วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สงครามนอกแบบ – สงครามกองโจร – การทำสงครามตัวแทนในยุคหลังสงครามเย็น


Saving Private Ryan

         
                         หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นสงครามขนาดใหญ่ และสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับมวลมนุษยชาติได้ยุติลง สภาวะความขัดแย้งรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นมาทดแทน การทำสงครามด้วยกำลังทหารขนาดใหญ่ในรูปแบบเดิม ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่การทำสงครามตัวแทน (Proxy War) โดยการใช้สงครามนอกแบบ (Unconventional Warfare) หรือ สงครามกองโจร (Guerrilla Warfare) เพื่อสร้างและโน้มน้าวประเทศอื่นๆ มาเป็นแนวร่วมในอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งในขณะนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ค่ายใหญ่ได้แก่ อุดมการณ์ประชาธิปไตย และ อุดมการณ์คอมมิวนิสต์
        ตลอดระยะเวลาในห้วงของสงครามเย็นจึงปรากฏว่ามีการดำเนินสงครามในลักษณะของ การทำสงครามตัวแทน อย่างไม่หยุดหย่อน การทุ่มเททรัพยากรจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง วัสดุอุปกรณ์ หรือบุคคล ต่างถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ฝ่ายตนเองต้องการ จนในที่สุดนำมาซึ่งปัญหาทางด้านอื่นๆ และนำไปสู่การล่มสลายของฝ่ายที่ขาดการจัดการทรัพยากรที่ดี

        ต่อมาหลังจากสงครามเย็นได้ยุติลงในปลายศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมานั้น จะพบว่าความขัดแย้งและภัยคุกคามที่นำไปสู่สภาวะที่ไม่มั่นคงจะมีรูปแบบและลักษณะที่สลับซับซ้อนมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา และ มีแนวโน้มที่จะมีความสลับซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นการยากที่จะหาแนวทางที่ดีที่สุดมาใช้ในการแก้ไขสภาพปัญหาที่เผชิญอยู่ และที่สำคัญการดำเนินสงครามนอกแบบ ยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่นๆ ของประเทศที่มุ่งแต่รักษาผลประโยชน์ของชาติตนเป็นที่ตั้งมากกว่าการแสวงประโยชน์ร่วมกันเป็นชาติพันธมิตร
นอกจากนี้ความสลับซับซ้อนของสภาวะแวดล้อมโลกยังส่งผลให้เกิดความแตกต่างในลักษณะของปัจเจกนิยมมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการสื่อสารระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือบุคคลกับกลุ่มบุคคลสามารถกระทำได้โดยสะดวก ง่าย รวดเร็ว และตลอดเวลา สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงส่งผลให้เกิดการรวมตัวในลักษณะของกลุ่มต่างๆ ทั้งเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ตามความเชื่อหรือความชื่นชอบในสิ่งที่เหมือนกัน สิ่งที่ตามมาคือ การรวมตัวกันเรียกร้องหรือต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่กลุ่มตัวเองต้องการ และถ้าสถานการณ์เหล่านี้ถูกพัฒนาไปสู่การรวมตัวเพื่อเรียกร้องและต่อต้านอำนาจรัฐแล้ว การต่อสู้ในลักษณะของการใช้กองกำลังติดอาวุธ โดยในใช้ยุทธวิธีของสงครามนอกแบบ หรือ การทำสงครามกองโจร คงเป็นแนวทางหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการดำเนินการ
        ดังนั้นแม้สงครามเย็นจะยุติลง การปะทะกันอย่างรุนแรงของอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์จะอยู่ในระดับที่ลดลง โดยฝ่ายคอมมิวนิสต์อาจจะเพลี่ยงพล้ำ ทำให้กระแสหลักของโลกกลายเป็นกระแสของประชาธิปไตยไป ก็ไม่ได้หมายความว่าแนวคิดที่จะใช้สงครามนอกแบบหรือสงครามกองโจรจะหมดไป ในทำนองกลับกันสงครามนอกแบบกลับกับถูกพัฒนาขึ้นใหม่ ให้มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น มีรูปแบบในการดำเนินการที่แตกต่างจากเดิมมากขึ้น ทำให้การเผชิญกับสงครามนอกแบบ อาจจะไม่ได้เป็นการเผชิญหน้ากันในลักษณะของการรักษาผลประโยชน์ระหว่างรัฐต่อรัฐเท่านั้น การรักษาผลประโยชน์ระหว่างตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (Non-state Actors) กับรัฐ กลับกลายมาเป็นภัยคุกคามใหม่ที่รัฐต้องเผชิญ การศึกษาถึงความสลับซับซ้อนต่างๆ เหล่านี้จึงกลายมาเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับหน่วยงานด้านความมั่นคงอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

2. สงครามนอกแบบ
        การใช้กำลังทหารเข้าทำสงคราม นั้นถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสุดท้ายที่คณะผู้บริหารประเทศใช้ในแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามการที่ประเทศหนึ่งประเทศใดจะตัดสินใจทำสงครามกับประเทศอื่น เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ประเทศต่างๆ ล้วนแต่มีกลไกในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีความสลับซับซ้อน ประกอบกับนวัตกรรมและกระแสโลกาภิวัตน์ได้ส่งผลให้การสื่อสารและการเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนต่างๆ นั้นสามารถกระทำได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องตลอดเวลา ทำให้การแทรกแซง การตรวจสอบ หรือการเจรจาต่อรอง กระทำได้โดยง่าย อย่างไรก็ตามถึงแม้สงครามจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยากแต่ก็มิได้หมายว่าสงครามจะไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
        นอกจากนี้สงครามมีหลายรูปแบบจึงยากที่จะประเมินชัดเจนลงไปว่าประเทศชาติจะเผชิญกับสงครามแบบใด ปัจจุบันแนวโน้มที่จะเกิดสงครามตามแบบขนาดใหญ่นับวันจะลดน้อยลง ความน่าจะเป็นที่อาจจะเกิดขึ้นได้ก็คือการเกิดสงครามในความขัดแย้งระดับต่ำ เป็นสงครามที่มีลักษณะเป็นการรบเฉพาะแห่ง มีความมุ่งหมายเพื่อการต่อรองทางการเมืองหรือเงื่อนไขอื่น ฉะนั้นการเตรียมการเพื่อรองรับกับสภาวะการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ หน่วยงานด้านความมั่นคงจะต้องตระหนักถึง ซึ่งในอดีตนั้นประเทศไทยสามารถผ่านวิกฤตการสำคัญหลายครั้งด้วยการใช้แนวความคิดของ "ระบบการต่อสู้เบ็ดเสร็จ" (Total Defense) เพื่อให้สามารถต่อสู้กับภัยคุกคาม (Threats) ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามตามธรรมชาติหรือภัยคุกคามที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่าภัยนั้นจะเกิดขึ้นภายในประเทศหรือมาจากภายนอกก็ตาม
        สำหรับสงครามนอกแบบนั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการดำเนินสงคราม โดยคำนิยามที่ใช้กันในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก จะให้ความหมายไว้ว่า “สงครามนอกแบบ คือ การปฏิบัติการทางทหารและกึ่งทหาร ในดินแดนที่ข้าศึกยึดครองอยู่ หรือพื้นที่ที่ข้าศึกมีอิทธิพล มุ่งกระทำต่อเป้าหมายทางทหาร การเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา โดยใช้กำลังหน่วยรบพิเศษล้วนๆ หรือปฏิบัติการร่วมกับกำลังประชาชนในท้องถิ่น รวมทั้งปฏิบัติการร่วมกับมิตรประเทศในดินแดนภายนอกประเทศ”[1]
        ส่วนในเว็บ wisegeek ได้ให้ความหมายไว้ว่า Unconventional warfare is a form of warfare which is based on the idea that it is possible to destabilize an enemy so much that it concedes even if it has the ability to continue making war. Rather than relying on the brute force tactics of conventional warfare, unconventional warfare is based on using creative, innovative, and usually stealthy tactics so that the enemy never knows what to expect. This style of warfare is also called “nonconventional” or “asymmetrical” warfare, although when the enemy is using unconventional tactics, it is often referred to as “terrorism.” ซึ่งถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า “สงครามนอกแบบเป็นสงครามที่ตั้งอยู่บนแนวคิดที่ต้องการทำลายเสถียรภาพของข้าศึกในการดำเนินสงคราม โดยไม่ใช่กำลังขนาดใหญ่เข้าทำการรบในลักษณะของสงครามตามแบบ สงครามนอกแบบจึงเป็นสงครามที่ตั้งอยู่บน แนวคิดที่ริเริ่ม นวัตกรรม และใช้ยุทธวิธีที่ปกปิดคาดไม่ถึง ซึ่งรูปแบบของสงครามในลักษณะนี้มักจะมีชื่อเรียกว่า สงครามไม่ตามแบบ หรือ สงครามอสมมาตร และถ้าฝ่ายตรงข้ามนำยุทธวิธีสงครามนอกแบบมาใช้กับฝ่ายเรา ก็จะถูกขนานนามว่า การก่อการร้าย” [2]

        สำหรับสารานุกรมออนไลน์ [3] ได้กล่าวถึงความหมายของสงครามนอกแบบไว้ดังนี้ “UW as a broad spectrum of military and paramilitary operations, normally of long duration, predominantly conducted through, with, or by indigenous or surrogate forces who are organized, trained, equipped, supported, and directed in varying degrees by an external source. It includes, but is not limited to, guerrilla warfare, subversion, sabotage, intelligence activities, and unconventional assisted recovery. Organization varies by culture and type of conflict.” ซึ่งถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า“สงครามนอกแบบเป็นการปฎิบัติการทางทหารร่วมกันระหว่างทหารประจำการกับกองกำลังกึ่งทหาร ทั่วไปแล้วจะเป็นการปฏิบัติที่ยืดเยื้อยาวนาน ซึ่งกองกำลังเหล่านี้จะมีโครงสร้างการจัด ได้รับการฝึก และมียุทโธปรกรณ์ โดยมีการควบคุมจัดการของจากภายนอกประเทศ สงครามนอกแบบจะไม่จำกัดที่ สงครามกองโจร การบ่อนทำลาย การก่อวินาศกรรม ดำเนินการด้านการข่าว และการฟื้นฟูภายใต้สภาวะพิเศษ โดยมีโครงสร้างการจัดของกองกำลังจะมีลักษณะตาม วัฒนธรรม และรูปแบบของความขัดแย้ง”
จากคำจำกัดความที่กล่าวมาในข้างต้นสามารถกล่าวได้ว่า “สงครามนอกแบบคือการปฏิบัติการทางทหารต่อข้าศึกหรือเป้าหมาย โดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามแบบแผน หรือ ธรรมเนียมปฏิบัติ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางทหารที่ต้องการ” โดยการปฏิบัติการสงครามนอกแบบ [4][5] จะประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญต่างๆ ดังนี้
        2.1 สงครามกองโจร เป็นการปฏิบัติการทางทหารและกึ่งทหาร โดยใช้กำลังรบนอกแบบ กำลังประชาชนในดินแดนที่ฝ่ายตรงข้ามยึดครอง หรือในดินแดนของฝ่ายตรงข้าม มีทหารหน่วยรบพิเศษเป็นผู้กำกับดูแลและให้คำแนะนำ สำหรับสงครามกองโจรนั้นถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติการทางทหารโดยเปิดเผยของกลุ่มก่อความไม่สงบ หรือขบวนการต่อต้านติดอาวุธ ภารกิจที่มอบให้กองโจรทำได้แก่ การซุ่มโจมตี การวางกับระเบิด และการลอบสังหาร โดยกำลังรบของกลุ่มต่อต้านที่ผ่านกระบวนการจัดตั้งแล้วสามารถปฏิบัติการทางทหารในลักษณะที่กล่าวมาได้โดยกำลังของตนเองเพียงลำพัง ส่วนใหญ่แล้วลักษณะของการปฏิบัติการจะเป็น การขัดขวางเส้นทาง การรบกวนการติดต่อสื่อสาร และขัดขวางการซ่อมบำรุงของฝ่ายข้าศึกด้วยการวางทุ่นระเบิด กับระเบิด นอกจากนี้กองโจรอาจถูกใช้ในการรวบรวมข่าวสารอีกด้วย
        2.2 การปฏิบัติการรวบรวมข่าวสาร-ข่าวกรอง เพื่อรวบรวมและรายงานข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับขีดความสามารถ เป้าหมาย และการดำเนินการของรัฐบาลหรือพลังอำนาจรัฐที่ยึดครองรวมทั้งอิทธิพลของผู้อุปถัมภ์ภายนอก การปฏิบัติการรวบรวมข่าวกรอง หมายรวมถึงการปฏิบัติการรวบรวมข่าวสารของแหล่งข่าวระดับผู้ปฏิบัติ ทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ
        2.3 การบ่อนทำลาย เป็นงานที่ดำเนินการทำลายความเข้มแข็งของกำลังอำนาจของชาติ ด้านการทหาร เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และการเมืองของชาตินั้นๆ กลุ่มต่อต้านจะสนับสนุนการดำเนินงานบ่อนทำลายด้วยการปฏิบัติการลับ พวกใต้ดินจะเป็นผู้ปฏิบัติงานนี้เป็นส่วนใหญ่ หน่วยรบพิเศษที่เป็นผู้ฝึกกลุ่มต่อต้านอาจกำหนดให้กลุ่มต่อต้านการบ่อนทำลายเป็นพื้นที่ เป็นเขตหรือเฉพาะจุดก็ได้
        2.4 การก่อวินาศกรรม เป็นการปฏิบัติเพื่อทำให้เกิดอันตรายหรือขัดขวางการป้องกันรัฐหรือประเทศหนึ่งๆ ด้วยการก่อให้เกิดความเสียหายและการทำลายล้างอย่างจงใจ ต่อเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยการก่อวินาศกรรมอาจเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพและส่งผลกระทบมากที่สุด และยังเป็นวิธีการที่เข้าปฏิบัติต่อเป้าหมายเดียวที่พ้นขีดความสามารถของระบบอาวุธตามแบบ การก่อวินาศกรรมสามารถกระทำได้ด้วย การใช้ เพลิง ระเบิด เครื่องมือกล และ การก่อวินาศกรรมทางธุรการซึ่งมุ่งลดทอนประสิทธิภาพของระบบการทำงานใดๆของฝ่ายตรงข้าม
        2.5 การเล็ดลอด-หลบหนี เป็นการปฏิบัติการทางทหารเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ทางทหารและบุคคลพลเรือนทั่วไปที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว โดยทำการเคลื่อนย้ายออกจากดินแดนที่ถูกข้าศึกยึดครองหรือพื้นที่วิกฤต พื้นที่ล่อแหลม หรือพื้นที่ขัดแย้ง ไปยังพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายเรา
        2.6 การปฏิบัติการลับ จากกระแสโลกในปัจจุบัน การจัดระเบียบโลกใหม่และยุคแห่งข้อมูลข่าวสารทำให้การดำเนินการสงครามนอกแบบ ด้วยการใช้สงครามกองโจรเต็มรูปแบบอาจไม่สามารถดำเนินการได้สะดวกนัก โดยกลุ่มต่อต้านจำเป็นต้องปรับรูปแบบมาเป็นการปฏิบัติในลักษณะของการปฏิบัติ การลับแทน โดยการปฏิบัติการลับมุ่งเน้นการปกปิดการปฏิบัติการมากกว่าการปกปิดผู้ อุปถัมภ์ อาจปรากฏในลักษณะของการจารกรรม การรวบรวมข่าวสารทางลับ เป็นต้น
        2.7 การปฏิบัติการปกปิด เป็นการปฏิบัติการทั้งทางทหารและการเมืองซึ่งประเทศผู้อุปถัมภ์จะไม่แสดงตนรับผิดชอบใดๆ ต่อการปฏิบัติการในลักษณะนี้ เช่น การก่อวินาศกรรม การโฆษณาชวนเชื่อประเภทสีดำ การใช้ความรุนแรง มีการปฏิบัติการในหลายรูปแบบทั้ง การจารกรรม การสงครามจิตวิทยา การลักพาตัว การโจมตีด้วยหน่วยปฏิบัติการพิเศษ เป็นต้น
        ณ วันนี้กิจกรรมต่างๆ ในการดำเนินสงครามนอกแบบได้มีพัฒนาการ และมีรูปแบบที่เป็นพลวัตรเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ในอนาคตอันใกล้ การดำเนินสงครามนอกแบบคงจะมีรูปแบบในการดำเนินการที่สลับซับซ้อนมายิ่งขึ้น ซึ่งนักวิชาการด้านความมั่นคงจะต้องให้ความสนใจ และติดตามศึกษาอย่างต่อเนื่อง

3. แนวทางในการดำเนินสงครามนอกแบบยุคหลังสงครามเย็น

        การยุติลงของสงครามเย็นไม่เพียงแต่เป็นการสิ้นสุดแนวคิดในเรื่องของยุทธศาสตร์ป้องปราม (Deterrence Strategy) ที่แต่ละฝ่ายต่างสะสมอาวุธนิวเคลียร์จนสามารถกล่าวได้ว่า อาวุธนิวเคลียร์ที่แต่ละค่ายสะสมนั้นสามารถทำลายล้างโลกได้ทั้งใบ อย่างไรก็ตามการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นนั้นไม่ได้นำมาซึ่ง สันติภาพและเสถียรภาพของโลกใบนี้ เพราะความสลับซ้อนที่เกิดขึ้นใหม่จากกระแสโลกาภิวัตน์และ นวัตกรรรมต่างๆ ที่ทำให้เกิดภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ ที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินการต่างๆ ของแต่ละประเทศเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติตน และที่สำคัญแนวความคิดที่จะแทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่นโดยประเทศหรือกลุ่มบุคคล ยังคงมีอยู่ ดังนั้นสงครามนอกแบบจึงกลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการแทรกแซงกิจการประเทศอื่นๆ ที่ยังคงมีการใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่รูปแบบ วิธีการ และวิธีคิดได้มีกระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนไป สามารถอธิบายได้ดังรูปที่ 1 และมีราละเอียดดังต่อไปนี้
 

ภาพที่ 1 กรอบแนวคิดและรูปแบบของการดำเนินสงครามนอกแบบที่เปลี่ยนแปลง
        • ผู้อุปถัมภ์ – มีทิศทางจากตัวแสดงที่เป็นรัฐไปสู่ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (State Sponsor to Non-state Sponsor) : ในอดีตการทำสงครามนอกแบบจะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องอาศัยประเทศที่เป็น ผู้อุปถัมภ์ที่คอยให้การสนับสนุน ช่วยเหลือทั้งด้านการเงิน อาวุธยุทโธปกรณ์ การฝึกกองโจร และ สนับสนุนด้านอื่นๆ แต่สำหรับการทำสงครามนอกแบบในปัจจุบันมีแนวโน้มและทิศทางที่เปลี่ยนไปเป็น กลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่อุปถัมภ์ กลุ่มบุคคลเหล่านี้มีทั้งเป็นองค์กรเปิดเผยและองค์กรลับ และที่สำคัญกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะมีงบประมาณ มีรายได้เป็นของตนเอง ซึ่งรายได้เหล่านี้จะมีทั้งรายได้ที่ปรากฏให้ตรวจสอบได้ กับ รายได้ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้เนื่องจากเป็นรายได้ที่เกิดจากการฟอกเงินและ การทำอาชญากรรมต่างๆ เพราะฉะนั้นเมื่อกลุ่มผู้อุปถัมภ์ไม่ได้เป็นรัฐแล้ว ย่อมจะทำให้การทำสงครามนอกแบบมุ่งไปสู่การตอบสนองผลประโยชน์ของกลุ่มกลุ่ม ผู้อุปถัมภ์มากกว่าผลประโยชน์ของรัฐผู้อุปถัมภ์ดังที่มีในอดีต

        • การจัดองค์กร – มีทิศทางจากองค์กรตามลำดับขั้นไปสู่องค์กรแบนราบ (Hierarchy Organization to Flat Organization) : การจัดองค์กรในยุคสงครามเย็นนั้น องค์กรสำหรับการก่อความไม่สงบจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนได้แก่ พรรค กำลังติดอาวุธ และ องค์กรมวลชน โดยแต่ละองค์ประกอบจะมีโครงสร้างภายในที่มีลักษณะเป็นลำดับขั้น (hierarchy) การดำเนินการต่างๆ มักจะมีทิศทางและนโยบายที่มีลักษณะจากบนลงสู่ล่าง (Top Down) จากนั้นกำลังติดอาวุธจะแยกกันไปปฏิบัติการตามนโยบายถึงแม้จะแยกย้ายกันไปปฏิบัติแต่การดำเนินการต่างๆ ยังมีลักษณะของโครงสร้างที่เป็นลำดับขั้นอยู่ องค์กรในลักษณะนี้มักจะถูกเปรียบเทียบให้เป็น แมลงมุมที่เครือข่ายอำนาจในลักษณะศูนย์กลาง [6] ในขณะที่แนวโน้มและทิศทางของการดำเนินสงครามนอกแบบในยุคหลังสงครามเย็นนั้น การปฏิบัติการต่าง ๆ จะมีขอบเขตโครงร่างขององค์กรที่ไม่ชัดเจน มีการทำงานในลักษณะเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งบางครั้งปฏิบัติการต่างๆ กลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มจะมีอิสระในการปฏิบัติการต่างๆ เอง บางครั้งกลุ่มแต่ละกลุ่มก็ไม่ได้มีการสื่อสารกัน และมีอิสระต่อกัน ทำให้ความสลับซับซ้อนขององค์กรมีมากยิ่งขึ้นจนสามารถกล่าวได้ว่าควบคุมได้ยาก และเมื่อเริ่มดำเนินสงครามกองโจรไปแล้ว จะหยุดการดำเนินการต่างๆ ได้อย่างไร องค์กรในลักษณะนี้มักจะถูกเปรียบเทียบให้เป็น ปลาดาวที่มีเครือข่ายอำนาจกระจายอำนาจ เพราะถูกตัดออกเป็นส่วนแล้วแต่ละส่วนสามารถงอกกลับมาใหม่ได้ [7]
        • อาวุธยุทโธปกรณ์ – มีทิศทางจากการใช้เทคโนโลยีต่ำไปสู่เทคโนโลยีสูง (Low Technologies to High Technologies) : ในอดีตช่วงสงครามเย็นนั้นการดำเนินสงครามนอกแบบจะมุ่งเน้นไปในเรื่องของการใช้สงครามกองโจร โดยปฏิบัติการในลักษณะจรยุทธ์ ด้วยกำลังกลุ่มต่อต้านขนาดเล็ก ทำให้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ไม่ได้มีความสลับซับซ้อน เนื่องจากเทคโนโลยีในขณะนั้นยังไม่ได้มีพัฒนาการอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ปัจจุบันด้วยนวัตกรรมต่างๆ ส่งผลให้เกิดระบบอาวุธยุโธกรณ์ที่มีความทันสมัยและมีขนาดเล็ก ทำให้กลุ่มต่อต้านกำลังติดอาวุธ สามารถพกพา เคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก มีขนาดเบา และที่สำคัญมีความทันสมัย สามารถเชื่อมโยงกับระบบอาวุธอื่นๆ ได้ทำให้การปฏิบัติการของกลุ่มต่อต้านต่างๆ ปฏิบัติการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และประเด็นที่สำคัญที่จะต้องคำนึงถึงในปัจจุบันคือ อำนาจในการทำลายล้างที่รุนแรงสร้างความเสียหาย ต่อชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างหนัก และเป็นบริเวณกว้าง อย่างเช่น อาวุธทำลายล้างสูง (Weapon of Mass Destruction : WMD) ที่สามารถขนย้ายได้ด้วยคนเพียงคนเดียวในลักษณะที่ปกปิดซ่อนเร้นได้ หรือการใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพการปฏิบัติการที่มีความรุนแรง แล้วนำภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวไปเผยแพร่ในที่สาธารณะในทันที อย่างเช่น อินเตอร์เน็ตเพื่อขยายผลการปฏิบัติหรือ สร้างความหวาดกลัว
        • การปฏิบัติทางยุทธวิธี – มีทิศทางจากสงครามกองโจรไปสู่สงครามพันทาง (Guerrilla Warfare to Hybrid Warfare): การดำเนินสงครามนอกแบบในยุคสงครามเย็นนั้นกองกำลังติดอาวุธหรือกลุ่มต่อต้าน ที่สร้างขึ้นโดยประเทศผู้อุปถัมถ์ จะเป็นกำลังหลักในการปฏิบัติการทางยุทธวิธี ที่มุ่งปฏิบัติการโดยใช้กำลังคนน้อย เข้ากระทำในลักษณะของการตีโฉบฉวย การซุ่มโจม และการก่อวินาศกรรม เป็นหลัก แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มต่อต้านจะเข้าปฏิบัติการร่วมหรือสนับสนุนให้ กับกำลังทหารตามแบบ อย่างเช่น ในสงครามเวียดนามที่ฝ่ายเวียดนามเหนือ ได้ใช้การผสมผสานการปฏิบัติการทางทหารระหว่าง กองทัพเวียดนามเหนือและเวียดกง โดยการปฏิบัติทางทหารจะมีการแบ่งแยกเขตความรับผิดชอบหรือพื้นที่ปฏิบัติการ (Operation Area) กันอย่างชัดเจน การใช้กลุ่มต่อต้านลักษณะนี้จะเรียกว่า สงครามผสม (Compound War) [7] แต่ในยุคหลังสงครามเย็นกลุ่มต่อต้านจะถูกใช้เป็นสงครามที่มีการผสมผสานกำลัง ตามแบบและกำลังนอกแบบปฏิบัติการทางทหารร่วมกันอย่างแยกไม่ออก ตัวอย่างเช่น สงครามระหว่างอิสราเอล-เลบานอน พ.ศ. 2549 (The Second Lebanon War: 2006) ที่มีการปฏิบัติการทางทหารอย่างเด่นชัดของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธที่เป็นตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (Non-State Actor) ที่มีความขัดแย้งกับรัฐคืออิสลาเอลโดยตรง การใช้กลุ่มต่อต้านลักษณะนี้จะเรียกว่า สงครามพันทาง (Hybrid War) [8]
        • การอุดมการณ์ในการต่อสู้ – มีทิศทางจากอุดมการณ์ทางการเมืองไปสู่อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และศาสนา (Political Ideology to Identity, Culture, and Religion) : การดำเนินสงครามนอกแบบในยุคสงครามเย็นนั้นสิ่งสำคัญในส่วนของกองกำลังติดอาวุธ เช่น กำลังกลุ่มต่อต้านหรือ กองโจร จะใช้แนวความคิดในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลาและหล่อหลอมให้ต่อสู้ เสียสละ และ ทำทุกอย่างเพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งในขณะนั้นจะมีแนวคิดสำคัญอยู่ 2 ค่ายคือ อุดมการณ์ประชาธิปไตย กับ คอมมิวนิสต์ ต่อมาอุดมการณ์ที่ใช้ในหล่อหลอมการต่อสู้ด้วยสงครามกองโจรจะมีทิศทางที่เปลี่ยนจากอุดมการณ์ทางการเมืองไปสู่ การใช้แนวคิดในเรื่องของ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และศาสนา ถูกยกมาเป็นสาเหตุหลักในการต่อสู้ เพราะไม่ต้องการให้อัตลักษณ์ วัฒนธรรม หรือศาสนา ในกลุ่มของตน ดังจะเห็นได้จากการ การเผชิญหน้าของการสู้รบในบริเวณตะวันออกกลางที่มีการใช้สงครามนอกแบบ และใช้อุดมการณ์ในการต่อสู้กันด้วย อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และศาสนา อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายว่าความทิศทางใหม่ของอุดมการณ์ในการดำเนินสงครามนอกแบบจะส่งผลให้การใช้อุดมการณ์ทางการเมือง เพื่อดำเนินสงครามนอกแบบจะหายไป
        • การหล่อหลอมอุดมการณ์และสร้างแนวร่วม – มีทิศทางจากการปฏิบัติการจิตวิทยาไปสู่ปฏิบัติการข่าวสาร (Psychological Operations to Information Operations): ในยุคสงครามเย็นการดำเนินสงครามนอกแบบจะใช้การปฏิบัติการจิตวิทยา (Psychological Operations : PSYOP) เป็นเครื่องมือหลักที่สำคัญในการโน้มน้าว หล่อหลอมอุดมการณ์ และสร้างมวลชนให้หันมาสนับสนุนการปฏิบัติต่างๆ ของกลุ่มต่อต้าน ต่อมาในยุคหลังสงครามเย็น นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อสังคมของมนุษย์ทุกแห่งบนโลก การสื่อสารระหว่างมนุษย์กับมนุษย์บนโลกสามารถกระทำได้อย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้เกิดแนวคิดในการสื่อสารข้อมูลเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติพรรม และสร้างความเชื่อต่างๆ รวมถึงการจัดการเกี่ยวกับการรับรู้ต่างๆ (Perception Management) ที่เรียกว่า ปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations : IO) โดยการปฏิบัติการข่าวสารจะมีการใช้การรณรงค์ทางสารเทศ (Information Campaign) เพื่อใช้สนับสนุนการปฏิบัติการต่างๆ ปัจจุบันปฏิบัติการจิตวิทยา ถูกจัดให้เป็นสาขาหนึ่งของการปฏิบัติการข่าวสาร และการปฏิบัติการข่าวสารมีขอบข่ายในการปฏิบัติที่กว้างไกล และเป็นกิจกรรมที่มีความสอดคล้องกับทางพลเรือนคือ การสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ (Integrated Marketing communication : IMC) ที่ใช้ในภาคธุรกิจ สำหรับการดำเนินสงครามนอกแบบในปัจจุบันได้ใช้การปฏิบัติการข่าวสารเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินการ

4. บทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะ
        จากที่กล่าวมาในข้างต้นจะพบว่าแนวคิดในการดำเนินสงครามนอกแบบ มีทิศทางที่ขยับออกไปจากกระบวนทัศน์เดิมที่เคยปฏิบัติกันมาในช่วงยุคสงครามเย็น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งนั้นมากจากบริบทที่เปลี่ยนไปภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และนวัตกรรมการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการที่กองทัพในฐานะที่เป็นหน่วยงานความมั่นคงที่มีภารกิจเกี่ยวข้องโดยตรงกับ สงครามนอกแบบ กองทัพจึงมีความจำเป็นต้องศึกษา ปรับเปลี่ยน และพัฒนากิจกรรมต่างให้สามารถรองรับกับภารกิจที่จะต้องปฏิบัติในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมิติที่สำคัญที่กองทัพต้องพิจารณามีดังต่อไปนี้
        4.1 โครงสร้างที่เหมาะสม : เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพในการเผชิญกับสงครามนอกแบบ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างขงสงครามนอกแบบ และรวมไปถึงหน่วยต่างๆ ที่มีเกี่ยวข้องกับกิจการสงครามนอกแบบทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ควรจะมีการวิจัยเพื่อหาแนวทางในการจัดหน่วยที่เหมาะสมสำหรับการรับมือกับ สงครามนอกแบบที่จะเกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เพราะการโครงสร้างการจัดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อาจจะมีขีดความสามารถไม่ตรงกับบริบทที่เปลี่ยนไปของสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน
        4.2 ใช้องค์ความรู้อย่างสูงสุด : การพัฒนาแนวคิดในการทำสงครามนอกแบบ และการปฏิบัติการทางทหารต่างๆ ต้องมีการประยุกต์ใช้ความรู้ในด้านต่างๆ เข้ามาเป็นหลักสำคัญในการดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำหลักนิยมที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมของสงครามนอกแบบ ควรจะมีความสอดคล้องกับบริบทของกองทัพไทย และภัยคุกคามจริง มากกว่าที่จะทำการแปลมาจากหลักนิยมต่างประเทศ นอกจากนี้กองทัพควรที่จะเชื่อมโยงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ทั้งภายในของกองทัพ และความรู้จากหลักวิชาการภายนอก เพื่อให้เกิดการเข้าใจปัญหาในลักษณะขององค์รวม (Holistic) และมีการใช้ความรู้ที่เป็นสหวิทยาการ (Multidisciplinary) เข้ามาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการปฏิบัติงาน มากกว่ายึดมั่นในความรู้ของทหารแต่เพียงฝ่ายเดียว
        4.3 กำลังพลมีคุณภาพ : สิ่งที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งนั้นได้แก่ การมีกำลังพลที่มีคุณภาพ มีขีดความสามารถ และความชำนาญในด้านต่างๆ หลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำลังพลในหน่วยที่เกี่ยวพันกับสงครามนอแบบอย่างเช่น หน่วยรบพิเศษ ที่ต้องมีกำลังพลที่มีความแข็งแรง เชี่ยวชาญในหน้าที่ และ มีความสามารถรอบตัว เพราะแนวโน้มในการปฏิบัติการในอนาคต หน่วยทหารที่เข้าปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจะมีขนาดเล็ก ใช้ทหารจำนวนไม่มาก ทำให้กำลังจะต้องมีความเชี่ยวชาญในหลายๆ ด้าน และต้องปฏิบัติงานร่วมกันในลักษณะเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
        4.4 ระบบอาวุธและเทคโนโลยีทันสมัย : การมีระบบอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยคงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่าง ที่เลี่ยงไม่ได้ เพราะระบบอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะช่วยให้การปฏิบัติการ ต่างๆ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างหลายเท่าตัว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ การปฏิบัติการของทหารในอนาคตจะมีแนวโน้มที่จะใช้ทหารขนาดเล็กที่มีความ สามารถสูงการมีระบบอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะช่วยสนับสนุนให้ การปฏิบัติภารกิจลุล่วงไปได้ด้วยดี มีการสูญเสียน้อย และมีความได้เปรียบฝ่ายตรงข้ามที่ไม่มีระบบอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ ทันสมัย
        4.5 เครือข่ายดีมีประสิทธิภาพ : การปฏิบัติการของกองทัพในปัจจุบันนั้นไม่เหมือนในอดีตที่เวลาปฏิบัติงานกองทัพจะเป็นหลักผู้เดียวในการปฏิบัตินั้นๆ แต่ในบริบทปัจจุบันนั้นกองทัพไม่ใช่เป็นหน่วยงานเดียว แต่ต้องปฏิบัติงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐอื่นๆ หรือ ภาคเอกชน หรือ ภาคประชาสังคม ดังนั้นหากกองทัพมีการพัฒนาเครือข่ายที่ดีแล้ว ย่อมจะส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมของสงครามนอกแบบ และการปฏิบัติการทางทหารอื่นๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
5. สรุป
        สงครามนอกแบบเป็นรูปแบบหนึ่งของการดำเนินสงคราม และถ้าจะว่ากันไปแล้วประเทศไทยนั้นเผชิญกับสงครามนอกแบบกันมานานและเผชิญกับสงครามนอกแบบมากกว่าสงครามตามแบบ เพราะสงครามตามแบบครั้งสุดท้ายที่ประเทศไทยได้เข้าปฏิบัตินั้นคงเป็นสงครามมหาเอเชียบูรพา และหลังจากนั้นประเทศไทยก็ต้องเผชิญกับสงครามนอกแบบมาเป็นเวลายาวนาน ร่วมๆ 40 ปี ในอนาคตอันใกล้ในทศวรรษนี้แนวโน้มของการเกิดสงครามขนาดใหญ่นั้นคงเป็นไปได้ยาก และภัยคุกคามสำคัญที่ประเทศไทยคงจะต้องเผชิญคือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และที่สำคัญในภัยคุกคามรูปแบบใหม่บางประเภทจะใช้เทคนิคและวิธีการของสงครามนอกแบบ มาดำเนินการ
        ปัจจุบันการดำเนินสงครามนอกแบบได้มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นทำให้รูปแบบมีการลักษณะที่เปลี่ยนไป คือ 1) ผู้อุปถัมภ์ – มีทิศทางจากตัวแสดงที่เป็นรัฐไปสู่ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ 2) การจัดองค์กร – มีทิศทางจากองค์กรตามลำดับขั้นไปสู่องค์กรแบนราบ 3) อาวุธยุทโธปกรณ์ – มีทิศทางจากการใช้เทคโนโลยีต่ำไปสู่เทคโนโลยีสูง 4) การปฏิบัติทางยุทธวิธี – มีทิศทางจากสงครามกองโจรไปสู่สงครามพันทาง 5) การอุดมการณ์ในการต่อสู้ – มีทิศทางจากอุดมการณ์ทางการเมืองไปสู่อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และศาสนา และ 6) การหล่อหลอมอุดมการณ์และสร้างแนวร่วม – มีทิศทางจากการปฏิบัติการจิตวิทยาไปสู่ปฏิบัติการข่าวสาร
        บริบทของการเปลี่ยนแปลงหลังจากสงครามเย็นยุติลง ประกอบกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ได้ส่งผลกระทบโดยภาพรวมต่อวิถีการดำเนินชีวิต วิธีคิด และ รูปแบบในการดำรงชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองได้ส่งผลให้การทำสงครามนอกแบบ นั้นมีกรอบแนวคิดและรูปแบบที่เปลี่ยนไป การดำเนินการต่างๆ ด้วยแนวคิดเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นเพราะไม่ชอบที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่รู้และไม่แสวงหาเรียนรู้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ส่งผลให้การปฏิบัติงานของกองทัพอาจจะมีประสิทธิภาพไม่ดีเท่าที่ควรนัก เพราะต้องยอมรับว่าพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก และเป็นการยากที่จะวิ่งตามให้ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่มีขนาดใหญ่อย่างเช่น กองทัพ เป็นต้น
        วันนี้ความชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ปรากฏชัดเจนมากขึ้น ทำให้เกิดคำถามในใจของทั้งคนที่เป็นทหารและไม่เป็นทหารว่า สิ่งที่กองทัพคิดและทำอยู่ในปัจจุบันนั้นมีประสิทธิภาพเพียงไร และจะมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ในการปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญยิ่งนั่นคือ การรักษาผลประโยชน์ของชาติ และรักษาความมั่นคงให้เกิดขึ้นในชาติ ซึ่งภาวะการเปลี่ยนแปลงจากกระแสต่างๆ นี้เองถือได้ว่าเป็นความท้าทายของกองทัพที่จะต้องเผชิญ แล้วกองทัพและกำลังพลในกองทัพทราบหรือไม่ว่าท่านกำลังเผชิญกับอะไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น