตอนหลังชักชิน
      เจ้าผู้ครองแคว้นเฉินก็เข้าใจว่าฝ่ายสุยคง ไม่กล้าบุกแล้ว จึงถอนกำลังออก ลดการป้องกันเหลือแค่ระดับต่ำ เท่านั้นแหล่ะ เวลาที่ฝ่ายสุยรอคอยก็มาถึง
 สุยเหวินตี้รีบสั่งกอง ทัพซึ่งเตรียมพร้อมอยู่แล้ว ล่อหลอกอยู่เป็นเดือน ยกข้ามน้ำ ตีแคว้นเฉินแตกกระเจิงทันทีในเวลาไม่กี่คืน ยึดดินแดนกังตั๋ง รวมแผ่นดินที่แยกเป็น เหนือ-ใต้ กลับเป็นหนึ่งได้สำเร็จ 
 ที่ทำได้เช่นนี้เพราะรู้จัก "ปิดฟ้า" เพื่อ "ข้ามทะเล" นั่นเอง
 อีก กรณี ในยุคราชวงศ์ซ่ง "ฉินไค่ว" ปิดหูปิดตาฮ่องเต้ซ่งเกาจง สร้างภาพให้งักฮุยเป็นกบฏ คิดทรยศ ยอดแม่ทัพที่ยกลงไปปราบอริราชศัตรูทางใต้ กำลังจะเผด็จศึกเผ่าจินได้ จึงต้องถูกเรียกตัวกลับเมืองหลวงถึง 12 ครั้ง ก่อนจะถูกประหารเจ็ดชั่วโคตร นี่คือ ฉินไคว่ "ปิดฟ้า" (ยุแยงหลอกฮ่องเต้) และ "ข้ามทะเล" (กำจัดงักฮุย กุมอำนาจแต่เพียงผู้เดียว) ได้สมใจ
 อย่าง ไรก็ตาม ต้องอย่าเข้าใจผิด "ฟ้า" ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง "ฮ่องเต้" หรือ "ผู้นำ" แต่อย่างเดียวเท่านั้น บางครั้ง กลุ่มขุนนาง หรือคนใกล้ชิด ร่วมมือกับผู้นำในการปิดหูปิดตาราษฎร เพื่อหาผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องของกลุ่มผู้ปกครองนั้น นั่นก็เรียกว่า "ปิดฟ้าข้ามทะเล" ได้เช่นเดียวกัน
 ดังนั้น "ฟ้า" ในที่นี้ อาจหมายถึง "ประชาชน" ก็เป็นได้
 ใน สมัยเอโดะ "อิคคิวซัง" เณรน้อยแห่งวัด "อังโคะคุจิ" ในเกียวโต ถูก "โชกุน" ขอให้หาอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกมาให้กิน เณรน้อยเจ้าปัญญาจึงหลอกโชกุนให้ทำงานกรรมกรที่วัด ถึงขนาดให้หาบน้ำเป็นร้อยๆเที่ยว
 ที่สุดแล้ว อาหารวันนั้นมีแค่แกงจืดต้มฟักกับข้าวสวย แต่โชกุนที่กำลังเหนื่อยหอบ กลับรู้สึกว่านั่นเป็นอาหารวิเศษที่อร่อยที่สุดในโลก นั่นคือการ "ปิดฟ้าข้ามทะเล" ในแบบน่ารักๆ (เรียกว่าข้ามบ่อน้ำก็คงพอได้อยู่)
 ทีนี้ คนเดินดินอย่างเราๆ จะนำเอากลยุทธ์ "ปิดฟ้าข้ามทะเล" ไปเพื่อชนะศึกในชีวิตประจำวันได้อย่างไร คราวหน้าจะมาว่าต่อครับ

ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์








         พระยาทรงฯมีชื่อเดิมคือเทพ พันธุมเสน เป็นบุตรของร้อยโทไท้ นายทหารกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกแล้ว ได้ทุนไปศึกษาต่อ ที่ประเทศเยอรมนี เข้าโรงเรียนนายร้อย เมื่อสอบผ่านหลักสูตร 2 ปีแล้ว นักเรียนจะมียศเป็น ฟาฮ์นริช (Fahnrich ตรงกับระดับชั้นนายสิบ) แต่จัดว่าเป็น "นักเรียนทำการนายร้อย" มีสิทธิพิเศษแตกต่างจากนายสิบชั้นประทวนทั่วไป ท่านเข้าเรียนต่อวิชาทหารช่าง ทั้งฝึกทั้งเรียนหนักอีก2ปี จึงได้เข้าสอบเลื่อนขึ้นเป็น "เดเก้น-ฟาฮ์นริช" (degen แปลว่า กระบี่) คือมีสิทธิใช้กระบี่และเครื่องแบบนายทหารสัญญาบัตร เว้นแต่ยังคงใช้อินทรธนูนายสิบ ชั้นยศนี้คงจะเทียบเท่า "ว่าที่ร้อยตรี" รอจนกว่า จักรพรรดิ์ไกเซอร์ วิลเฮล์มองค์จอมทัพจะโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรยศจากพระหัตถ์ในทุกๆวันเฉลิมพระชนม์พรรษา 27 มกราคม พร้อมกันนั้นจะได้รับพระราชทานพระฉายาลักษณ์ ขนาด 10 นิ้ว x 12 นิ้วที่ทรงลงพระปรมาภิไธยเองทุกพระรูป  จึงจะเปลี่ยนใช้อินทรธนูได้เป็น "นายร้อยตรี" (Oberleutnant) อย่างสมบูรณ์
       นายร้อยตรีเทพ พันธุมเสนได้เข้าประจำการในกองทัพเยอรมันที่กองทหารในเมืองมักเคเบอร์ก ก่อนที่จะเดินทางกลับสยามเมื่อสงครามโลกครั้งแรกระเบิดขึ้นในปี พ.ศ. 2458 และเข้ารายงานตัวเพื่อรับราชการในกองทัพบกต่อจนได้รับพระราชทานยศเป็น ร้อยเอกหลวงรณรงค์สงครามเมื่อพ.ศ. 2461 และย้ายไปเป็นผู้บังคับการทหารช่างรถไฟ กองพันที่ 2 กรมทหารบกที่ 3 มีผลงานสำคัญคือ
ก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือ จากถ้ำขุนตานถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่
ก่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออก จากแปดริ้วถึงสถานีรถไฟอรัญประเทศ
ก่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงนครราชสีมา
       สุด ท้ายก่อนที่จะมีบทบาทยิ่งใหญ่  ได้รับพระราชทานยศนายพันเอก และบรรดาศักดิ์เป็นพระยาทรงสุรเดช ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร โรงเรียนนายร้อยทหารบกเป็นที่รู้กันว่า พวกนักเรียนนอกมักจะมีแนวความคิดที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของ ประเทศมาเป็นประชาธิปไตย พระยาทรงนั้นท่านเห็นว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่สยามใช้อยู่ขณะนั้น เจ้านายน้อยใหญ่หลายองค์ได้แสดงความประพฤติไม่เหมาะสมเป็นที่ดูแคลนของคน ทั่วไป แต่ก็ยังดำรงยศฐาบรรดาศักดิ์บังคับให้ราษฎรกราบกรานอยู่  ที่แย่คือการให้อภิสิทธิแก่เจ้านายเท่านั้นในการเข้าดำรงตำแหน่งสูงๆทั้ง ด้านการทหารการปกครอง และงานราชการทั่วไปโดยไม่คำนึงถึงความสามารถ สามัญชนที่ถึงแม้จะมีความเหมาะสมกว่า ก็ไม่มีโอกาสได้ทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองได้เต็มที่ สมกับความรู้ที่ได้ไปเล่าเรียนมา ในบันทึกของพระยาทรงสุรเดชเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า " พวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แทบทั้งหมด มุ่งแต่เพียงทำตัวให้โปรดปรานไว้เนื้อเชื่อใจจากพระเจ้าแผ่นดินไม่ว่าด้วย วิธีใด ตลอดทั้งวิธีที่ต้องสละเกียรติยศด้วย..."
        วิธีหลังนี้ พระยาทรงท่านได้พิสูจน์ตนเองจนถึงที่สุดแห่งชีวิตว่า คนอย่างท่านทำเช่นนั้นไม่ได้  เมื่อมีความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้อยู่ เพื่อนรุ่นน้องที่ห่างกันมากแต่สนิทสนมตั้งแต่เด็ก คือ ร้อยโทประยูร ภมรมนตรีจึงสามารถเชื่อมโยงให้ไปร่วมกันคิดอ่านกับกลุ่มนักเรียนนอกฝรั่งเศส ซึ่งคนสำคัญในกลุ่มนั้นคือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(ปรีดี พนมยงค์) และนายพันตรีหลวงพิบูลสงคราม(แปลก ขิตะสังคะ) ตกลงว่าจะร่วมมือกันกระทำการเปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครองของสยามให้เป็น ประชาธิปไตยให้ได้โดยเร็ว ไม่รอให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯพระราชทานรัฐธรรมนูญลงมาเองตามที่ทรงแสดง พระราชประสงค์ไว้ เพราะไม่ทราบว่าวันนั้นจะเป็นเมื่อไรและเนื้อหาจะเป็นอย่างไร
 พระยาทรงป็นนักเรียนนายร้อยเยอรมันรุ่นเดียวกับพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน) และเป็นรุ่นพี่พันโท พระประศาสตร์พิทยายุทธ์(วัน ชูถิ่น) จึงชักชวนนายทหารทั้งสองมาเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์  หลังจากนั้นได้ดึงพันเอก พระยาฤทธิ์อัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในพระนครอันสำคัญมาร่วมด้วย ต่อมาทั้งสี่คนนี้ได้รับฉายาว่า “สี่ทหารเสือ” แห่งคณะราษฎร ซึ่งมีพระยาพหลผู้อาวุโสที่สุดได้รับการเลือกจากผู้ร่วมก่อการทุกสายให้เป็น หัวหน้าคณะ ส่วนพระยาทรงเป็นหัวหน้าเสนาธิการผู้วางแผนการยึดอำนาจในครั้งนี้
     ท่านสรศัลย์ แพ่งสภาผู้ล่วงลับได้เขียนเรื่องตอนนี้ไว้ในหนังสือ “นักเรียนนายร้อยไทยในเยอรมัน ยุคไกเซอร์” ทำให้คนรุ่นหลังสามารถแกะร่องรอยที่มาที่ไปในอดีตได้ว่า พระยาทรง ท่านได้เพาะศัตรูไว้กับผู้ใดพ.อ. พระยาทรงสุรเดชที่ยอมรับกันว่าปราดเปรื่องเฉียบคมเป็นมันสมองของคณะราษฎร เป็นบุคคลที่หัวหน้าสายทหารกลุ่มหนุ่มไม่ใคร่ชอบ แต่ยังแซงขึ้นมาได้ติดด้วยอาวุโสและบารมี พระยาทรงฯถือตัวอาวุโสว่าเป็นครูบาอาจารย์ ชอบใช้วิธีอธิบายเชิงสอน และออกจะพูดแรงตรงไปตรงมาสั้นๆ อย่างเรื่องแผนและวิธีปฏิบัติสำหรับวันที่ 24 มิถุนายน พระยาทรงฯ ถามในที่ประชุมว่า ถ้าราษฎรรวมตัวเข้าต่อสู้ขัดขวางด้วยความจงรักภักดีในราชบัลลังก์ คณะราษฎรจะทำอย่างไร นายทหารหนุ่มเหล่าปืนใหญ่ท่านหนึ่งตอบว่า "ยิง" ตามแบบคนหนุ่มไฟแรงใจร้อน
พระยาทรงสุรเดชสวนทันควัน “ยังงี้บรรลัยหมด กำลังเรามีเท่าไหร่ กำลังราษฎรกับทหารหน่วยอื่นเท่าไหร่ ….ทำไมไม่เตรียมวิธีการประนีประนอมปลอบให้เข้าใจจุดมุ่งหมายของคณะราษฎร”

   พระยา ทรงฯ มีจุดอ่อนจุดแข็งอยู่ที่เคยเป็นครูบาอาจารย์มานาน ก็เลยเป็นครูอยู่ตลอดเวลา พูดจาโผงผางครูสอนศิษย์พูดจาทุบแตกและทุบโต๊ะ วันดีคืนดีใครตอบไม่ถูกเรื่องอาจจะได้รับคำชมว่า "โง่" ก่อนที่ท่านจะอธิบายถูกผิด เป็นไปได้เป็นไปไม่ได้ในปัญหายุทธการ ใครที่โดนตอกหน้าแตกหน้าชามาก็สุมความแค้นไว้เงียบๆ
นี่คงเป็นเหตุหนึ่ง ที่คณะราษฎรรุ่นหนุ่มถือเป็นเรื่องขื่นๆอยู่ ข้ามาจากฝรั่งเศสหนึ่งในตองอูเหมือนกัน อำนาจยศศักดิ์มันไม่เข้าใครออกใคร หากมักใหญ่ใฝ่สูงจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินก็ต้องกำจัด"สี่เสือ" หัวหน้าคณะราษฎรชั้นอาวุโสลงเสียก่อน และก็ "พันเอก พระยาทรงสุรเดช" นี่แหละ เป็นบุคคลแรกที่ต้องกำจัดออกไปโดยเร็ว เพราะฉลาดเกินไป ตรงเกินไป ซื่อเกินไป รู้ทันเกินไป ผู้ใต้บังคับบัญชาลูกศิษย์ลูกหารักใคร่เกินไป พันเอกพระยาทรงสุรเดช ไม่รู้ตัวเลยว่ามีศัตรูในพวกเดียวกัน ที่จ้องจะเชือด

                                             

    ในการวางแผนยึดอำนาจ พระยาทรงแสดงความเป็นทหารอัจฉริยะอย่างเต็มที่ โดยพระยาทรงกล่าวว่าการปฏิวัติ2475เป็นเรื่องของยุทธวิธี ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ เพราะการปฏิวัติที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ตื่นตัวต้องการเรียกร้อง ความเปลี่ยนแปลง จะหวังใช้กำลังพลจำนวนมากนั้นไม่ได้เรื่องแน่ เนื่องจากความลับจะรั่วไหลแล้วกลายเป็นกบฎ ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คง ทราบดีอยู่แล้วว่า แผนยุทธวิธีที่พระยาทรงวางไว้นั้น ยอดเยี่ยมเพียงใดในการใช้กำลังทหารเพียงหยิบมือเดียว ปฏิบัติการไม่ถึงครึ่งวันก็สำเร็จเรียบร้อยแบบไม่สูญเสียเลือดเนื้อ คณะผู้ก่อการได้ประชุมกันเพียง 2 ครั้ง ครั้งแรกก็เพียงไม่กี่เดือนก่อนลงมือที่บ้านพักของพระยาทรงเอง และครั้งที่ 2 ที่บ้านพักของร้อยโทประยูร ภมรมนตรี ที่สรุปแล้วพระยาทรงสุรเดชเสนอแผนการทั้งหมด 3 แผนให้ที่ประชุมเลือก คือ
     แผนที่ 1 ให้นัดประชุมบรรดานายทหารที่กรมเสนาธิการ หรือที่กรมยุทธศึกษา หรือที่ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ผู้ใดไม่เห็นด้วยก็จะเข้าควบคุมตัวไว้ ในระหว่างนั้นคณะผู้ก่อการฝ่ายทหารเรือและพลเรือนแยกย้ายกันไปคุมตัวเจ้านาย และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มากักตัวไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคมหรือบนเรือรบ
     แผนที่ 2 ให้จัดส่งหน่วยต่าง ๆ ไปคุมตามวังเจ้านายและข้าราชการคนสำคัญ ในขณะเดียวกันให้จัดหน่วยออกทำการตัดการสื่อสารติดต่อ เช่น โทรเลข โทรศัพท์ และให้จัดการรวบรวมกำลังทหารไปชุมนุม ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยวิธีออกคำสั่งลวงในตอนเช้าตรู่แล้วประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อหน้า ทหารเหล่านั้น และจัดนายทหารฝ่ายก่อการเข้าควบคุมบังคับบัญชาทหารเหล่านั้นแทนผู้บังคับ บัญชาคนเดิม แล้วทหารก็คงจะฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาคนใหม่ต่อไป การณ์ก็คงสำเร็จลงโดยเรียบร้อยโดยมิต้องมีการต่อสู้จนเลือดนองแผ่นดิน
     แผนที่ 3 ให้หน่วยทหารหนึ่งจู่โจมเข้าไปในวังบางขุนพรหม และเข้าจับกุมพระองค์สมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิตมาประทับที่พระที่นั่ง อนันตสมาคม เพื่อเป็นประกันในความปลอดภัยของคณะราษฎร และให้ดำเนินการอย่างอื่น ๆ ตามที่กล่าวแล้วในแผนที่ 2
แผนที่1เป็น ทางเลือกที่พระยาทรงเสนอมาให้ดูเวอร์ๆเข้าไว้ว่าเพื่อดักทางให้ที่ประชุม เห็นชอบกับแผนที่2ควบกับแผนที่ 3 และให้ลงมือในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปหัวหิน เพื่อทอดพระเนตรการทดลองการยิงปืนใหญ่ ซึ่งมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ แม่ทัพ นายกอง จะร่วมโดยเสด็จด้วยเป็นส่วนมาก กำหนดวันลงมือกระทำการในวันที่ 24 มิถุนายน โดยที่ประชุมยังไม่รู้ว่า ผู้ก่อการคนใดจะนำทหารที่ไหนออกมาใช้ยึดอำนาจและจะทำได้อย่างไร เพราะพระยาทรงยังอุบไว้เป็นความลับแผนการณ์สุดยอดในใจของพระยาทรงใน วันคอขาดบาดตายนั้นก็คือ การปล่อยข่าวลับลวงพราง ล่อหลอกให้นายทหารแต่ละกรมกองนำกำลังพลออกมาชุมนุมร่วมกันที่ลานพระบรมรูป ทรงม้าโดยไม่ทราบล่วงหน้าว่า จะมีเข้าร่วมในการแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองกับเขาด้วย

 ถึงท่านจะไม่ระบุชื่อ แต่คนที่สนใจประวัติศาสตร์ช่วงนี้ก็ทราบได้โดยไม่ยากว่านายทหารหนุ่มดังกล่าวคือนายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม
 ล่วง หน้าหนึ่งวัน พระยาทรงในฐานะเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร ของโรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้ไปพบพันโทพระเหี้ยมใจหาญ ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย เพื่อขอให้นำนักเรียนนายร้อยทั้งหมดพร้อมอาวุธปืนบรรจุกระสุนไปที่ลานหน้า พระบรมรูปทรงม้าในตอนเช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน เพื่อฝึกยุทธวิธีทหารราบต่อสู้รถถัง โดยจะใช้นักเรียนนายร้อยทำหน้าที่ทหารราบและนำรถถังจากกรมทหารม้ามาใช้ในการ ฝึก ต่อจากนั้นได้ไปพบผู้บังคับกองพันทหารราบที่รู้จักอีกสองคน เพื่อขอร้องให้นำทหารไปฝึกหน้าลานพระบรมรูปทรงม้าเวลาหกโมงเช้า และไปพบผู้บังคับการกองพันทหารช่างที่บางซื่อ เพื่อขอร้องให้นำทหารมาที่สนามหน้าโรงทหารในเวลาหกโมงเช้าเช่นกัน เพื่อจะนำไปฝึกต่อสู้กับรถถัง
       เช้าวันที่ 24 มิถุนายน พระยาทรงตื่นตั้งแต่เวลา 4.00 น. และออกจากบ้านไปพร้อมกับร้อยเอกหลวงทัศนัยนิยมศึก(ทัศนัย มิตรภักดี) ผู้ที่มารับ จากนั้นแผนการนำทหารออกมาใช้เปลี่ยนแปลงการปกครองของพระยาทรงก็ได้ถูกเปิด เผยให้แก่ผู้ร่วมก่อการ เวลา5.00น. ทั้งหมดก็ได้มุ่งหน้าไปยังกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ สี่แยกเกียกกาย โดยมีเป้าหมายที่จะยึดรถเกราะ รถรบ เปิดเอาอาวุธออกจากคลังกระสุน และหลอกพาทหารเดินมาขึ้นรถบรรทุกของกรมทหารปืนใหญ่ ภายใต้การบังคับบัญชาของพระยาฤทธิอัคเนย์ ที่อยู่ใกล้กัน ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปลานพระบรมรูปทรงม้า
        เมื่อไปถึงกรมทหารม้า พระยาทรง พระยาพหล และพระประศาสน์ ตบเท้าเข้าไปถามหาตัวผู้บังคับการกองรักษาการณ์ พูดด้วยเสียงดุดันว่า
"เวลานี้เกิดกบฏกลางเมืองขึ้นแล้ว มัวแต่หลับนอนอยู่ได้ เอารถเกราะ รถรบ เอาทหารออกไปช่วยเดี๋ยวนี้"
ตัว ผู้บังคับการเองเป็นนายทหารชั้นผู้น้อย เมื่อเห็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ครูบาอาจารย์ทั้งสามก็หลงเชื่ออย่างสนิทใจ รีบออกคำสั่งให้เป่าแตรแจ้งสัญญาณเหตุสำคัญปลุกทหารทั้งกรมตื่นขึ้นโดยฉับ พลัน
       ในช่วงเวลาระทึกใจนี้ ผู้ที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ไว้แล้วก็แยกย้ายกันปฏิบัติงาน พระยาพหลใช้กรรไกรตัดเหล็กที่เตรียมมาตัดโซ่กุญแจคลังแสงออกแล้วช่วยกัน ลำเลียงกระสุนมาขึ้นรถอย่างรวดเร็ว พระประศาสน์ตรงไปยังโรงเก็บรถพร้อม ร.อ.หลวงทัศนัยเร่งให้ทหารสตาร์ตรถถัง รถเกราะ ออกมาโดยเร็ว ร้อยเอกหลวงรณสิทธิชัยและพรรคพวกมุ่งไปยังโรงทหาร ออกคำสั่งแก่พลทหารให้แต่งเครื่องแบบทันทีไม่ต้องล้างหน้า ไม่กี่นาทีต่อมาก็ออกไปขึ้นรถบรรทุกทหารภายในกรมทหารปืนใหญ่ที่ได้นัดแนะกับ พระยาฤทธิอัคเนย์เอาไว้แล้ว  แล้วพระประศาสน์ก็นำขบวนรถถัง รถเกราะ รถขนกระสุนและปืนกลเบารวม15 คัน ออกจากที่ตั้งนำขบวนรถทั้งหมดมุ่งหน้าตรงไปยังลานพระบรมรูปทรงม้าซึ่งนัก เรียนนายร้อยคงแต่งชุดฝึกมารออยู่แล้ว ระหว่างทางแล่นผ่านกองพันทหารช่าง พระยาทรงก็กวักมือตะโกนเรียกผู้บังคับการทหารช่างว่าได้เวลาที่จะไปฝึกการ ต่อสู้รถถังตามที่ตกลงกันเมื่อเย็นวาน เหล่าทหารกำลังฝึกอยู่บนสนามหน้ากองพัน จึงได้รับคำสั่งให้ขึ้นรถบรรทุกไปกับเขาด้วย  ปฏิบัติการทั้งหมดนี้ ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง มีคำถามมากมายต่อมาว่าเกิดอะไรขึ้น เหตุใดกองรักษาการณ์กรมทหารม้าจึงร่วมมืออย่างง่ายๆ ทำไมยามคลังแสงจึงปล่อยให้พระยาพหลงัดประตูเอากระสุนออกไปได้ ทำไมนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในกรมนี้จึงปล่อยให้นายทหารที่อื่นนำทหารของ ตัวออกไปได้ โดยไม่แสดงปฏิกิริยาอันใดเลย  สำหรับคำถามเหล่านี้ ได้บันทึกของพระยาทรงได้ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า  “เป็น เพราะนายทหาร นายสิบ พลทหารเหล่านั้นเห็นด้วยในการปฏิวัติหรือ...เปล่าเลย ทั้งนายทหาร นายสิบ พลทหาร ไม่มีใครรู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่มีใครเคยได้เห็นได้รู้ การปฏิวัติทำอย่างไร เพื่ออะไร มีแต่ความงงงวยเต็มไปด้วยความไม่รู้ และข้อนี้เองเป็นเหตุสำคัญแห่งความสำเร็จ! สำหรับพลทหารทั้งหมดไม่ต้องสงสัยเลย เขาทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของเขาโดยไม่มีข้อโต้แย้ง เขาถูกฝึกมาเช่นนั้น และหากนายทหารอื่นมาสั่งให้ทำโดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เขาก็ทำเช่นเดียวกัน ทำไมเขาจะไม่ทำ เพราะในชีวิตเป็นทหารของเขา เขายังไม่เคยถูกเช่นนั้น เพราะฉะนั้นเขาจะรู้ไม่ได้เลยว่าเป็นการลวง ในเมื่อเขาโดนเป็นครั้งแรก ...นายทหารทั้งหมดส่วนมากได้เรียนในโรงเรียนนายร้อยในสมัยที่ผู้อำนวยการ ฝ่ายทหารเป็นอาจารย์ใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงมีความเคารพและเกรงในฐานผู้ใหญ่…….”
เหตุการณ์อีกด้านหนึ่ง ในตอนเช้าตรู่เวลาประมาณ4.00 น.ของวันเดียวกัน พลตำรวจโทพระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุยส์ จาติกวณิช) อธิบดีกรมตำรวจ ได้ขอเข้าเฝ้าจอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหมเป็นการด่วนที่วังบางขุนพรหม  ด้วยได้รับรายงานทางลับว่ามีคณะบุคคลจะลงมือทำการปฏิวัติยึดอำนาจในเช้า วันนี้ และจะเชิญพระองค์ไปเป็นประกันเพื่อต่อรองกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯด้วย พระยาอธิกรณ์ประกาศได้เตรียมเรือกลไฟเล็กมาจอดคอยอยู่ที่ท่าน้ำตำหนักน้ำ  เพื่อให้สมเด็จกรมพระนครสวรรค์เสด็จหนีไปก่อน และอาจจะทรงตั้งกองบัญชาการชั่วคราวที่กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์สวนเจ้า เชตุเพื่อหาทางต่อสู้ต่อไปได้ ทรงฟังคำกราบทูลของอธิบดีกรมตำรวจด้วยพระทัยเยือกเย็น  รับสั่งให้รอดูเหตุการณ์ไปก่อน “ฉันจะไปได้อย่างไร ฉันรักษาพระนครอยู่ด้วย”หลังจากหลังจากนั้นเพียงครู่เดียวก็มีขบวน รถถังและรถเกราะ6 คัน พร้อมด้วยนักเรียนนายร้อย1หมวด นำโดยพระประศาสน์ และหลวงพิบูลเข้ายึดสถานีตำรวจหน้าวังไว้ และเคลื่อนพลเข้ามาในวังบางขุนพรหม สมเด็จกรมพระนครสวรรค์ทรงเป็นนายทหารสำเร็จจากเยอรมันนี เช่นเดียวกับพระประศาสน์ และทรงเป็นเจ้าภาพแต่งงานให้เสียด้วย จึงมีพระดำรัสด้วยพระสุรเสียงอันไม่สะทกสะท้านแม้แต่น้อยว่า “ตาวัน แกมา ต้องการอะไร”พระประศาสน์ไม่กล้าสบสายพระเนตร  กราบทูลว่า “ขอเชิญเสด็จไปพระที่นั่งอนันต์ มีข้าราชการทหารพลเรือน รออยู่แล้ว ขอเชิญเสด็จเดี๋ยวนี้”
แม้จะมีพระดำรัสขอให้ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์เพราะ ยังทรงอยู่ในชุดนอน  พระประศาสน์ก็มิได้สนองพระประสงค์ จึงเสด็จเข้าประทับในรถที่พระประศาสน์เตรียมมาถวายพร้อมด้วยหม่อมสมพันธุ์ และหม่อมเจ้าหญิงประสงค์สมพระธิดา เป็นอันว่าแผน3ในภารกิจที่สำคัญที่สุดของคณะปฏิวัติได้เสร็จสิ้นลงแล้ว  การได้สมเด็จกรมพระนครสวรรค์มาทรงเป็นองค์ประประกัน  ทำให้ปัญหาการนองเลือดตลอดจนปัญหาการต่อต้านที่จะมาจากทุกทิศทางหมดไปทันที
ต่อ มา พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่และข้าราชการที่ถูกเชิญมาควบคุม ได้เริ่มทยอยเข้ามาในพระที่นั่งอนันตสมาคม เช่นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เป็นต้น นายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้เข้าล้อมเจ้านายทุกพระองค์ไว้เพื่อถวายความปลอดภัย ด้วยพวกคณะปฏิวัติมิได้ถวายพระเกียรติเท่าที่ควร ทำให้อาจเกินเหตุอันมิได้คาดคิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ในตอนบ่ายวันนั้น พระยาพหล พระยาทรง และพระยาฤทธิอาคเนย์ ได้เข้ามาเฝ้ากราบทูลว่า คณะปฏิวัติมีความประสงค์เพียงขอพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินจากพระเจ้า อยู่หัว  และขอให้สมเด็จกรมพระนครสวรรค์ทรงคลี่คลายสถานการณ์อันสับสนในเวลานั้น ด้วยหนังสือกราบบังคมทูลไปถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯแล้ว แต่ยังมิได้พระราชทานคำตอบแต่ประการใด  สมเด็จกรมพระนครสวรรค์ทรงเห็นแก่บ้านเมือง จึงได้ประทานลายพระหัตถ์ให้คณะราษฎร์นำประกาศกระจายเสียงทางวิทยุ  ความว่า “ตามด้วยที่คณะราษฎร์ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเอาไว้ได้โดยมีความประสงค์ข้อ ใหญ่ที่จะให้ประเทศไทยมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น ข้าพเจ้าขอให้ทหารข้าราชการ และราษฎรทั้งหลาย จงช่วยกันรักษาความสงบ อย่าให้เสียเลือดเนื้อคนไทยกันเอง โดยไม่จำเป็นเลย”เมื่อเหตุการณ์ ทั้งหมดคลี่คลายลงแล้ว คณะราษฎรมีความเห็นว่า เจ้านายระดับสูงหากยังประทับอยู่ในเมืองไทยก็จะเกิดปัญหาไม่จบ จึงสมควรต้องเนรเทศซึ่งใช้ภาษาให้สละสลวยว่าอัญเชิญเสด็จไปประทับ ณ ต่างประเทศ พระธิดาของสมเด็จงกรมพระนครสวรรค์ทรงบันทึกไว้ว่า  "ทูนกระหม่อม มีเวลาเตรียมพระองค์ไม่ถึง12 ชั่วโมง ไม่มีเวลาแม้แต่จะกราบถวายบังคมลา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระบรมราชินี ต้องทรงละทิ้งวัง และข้าราชบริพารร่วม400ชีวิตให้ดูแลตัวเอง ขบวนเสด็จจากวังบางขุนพรหมแห่ล้อมด้วยรถถังและรถหุ้มเกราะ สุดที่จะประมาณได้ เมื่อประทับบนรถไฟแล้วมีตำรวจในความควบคุมของพระนรากรบริรักษ์ อีกสองกองร้อยตามเสด็จ เพื่อควบคุมพระองค์ ทรงมีเงินส่วนพระองค์ติดไป 9000บาท ทรงทิ้งความทรงจำแห่งชีวิตราชการที่ทรงมีมากว่าครึ่งพระชนม์ชีพไว้ในความทรง จำ"
       กงกรรมกงเกวียน การเมืองก็มีแต่เรื่องอย่างนี้ ผู้ก่อการคณะราษฎรหลายคนก็ต้องชะตากรรมเช่นเดียวกัน บางคนแม้ไม่ได้ไปเสียชีวิตที่ต่างประเทศ ก็ถูกรถชนตายข้างถนน ลูกหลานไปพบก็อยู่ในสภาพของศพไม่มีญาติเสียหลายวันแล้ว ใครอย่ามาถามผมนะครับว่าท่านที่ผมกล่าวถึงตอนท้ายนี้คือใคร
 ขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรง ตั้งพระทัยจะพระราชทานธรรมนูญการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ติดขัดเพียงบางหลักการที่มีผู้คัดค้านกำลังจะแก้ไข เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นจึงไม่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะต่อต้าน ทั้งๆที่ทหารหัวเมืองทั้งหลายพร้อมอยู่ รอฟังพระราชกระแสรับสั่งจากจอมทัพเท่านั้น หากพระองค์ทรงยึดมั่นถือมั่นที่จะรักษาพระราชอำนาจโดยไม่คำนึงบ้านเมืองแล้ว แน่นอนว่า เลือดคงจะได้ท่วมนองแผ่นดิน ประชาชนทั้งหลายจะพลอยรับเคราะห์บาดเจ็บล้มตาย ทรัพย์สินวินาศสันตะโร ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกยุคทุกสมัย
      วันที่27มิถุนายน 2475 ทรงลงพระปรมาภิไธยในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ที่ทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ไว้ด้วยพระราชหัตถเลขา เนื่องจากทรงยังไม่เห็นด้วยในบางประการ รับสั่งว่า “ให้ใช้ไปก่อน” เพื่อจะแก้ใขในภายหลัง
 ในหนังสือเรื่อง “ชีวิต5แผ่นดินของข้าพเจ้า” เขียนโดยพลโทประยูร ภมรมนตรี มีข้อความตอนหนึ่งเขียนไว้ถึงพระดำรัสที่สมเด็จกรมพระนครสวรรค์มีรับสั่งกับ ตนที่พระที่นั่งอานันตสมาคมในเช้าวันนั้นว่า…แกคงจะรู้จัก โรเบสเปียร์  มารา และดันตอง เพื่อนร่วมน้ำสาบานฝรั่งเศสดีแน่ ในที่สุดมันผลัดกันเอากิโยตีนเฉือนคอกันทีละคน...จำไว้ ฉันสงสารแก ฉันเลี้ยงแกมาตั้งแต่เด็ก นี่แกเป็นกบฏแม้จะรอดจากอาญาแผ่นดินไม่ถูกตัดหัว แต่แกจะต้องถูกพวกเดียวกันฆ่าตาย แกจำไว้….ซึ่งร้อยโทประยูรผู้ก่อการคนสำคัญที่เขามอบหมายให้มาคอยเฝ้าดู พระองค์กราบทูลตอบว่า   “ทราบเกล้าฯแล้ว ตามประวัติศาสตร์มันต้องเป็นเช่นนั้น อย่างมากแค่ตาย”ผมจะไม่เล่าเรื่องของคนอื่นในเวลานี้ เอาเฉพาะชะตากรรมของพระยาทรงตามหัวข้อเรื่องก็แล้วกัน ใครไม่ทราบกล่าวไว้ว่า การปฏิวัติยึดอำนาจนั้นไม่ยาก มันยากที่จะทำอย่างไรจะให้บรรลุอุดมการณ์ของการปฏิวัติได้
ครับ..ผม เห็นด้วย อุดมการณ์มีองค์ประกอบด้วยกิเลศของมนุษย์ ตั้งแต่ตัวละเอียด เช่น ฉันอยากให้ไอ้นั่นดีอย่างนั้นอย่างนี้  ตัวกลางๆเช่น ฉันดีกว่าแก ฉันเหมาะสมกว่าเพื่อน ไปจนถึงตัวหยาบๆเช่นฉันอยากเด่น ฉันอยากรวย ฉันอยากมีอำนาจ และกิเลศมนุษย์ของนักการเมืองนี่แหละครับ ที่เป็นตัวบั่นทอนความสุขความเจริญของมนุษยชาติ    เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จได้เพียงเดือนเดียว พระยาทรง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการ เป็นรองก็เฉพาะพระยาพหลซึ่งเป็นตัวผู้บัญชาการ  ได้เรียกประชุมนายทหารใต้บังคับบัญชาของตน ที่ตึกทหารวังปารุสกวัน ซึ่งในคำพิพากษาศาลพิเศษ2482 (ซึ่งทราบกันทั่วไปว่าผู้พิพากษาทั้งหลายเป็นคนของหลวงพิบูล) ได้เรียกการกระทำดังกล่าวว่า “ลอบประชุม” มิให้พระยาพหลรู้เห็น เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงการของกองทัพบก ในระยะนี้วันหนึ่งพระยาพหลลงไปรับแขกชั้นล่าง จะกลับขึ้นไปห้องทำงานข้างบน ทหารยามที่เฝ้าบรรไดอยู่ทำท่าเตรียมแทง ไม่ให้ขึ้น พระยาพหลจึงร้องเรียกพระยาทรงลงมาดู พระยาทรงบอกว่าบอกว่าทหารชั้นผู้น้อยยังไม่รู้จักผู้บังคับบัญชา(คนใหม่) แต่พระยาพหลเริ่มจะผูกใจว่าพระยาทรงคิดจะแย่งอำนาจเสียแล้วเหตุการณ์ ทำนองคล้ายกันต่อจากนั้นอีกประมาณเดือนเดียว มีสายหลวงพิบูลมารายงานว่าพระยาทรงคิดจะย้ายหลวงพิบูลไปอยู่ตำแหน่งผู้ช่วย รบ เพื่อจะได้ไม่มีสิทธิ์บังคับบัญชาควบคุมกำลังทหาร หลวงพิบูลฉุนจัดจึงจะไปขอเข้าพบเพื่อสอบถาม แต่ทหารยามเอาดาบปลายปืนกั้นไว้ เผอิญพระยาทรงอยู่ที่นั่นจึงเห็นเข้าแล้วร้องห้ามไว้ เมื่อคุยกันแม้พระยาทรงจะปฏิเสธเรื่องดังกล่าว แต่หลวงพิบูลก็ปักใจเชื่อว่ามีมูล เพราะแม้ตนจะอยู่ที่ตำแหน่งเดิม แต่พรรคพวกถูกย้ายออกจากสายคุมกำลังหมดและมีนายทหารลูกน้องพระยาทรงเข้ามา เป็นแทน ศาลพิเศษอ่านคำพิพากษาตอนหนึ่งว่า “การที่พระยาทรงสุรเดชกับพวก กระทำเช่นนี้แสดงว่า พระยาทรงสุรเดชจะคุมอำนาจทหารไว้ฝ่ายเดียว บั่นทอนอำนาจการปกครองของทหารซึ่งหลวงพิบูลสงครามและพวกที่ได้ควบคุมอยู่ นั้น ให้หมดสิ้นไป โดยมีวัตถุประสงค์เกี่ยวแก่การเมืองซึ่งจะได้กล่าวต่อไป ตั้งแต่นั้นมาพระยาทรงสุรเดชกับหลวงพิบูลสงครามก็ไม่ถูกกันเรื่อยๆมา”
สำหรับเรื่องขัดแย้งระหว่างพระยาทรงกับหลวงประดิษฐ์ ความจริงพระยาทรงเขม่นหลวงประดิษฐ์อยู่นานแล้วเพราะทนความเป็นนักวิชาการหัว ก้าวหน้ามากไม่ไหว ในการประชุมคณะราษฎรครั้งแรกๆ พระยาทรงก็หลบออกจากที่ประชุมมาบ่นหลวงประดิษฐ์ให้ร้อยโทประยูร โซ่ข้อกลางระหว่างนักเรียนเก่าเยอรมันกับนักเรียนเก่าฝรั่งเศสฟังด้วยถ้อยคำ รุนแรง และมาถึงที่สุดในวันที่พร้อมกันเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเป็นครั้ง แรกหลังวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งพระยาทรงเป็นหัวหน้าคณะแทนพระยาพหลที่ไม่กล้าเข้าเฝ้าเพราะตนเองอยู่ใน ตำแหน่งนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และโดนพันเอก พระยาสุรเดชรณชิต (ชิต ยุวนะเตมีย์) เพื่อนนักเรียนนายร้อยเยอรมันร่วมรุ่นอีกคนหนึ่งถามแสบๆว่า "ไอ้พจน์ มีทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ชาติไหนมั่งวะที่กบฎต่อพระเจ้าแผ่นดิน" พระยาทรงนำคณะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบขอพระราชทานอภัยโทษ เมื่อพระองค์โปรดเกล้าให้หลวงประดิษฐ์นำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าถวาย ทรงอ่านข้อความในรัฐธรรมนูญแล้ว ตรัสถามพระยาทรงว่าได้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาแล้วหรือยัง พระยาทรงกราบทูลว่ายังไม่ได้อ่าน ทรงหันมาถามร้อยโทประยูรว่าได้อ่านหรือยัง ร้อยโทประยูรกราบทูลตอบว่าไม่ได้อ่านเพราะไม่มีหน้าที่โดยตรง แต่ได้ทราบว่าพระยาทรงได้กำชับหลวงประดิษฐ์ไว้มั่นคงแล้วว่าให้ร่างแบบ อังกฤษที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญพระองค์ก็ตรัสตอบว่าต้องการให้เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ทำไมต้องใช้คำแทนเสนาบดีว่า "คณะกรรมการราษฎร" แบบรัสเซียซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์พระยา ทรงอึ้งอยู่ชั่วครู่จึงกราบบังคมทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานสารภาพรับผิดที่ไม่ได้อ่านมาก่อน  ขอพระราชทานอภัยโทษและขอถวายสัตย์ว่าจะไปร่างมาใหม่ ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ทุกประการ" ทรงตรัสว่า "ถ้าพระยาทรงรับรองว่าจะไปแก้ไขกันใหม่ฉันก็จะยอมเชื่อพระยาทรง แต่อย่างไรก็ตามวันนี้หัวเด็ดตีนขาด ฉันก็ไม่เซ็น" รับสั่งให้กลับไปแก้ไขแล้วนำมาเสนอใหม่ในอีก 2 วันข้างหน้า แล้วจึงเสด็จขึ้น พวกที่เข้าเฝ้าก็ตกตะลึงทำอะไรไม่ถูก ทยอยเดินออกมายืนที่ลานพระราชวัง พระยาทรงโกรธมากถึงกับชี้หน้าหลวงประดิษฐ์แล้วพูดว่า "คุณหลวงทำป่นปี้ ไม่ทำตามที่บอกกล่าวกันไว้ ทำอะไรไปนอกเรื่อง ฉิบหายหมดแล้ว"พระยา ทรงเมื่อแสดงความแค้นเคืองแล้วก็เดินขึ้นรถจากไป หลังจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างพระยาทรงกับหลวงประดิษฐ์ก็ไม่ดีขึ้น ทั้งสองฝ่ายไม่ยอมปรับความเข้าใจกัน  ซ้ำยังเลวร้ายกว่าเรื่องของหลวงพิบูลเสียด้วยซ้ำ 

     และนั่นก็เป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ต่อท้าย ที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดานำขึ้นทูลเกล้าให้ทรงลงพระปรมาภิไธยที่พระราชวัง สวนจิตรลดา ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ดังกล่าวไปแล้วในกระทู้ก่อนหน้า  พร้อม กันนั้น ได้มีประกาศให้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ทำการรัฐสภาสยาม มีพิธีการชักธงชาติขึ้นสู่ยอดพระที่นั่งเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นสถานที ราชการในวันเดียวกันด้วย

ย้อนรอยประวัติศาสตร์รัฐประหารไทย ตอนกบฎพระยาทรงสุรเดช MP3http://www.mediafire.com/?lgxyf532ga1acl8

กบฎทรงสุรเดช MP4 http://www.mediafire.com/?d1w52378paydzem