วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ยุทธการเกตตีสเบิร์ก สงครามกลางเมืองอเมริกัน

สงครามกลางเมืองอเมริกัน





สงครามกลางเมืองอเมริกัน เป็นสงครามที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัฐเกษตรกรรมทางใต้ของสหรัฐอเมริกา ที่มีการทำไร่ขนาดใหญ่ใช้แรงงานทาสนิโกร กับรัฐอุตสาหกรรมทางเหนือ ระหว่าง ค.ศ.1861 - 1865 (พ.ศ.2404 - 2408) สงครามนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 600,000 คน ทำให้เกิดความเสียหายและความยุ่งยากหลายประการ แต่ก็มีผลดีที่ต่อมามีการเลิกทาสและรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไว้ได้


เหตุการณ์สำคัญตามลำดับ คือ



ค.ศ. 1860

อับราฮัม ลินคอล์นได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี
เซาธ์์ แคโรไลนาแยกตัวออกเพราะไม่พอใจผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี
การทำข้อตกลงคิสเตนเดน (Crittenden Compromise) ล้มเหลว เท่ากับเป็นการสิ้นสุดความพยายามครั้งสุดท้าย
ที่จะยังคงรวมกันเป็นสหภาพ (Union) 




ค.ศ. 1861

ฝ่ายสมาพันธรัฐยิงเรือของฝ่ายสหภาพ พยายามปลดปล่อยฟอร์ท ซัมเตอร์ (Fort Sumter) ที่เมืองชาร์ลสตัน
(เซาท์ แคโรไลนา) ทำให้เรือของฝ่ายสหภาพต้องถอย
มิสซิสซิปปี แยกตัว (9 มกราคม) ตามมาด้วยฟลอริดา (10 มกราคม) อลาบามา (11 มกราคม) จอร์เจีย
(19 มกราคม) หลุยส์เซียนา (26 มกราคม) และเท็กซัส (1 กุมภาพันธ์)
บรรดารัฐที่แยกตัวออกได้ส่งผู้แทนเข้าประชุมที่เมืองมองต์โกเมอรี จัดตั้งสมาพันธรัฐอเมริกา (Confederate
States of America) และเลือกตั้งนายพล เจฟเฟอร์สัน เดวิส เป็นประธานาธิบดี
ประธานาธิบดีเดวิส ประกาศเกณฑ์ทหารอาสาสมัคร 20,000 คนเข้าประจำการ (3 เมษายน)
กองทัพฝ่ายสมาพันธ์นำโดยนายพลโบรีการ์ด (Beauregard) ระดมยิงฟอร์ท ซัมเตอร์จนต้องยอมแพ้ เป็นการ
เปิดฉากสงครามกลางเมือง ที่มีความรุนแรงยิ่งขี้น (12 - 14 เมษายน)
ประธานาธิบดีลินคอล์น ประกาศเกณฑ์ทหารอาสาสมัคร 75,000 คน (15 เมษายน) ดำเนินการปิดล้อมท่าเรือของ
ฝ่ายรัฐที่แยกตัวออก (19 เมษา) แต่ไม่สามารถสกัดการส่งสินค้าจากต่างประเทศที่ส่งเข้ามาถึงรัฐที่ถูกปิดล้อม
ได้ทั้งหมด
เวอร์จิเนียถอนตัวออกจากสหภาพ (17 เมษา) ตามด้วยอาร์คันซัส (6 พฤษภา) เทนเนสซี (7 พฤษาคม)
และนอร์ท แคโรไลนา (11 พฤษภา)
กองทัพฝ่ายสมาพันธรัฐเผชิญหน้าฝ่ายสหภาพ เริ่มการสู้รบที่บุล รัน (bull Run) (21 กรกฎา) ทางตอนเหนือของ
รัฐเวอร์จิเนีย การสู้รบที่บุลรันทำให้ฝ่ายเหนือคิดเรื่องที่จะยุติสงครามกลางเมืองโดยเร็ว ด้วยการปิดล้อมฝ่ายใต้
ทางเรือ คุมย่านแม่น้ำมิสซิสซิปปี (เพื่อเป็นการแยกฝ่ายใต้ออกจากกัน) และเข้ายึดเมืองริชมอนด์ เมืองหลวงของ
สมาพันธรัฐฝ่ายใต้
ฝ่ายสมาพันธรัฐก็ยึดเมืองสปริงฟิลด์ (Springfield) ในมิสซูรีภายหลังการรบที่วิลสัน ครีก (Wilson's Creek)
(10 สิงหาคม)
พลเอก จี. แมคเคลลัน (General G.McCelan) เป็นผู้บัญชาการกองทัพสหภาพและจัดตั้งกองทัพแห่งโปโตแมค
(Army of Potomac) ขึ้น
กองทัพสหพันธรัฐปิดล้อมเรืออังกฤษ (8 พฤศจิกายน) จนเกือบนำไปสู่การเกิดสงครามระหว่างประเทศ 




ค.ศ. 1862

ฝ่ายสหภาพบุกเคนตักกี้กับเทนเนสซี ยึดได้ฟอร์ท เฮนรี (Fort Henry) กับฟอร์ท โดเนลสัน (Fort Donelson)
(6 - 16 กุมภาพันธ์) ฝ่ายสมาพันธ์ถอนตัวจากเมืองแนชวิลล์ (Nashville)
ฝ่ายสหภาพเปิดฉากรุง โดยนายพลแกรนท์ของฝ่ายเหนือรุกไล่ฝ่ายใต้ทางตอนใต้ของรัฐเทนเนสซี มีชัยในการรบ
นองเลือดที่ชิโลห์ (Shiloh) (6-7เมษา) ฝ่ายใต้สูญเสียแม่ทัพสำคัญคนหนึ่ง คือ นายพล เอ จอห์นสตัน
(Gen. A. Johnston) 




ค.ศ. 1863

ลินคอล์นประกาศกฎหมายเลิกทาสในวันที่ 1 มกราคม (Emancipation Proclaimation)
กองทัพฝ่ายเหนือรุกไปทางตะวันออก นายพลลี (Gen. R.E. Lee) ของฝ่ายใต้รุกขึ้นทางเหนือเข้าสู่เพนซิลวาเนีย
(มิถุนายน) แต่ถูกนายพลจี เมเอด (Gen.G.Meade) ของฝ่ายสหภาพเอาชนะได้ในการรบที่เกตติสเบิร์ก
(Battle of Gettysburg) ในเพนซิลวาเนีย ถือเป็นสงครามแห่งชัยชนะในสงครามกลางเมือง เมื่อนายพลลีต้องถอย
กลับไปเวอร์จิเนีย 




ค.ศ. 1864

นายพลแกรนท์ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพสหภาพ (มีนาคม) ขณะที่นายพล ดับเบิลยู
เชอร์แมน (Gen. W. Sherman) เป็นแม่ทัพฝ่ายตะวันตก กองทัพของนายพลแกรนท์ปะทะกับกองทัพนายพลลี
ในเวอร์จีเนีย ส่วนกองทัพของนายพลเชอร์ แมนมีหน้าที่รุกรบกองทัพของนายพลจอห์นสตันที่แอตแลนตา
นายพลลีของฝ่ายใต้เริ่มถอย เพราะไม่สามารถป้องกันปีเตอร์สเบิร์ก (Petersburg) ในการสู้รบเป็นเวลาถึง 10
เดือน แม้จะพยายามโจมตีแนวหลังของฝ่ายสหภาพแต่ก็ทำไม่สำเร็จ
นายพลดี ฟาร์รากัตเอาชนะกองเรือฝ่ายสมาพันธรัฐที่อ่าวโมบายล์ (5 สิงหาคม)
ประธานาธิบดีลินคอล์นได้รับการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง (พฤศจิกายน) 




ค.ศ. 1865

มีการร่างข้อตกลง 13 ข้อ ยกเลิกการมีทาสในสหรัฐอเมริกา ผ่านรัฐสภาอเมริกัน (1 กุมภาพันธ์) และมีผลบังคับ
ใช้เดือนธันวาคม
นายพลลี ถูกบังคับให้ยอมจำนนที่แอพโพแมตทอก คอร์ทเฮาส์ (Appomattox Courthouse) เป็นการยุติสงคราม
กลางเมือง (9 เมษายน)
(14 เมษายน) ประธานาธิบดีลินคอล์นถูกลอบ...หาร 



สงครามกลางเมืองอเมริกัน 2

สงครามกลางเมืองอเมริกัน





ชุดเครื่องแบบสีน้ำเงินเป็นพวกทหารม้าฝ่ายเหนือ
ส่วนชุดสีเทาเป็นพวกทหารฝ่ายใต้




ระหว่างปีค.ศ.1861-1865 ประเทศสหรัฐอเมริกาถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยสงครามกลางเมืองอันดุเดือดรุนแรงระหว่างสมาพันธรัฐอเมริกาซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของรัฐต่างๆ ทางใต้ (Confederacy) หรือที่เรียกว่า ฝ่ายใต้ กับสหภาพ (Union) หรือพวกรัฐฝ่ายเหนือซึ่งนำโดยประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln)


ต้นเหตุของสงครามครั้งนี้เกิดจากกฎหมายที่ว่าด้วยการใช้แรงงานทาสที่แตกต่างกัน โดยถ้าเป็นทางฝ่ายใต้นั้นการใช้แรงงานทาสจะเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในขณะที่ทางฝ่ายเหนือกลับกลายเป็นสิ่งตรงกันข้าม ความขัดแย้งด้านความคิดดังกล่าวนี้เองที่นำไปสู่การฆ่าฟันกันเองระหว่างคนในชาติ และเมื่อประธานาธิบดีลินคอล์นขึ้นดำรงตำแหน่งแล้ว เขาก็ต้องการใช้มีการยกเลิกการใช้แรงงานทาสทั่วประเทศจึงทำให้เกิดความขัดแย้งจนลุกลามเป็นสงครามกลางเมือง

การต่อสู้ดังกล่าวสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายเหนือยังผลให้เกิดการเลิกทาสทั่วประเทศและสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศอเมริกายังคงรวมเป็นชาติเดียวกันอยู่


สมรภูมิรบแห่งเกททิสเบิร์ก (Battle of Gettysburg)






ภาพวาดสมรภูมิรบแห่งเกททิสเบิร์กที่เต็มไปด้วยการนองเลือดและความสับสนอลหม่าน



วันที่ 1-3 กรกฎาคม ปีค.ศ.1863 นายพลโรเบิร์ต อี.ลี (General Robert E. Lee) ของฝ่ายใต้ได้เข้าโจมตีกองทัพฝ่ายเหนือของ นายพลจอร์จ เมิด (General George Meade) ที่รุกเข้ามาใกล้เกททิสเบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย (Pennsylvania)


จุดสำคัญของการรบในครั้งนี้ก็คือ การเข้าตะลุมบอนของพิคเก็ท (Pickett) ก่อนที่สงครามจะจบลงด้วยการสูญเสียอย่างประเมินค่ามิได้ของทั้งสองฝ่ายและความปราชัยของนายพลลีและทหารฝ่ายใต้ที่ต้องถอนกำลังกลับไปยังเวอร์จิเนีย (Virginia)

ฝ่ายเหนือและทางใต้ (North and South)





สงครามกลางเมืองนั้นเป็นการสู้รบกันระหว่างรัฐทางเหนือ ซึ่งมีทั้งหมด 23 รัฐกับทางใต้ที่มี 11 รัฐ ส่วนดินแดนในสหภาพอื่นได้เปลี่ยนมาเป็นรัฐหลังจากเกิดสงคราม

นอกจากนี้แล้วยังเกิดสงครามใหญ่ๆ ขึ้นอีกหลายที่ด้วยกันอย่างเช่น ที่เมืองเกททิสเบิร์กซึ่งได้รบกันทางภาคตะวันออกและทางตะวันออกเฉียงใต้

สารคดี History กึ่งภาพยนต์ 6 ตอน
Gettysburg part1
Gettysburg part2
gettysburg part3
gettysburg part4
Gettysburg part5
Gettysburg part6

วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2556

กานดา นาคน้อย: ประชาชนชอบสิทธิ์ มหาประชาชนชอบอภิสิทธิ์


การปฎิเสธหลักการ 1 คน 1 เสียงโดยอธิการบดีนิด้าและการชี้นำโดยปัญญาชนบางกลุ่มว่าคนไม่มีปริญญาไม่ควรมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งบ่งบอกว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีสำนึกทางชนชั้นอย่างเข้มข้น   เทียบเท่ากับสังคมอเมริกันในยุคที่มีนโยบายแบ่งแยกสีผิวที่มลรัฐในภาคใต้  
ในยุคนั้นผู้พิพากษาและนายอำเภอเข้าร่วมขบวนการ“เคเคเค”เพื่อข่มขู่ไม่ให้คนดำซึ่งเป็นลูกหลานอดีตทาสเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับการที่ผู้นำม็อบนกหวีดเรียกประชาชนที่สนับสนุนตนว่าเป็น“มหาประชาชน”   และแกนนำบางคนชี้นำว่าผู้เข้าร่วมม็อบนกหวีดคือประชาชนที่มีคุณภาพเหนือกว่าเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ
ประชาชนเหนือประชาชน
ระบอบประชาธิปไตยไม่มี“มหา”ประชาชน   ไม่มีประชาชนที่เหนือประชาชน   มีแต่ประชาชนที่มีสิทธิทางการเมืองเท่าเทียมกันความเท่าเทียมทางการเมืองไม่รับประกันว่าทุกคนจะมีรายได้และทรัพย์สินเท่ากันแต่รับประกันว่าเด็กปั๊มและอธิการบดีได้รับสิทธิคุ้มครองในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวกันคนขับรถแท็กซี่และคนขับรถเฟอร์รารี่มีสิทธิได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมเท่ากันแม่บ้านและไฮโซหมื่นล้านมีสิทธิไปออกเสียงเลือกตั้งเท่ากัน   ระบอบประชาธิปไตยไม่แบ่งแยกถี่ยิบว่าใครมีจุลสิทธิ์ อภิสิทธิ์  หรือมหาอภิสิทธิ์   การเลือกตั้งไม่ใช่ทั้งหมดของระบอบประชาธิปไตยแต่เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย
รัฐธรรมนูญคือกติกาสูงสุด
สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้พัฒนาได้เพราะประชาชนมีคุณภาพเหมือนกัน 2 ประการ  คือเคารพกติกาและขยัน   ถ้าการศึกษาไทยไม่สอนให้คนไทยเคารพกติกาไทยก็พัฒนาไม่ได้   ในระบอบประชาธิปไตยกติกาสูงสุดคือรัฐธรรมนูญ   ไม่ว่าจะเกลียดชังอดีตนายกฯทักษิณอย่างไรคนมีการศึกษาก็ปฎิเสธความจริง 2 ประการไม่ได้   ประการแรกคือความจริงที่ว่าอดีตนายกฯทักษิณไม่มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญปีพศ. 2540 และ 2550   ประการที่สองคือความจริงที่ว่ามีการแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์
ถ้าคนมีการศึกษามีคุณภาพจริงก็ควรยอมรับว่าการปฎิรูปก่อนเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์คือการฉีกรัฐธรรมนูญอันเป็นกติกาสูงสุด
ถ้าคนมีการศึกษามีคุณภาพจริงก็ควรยอมรับว่าการฉีกรัฐธรรมนูญคือการล้มล้างการปกครองในมาตรฐานอารยประเทศ
ถ้าคนมีการศึกษามีคุณภาพจริงก็ควรโต้ตอบผลงานวิจัยที่พบว่าการซื้อเสียงไม่มีบทบาทในการตัดสินผลการเลือกตั้งระดับชาติในประเทศไทยด้วยผลงานวิจัยที่อุดมด้วยสถิติ  
ความไม่โปร่งใสคือรากฐานปัญหาทุจริต  
ไม่มีประเทศใดในโลกนี้แก้ปัญหาทุจริตด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญ การแก้ปัญหาทุจริตในประเทศที่พัฒนาแล้วยึดหลักการโปร่งใสโดยเฉพาะความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมเนื่องจากกระบวนการยุติธรรมเป็นตัวตัดสินว่าอะไรเรียกว่าทุจริต   ดังนั้นผู้พิพากษา  อัยการและตำรวจต้องโปร่งใสด้วย   ไทยแก้ปัญหาทุจริตไม่ได้ตราบใดที่ไม่มีการปฎิรูปตุลาการ   จะสัมมนาด้วยงบประมาณหมื่นล้านไปอีกศตวรรษก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้ถ้าไม่ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมดิฉันมั่นใจว่าหน่วยงานปราบทุจริตในไทยทราบดีแต่ไม่หยิบยกมาโต้เถียงกันในที่สาธารณะ    
ในสหรัฐฯความโปร่งใสเป็นมาตรฐานที่ใช้กับผู้ใช้ภาษีทุกอาชีพไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง  อาจารย์  อธิการบดี  อัยการ  ผู้พิพากษา  ฯลฯ   กฎหมายบังคับให้พนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐตั้งแต่ภารโรงยันอธิการบดีต้องเปิดเผยรายได้ต่อผู้เสียภาษี   ข้อมูลรายได้ดังกล่าวหาได้ง่ายตามอินเตอร์เน็ตหรือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น  รายได้ข้าราชการทั้งในระดับมลรัฐและระดับประเทศก็เปิดเผยต่อผู้เสียภาษีเช่นเดียวกัน อัยการสูงสุดระดับมลรัฐมาจากการเลือกตั้ง  ในบางมลรัฐผู้พิพากษามาจากการเลือกตั้งด้วย   อัยการสูงสุดของประเทศและผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งทำหน้าที่คล้ายศาลรัฐธรรมนูญโดนตรวจสอบโดยรัฐสภา   ข้อมูลการพิพากษาคดีเป็นข้อมูลสาธารณะที่ผู้เสียภาษีเข้าถึงและถกเถียงได้โดยไม่ต้องกลัวข้อหาหมิ่นศาล
การปลูกฝังค่านิยมด้านความโปร่งใสก็ต้องทำกันทุกระดับ นักศึกษาอเมริกันให้แต้มอาจารย์เพื่อประเมินผลอย่างโปร่งใสเหมือนร้านอาหารและโรงแรมไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ผู้น้อยหรือศาสตราจารย์รางวัลโนเบล  เช่น พอล ครูกแมนได้แต้ม3.2 ดาวจากแต้มสูงสุด 5 ดาว (ที่มา http://www.ratemyprofessors.com/ShowRatings.jsp?tid=243005)  คนไข้ให้แต้มหมอเพื่อประเมินผลเหมือนผู้จำหน่ายสินค้าและบริการอื่นๆ(ตัวอย่าง http://www.healthgrades.com/provider-search-directory/search?q=Cardiology&search.type=Specialty&loc=New+York%2c+NY)   ทุกอาชีพโดนประเมินผลเหมือนกัน   ไม่มีอาชีพใดมีอภิสิทธิ์เหนืออาชีพอื่น
ในกรณีของไทย   นายสุเทพ เทือกสุบรรณเรียกร้องให้ปฎิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง   แล้วทำไมไม่มีการประเมินผลว่าคณะกรรมการปฎิรูปประเทศไทยในยุคที่นายสุเทพเป็นรองนายกฯได้แต้มกี่ดาว?การเสนอแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญก่อนวันเลือกตั้งน่าจะโปร่งใสกว่าการเลื่อนวันเลือกตั้งเพื่อปฎิรูปโดยบุคคลที่ไม่รู้ว่ามีผลงานกี่ดาว
สื่อมวลชนก็ต้องโปร่งใส   ข่าวจากสื่อมวลชนตะวันตกตีพิมพ์ด้วยชื่อผู้รายงานข่าวชัดเจน   ทำให้ผู้รายงานข่าวต้องระมัดระวัง   ต้องตรวจสอบความจริงและรับผิดชอบผลงานของตน   สื่อมวลชนไทยใช้มาตรฐานนี้เวลารายงานข่าวภาษาอังกฤษเพื่อให้ดูทัดเทียมกับมาตรฐานสากล    แต่ไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกันเวลารายงานข่าวภาษาไทย    สื่อมวลชนไทยควรปฎิรูปตัวเองเพื่อให้โปร่งใสขึ้น  หนังสือพิมพ์ควรลงชื่อนักข่าวที่เขียนข่าว   อย่ามัวแต่เรียกร้องความโปร่งใสจากอาชีพอื่น
ประชาชนชอบเลือกตั้ง  มหาประชาชนชอบแต่งตั้ง 

ดิฉันไม่เคยใช้สิทธิเลือกตั้งในฐานะพลเมืองไทยด้วยเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้   แต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ดิฉันจะออกเสียงผ่านสถานกงศุลและจะไม่เลือกทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์   เนื่องจากดิฉันไม่ต้องการพรรคการเมืองที่เล่นการเมืองด้วยม็อบอย่างซ้ำซากและไม่คำนึงถึงชีวิตและเลือดเนื้อของฐานเสียง   และดิฉันคิดว่านี่คือกระบวนการเดียวที่จะป้องกันไม่ให้เกิดสงครามกลางเมืองเหมือนสงครามกลางเมืองที่จังหวัดชายแดนในภาคใต้
ดิฉันขอเชิญชวนทุกคนที่เชื่อว่าคนไทยทุกคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสายพันธุ์เดียวกันร่วมกันปฎิเสธระบอบมหาประชาชนด้วยการไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง   เสียงเดียวฟังดูน้อยอาจทำให้รู้สึกว่าไม่คุ้มค่าจากการเดินทางไปลงคะแนน    แต่ถ้าคนอเมริกันทุกคนคิดแบบนั้นสหรัฐฯจะไม่ใช่ประเทศที่คนไทยมาศึกษาแล้วกลับไทยไปเป็นอธิการบดี

วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

แมกนาคาร์ตา กฏบัตรแห่งเสรีภาพ ต้นแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย

แมกนาคาร์ตาและการแสวงหาเสรีภาพของมนุษย์

รัฐธรรมนูญ หมายถึงกฎหมายสูงสุดในการจัดการปกครองรัฐ ถ้าแปลตามความหมายของคำ จะหมายถึง การปกครองรัฐอย่างถูกต้องเป็นธรรม (รัฐ + ธรรม + มนูญ)
ในความหมายอย่างแคบ "รัฐธรรมนูญ" ต้องมีลักษณะเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่ใช่สิ่งเดียวกับฏฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะ "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" มีความหมายกว้างกว่าและจะเป็นรูปแบบลายลักษณ์อักษรหรือจารีตประเพณีก็ได้
รัฐธรรมนูญในปัจจุบันนั้น มีทั้งเป็นลักษณะลายลักษณ์อักษร และลักษณะไม่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยที่ลักษณะไม่เป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากจะใช้หลักของจารีต ประเพณีการปกครองแล้ว กฎหมายทุกตัวที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง ย่อมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญด้วย
ทุกประเทศทั่วโลกมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ทั้งประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย รวมถึงประเทศที่ปกครองระบอบเผด็จการ เพื่อใช้เป็นหลักหรือเป็นแนวทางในการบริหารประเทศ

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลก

ในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1215 ขุนนางและพระราชาคณะจำนวน 25 คน ได้บังคับให้พระเจ้าจอห์นลงนามในเอกสารที่เรียกว่า "มหากฎบัตร" (The Great Charter, Magna Carta) ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างพระมหากษัตริย์กับขุนนางและพระสงฆ์ โดยในมหากฎบัตรได้กำหนด ถึงการจัดองค์กรและการบริหารอำนาจของสภาสูง (Magnum Concillium) และกำหนดว่าพระมหากษัตริย์จะเก็บภาษีบางอย่าง ตามที่กำหนดไว้โดยมิได้รับความเห็นชอบจากสภาสูงมิได้ จะจับกุมคุมขังบุคคลได้ก็ต่อเมื่อ มีคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมาย มหากฎบัตรนี้ นักกฎหมายบางท่านเห็นว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก
รัฐธรรมนูญในสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส ในภาษาของประเทศทั้งสอง คำว่ารัฐธรรมนูญต่างใช้คำว่า Constitution ซึ่งแปลว่า การสถาปนา หรือการจัดตั้ง ซึ่งหมายถึงการสถาปนาหรือจัดตั้งรัฐนั่นเอง โดยทั้งสองประเทศมีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ประเทศอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร
ท่ามกลางภูมิประเทศอันงดงามแห่งแคว้นเซอร์เรย์ในอังกฤษ มีแม่น้ำเทมส์ไหลผ่าน. ในทุ่งหญ้าแห่งหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำสายนี้มีอนุสาวรีย์พร้อมด้วยคำจารึกที่เป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นเกือบแปดร้อยปีมาแล้ว. ที่นี่ ณ ทุ่งหญ้ารันนีมีด พระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษ (ครองราชย์ปี 1199-1216) ทรงเผชิญหน้ากับเหล่าขุนนางที่เป็นศัตรูผู้มีอิทธิพล ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่โกรธแค้นเนื่องจากถูกกษัตริย์กดขี่. เหล่าขุนนางเรียกร้องให้กษัตริย์บรรเทาความคับแค้นใจของตนโดยให้สิทธิ์บางอย่าง. เนื่องจากถูกกดดันอย่างหนัก ในที่สุดกษัตริย์จึงได้ประทับตราของพระองค์ลงในเอกสารซึ่งเป็นที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า แมกนาคาร์ตา (มหากฎบัตร).
เพราะเหตุใดเอกสารฉบับนี้จึงได้รับการพรรณนาว่าเป็น “เอกสารทางกฎหมายฉบับที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ตะวันตก”? คำตอบจะเผยให้เห็นเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับการแสวงหาเสรีภาพของมนุษย์.
ข้อบังคับของขุนนาง
พระเจ้าจอห์นทรงมีปัญหากับคริสตจักรโรมันคาทอลิก. พระองค์แข็งข้อต่อโปปอินโนเซนต์ที่ 3 โดยไม่ยอมรับสตีเฟน แลงตันเป็นอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี. ผลก็คือ คริสตจักรเพิกถอนการสนับสนุน และขับกษัตริย์ออกจากศาสนา. แต่พระเจ้าจอห์นพยายามขอการคืนดีกัน. พระองค์ยอมยกอาณาจักรแห่งอังกฤษและไอร์แลนด์ให้แก่โปป. ฝ่ายโปปก็คืนอาณาจักรเหล่านั้นให้แก่พระเจ้าจอห์นโดยที่กษัตริย์ต้องปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อคริสตจักรและจ่ายค่าบรรณาการประจำปี. บัดนี้ พระเจ้าจอห์นจึงตกอยู่ใต้อำนาจโปป.
ความลำบากทางการเงินทำให้กษัตริย์มีปัญหามากขึ้นอีก. ระหว่างการครองราชย์ 17 ปี พระเจ้าจอห์นเรียกเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินเพิ่มอีก 11 ครั้ง. ความวุ่นวายทั้งหมดเรื่องคริสตจักรและเรื่องการเงินทำให้มีการเชื่อกันอย่างแพร่หลายว่ากษัตริย์เป็นผู้ที่ไม่น่าไว้วางใจ. บุคลิกภาพของพระเจ้าจอห์นก็ดูเหมือนไม่ได้ช่วยบรรเทาความกังวลดังกล่าวเลย.
ในที่สุด ความไม่สงบก็ปะทุขึ้น เมื่อเหล่าขุนนางจากทางเหนือของประเทศไม่ยอมจ่ายภาษีอีกต่อไป. พวกเขาเดินขบวนมาที่ลอนดอนและประกาศยกเลิกการสวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์. จากนั้นทั้งสองฝ่ายได้โต้เถียงกันมาก โดยที่กษัตริย์ประทับอยู่ในพระราชวังที่วินด์เซอร์ และเหล่าขุนนางตั้งค่ายอยู่ทางตะวันออกในเมืองใกล้ๆที่ชื่อสเตนส์. การเจรจาลับทำให้ทั้งสองฝ่ายมาเผชิญหน้ากันที่ทุ่งรันนีมีด ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองทั้งสอง. ในวันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน 1215 ณ ทุ่งหญ้าแห่งนี้ พระเจ้าจอห์นประทับตราในเอกสารซึ่งมีข้อบังคับ 49 ข้อ. เอกสารนี้ขึ้นต้นว่า ‘นี่คือข้อบังคับที่เหล่าขุนนางต้องการและได้รับการยินยอมโดยกษัตริย์.’
เสรีภาพภายใต้กฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ความไม่ไว้วางใจในเจตนาของพระเจ้าจอห์นก็ปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็ว. ท่ามกลางความรู้สึกต่อต้านอย่างมากต่อกษัตริย์และโปป กษัตริย์ได้ส่งทูตไปหาโปปที่กรุงโรม. โปปออกกฤษฎีกาทันทีเพื่อประกาศว่าข้อตกลงรันนีมีดเป็นโมฆะ. ส่วนที่อังกฤษสงครามกลางเมืองก็ปะทุขึ้นอย่างรวดเร็ว. แต่ในปีต่อมา พระเจ้าจอห์นก็สิ้นพระชนม์อย่างกะทันหัน และเจ้าชายเฮนรี พระโอรส ซึ่งมีพระชนมายุได้เก้าพรรษา ก็ขึ้นครองราชย์แทน.
ผู้สนับสนุนพระเจ้าเฮนรีวัยเยาว์จัดให้มีการออกข้อตกลงรันนีมีดอีกครั้ง. ตามที่กล่าวในหนังสือเล่มเล็กแมกนาคาร์ตา ข้อตกลงฉบับแก้ไขนี้ถูก “เปลี่ยนด้วยความเร่งรีบจากเครื่องมือต่อต้านทรราชไปเป็นแถลงการณ์ซึ่งผู้ที่เดินสายกลางอาจถูกโน้มน้าวให้สนับสนุนผลประโยชน์ [ของกษัตริย์].” มีการออกข้อตกลงนี้อีกหลายครั้งระหว่างรัชกาลของพระเจ้าเฮนรี. เมื่อกษัตริย์องค์ต่อมาคือ พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ 1 ประกาศรับรองกฎบัตรแมกนาคาร์ตาอีกครั้งในวันที่ 12 ตุลาคม 1297 จึงมีการรวมกฎบัตรนี้เข้ากับประมวลกฎหมายในที่สุด ซึ่งก็คือรายการเอกสารที่มีความสำคัญเป็นพิเศษต่อสาธารณชน.
กฎบัตรนี้จำกัดอำนาจของกษัตริย์. กฎบัตรนี้กำหนดว่า บัดนี้กษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเช่นเดียวกับพลเมืองทุกคนของพระองค์. วินสตัน เชอร์ชิลล์ นักประวัติศาสตร์และนายกรัฐมนตรีของอังกฤษผู้มีชื่อเสียงแห่งศตวรรษที่ 20 กล่าวว่า แมกนาคาร์ตาทำให้มี “ระบบการตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งจะให้อำนาจที่จำเป็นแก่กษัตริย์ แต่ก็ป้องกันทรราชหรือคนโง่เขลาไม่ให้ใช้อำนาจอย่างผิดๆ.” เป็นอุดมการณ์ที่สูงส่งจริงๆ! แต่กฎหมายนี้มีความหมายอย่างไรต่อสามัญชน? ในตอนนั้น แทบไม่มีความหมายเลย. แมกนาคาร์ตาให้รายละเอียดเฉพาะเรื่องสิทธิของ “เสรีชน” เท่านั้น ซึ่งจริงๆแล้วเป็นพวกชนชั้นสูงและในตอนนั้นเป็นเพียงชนกลุ่มน้อย.*
สารานุกรมบริแทนนิกา ชี้ให้เห็นว่า “นับตั้งแต่ช่วงต้นๆในประวัติศาสตร์” แมกนาคาร์ตา “กลายเป็นสัญลักษณ์และการเรียกร้องให้ต่อต้านการกดขี่ และผู้คนแต่ละรุ่นตีความว่ากฎบัตรนี้เป็นการปกป้องเสรีภาพของตนที่ถูกคุกคาม.” เพื่อชี้ถึงนัยสำคัญนี้ การประชุมรัฐสภาของอังกฤษแต่ละสมัยจะเปิดด้วยการรับรองแมกนาคาร์ตาอีกครั้ง.
ทนายความในอังกฤษสมัยศตวรรษที่ 17 ใช้มาตราต่างๆในแมกนาคาร์ตาเป็นพื้นฐานสำหรับสิทธิต่างๆ เช่น การพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุน, ฮาบีอัส คอร์ปัส,* ความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย, การไม่มีสิทธิ์จับกุมตามอำเภอใจ, และการที่รัฐสภาจะเป็นฝ่ายควบคุมการเก็บภาษี.
การแสวงหาดำเนินต่อไป
ลอร์ดบิงแฮม ผู้เป็นประธานศาลสูงสุดแห่งอังกฤษและเวลส์ตั้งแต่ปี 1996 ถึง 2000 ยอมรับว่า “หลายครั้งในอดีต ความสำคัญของแมกนาคาร์ตาตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่กล่าวในกฎบัตรนั้นจริงๆมากเท่ากับสิ่งที่คิดกันว่ามีกล่าวในกฎบัตรนั้น.” ถึงกระนั้น ในเวลาต่อมาแนวคิดเรื่องเสรีภาพที่ผูกโยงกับกฎบัตรนี้ก็ได้แพร่เข้าไปในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ.
ผู้ตั้งถิ่นฐาน ซึ่งออกจากอังกฤษในปี 1620 โดยมุ่งหน้าไปยังอเมริกา ได้นำแมกนาคาร์ตาไปด้วยฉบับหนึ่ง. ในปี 1775 เมื่ออาณานิคมของอังกฤษในอเมริกาก่อการกบฏเพื่อต่อต้านการเก็บภาษีทั้งๆที่ไม่ให้พวกเขามีผู้แทนในรัฐสภา สภาในที่ซึ่งปัจจุบันคือรัฐแมสซาชูเซตส์ได้ประกาศว่า การเก็บภาษีเช่นนั้นเป็นการฝ่าฝืนแมกนาคาร์ตา. ที่จริง ตราสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการของรัฐแมสซาชูเซตส์ที่ใช้กันในตอนนั้นเป็นรูปผู้ชายซึ่งมือข้างหนึ่งถือดาบและมืออีกข้างหนึ่งถือแมกนาคาร์ตา.
เมื่อเหล่าผู้แทนจากชาติที่เพิ่งก่อตั้งประชุมกันเพื่อร่างรัฐธรรมนูญสำหรับสหรัฐอเมริกา พวกเขายึดมั่นกับหลักการของเสรีภาพภายใต้กฎหมาย. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิแห่งสหรัฐได้มาจากการยอมรับหลักการดังกล่าวด้วย. ด้วยเหตุนี้ ในปี 1957 เพื่อเป็นการยอมรับแมกนาคาร์ตา สมาคมเนติบัณฑิตแห่งอเมริกาจึงได้ตั้งอนุสาวรีย์ที่รันนีมีดโดยมีคำจารึกว่า “เพื่อรำลึกถึงแมกนาคาร์ตา—สัญลักษณ์แห่งเสรีภาพภายใต้กฎหมาย.”
ในปี 1948 เอเลนอร์ รูสเวลต์ รัฐสตรีชาวอเมริกัน ได้ช่วยร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ โดยหวังว่าปฏิญญาฉบับนี้จะกลายเป็น “แมกนาคาร์ตาสากลสำหรับมวลมนุษย์ทุกหนแห่ง.” ที่จริง ประวัติความเป็นมาของแมกนาคาร์ตาแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามนุษยชาติปรารถนาเสรีภาพมากเพียงใด. แม้ว่าจะเป็นความปรารถนาอันสูงส่ง แต่สิทธิมนุษยชนพื้นฐานของมนุษย์ก็ยังถูกละเมิดในหลายประเทศ. รัฐบาลของมนุษย์ได้แสดงให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่าไม่สามารถรับประกันเสรีภาพสำหรับทุกคน. นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่พยานพระยะโฮวาหลายล้านคนในปัจจุบันทะนุถนอมเสรีภาพที่สูงส่งกว่าภายใต้กฎหมายของรัฐบาลที่ต่างไป นั่นคือราชอาณาจักรของพระเจ้า.
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงสิ่งที่น่าทึ่งเกี่ยวกับพระเจ้าคือ “พระวิญญาณของพระยะโฮวาอยู่ที่ใด เสรีภาพก็อยู่ที่นั่น.” (2 โกรินโธ 3:17ล.ม.) ถ้าคุณสนใจอยากทราบว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าจะให้เสรีภาพชนิดใดแก่มนุษยชาติ ขอเชิญถามพยานพระยะโฮวาเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อพวกเขามาเยี่ยมคุณครั้งต่อไป. คุณอาจพบว่าคำตอบเป็นเรื่องที่น่าทึ่งและให้เสรีภาพ.
“แม้ว่าในปี 1215 คำ ‘เสรีชน’ มีความหมายจำกัด แต่พอถึงศตวรรษที่สิบเจ็ด คำนี้หมายรวมถึงผู้คนเกือบทุกคน.”—ประวัติศาสตร์อารยธรรมตะวันตก (ภาษาอังกฤษ).
เป็นคำภาษาลาตินที่หมายความว่า “คุณควรมีสิ่งที่จับต้องได้” ข้อบัญญัติฮาบี
มหากฎบัตร
แมกนาคาร์ตา (ภาษาลาตินแปลว่า “มหากฎบัตร”) เดิมมีชื่อว่า “ข้อบังคับของเหล่าขุนนาง.” พระเจ้าจอห์นประทับตราของพระองค์ในเอกสารที่มี 49 มาตรานี้. ในช่วงไม่กี่วันถัดมา ความตกลงนี้ได้รับการขยายเป็น 63 มาตรา และกษัตริย์ก็ประทับตราในเอกสารอีกครั้ง. การออกกฎบัตรอีกครั้งในปี 1217 มีกฎบัตรที่สองที่เล็กกว่าออกคู่กันด้วยซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้. นับแต่นั้นมา มีการเรียกข้อบังคับนี้ว่า แมกนาคาร์ตา.
ทั้ง 63 มาตราแบ่งออกเป็นเก้าหมวด ซึ่งมีเรื่องที่เกี่ยวกับความคับแค้นใจของเหล่าขุนนาง, การปฏิรูปกฎหมายและความยุติธรรม, และเสรีภาพของคริสตจักร. มาตราที่ 39 ซึ่งเป็นพื้นฐานทางประวัติศาสตร์สำหรับเสรีภาพของพลเมืองอังกฤษ อ่านว่า “ไม่มีเสรีชนคนใดอาจถูกจับหรือถูกจำคุก, หรือถูกยึดสิทธิหรือทรัพย์สิน, หรือถูกประกาศว่าเป็นบุคคลนอกกฎหมายหรือถูกเนรเทศ, หรือถูกริบฐานะของตนในทางอื่นใด, ทั้งเราจะไม่ใช้กำลังกับเขา, หรือสั่งให้ผู้อื่นทำเช่นนั้น เว้นแต่มีการพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายจากผู้ที่เทียบเท่ากับเขาหรือโดยกฎหมายของประเทศ.”

วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สงครามนอกแบบ – สงครามกองโจร – การทำสงครามตัวแทนในยุคหลังสงครามเย็น


Saving Private Ryan

         
                         หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นสงครามขนาดใหญ่ และสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับมวลมนุษยชาติได้ยุติลง สภาวะความขัดแย้งรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นมาทดแทน การทำสงครามด้วยกำลังทหารขนาดใหญ่ในรูปแบบเดิม ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่การทำสงครามตัวแทน (Proxy War) โดยการใช้สงครามนอกแบบ (Unconventional Warfare) หรือ สงครามกองโจร (Guerrilla Warfare) เพื่อสร้างและโน้มน้าวประเทศอื่นๆ มาเป็นแนวร่วมในอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งในขณะนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ค่ายใหญ่ได้แก่ อุดมการณ์ประชาธิปไตย และ อุดมการณ์คอมมิวนิสต์
        ตลอดระยะเวลาในห้วงของสงครามเย็นจึงปรากฏว่ามีการดำเนินสงครามในลักษณะของ การทำสงครามตัวแทน อย่างไม่หยุดหย่อน การทุ่มเททรัพยากรจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง วัสดุอุปกรณ์ หรือบุคคล ต่างถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ฝ่ายตนเองต้องการ จนในที่สุดนำมาซึ่งปัญหาทางด้านอื่นๆ และนำไปสู่การล่มสลายของฝ่ายที่ขาดการจัดการทรัพยากรที่ดี

        ต่อมาหลังจากสงครามเย็นได้ยุติลงในปลายศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมานั้น จะพบว่าความขัดแย้งและภัยคุกคามที่นำไปสู่สภาวะที่ไม่มั่นคงจะมีรูปแบบและลักษณะที่สลับซับซ้อนมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา และ มีแนวโน้มที่จะมีความสลับซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นการยากที่จะหาแนวทางที่ดีที่สุดมาใช้ในการแก้ไขสภาพปัญหาที่เผชิญอยู่ และที่สำคัญการดำเนินสงครามนอกแบบ ยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่นๆ ของประเทศที่มุ่งแต่รักษาผลประโยชน์ของชาติตนเป็นที่ตั้งมากกว่าการแสวงประโยชน์ร่วมกันเป็นชาติพันธมิตร
นอกจากนี้ความสลับซับซ้อนของสภาวะแวดล้อมโลกยังส่งผลให้เกิดความแตกต่างในลักษณะของปัจเจกนิยมมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการสื่อสารระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือบุคคลกับกลุ่มบุคคลสามารถกระทำได้โดยสะดวก ง่าย รวดเร็ว และตลอดเวลา สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงส่งผลให้เกิดการรวมตัวในลักษณะของกลุ่มต่างๆ ทั้งเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ตามความเชื่อหรือความชื่นชอบในสิ่งที่เหมือนกัน สิ่งที่ตามมาคือ การรวมตัวกันเรียกร้องหรือต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่กลุ่มตัวเองต้องการ และถ้าสถานการณ์เหล่านี้ถูกพัฒนาไปสู่การรวมตัวเพื่อเรียกร้องและต่อต้านอำนาจรัฐแล้ว การต่อสู้ในลักษณะของการใช้กองกำลังติดอาวุธ โดยในใช้ยุทธวิธีของสงครามนอกแบบ หรือ การทำสงครามกองโจร คงเป็นแนวทางหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการดำเนินการ
        ดังนั้นแม้สงครามเย็นจะยุติลง การปะทะกันอย่างรุนแรงของอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์จะอยู่ในระดับที่ลดลง โดยฝ่ายคอมมิวนิสต์อาจจะเพลี่ยงพล้ำ ทำให้กระแสหลักของโลกกลายเป็นกระแสของประชาธิปไตยไป ก็ไม่ได้หมายความว่าแนวคิดที่จะใช้สงครามนอกแบบหรือสงครามกองโจรจะหมดไป ในทำนองกลับกันสงครามนอกแบบกลับกับถูกพัฒนาขึ้นใหม่ ให้มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น มีรูปแบบในการดำเนินการที่แตกต่างจากเดิมมากขึ้น ทำให้การเผชิญกับสงครามนอกแบบ อาจจะไม่ได้เป็นการเผชิญหน้ากันในลักษณะของการรักษาผลประโยชน์ระหว่างรัฐต่อรัฐเท่านั้น การรักษาผลประโยชน์ระหว่างตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (Non-state Actors) กับรัฐ กลับกลายมาเป็นภัยคุกคามใหม่ที่รัฐต้องเผชิญ การศึกษาถึงความสลับซับซ้อนต่างๆ เหล่านี้จึงกลายมาเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับหน่วยงานด้านความมั่นคงอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

2. สงครามนอกแบบ
        การใช้กำลังทหารเข้าทำสงคราม นั้นถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสุดท้ายที่คณะผู้บริหารประเทศใช้ในแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามการที่ประเทศหนึ่งประเทศใดจะตัดสินใจทำสงครามกับประเทศอื่น เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ประเทศต่างๆ ล้วนแต่มีกลไกในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีความสลับซับซ้อน ประกอบกับนวัตกรรมและกระแสโลกาภิวัตน์ได้ส่งผลให้การสื่อสารและการเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนต่างๆ นั้นสามารถกระทำได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องตลอดเวลา ทำให้การแทรกแซง การตรวจสอบ หรือการเจรจาต่อรอง กระทำได้โดยง่าย อย่างไรก็ตามถึงแม้สงครามจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยากแต่ก็มิได้หมายว่าสงครามจะไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
        นอกจากนี้สงครามมีหลายรูปแบบจึงยากที่จะประเมินชัดเจนลงไปว่าประเทศชาติจะเผชิญกับสงครามแบบใด ปัจจุบันแนวโน้มที่จะเกิดสงครามตามแบบขนาดใหญ่นับวันจะลดน้อยลง ความน่าจะเป็นที่อาจจะเกิดขึ้นได้ก็คือการเกิดสงครามในความขัดแย้งระดับต่ำ เป็นสงครามที่มีลักษณะเป็นการรบเฉพาะแห่ง มีความมุ่งหมายเพื่อการต่อรองทางการเมืองหรือเงื่อนไขอื่น ฉะนั้นการเตรียมการเพื่อรองรับกับสภาวะการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ หน่วยงานด้านความมั่นคงจะต้องตระหนักถึง ซึ่งในอดีตนั้นประเทศไทยสามารถผ่านวิกฤตการสำคัญหลายครั้งด้วยการใช้แนวความคิดของ "ระบบการต่อสู้เบ็ดเสร็จ" (Total Defense) เพื่อให้สามารถต่อสู้กับภัยคุกคาม (Threats) ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามตามธรรมชาติหรือภัยคุกคามที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่าภัยนั้นจะเกิดขึ้นภายในประเทศหรือมาจากภายนอกก็ตาม
        สำหรับสงครามนอกแบบนั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการดำเนินสงคราม โดยคำนิยามที่ใช้กันในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก จะให้ความหมายไว้ว่า “สงครามนอกแบบ คือ การปฏิบัติการทางทหารและกึ่งทหาร ในดินแดนที่ข้าศึกยึดครองอยู่ หรือพื้นที่ที่ข้าศึกมีอิทธิพล มุ่งกระทำต่อเป้าหมายทางทหาร การเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา โดยใช้กำลังหน่วยรบพิเศษล้วนๆ หรือปฏิบัติการร่วมกับกำลังประชาชนในท้องถิ่น รวมทั้งปฏิบัติการร่วมกับมิตรประเทศในดินแดนภายนอกประเทศ”[1]
        ส่วนในเว็บ wisegeek ได้ให้ความหมายไว้ว่า Unconventional warfare is a form of warfare which is based on the idea that it is possible to destabilize an enemy so much that it concedes even if it has the ability to continue making war. Rather than relying on the brute force tactics of conventional warfare, unconventional warfare is based on using creative, innovative, and usually stealthy tactics so that the enemy never knows what to expect. This style of warfare is also called “nonconventional” or “asymmetrical” warfare, although when the enemy is using unconventional tactics, it is often referred to as “terrorism.” ซึ่งถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า “สงครามนอกแบบเป็นสงครามที่ตั้งอยู่บนแนวคิดที่ต้องการทำลายเสถียรภาพของข้าศึกในการดำเนินสงคราม โดยไม่ใช่กำลังขนาดใหญ่เข้าทำการรบในลักษณะของสงครามตามแบบ สงครามนอกแบบจึงเป็นสงครามที่ตั้งอยู่บน แนวคิดที่ริเริ่ม นวัตกรรม และใช้ยุทธวิธีที่ปกปิดคาดไม่ถึง ซึ่งรูปแบบของสงครามในลักษณะนี้มักจะมีชื่อเรียกว่า สงครามไม่ตามแบบ หรือ สงครามอสมมาตร และถ้าฝ่ายตรงข้ามนำยุทธวิธีสงครามนอกแบบมาใช้กับฝ่ายเรา ก็จะถูกขนานนามว่า การก่อการร้าย” [2]

        สำหรับสารานุกรมออนไลน์ [3] ได้กล่าวถึงความหมายของสงครามนอกแบบไว้ดังนี้ “UW as a broad spectrum of military and paramilitary operations, normally of long duration, predominantly conducted through, with, or by indigenous or surrogate forces who are organized, trained, equipped, supported, and directed in varying degrees by an external source. It includes, but is not limited to, guerrilla warfare, subversion, sabotage, intelligence activities, and unconventional assisted recovery. Organization varies by culture and type of conflict.” ซึ่งถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า“สงครามนอกแบบเป็นการปฎิบัติการทางทหารร่วมกันระหว่างทหารประจำการกับกองกำลังกึ่งทหาร ทั่วไปแล้วจะเป็นการปฏิบัติที่ยืดเยื้อยาวนาน ซึ่งกองกำลังเหล่านี้จะมีโครงสร้างการจัด ได้รับการฝึก และมียุทโธปรกรณ์ โดยมีการควบคุมจัดการของจากภายนอกประเทศ สงครามนอกแบบจะไม่จำกัดที่ สงครามกองโจร การบ่อนทำลาย การก่อวินาศกรรม ดำเนินการด้านการข่าว และการฟื้นฟูภายใต้สภาวะพิเศษ โดยมีโครงสร้างการจัดของกองกำลังจะมีลักษณะตาม วัฒนธรรม และรูปแบบของความขัดแย้ง”
จากคำจำกัดความที่กล่าวมาในข้างต้นสามารถกล่าวได้ว่า “สงครามนอกแบบคือการปฏิบัติการทางทหารต่อข้าศึกหรือเป้าหมาย โดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามแบบแผน หรือ ธรรมเนียมปฏิบัติ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางทหารที่ต้องการ” โดยการปฏิบัติการสงครามนอกแบบ [4][5] จะประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญต่างๆ ดังนี้
        2.1 สงครามกองโจร เป็นการปฏิบัติการทางทหารและกึ่งทหาร โดยใช้กำลังรบนอกแบบ กำลังประชาชนในดินแดนที่ฝ่ายตรงข้ามยึดครอง หรือในดินแดนของฝ่ายตรงข้าม มีทหารหน่วยรบพิเศษเป็นผู้กำกับดูแลและให้คำแนะนำ สำหรับสงครามกองโจรนั้นถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติการทางทหารโดยเปิดเผยของกลุ่มก่อความไม่สงบ หรือขบวนการต่อต้านติดอาวุธ ภารกิจที่มอบให้กองโจรทำได้แก่ การซุ่มโจมตี การวางกับระเบิด และการลอบสังหาร โดยกำลังรบของกลุ่มต่อต้านที่ผ่านกระบวนการจัดตั้งแล้วสามารถปฏิบัติการทางทหารในลักษณะที่กล่าวมาได้โดยกำลังของตนเองเพียงลำพัง ส่วนใหญ่แล้วลักษณะของการปฏิบัติการจะเป็น การขัดขวางเส้นทาง การรบกวนการติดต่อสื่อสาร และขัดขวางการซ่อมบำรุงของฝ่ายข้าศึกด้วยการวางทุ่นระเบิด กับระเบิด นอกจากนี้กองโจรอาจถูกใช้ในการรวบรวมข่าวสารอีกด้วย
        2.2 การปฏิบัติการรวบรวมข่าวสาร-ข่าวกรอง เพื่อรวบรวมและรายงานข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับขีดความสามารถ เป้าหมาย และการดำเนินการของรัฐบาลหรือพลังอำนาจรัฐที่ยึดครองรวมทั้งอิทธิพลของผู้อุปถัมภ์ภายนอก การปฏิบัติการรวบรวมข่าวกรอง หมายรวมถึงการปฏิบัติการรวบรวมข่าวสารของแหล่งข่าวระดับผู้ปฏิบัติ ทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ
        2.3 การบ่อนทำลาย เป็นงานที่ดำเนินการทำลายความเข้มแข็งของกำลังอำนาจของชาติ ด้านการทหาร เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และการเมืองของชาตินั้นๆ กลุ่มต่อต้านจะสนับสนุนการดำเนินงานบ่อนทำลายด้วยการปฏิบัติการลับ พวกใต้ดินจะเป็นผู้ปฏิบัติงานนี้เป็นส่วนใหญ่ หน่วยรบพิเศษที่เป็นผู้ฝึกกลุ่มต่อต้านอาจกำหนดให้กลุ่มต่อต้านการบ่อนทำลายเป็นพื้นที่ เป็นเขตหรือเฉพาะจุดก็ได้
        2.4 การก่อวินาศกรรม เป็นการปฏิบัติเพื่อทำให้เกิดอันตรายหรือขัดขวางการป้องกันรัฐหรือประเทศหนึ่งๆ ด้วยการก่อให้เกิดความเสียหายและการทำลายล้างอย่างจงใจ ต่อเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยการก่อวินาศกรรมอาจเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพและส่งผลกระทบมากที่สุด และยังเป็นวิธีการที่เข้าปฏิบัติต่อเป้าหมายเดียวที่พ้นขีดความสามารถของระบบอาวุธตามแบบ การก่อวินาศกรรมสามารถกระทำได้ด้วย การใช้ เพลิง ระเบิด เครื่องมือกล และ การก่อวินาศกรรมทางธุรการซึ่งมุ่งลดทอนประสิทธิภาพของระบบการทำงานใดๆของฝ่ายตรงข้าม
        2.5 การเล็ดลอด-หลบหนี เป็นการปฏิบัติการทางทหารเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ทางทหารและบุคคลพลเรือนทั่วไปที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว โดยทำการเคลื่อนย้ายออกจากดินแดนที่ถูกข้าศึกยึดครองหรือพื้นที่วิกฤต พื้นที่ล่อแหลม หรือพื้นที่ขัดแย้ง ไปยังพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายเรา
        2.6 การปฏิบัติการลับ จากกระแสโลกในปัจจุบัน การจัดระเบียบโลกใหม่และยุคแห่งข้อมูลข่าวสารทำให้การดำเนินการสงครามนอกแบบ ด้วยการใช้สงครามกองโจรเต็มรูปแบบอาจไม่สามารถดำเนินการได้สะดวกนัก โดยกลุ่มต่อต้านจำเป็นต้องปรับรูปแบบมาเป็นการปฏิบัติในลักษณะของการปฏิบัติ การลับแทน โดยการปฏิบัติการลับมุ่งเน้นการปกปิดการปฏิบัติการมากกว่าการปกปิดผู้ อุปถัมภ์ อาจปรากฏในลักษณะของการจารกรรม การรวบรวมข่าวสารทางลับ เป็นต้น
        2.7 การปฏิบัติการปกปิด เป็นการปฏิบัติการทั้งทางทหารและการเมืองซึ่งประเทศผู้อุปถัมภ์จะไม่แสดงตนรับผิดชอบใดๆ ต่อการปฏิบัติการในลักษณะนี้ เช่น การก่อวินาศกรรม การโฆษณาชวนเชื่อประเภทสีดำ การใช้ความรุนแรง มีการปฏิบัติการในหลายรูปแบบทั้ง การจารกรรม การสงครามจิตวิทยา การลักพาตัว การโจมตีด้วยหน่วยปฏิบัติการพิเศษ เป็นต้น
        ณ วันนี้กิจกรรมต่างๆ ในการดำเนินสงครามนอกแบบได้มีพัฒนาการ และมีรูปแบบที่เป็นพลวัตรเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ในอนาคตอันใกล้ การดำเนินสงครามนอกแบบคงจะมีรูปแบบในการดำเนินการที่สลับซับซ้อนมายิ่งขึ้น ซึ่งนักวิชาการด้านความมั่นคงจะต้องให้ความสนใจ และติดตามศึกษาอย่างต่อเนื่อง

3. แนวทางในการดำเนินสงครามนอกแบบยุคหลังสงครามเย็น

        การยุติลงของสงครามเย็นไม่เพียงแต่เป็นการสิ้นสุดแนวคิดในเรื่องของยุทธศาสตร์ป้องปราม (Deterrence Strategy) ที่แต่ละฝ่ายต่างสะสมอาวุธนิวเคลียร์จนสามารถกล่าวได้ว่า อาวุธนิวเคลียร์ที่แต่ละค่ายสะสมนั้นสามารถทำลายล้างโลกได้ทั้งใบ อย่างไรก็ตามการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นนั้นไม่ได้นำมาซึ่ง สันติภาพและเสถียรภาพของโลกใบนี้ เพราะความสลับซ้อนที่เกิดขึ้นใหม่จากกระแสโลกาภิวัตน์และ นวัตกรรรมต่างๆ ที่ทำให้เกิดภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ ที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินการต่างๆ ของแต่ละประเทศเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติตน และที่สำคัญแนวความคิดที่จะแทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่นโดยประเทศหรือกลุ่มบุคคล ยังคงมีอยู่ ดังนั้นสงครามนอกแบบจึงกลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการแทรกแซงกิจการประเทศอื่นๆ ที่ยังคงมีการใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่รูปแบบ วิธีการ และวิธีคิดได้มีกระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนไป สามารถอธิบายได้ดังรูปที่ 1 และมีราละเอียดดังต่อไปนี้
 

ภาพที่ 1 กรอบแนวคิดและรูปแบบของการดำเนินสงครามนอกแบบที่เปลี่ยนแปลง
        • ผู้อุปถัมภ์ – มีทิศทางจากตัวแสดงที่เป็นรัฐไปสู่ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (State Sponsor to Non-state Sponsor) : ในอดีตการทำสงครามนอกแบบจะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องอาศัยประเทศที่เป็น ผู้อุปถัมภ์ที่คอยให้การสนับสนุน ช่วยเหลือทั้งด้านการเงิน อาวุธยุทโธปกรณ์ การฝึกกองโจร และ สนับสนุนด้านอื่นๆ แต่สำหรับการทำสงครามนอกแบบในปัจจุบันมีแนวโน้มและทิศทางที่เปลี่ยนไปเป็น กลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่อุปถัมภ์ กลุ่มบุคคลเหล่านี้มีทั้งเป็นองค์กรเปิดเผยและองค์กรลับ และที่สำคัญกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะมีงบประมาณ มีรายได้เป็นของตนเอง ซึ่งรายได้เหล่านี้จะมีทั้งรายได้ที่ปรากฏให้ตรวจสอบได้ กับ รายได้ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้เนื่องจากเป็นรายได้ที่เกิดจากการฟอกเงินและ การทำอาชญากรรมต่างๆ เพราะฉะนั้นเมื่อกลุ่มผู้อุปถัมภ์ไม่ได้เป็นรัฐแล้ว ย่อมจะทำให้การทำสงครามนอกแบบมุ่งไปสู่การตอบสนองผลประโยชน์ของกลุ่มกลุ่ม ผู้อุปถัมภ์มากกว่าผลประโยชน์ของรัฐผู้อุปถัมภ์ดังที่มีในอดีต

        • การจัดองค์กร – มีทิศทางจากองค์กรตามลำดับขั้นไปสู่องค์กรแบนราบ (Hierarchy Organization to Flat Organization) : การจัดองค์กรในยุคสงครามเย็นนั้น องค์กรสำหรับการก่อความไม่สงบจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนได้แก่ พรรค กำลังติดอาวุธ และ องค์กรมวลชน โดยแต่ละองค์ประกอบจะมีโครงสร้างภายในที่มีลักษณะเป็นลำดับขั้น (hierarchy) การดำเนินการต่างๆ มักจะมีทิศทางและนโยบายที่มีลักษณะจากบนลงสู่ล่าง (Top Down) จากนั้นกำลังติดอาวุธจะแยกกันไปปฏิบัติการตามนโยบายถึงแม้จะแยกย้ายกันไปปฏิบัติแต่การดำเนินการต่างๆ ยังมีลักษณะของโครงสร้างที่เป็นลำดับขั้นอยู่ องค์กรในลักษณะนี้มักจะถูกเปรียบเทียบให้เป็น แมลงมุมที่เครือข่ายอำนาจในลักษณะศูนย์กลาง [6] ในขณะที่แนวโน้มและทิศทางของการดำเนินสงครามนอกแบบในยุคหลังสงครามเย็นนั้น การปฏิบัติการต่าง ๆ จะมีขอบเขตโครงร่างขององค์กรที่ไม่ชัดเจน มีการทำงานในลักษณะเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งบางครั้งปฏิบัติการต่างๆ กลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มจะมีอิสระในการปฏิบัติการต่างๆ เอง บางครั้งกลุ่มแต่ละกลุ่มก็ไม่ได้มีการสื่อสารกัน และมีอิสระต่อกัน ทำให้ความสลับซับซ้อนขององค์กรมีมากยิ่งขึ้นจนสามารถกล่าวได้ว่าควบคุมได้ยาก และเมื่อเริ่มดำเนินสงครามกองโจรไปแล้ว จะหยุดการดำเนินการต่างๆ ได้อย่างไร องค์กรในลักษณะนี้มักจะถูกเปรียบเทียบให้เป็น ปลาดาวที่มีเครือข่ายอำนาจกระจายอำนาจ เพราะถูกตัดออกเป็นส่วนแล้วแต่ละส่วนสามารถงอกกลับมาใหม่ได้ [7]
        • อาวุธยุทโธปกรณ์ – มีทิศทางจากการใช้เทคโนโลยีต่ำไปสู่เทคโนโลยีสูง (Low Technologies to High Technologies) : ในอดีตช่วงสงครามเย็นนั้นการดำเนินสงครามนอกแบบจะมุ่งเน้นไปในเรื่องของการใช้สงครามกองโจร โดยปฏิบัติการในลักษณะจรยุทธ์ ด้วยกำลังกลุ่มต่อต้านขนาดเล็ก ทำให้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ไม่ได้มีความสลับซับซ้อน เนื่องจากเทคโนโลยีในขณะนั้นยังไม่ได้มีพัฒนาการอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ปัจจุบันด้วยนวัตกรรมต่างๆ ส่งผลให้เกิดระบบอาวุธยุโธกรณ์ที่มีความทันสมัยและมีขนาดเล็ก ทำให้กลุ่มต่อต้านกำลังติดอาวุธ สามารถพกพา เคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก มีขนาดเบา และที่สำคัญมีความทันสมัย สามารถเชื่อมโยงกับระบบอาวุธอื่นๆ ได้ทำให้การปฏิบัติการของกลุ่มต่อต้านต่างๆ ปฏิบัติการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และประเด็นที่สำคัญที่จะต้องคำนึงถึงในปัจจุบันคือ อำนาจในการทำลายล้างที่รุนแรงสร้างความเสียหาย ต่อชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างหนัก และเป็นบริเวณกว้าง อย่างเช่น อาวุธทำลายล้างสูง (Weapon of Mass Destruction : WMD) ที่สามารถขนย้ายได้ด้วยคนเพียงคนเดียวในลักษณะที่ปกปิดซ่อนเร้นได้ หรือการใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพการปฏิบัติการที่มีความรุนแรง แล้วนำภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวไปเผยแพร่ในที่สาธารณะในทันที อย่างเช่น อินเตอร์เน็ตเพื่อขยายผลการปฏิบัติหรือ สร้างความหวาดกลัว
        • การปฏิบัติทางยุทธวิธี – มีทิศทางจากสงครามกองโจรไปสู่สงครามพันทาง (Guerrilla Warfare to Hybrid Warfare): การดำเนินสงครามนอกแบบในยุคสงครามเย็นนั้นกองกำลังติดอาวุธหรือกลุ่มต่อต้าน ที่สร้างขึ้นโดยประเทศผู้อุปถัมถ์ จะเป็นกำลังหลักในการปฏิบัติการทางยุทธวิธี ที่มุ่งปฏิบัติการโดยใช้กำลังคนน้อย เข้ากระทำในลักษณะของการตีโฉบฉวย การซุ่มโจม และการก่อวินาศกรรม เป็นหลัก แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มต่อต้านจะเข้าปฏิบัติการร่วมหรือสนับสนุนให้ กับกำลังทหารตามแบบ อย่างเช่น ในสงครามเวียดนามที่ฝ่ายเวียดนามเหนือ ได้ใช้การผสมผสานการปฏิบัติการทางทหารระหว่าง กองทัพเวียดนามเหนือและเวียดกง โดยการปฏิบัติทางทหารจะมีการแบ่งแยกเขตความรับผิดชอบหรือพื้นที่ปฏิบัติการ (Operation Area) กันอย่างชัดเจน การใช้กลุ่มต่อต้านลักษณะนี้จะเรียกว่า สงครามผสม (Compound War) [7] แต่ในยุคหลังสงครามเย็นกลุ่มต่อต้านจะถูกใช้เป็นสงครามที่มีการผสมผสานกำลัง ตามแบบและกำลังนอกแบบปฏิบัติการทางทหารร่วมกันอย่างแยกไม่ออก ตัวอย่างเช่น สงครามระหว่างอิสราเอล-เลบานอน พ.ศ. 2549 (The Second Lebanon War: 2006) ที่มีการปฏิบัติการทางทหารอย่างเด่นชัดของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธที่เป็นตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (Non-State Actor) ที่มีความขัดแย้งกับรัฐคืออิสลาเอลโดยตรง การใช้กลุ่มต่อต้านลักษณะนี้จะเรียกว่า สงครามพันทาง (Hybrid War) [8]
        • การอุดมการณ์ในการต่อสู้ – มีทิศทางจากอุดมการณ์ทางการเมืองไปสู่อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และศาสนา (Political Ideology to Identity, Culture, and Religion) : การดำเนินสงครามนอกแบบในยุคสงครามเย็นนั้นสิ่งสำคัญในส่วนของกองกำลังติดอาวุธ เช่น กำลังกลุ่มต่อต้านหรือ กองโจร จะใช้แนวความคิดในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลาและหล่อหลอมให้ต่อสู้ เสียสละ และ ทำทุกอย่างเพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งในขณะนั้นจะมีแนวคิดสำคัญอยู่ 2 ค่ายคือ อุดมการณ์ประชาธิปไตย กับ คอมมิวนิสต์ ต่อมาอุดมการณ์ที่ใช้ในหล่อหลอมการต่อสู้ด้วยสงครามกองโจรจะมีทิศทางที่เปลี่ยนจากอุดมการณ์ทางการเมืองไปสู่ การใช้แนวคิดในเรื่องของ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และศาสนา ถูกยกมาเป็นสาเหตุหลักในการต่อสู้ เพราะไม่ต้องการให้อัตลักษณ์ วัฒนธรรม หรือศาสนา ในกลุ่มของตน ดังจะเห็นได้จากการ การเผชิญหน้าของการสู้รบในบริเวณตะวันออกกลางที่มีการใช้สงครามนอกแบบ และใช้อุดมการณ์ในการต่อสู้กันด้วย อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และศาสนา อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายว่าความทิศทางใหม่ของอุดมการณ์ในการดำเนินสงครามนอกแบบจะส่งผลให้การใช้อุดมการณ์ทางการเมือง เพื่อดำเนินสงครามนอกแบบจะหายไป
        • การหล่อหลอมอุดมการณ์และสร้างแนวร่วม – มีทิศทางจากการปฏิบัติการจิตวิทยาไปสู่ปฏิบัติการข่าวสาร (Psychological Operations to Information Operations): ในยุคสงครามเย็นการดำเนินสงครามนอกแบบจะใช้การปฏิบัติการจิตวิทยา (Psychological Operations : PSYOP) เป็นเครื่องมือหลักที่สำคัญในการโน้มน้าว หล่อหลอมอุดมการณ์ และสร้างมวลชนให้หันมาสนับสนุนการปฏิบัติต่างๆ ของกลุ่มต่อต้าน ต่อมาในยุคหลังสงครามเย็น นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อสังคมของมนุษย์ทุกแห่งบนโลก การสื่อสารระหว่างมนุษย์กับมนุษย์บนโลกสามารถกระทำได้อย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้เกิดแนวคิดในการสื่อสารข้อมูลเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติพรรม และสร้างความเชื่อต่างๆ รวมถึงการจัดการเกี่ยวกับการรับรู้ต่างๆ (Perception Management) ที่เรียกว่า ปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations : IO) โดยการปฏิบัติการข่าวสารจะมีการใช้การรณรงค์ทางสารเทศ (Information Campaign) เพื่อใช้สนับสนุนการปฏิบัติการต่างๆ ปัจจุบันปฏิบัติการจิตวิทยา ถูกจัดให้เป็นสาขาหนึ่งของการปฏิบัติการข่าวสาร และการปฏิบัติการข่าวสารมีขอบข่ายในการปฏิบัติที่กว้างไกล และเป็นกิจกรรมที่มีความสอดคล้องกับทางพลเรือนคือ การสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ (Integrated Marketing communication : IMC) ที่ใช้ในภาคธุรกิจ สำหรับการดำเนินสงครามนอกแบบในปัจจุบันได้ใช้การปฏิบัติการข่าวสารเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินการ

4. บทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะ
        จากที่กล่าวมาในข้างต้นจะพบว่าแนวคิดในการดำเนินสงครามนอกแบบ มีทิศทางที่ขยับออกไปจากกระบวนทัศน์เดิมที่เคยปฏิบัติกันมาในช่วงยุคสงครามเย็น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งนั้นมากจากบริบทที่เปลี่ยนไปภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และนวัตกรรมการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการที่กองทัพในฐานะที่เป็นหน่วยงานความมั่นคงที่มีภารกิจเกี่ยวข้องโดยตรงกับ สงครามนอกแบบ กองทัพจึงมีความจำเป็นต้องศึกษา ปรับเปลี่ยน และพัฒนากิจกรรมต่างให้สามารถรองรับกับภารกิจที่จะต้องปฏิบัติในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมิติที่สำคัญที่กองทัพต้องพิจารณามีดังต่อไปนี้
        4.1 โครงสร้างที่เหมาะสม : เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพในการเผชิญกับสงครามนอกแบบ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างขงสงครามนอกแบบ และรวมไปถึงหน่วยต่างๆ ที่มีเกี่ยวข้องกับกิจการสงครามนอกแบบทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ควรจะมีการวิจัยเพื่อหาแนวทางในการจัดหน่วยที่เหมาะสมสำหรับการรับมือกับ สงครามนอกแบบที่จะเกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เพราะการโครงสร้างการจัดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อาจจะมีขีดความสามารถไม่ตรงกับบริบทที่เปลี่ยนไปของสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน
        4.2 ใช้องค์ความรู้อย่างสูงสุด : การพัฒนาแนวคิดในการทำสงครามนอกแบบ และการปฏิบัติการทางทหารต่างๆ ต้องมีการประยุกต์ใช้ความรู้ในด้านต่างๆ เข้ามาเป็นหลักสำคัญในการดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำหลักนิยมที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมของสงครามนอกแบบ ควรจะมีความสอดคล้องกับบริบทของกองทัพไทย และภัยคุกคามจริง มากกว่าที่จะทำการแปลมาจากหลักนิยมต่างประเทศ นอกจากนี้กองทัพควรที่จะเชื่อมโยงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ทั้งภายในของกองทัพ และความรู้จากหลักวิชาการภายนอก เพื่อให้เกิดการเข้าใจปัญหาในลักษณะขององค์รวม (Holistic) และมีการใช้ความรู้ที่เป็นสหวิทยาการ (Multidisciplinary) เข้ามาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการปฏิบัติงาน มากกว่ายึดมั่นในความรู้ของทหารแต่เพียงฝ่ายเดียว
        4.3 กำลังพลมีคุณภาพ : สิ่งที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งนั้นได้แก่ การมีกำลังพลที่มีคุณภาพ มีขีดความสามารถ และความชำนาญในด้านต่างๆ หลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำลังพลในหน่วยที่เกี่ยวพันกับสงครามนอแบบอย่างเช่น หน่วยรบพิเศษ ที่ต้องมีกำลังพลที่มีความแข็งแรง เชี่ยวชาญในหน้าที่ และ มีความสามารถรอบตัว เพราะแนวโน้มในการปฏิบัติการในอนาคต หน่วยทหารที่เข้าปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจะมีขนาดเล็ก ใช้ทหารจำนวนไม่มาก ทำให้กำลังจะต้องมีความเชี่ยวชาญในหลายๆ ด้าน และต้องปฏิบัติงานร่วมกันในลักษณะเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
        4.4 ระบบอาวุธและเทคโนโลยีทันสมัย : การมีระบบอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยคงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่าง ที่เลี่ยงไม่ได้ เพราะระบบอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะช่วยให้การปฏิบัติการ ต่างๆ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างหลายเท่าตัว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ การปฏิบัติการของทหารในอนาคตจะมีแนวโน้มที่จะใช้ทหารขนาดเล็กที่มีความ สามารถสูงการมีระบบอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะช่วยสนับสนุนให้ การปฏิบัติภารกิจลุล่วงไปได้ด้วยดี มีการสูญเสียน้อย และมีความได้เปรียบฝ่ายตรงข้ามที่ไม่มีระบบอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ ทันสมัย
        4.5 เครือข่ายดีมีประสิทธิภาพ : การปฏิบัติการของกองทัพในปัจจุบันนั้นไม่เหมือนในอดีตที่เวลาปฏิบัติงานกองทัพจะเป็นหลักผู้เดียวในการปฏิบัตินั้นๆ แต่ในบริบทปัจจุบันนั้นกองทัพไม่ใช่เป็นหน่วยงานเดียว แต่ต้องปฏิบัติงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐอื่นๆ หรือ ภาคเอกชน หรือ ภาคประชาสังคม ดังนั้นหากกองทัพมีการพัฒนาเครือข่ายที่ดีแล้ว ย่อมจะส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมของสงครามนอกแบบ และการปฏิบัติการทางทหารอื่นๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
5. สรุป
        สงครามนอกแบบเป็นรูปแบบหนึ่งของการดำเนินสงคราม และถ้าจะว่ากันไปแล้วประเทศไทยนั้นเผชิญกับสงครามนอกแบบกันมานานและเผชิญกับสงครามนอกแบบมากกว่าสงครามตามแบบ เพราะสงครามตามแบบครั้งสุดท้ายที่ประเทศไทยได้เข้าปฏิบัตินั้นคงเป็นสงครามมหาเอเชียบูรพา และหลังจากนั้นประเทศไทยก็ต้องเผชิญกับสงครามนอกแบบมาเป็นเวลายาวนาน ร่วมๆ 40 ปี ในอนาคตอันใกล้ในทศวรรษนี้แนวโน้มของการเกิดสงครามขนาดใหญ่นั้นคงเป็นไปได้ยาก และภัยคุกคามสำคัญที่ประเทศไทยคงจะต้องเผชิญคือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และที่สำคัญในภัยคุกคามรูปแบบใหม่บางประเภทจะใช้เทคนิคและวิธีการของสงครามนอกแบบ มาดำเนินการ
        ปัจจุบันการดำเนินสงครามนอกแบบได้มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นทำให้รูปแบบมีการลักษณะที่เปลี่ยนไป คือ 1) ผู้อุปถัมภ์ – มีทิศทางจากตัวแสดงที่เป็นรัฐไปสู่ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ 2) การจัดองค์กร – มีทิศทางจากองค์กรตามลำดับขั้นไปสู่องค์กรแบนราบ 3) อาวุธยุทโธปกรณ์ – มีทิศทางจากการใช้เทคโนโลยีต่ำไปสู่เทคโนโลยีสูง 4) การปฏิบัติทางยุทธวิธี – มีทิศทางจากสงครามกองโจรไปสู่สงครามพันทาง 5) การอุดมการณ์ในการต่อสู้ – มีทิศทางจากอุดมการณ์ทางการเมืองไปสู่อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และศาสนา และ 6) การหล่อหลอมอุดมการณ์และสร้างแนวร่วม – มีทิศทางจากการปฏิบัติการจิตวิทยาไปสู่ปฏิบัติการข่าวสาร
        บริบทของการเปลี่ยนแปลงหลังจากสงครามเย็นยุติลง ประกอบกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ได้ส่งผลกระทบโดยภาพรวมต่อวิถีการดำเนินชีวิต วิธีคิด และ รูปแบบในการดำรงชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองได้ส่งผลให้การทำสงครามนอกแบบ นั้นมีกรอบแนวคิดและรูปแบบที่เปลี่ยนไป การดำเนินการต่างๆ ด้วยแนวคิดเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นเพราะไม่ชอบที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่รู้และไม่แสวงหาเรียนรู้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ส่งผลให้การปฏิบัติงานของกองทัพอาจจะมีประสิทธิภาพไม่ดีเท่าที่ควรนัก เพราะต้องยอมรับว่าพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก และเป็นการยากที่จะวิ่งตามให้ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่มีขนาดใหญ่อย่างเช่น กองทัพ เป็นต้น
        วันนี้ความชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ปรากฏชัดเจนมากขึ้น ทำให้เกิดคำถามในใจของทั้งคนที่เป็นทหารและไม่เป็นทหารว่า สิ่งที่กองทัพคิดและทำอยู่ในปัจจุบันนั้นมีประสิทธิภาพเพียงไร และจะมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ในการปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญยิ่งนั่นคือ การรักษาผลประโยชน์ของชาติ และรักษาความมั่นคงให้เกิดขึ้นในชาติ ซึ่งภาวะการเปลี่ยนแปลงจากกระแสต่างๆ นี้เองถือได้ว่าเป็นความท้าทายของกองทัพที่จะต้องเผชิญ แล้วกองทัพและกำลังพลในกองทัพทราบหรือไม่ว่าท่านกำลังเผชิญกับอะไร

วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บันทึกวีรกรรมที่ทำให้ เสด็จเตี่ย ทรงมีเรื่องบาดหมางใจกับรัชกาลที่ ๖


บันทึกของ น.ต.หลวงเจนจบสมุทร

          เรื่องราวต่อไปนี้เป็นเรื่องราวของนักเรียนนายเรือในอดีต ที่ได้สร้างวีรกรรม ๆ หนึ่งที่ทำให้ เสด็จเตี่ย ทรงมีเรื่องบาดหมางใจกับ ในหลวงรัชกาลที่ ๖ โดยได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือนาวิกศาสตร์ ฉบับเดือน กรกฎาคม ๒๕๑๐
          สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของบันทึกนี้คือ น.ต.หลวงเจนจบสมุทร (เจือ สหนาวิน) ได้บันทึกไว้ในปี พ.ศ.๒๔๘๕ (เหตุการณ์ที่บันทึกปี ๒๔๕๒ - ๒๔๕๓) แต่ผู้ที่นำมาเผยแพร่ คือ พล.ร.ต.สมุทร์ สหนาวิน (อดีต ผบ.ทร.) บุตรชาย โดยมีจุดประสงค์เพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริง และเฉลิมพระเกียรติแด่เสด็จในกรมฯ

พลเรือเอก สมุทร์ สหนาวิน

 ผบ.ทร. เมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ - ๓๐ กันยายน ๒๕๒๔ บุตรของผู้บันทึก



 บันทึกของ น.ต.หลวงเจนจบสมุทร

          เมื่อกำลังเป็นนักเรียนเล่าเรียนอยู่ในโรงเรียนนายเรือนี้ มีเรื่องเกี่ยวกับตัวฉันขึ้นเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรบันทึกไว้ให้ลูกหลานทราบเป็นประวัติส่วนตัว คือเวลานั้นกำลังเป็นนักเรียนชั้น ๓ ครบกำหนดถึงคราวที่โรงเรียนตัดฟอร์ม (เครื่องแบบ) ขาวและฟอร์มสีกากีให้คนหนึ่งอย่างละ ๓ สำรับ ฉันตัดได้แล้ว แต่เจ๊กตัดให้รุ่มร่ามไม่กระทัดรัดเป็นที่พอใจ พอถึงวันเสาร์โรงเรียนหยุดเรียน นักเรียนก็เตรียมตัวกลับบ้าน ถึงเวลาก็ปล่อยไปตามเคย พวกที่อยู่โรงเรียนใครมีธุระจะไปไหนก็ได้ ดูหนัง ดูละคร ฯลฯ ตามความพอใจ พอเวลา ๑๖ น. เศษ ฉันก็แต่งตัวหนีบฟอร์มข้ามฟากไปถึงท่าเตียน พบนักเรียนห้องสองชื่อตู้ เขาหนีบฟอร์มไปแก้ที่เจ๊กแห่งเดียวกัน จึงได้เดินชวนกันไป เพราะร้านเจ๊กอยู่ที่แถวสะพานข้างโรงสีนี่เอง
          ออกจากท่าเตียนเดินทางตามถนนระหว่างวัดโพธิ์กับกำแพงพระบรมมหาราชวัง แล้วผ่านสวนสราญรมย์ไปทางหน้าพลับพลาสูง จวนจะเลี้ยวเข้าถนนระหว่างกลาโหมกับวังสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (คือรัชกาลที่ ๖) คือที่กระทรวงการต่างประเทศเดี๋ยวนี้ จากกำแพงวังถึงต้นมะขามเป็นสนามหญ้า มีพวกมหาดเล็กของวังนี้ ประมาณทั้งเด็กและผู้ใหญ่สัก ๕๐-๖๐ คนได้ กำลังเล่นฟุตบอลกันอย่างเอิกเกริกเฮฮา ครื้นเครงกันอยู่อย่างสนุกสนาน พอฉันทั้งสองคนเดินผ่านคล้อยหมู่ที่กำลังเล่นอยู่ใกล้เข้ามาทางหัวเลี้ยวได้สักหน่อยก็ธงลง เพราะเป็นเวลาย่ำค่ำ แตรวงที่หน้ากระทรวงกลาโหมบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี (แต่ก่อนนี้ที่ป้อมเผด็จดัสกร มีเสาธง ชักธงมหาราชเสมอ) เอาธงลงฉันก็หยุดทำความเคารพ ในระหว่างที่กำลังบรรเลงเพลงอยู่นั้น เขาก็เลิกฟุตบอลเดินคุยกันมาเสียงขรมถมเถ (เพราะพวกเขาไม่ต้องเคารพธงชาติเหมือนราษฎรเดี๋ยวนี้) มาทางข้างหลัง เมื่อสุดเสียงแตรแล้ว ฉันเอามือลงแล้วก้าวขาออกเดินพร้อม ๆ กัน เขาเดินกระชั้นเข้ามาใกล้สัก ๑๐ วาได้ การที่เอามือลงและก้าวเท้าออกเดินนี้ เป็นหน้าที่ของทหาร ไม่ต้องทำการนัดหมายก็ทำพร้อมกันได้ และก็เหตุนี้แหละที่จะเกิดเป็นเรื่องใหญ่โต เดือดร้อนขึ้นถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ คือ เมื่อเอามือลงและก้าวเท้าออกเดินพร้อมกันนั้น เขาคงนึกชอบใจด้วยกำลังหนุ่มคะนองและลำพองว่าตนเป็นคนใหญ่คนโต ตามมติของเขาหรือมิฉะนั้นก็เหมือนเด็กที่เคยมีอำนาจอาจทำเกเรข่มเหงคนอื่นเล่นได้ตามชอบใจ ซึ่งพวกเราเคยพูดกันจนชินปากว่า
          "อ้ายนี่เล่นอวดดีราวกับเจ้า"
          เรียกว่าฝ่ายที่พูดเหลืออดเหลือทนเต็มที จึงได้ออกวาจาดังนี้ แล้วก็ออกกำลังเข้าหากัน ลงท้ายปากกินน้ำพริกไม่ได้ไปหลายวัน

 วังสราญรมย์

          เขานับ "หนึ่ง ๆ และ หนึ่งสอง" ฉันก็เหลียวไปดูตามเสียงที่ได้ยินนั้นอยู่ข้างหลังว่าเขานับฉันสองคนที่กำลังเดินพร้อมกันนี้ หรือเขานับอะไร ? ที่ไหน ? กันแน่ พอเหลียวไปก็พอดีเหมาะทีเดียวเขาอ้าปากจะนับอีก แต่เขาเห็นฉันเหลียวไปสบตาเข้า เขาก็หยุดไม่กล้านับแล้วก็หลบหน้าเข้าปนเปกับหมู่พรรคพวกของเขาทันที ระยะคนที่นับกับฉันเดินห่างกันสัก ๗ - ๘ วาเท่านั้น พอจะจำหน้ากันได้ถนัด ฉันก็เหลียวกลับมาพูดกับเพื่อนร่วมทางของฉันว่า "เขานับถูกกับเท้าของเราและฉันเหลียวไปมองดู เขาหลบหน้าฉัน" ในระหว่างที่พูดกันนี้ต่างก็ลดฝีเท้าลง คือก้าวสั้น ๆ ชลอให้เขาขึ้นมาทัน พอเขาขึ้นมาทัน ฉันก็หันไปถามขึ้นว่า เมื่อตะกี้นับอะไรกัน เจ้าเด็กคนนั้นไม่ยักตอบฉัน กลับหลบหน้าวูบวาบ เข้าไปปะปบกับพรรคพวกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหลบหน้าไม่ให้ฉันจำได้ว่าใครเป็นใครกันแน่ มีอีกคนอยู่ข้าง ๆ เขาเลยตอบฉันแทนคนนั้นว่า "เขานับอะไรต่ออะไรของเขาเล่นต่างหาก" ฉันก็ตอบว่า "ถ้าไม่ได้นับฉันแล้ว ฉันถามดี ๆ ก็ควรจะตอบฉันซี นี่ไม่ตอบฉันกลับหลบหน้าไปเสียอีก และเป็นเรื่องเกี่ยวข้องอะไรกับแกด้วยเล่า จึงได้มาพูดแก้ตัวแทนกันดังนี้"
         เขาทั้งหมดไม่มีใครกล้าตอบ ยังมีอีกคนหนึ่งซึ่งทราบภายหลังว่าเขาชื่อนายร่วม มีรูปร่างทั้งสูงทั้งใหญ่เดินตามมาห่าง ๆ ข้างหลัง เมื่อเขาเห็นพรรคพวกของเขา ต่างยืนจังงัง ไม่มีใครกล้าตอบคำพูดของฉัน เขาก็แหวกพรรคพวกของเขาเข้ามา เหมือนกับว่าเขาเป็นนักเลงโตหัวหน้าข่มหมู เดินแบะท่าอย่านักมวยตรงเข้ามาหาฉัน พร้อมทั้งพูดว่า "ฉันเอง ๆ" เมื่อเขาตรงเข้ามาพร้อมด้วยคำพูดและอาการเช่นนั้น ฉันก็ปล่อยฟอร์มที่ฉันหนีบลงกลางถนน หันมารับพร้อมกับเสือกหมัดไปพบกันอย่างจัง แล้วต่อไปก็เล่นมวยหมู่กลุ้มชุลมุนไม่รู้ว่าใครเป็นใครอย่างขนานใหญ่ ข้างหนึ่ง ๒ คน อีกข้างหนึ่ง ๕๐ - ๖๐ คน รวมกำลังกินหมู คือฉันสองคนเวลานั้นฉันนึกอะไรออกไม่ได้ นึกถึงได้แต่คาถา หนุมานคลุกฝุ่น ที่ครูอาจารย์สอนให้เท่านั้น แต่เมื่อชุลมุนกันหนักเข้าก็ลืมอีก รู้แต่ว่าเมื่อตัวถูกหมัดเซไปทางไหน ฉันก็ใช้หมัดซ้ายเหวี่ยงออกไปแล้วก็กวาดด้วยหมัดขวาเป็นระยะเป็นจังหวะมิได้หยุดหย่อนและก็ไม่เหน็ดเหนื่อยกลับเห็นเป็นของสนุกดี ต่อยกันได้อย่างจังเลย กระบี่(ที่เรียกว่ามีดเหน็บ) ที่ติดอยู่ที่บั้นเอว ก็รู้ตัวอยู่ว่ามีอยู่เหมือนกัน แต่ยังคงนึกว่า ไม่ถึงคราว เขาเล่นมือเปล่าเราก็ควรจะตอบด้วยมือเปล่าจึงจะควร แล้วก็มือไม่ว่างที่จะมาจับกระบี่ด้วย มันน่าขำและสนุกมาก
          เวลานั้นฉันแต่งยูนิฟอร์มขาว แต่ถูกขว้างปาด้วยก้อนอิฐข้างถนนจนตัวของฉันแดงเป็นอิฐ และเป็นจุด ๆ ไปเต็มตัว พวกคนเล็กเขาอยู่ห่าง ๆ แล้วเขาใช้ก้อนอิฐขว้างฉัน แต่ไม่ยักถูกศีรษะ เพราะมีหมวกที่ฉันใส่จนแน่นจึงไม่หลุด ถ้าหมวกหลุดฉันอาจหัวแตกได้ ถ้าหัวฉันแตก ฉันเห็นเลือดเข้าคงเดือดเป็นแน่ ตอนนี้เองกระบี่คงจออกจากฝักหั่นกันละ แต่เมื่อไม่ถึงระยะนั้น ใจฉันยังดีอยู่เป็นส่วนมาก มิได้หวาดหวั่น พรั่นพรึง กลัวเกรงแม้แต่น้อย จนตัวของฉันเองเซถลาเข้าไปจนถึงหน้าประตูวัง ซึ่งมียามพลทหารบกยืนถือปืนสวมดาบพร้อมระวังเหตุการณ์อยู่ที่ประตูนั้น พวกเขาเหล่านั้นได้ร้องบอกยามว่า "ยามแกต้องจับตัวไว้ ถ้าไม่จับแกผิดด้วย" ส่วนยามก็เงอะงะเป็นที่ตกใจตื่นเล็กน้อย และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร
          ตอนนี้เองฉันจึงมีเวลาเหลียวแลดูรอบ ๆ ตัว เห็นตัวเข้ามายืนถึงประตูวัง เห็นเขาล้อมฉันอยู่ห่าง ๆ เหมือนสังเวียนไก่ และเหลียวไปดูเพื่อนร่วมทางของฉัน เขาลงไปยืนอยู่ในท่อข้างถนนฝั่งข้างแบแรค (กลาโหม) และคนที่ล้อมเขาอยู่ห่าง ๆ โดยรอบก็มี และคนที่อยู่ใกล้ฉันที่สุด ก็คือยามทหารบกที่ยืนถือปืนสวมดาบปลายปืนพร้อมอยู่อย่างตกใจห่างจากฉันสัก ๒ - ๓ ศอกไม่ถึงดี ฉันจึงพูดขึ้นว่า "ยาม ! เธอก็เป็นทหาร ฉันก็เป็นทหาร ไม่ควรทำร้ายกันเอง และเราก็ไม่มีเหตุเกี่ยวข้องหมองใจกันด้วย แต่เมื่อเธอจะจับฉันให้ได้ ก็เท่ากับเธอไม่รักชีวิตของเธอเหมือนกัน" เวลาที่พูดนั้นมือซ้ายจับฝักกระบี่ขยับดังกรอกแกรกอยู่ แต่ในใจนั้นจับอยู่ที่ดาบปลายปืนของยามจะแย่งเอาดาบปลายปืนอันนั้น และประหารเขาให้ได้ ตาของฉันจับตาของเขา และระวังอากัปกิริยาทุกประการ
          เวลานั้นถ้าเขาขยับตัว หรือมีท่าทางบอกว่าเป็นพวกข้างโน้น ฟังเสียงข้างโน้นแม้แต่หน่อยหนึ่งแล้ว หรือขยับตัวด้วยประการใด ๆ ก็ตาม ฉันเป็นพุ่งตัวโถมเข้าใส่ยามทันที คราวนี้แหละเห็นจะถึงเลือดถึงชีวิตกันละ ฉันนึกในใจ แต่ก็เป็นอยู่อย่างหนักหนา ยามยืนถือปืนนิ่งเฉยเหมือนยักษ์วัดแจ้งยืนถือกระบองอยู่หน้าโบสถ์นั้น เห็นแต่ตากระพริบ ๆ ระวังตรงเฉยอยู่ ในระหว่างที่ฉันประจันหน้าอยู่กับยามดังกล่าวมานี้ มีทหารบกคนหนึ่งจะเป็นนายหรือพลทหารก็ไม่ทราบ เห็นจะได้ยืนดูมวนหมู่มานาน ตั้งแต่เกิดเหตุมาแล้วหรืออย่างไรไม่ทราบแน่เหมือนกัน เขาร้องตระโกนลงมาว่า "นายอย่าสู้เขาเลย เขามากกว่านายมากนัก กลับไปเสียเถิด" ฉันจึงได้คิดหันไปมองเห็นคนยืนบนหน้าต่าง กระทรวงกลาโหม จึงนึกดีใจที่เขาเป็นคนให้สติ ยกมือคำนับขอบใจเขา แล้วหันออกมาห่างจากยามประตูข้ามท่อน้ำหน้าวังมาเก็บเสื้อกางเกงที่ทำตกอยู่กลางถนน พร้อมทั้งบอกกับเพื่อนร่วมทาง นายตู้ เพื่อนคู่ยากของฉันว่า "เราจัดแจงไปกันเถิด" และเมื่อหนีบเสื้อกางเกงเข้ารักแร้แล้ว ฉันก็พูดขึ้นดัง ๆ ประกอบกับชี้มือไปทางสะพานข้างโรงสีว่า "ฉันจะไปทางนี้แหละ ถ้าใครรักชีวิตอยู่ก็จงหลีกไป ขืนขวางทางคราวนี้เป็นเห็นดีกันละ" พูดแล้วก็ออกเดินนำเพื่อนคู่ยากของฉันไป พวกนั้นที่ยืนเกลื่อนกลาด เขาไม่กล้าขวางฉัน เขาหลีกทางเป็นช่องให้ฉันสองคนเดินเคียงกันไปได้อย่างสบาย ห่างจากฉันสองคนข้างละสองวาได้ ผ่านพ้นพวกเขาไปแล้วจึงไปแก้เสื้อที่โรงเจ๊ก ขากลับโรงเรียนฉันสองคนไปทางอื่น กลับทางเก่ากลัวจะเกิดเรื่องอีก
          รุ่งขึ้นหน้าตาของฉันบวมอูมหลายแห่ง แต่ก็ไม่ได้เจ็บป่วยถึงกับนอนโรงพยาบาล เวลาเรียนก็เข้าห้องเรียน มีเพื่อนฝูงถามก็เล่าให้ฟังแล้วทำรายงานเสนอกัปตันตอน และนำเสนอขึ้นไปถึงผู้บังคับการโรงเรียน น.ต.หลวงพินิจจักรพันธ์ (ภายหลังเป็นพระยาสาครสงคราม สุริเยศ อมาตยกุล) เมื่อท่านทราบแล้วเกรงว่าจะเกิดเรื่องต่อไปอีก จึงเรียกฉันมาตักเตือนต่าง ๆ ฉันก็เรียนท่านว่า ตั้งใจมาเล่าเรียนมากกว่า ไม่ได้ตั้งใจจะมาเป็นคนเกะกะ ทำให้เป็นเรื่องร้อนใจผู้บังคับบัญชา และแล้วก็แล้วกันไป ไม่อาฆาตมาดร้ายอย่างใดต่อไปอีก เรื่องจึงระงับกันไปตอนหนึ่ง 

 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          ต่อมาประมาณ ๓ - ๔ เดือน ถึงคราวสอบไล่เลื่อนชั้นก็เลื่อนขึ้นชั้น ๔ เลยออกไปฝึกหัดที่ทะเลอยู่ทางโน้น ส่วนทางกรุงเทพ ฯ ก็เกิดเหตุเรื่องของฉันลุกแดงโชนขึ้นมาอีก คือพวกมหาดเล็กเหล่านั้น ได้ไปเที่ยวข่มเหงคนโน้นคนนี้มากต่อมากเห็นว่าจะเกิดเรื่องเสียหายถึงพวกเขาทั้งหมด และจะปิดความไว้ไม่ได้แล้ว จึงกราบทูลเรื่องของฉันขึ้นเพื่อเป็นการกลบเกลื่อนเรื่องอื่น ๆ หาว่านักเรียนนายเรือมาข่มเหงถึงหน้าวัง เป็นการรุกรานดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ว่ากันมากมายเป็นเรื่องใหญ่โต สมเด็จพระบรม ฯ ได้ทรงฟังเลยเอาว่าทหารเรือมาข่มเหงมหาดเล็กของพระองค์อย่างอุกอาจ แท้ที่จริงพระองค์ท่านไม่ถูกกับพระองค์อาภากรมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ไปทรงศึกษาที่เมืองนอกมาด้วยกัน ในกรมเคยทรงเล่าเรื่องให้ฟังมาบ้างแล้ว รุ่งขึ้นก็เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ขอให้ชำระลงโทษทหารเรืออย่างที่เคยกระทำมากับทหารบก (ก่อนหน้าเกิดเหตุเรื่องนี้ประมาณ ๕ - ๖ เดือน ได้เกิดเรื่องกับนายทหารบกขึ้นเรื่องหนึ่ง หาว่านายร้อยเอก โฉม ตีมหาดเล็กของพระองค์ด้วยแซ่ม้า เป็นการเหยียดหยามดูหมิ่นพระเดชยิ่งนัก ลงโทษถึงออกจากนายร้อยเอก แล้วเฆี่ยนหลังอีก ๓๐ ที นายโฉมผู้นี้ต่อมาภายหลัง เมื่อสมเด็จพระบรม ฯ ขึ้นเสวยราชย์เป็นรัชกาลที่ ๖ ได้เป็นผู้ปราบอ้ายเสือเปีย ผู้ร้ายสำคัญที่มีคนยำเกรงครั่นคร้ามมาก ตายที่จังหวัดสมุทรปราการ และจัดการปราบด้วยมือของตนเอง) 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้า

          เรื่องที่นายร้อยเอก โฉม ถูกถอดถูกเฆี่ยนนั้น ดังนี้ คือ นายร้อยเอก โฉม นั่งรถม้าเรียกว่ารถด๊อกการ์ดมาหยุดลงที่ข้างถนนข้างกลาโหมนั่นเอง เจ้าพวกนี้เป็นพวกที่ยกหัวเป็นกิ้งก่า แส่หาเรื่องอวดดี เดินมาเป็นกลุ่ม ๆ เป็นหมู่ พอประจวบกับนายร้อยเอกโฉมหยุดรถเข้า พวกนี้ก็กรากเข้าไปที่หน้าม้า จะจับลูบคลำม้าเล่นตามที่ใจคึกคะนอง ม้าก็ตกใจออกวิ่ง นายร้อยเอก โฉม จึงรั้งบังเหียนด้วยมือซ้าย และมือขวาที่ถือแซ่ม้าอยู่ก็หวดไปทางผู้ที่ยกมือลูบคลำม้า คงถูกปลายแซ่ม้าลงบ้าง พวกเขาจึงโกรธเก็บเนื้อความขึ้นกราบทูลสมเด็จพระบรมฯ ว่าทหารบกข่มเหง ส่วนตัวพวกเขาที่ทำให้ม้าตกใจพาทั้งรถทั้งคนวิ่งไปอย่างไม่เป็นท่าเป็นทางเขาไม่กล่าวถึง นี่แหละเป็นเรื่องที่ใครมีโอกาสฟ้องได้ก็ฟ้องเอา อย่างที่เรียกว่า "โทษคนอื่นเท่าเหาก็ยกขึ้นมากล่าวให้เหลือหลาย ส่วนโทษของตนเป็นต้นเหตุถึงจะโตเท่าภูเขาหรือเท่าช้างก็ปิดบังอำพรางไว้" ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงรับรายงานคำฟ้องของพ่อโต (ในหลวงเรียกสมเด็จพระบรมฯ) ไว้แล้ว ก็สั่งให้กรมวังเรียกหากรมหมื่นชุมพรฯ ไปเข้าเฝ้า 

เสด็จเตี่ย 

          ในกรมเมื่อได้ทราบว่ามีรับสั่งเรียกหาตัว และสืบทราบเรื่องที่ให้ไปเฝ้าตามเรื่องที่กล่าวมาแล้ว พระองค์ประทับที่โรงเรียนนายเรืออยู่แล้ว จึงทรงสอบถามถึงเรื่องราว ว่าใครรู้เห็นถึงเรื่องนี้บ้าง ทรงกริ้วหาว่าเมื่อมีเหตุเกิดเรื่องขึ้นแล้ว ทำไมจึงไม่บอกให้พระองค์ทรงทราบ สั่งหาตัวให้ได้  จะทำโทษไล่ออก บังเอิญนายอ่อง เป็นหัวหน้ากัปตันจำเรื่องได้ จึงกราบทูลว่าเรื่องนี้ได้ผ่านมาหลายเดือนแล้ว เจ้าทุกข์คือฉัน เมื่อเกิดเรื่องทำรายงานเสนอขึ้นมาแล้ว แต่รายงานจะไปตกอยู่ที่ใดไม่ทราบ ในกรมจึงสั่งให้ค้นหาเรื่องให้ได้ ถ้าไม่ได้จะลงโทษผู้บังคับบัญชาทุกคนทุกชั้น ตอนนี้ช่วยกันค้นหาหนังสือฉบับนั้นกันเป็นจ้าละหวั่นไปหมด ค้นไปค้นมาก็ไปพบรายงานฉบับนั้นนอนอยู่ในก้นลิ้นชักของผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ ในกรมสั่งขังผู้บังคับการทันที แต่นายทหารช่วยกันทูลขอโทษแก้ตัวไว้จึงรอดตัวไป เมื่อได้ทรงอ่านรายงานของฉันแล้ว ก็เก็บใส่กระเป๋า เสด็จข้ามฟากเลยไปเฝ้ากรมหลวงราชบุรีฯ ซึ่งเวลานั้นเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เอาเป็นพยานเอกแล้วเชิญชวนให้ไปเฝ้าพรุ่งนี้พร้อมกัน ณ ท้องพระโรงรับพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว ต่อมาวันรุ่งขึ้นก็ไปพบพร้อมกันยังที่หมาย พอในหลวงรัชกาลที่ ๕ เสด็จออกประทับเหลียวไปพบในกรมเข้าก็รับสั่งถามว่า "อาภา พ่อโต (หมายถึงสมเด็จพระบรมฯ )เขาฟ้องว่าทหารเรือมารังแกเด็กของเขาจริงหรือ" ในกรมถวายคำนับแล้วกราบบังคมว่า "ไม่จริง พวกมหาดเล็กของสมเด็จพระบรม ฯ รังแกนักเรียนนายเรือจึงจะถูก เพราะนักเรียนเพียง ๒ คนเท่านั้น ส่วนมหาดเล็กตั้ง ๕๐ - ๖๐ คน ใครจะข่มเหงใครแน่ กฎหมายที่ไหนก็ไม่มีใครเขาออก เป็นระเบียบแบบแผนว่า คนน้อยข่มเหงคนมาก ถ้าไม่เชื่อขอให้รับสั่งถามในกรมราชบุรีดู" ในหลวงทรงหันไปทางกรมหลวงราชบุรีฯ (เวลานั้นเป็นกรมหมื่น) ๆ ถวายคำนับกราบบังคมทูลว่า "จริงพระเจ้าข้า ทั่วโลกไม่มีกฎหมายว่าคนน้อยข่มเหงคนมาก มีแต่คนมากข่มเหงคนน้อย" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เลยหันพระพักตร์มาทางสมเด็จพระบรม ฯ แล้วรับสั่งว่า "พ่อโตก็ไม่ควรนำเอาเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้มากล่าวให้เป็นเรื่องเป็นราวเสียเวลา" แล้วก็เลยรับสั่งถึงเรื่องอื่น ๆ ต่อไป 
          เป็นอันว่าเรื่องของฉันจบลงกันที นี่แหละเป็นเรื่อง ๆ หนึ่งที่เขาล่ำลือกันนักว่า กรมหมื่นชุมพรฯ ท่านทรงรักลูกศิษย์ หรือช่วยเหลืออุ้มชูลูกน้องของท่านเสมอ มีผู้รู้เห็นเป็นพยานกันอยู่มาก แท้ที่จริงก็มีแง่ที่จะทรงช่วย มิใช่ว่าจะช่วยจนไม่มีเหตุผล ฉันเองก็หวุดหวิดจะถูกเฆี่ยนหลัง แล้วไล่ออกอยู่ลอมมะล่อเหมือนกัน นับว่าหลุดรอดพ้นไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ สาธุ ขอส่วนกุศลที่ฉันมีอยู่ จงตามสนองพระองค์ท่าน ทุกชาติทุกภพ ด้วยเถิด มิเช่นนั้นแล้วฉันจะต้องเสียคนตลอดชาติทีเดียว นี่เป็นความรอดตายของสกุล สหนาวิน ยังระลึกถึงพระกรุณาของเตี่ยอยู่เสมอ (สานุศิษย์ทุกคนเรียกพระองค์ท่านว่า ติ๊กเตี่ย) และแต่นั้นมาพระองค์ท่านก็ทรงรู้จัก จำชื่อจำหน้าได้ดี ตลอดจนได้เข้าใกล้ชิดหม่อมเจ้าลูก ๆ ของพระองค์ท่านทั้งหญิงทั้งชาย ได้อุ้มชูนำเที่ยวเล่นในบางเวลารอบ ๆ วัง ฯลฯ เพื่อนนักเรียนก็มีคนนับหน้าถือตากันขึ้นอีกมาก ลูกของในกรมมีท่าน อาทิตย์รังสุริยา ท่านขลัว ท่านบ๋วย ฯลฯ เหล่านี้ เมื่อกลับจากนอกแล้วฉันไม่ได้ไปหาท่าน เพราะฉันออกจากราชการแล้ว และอายุก็มาก ยอมตนเป็นคนแก่ หาใส่ปากใส่ท้องไปตามกำลัง ไม่อยากรบกวนพระองค์ชายลูกของนายหนุ่ม ๆ ที่กลับจากเมืองนอกให้มีเรื่องกังวลพระทัย ด้วยคนแก่เช่นตัวฉันนี้ ส่วนลูกเต้าของฉันถ้าเขามีปัญญา เขาก็คงหาที่พึ่งของเขาเอาใหม่ ๆ เหมาะ ๆ ตามอัธยาศัยพอใจของเขาต่อไป.