วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

แมกนาคาร์ตา กฏบัตรแห่งเสรีภาพ ต้นแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย

แมกนาคาร์ตาและการแสวงหาเสรีภาพของมนุษย์

รัฐธรรมนูญ หมายถึงกฎหมายสูงสุดในการจัดการปกครองรัฐ ถ้าแปลตามความหมายของคำ จะหมายถึง การปกครองรัฐอย่างถูกต้องเป็นธรรม (รัฐ + ธรรม + มนูญ)
ในความหมายอย่างแคบ "รัฐธรรมนูญ" ต้องมีลักษณะเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่ใช่สิ่งเดียวกับฏฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะ "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" มีความหมายกว้างกว่าและจะเป็นรูปแบบลายลักษณ์อักษรหรือจารีตประเพณีก็ได้
รัฐธรรมนูญในปัจจุบันนั้น มีทั้งเป็นลักษณะลายลักษณ์อักษร และลักษณะไม่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยที่ลักษณะไม่เป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากจะใช้หลักของจารีต ประเพณีการปกครองแล้ว กฎหมายทุกตัวที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง ย่อมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญด้วย
ทุกประเทศทั่วโลกมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ทั้งประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย รวมถึงประเทศที่ปกครองระบอบเผด็จการ เพื่อใช้เป็นหลักหรือเป็นแนวทางในการบริหารประเทศ

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลก

ในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1215 ขุนนางและพระราชาคณะจำนวน 25 คน ได้บังคับให้พระเจ้าจอห์นลงนามในเอกสารที่เรียกว่า "มหากฎบัตร" (The Great Charter, Magna Carta) ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างพระมหากษัตริย์กับขุนนางและพระสงฆ์ โดยในมหากฎบัตรได้กำหนด ถึงการจัดองค์กรและการบริหารอำนาจของสภาสูง (Magnum Concillium) และกำหนดว่าพระมหากษัตริย์จะเก็บภาษีบางอย่าง ตามที่กำหนดไว้โดยมิได้รับความเห็นชอบจากสภาสูงมิได้ จะจับกุมคุมขังบุคคลได้ก็ต่อเมื่อ มีคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมาย มหากฎบัตรนี้ นักกฎหมายบางท่านเห็นว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก
รัฐธรรมนูญในสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส ในภาษาของประเทศทั้งสอง คำว่ารัฐธรรมนูญต่างใช้คำว่า Constitution ซึ่งแปลว่า การสถาปนา หรือการจัดตั้ง ซึ่งหมายถึงการสถาปนาหรือจัดตั้งรัฐนั่นเอง โดยทั้งสองประเทศมีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ประเทศอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร
ท่ามกลางภูมิประเทศอันงดงามแห่งแคว้นเซอร์เรย์ในอังกฤษ มีแม่น้ำเทมส์ไหลผ่าน. ในทุ่งหญ้าแห่งหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำสายนี้มีอนุสาวรีย์พร้อมด้วยคำจารึกที่เป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นเกือบแปดร้อยปีมาแล้ว. ที่นี่ ณ ทุ่งหญ้ารันนีมีด พระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษ (ครองราชย์ปี 1199-1216) ทรงเผชิญหน้ากับเหล่าขุนนางที่เป็นศัตรูผู้มีอิทธิพล ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่โกรธแค้นเนื่องจากถูกกษัตริย์กดขี่. เหล่าขุนนางเรียกร้องให้กษัตริย์บรรเทาความคับแค้นใจของตนโดยให้สิทธิ์บางอย่าง. เนื่องจากถูกกดดันอย่างหนัก ในที่สุดกษัตริย์จึงได้ประทับตราของพระองค์ลงในเอกสารซึ่งเป็นที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า แมกนาคาร์ตา (มหากฎบัตร).
เพราะเหตุใดเอกสารฉบับนี้จึงได้รับการพรรณนาว่าเป็น “เอกสารทางกฎหมายฉบับที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ตะวันตก”? คำตอบจะเผยให้เห็นเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับการแสวงหาเสรีภาพของมนุษย์.
ข้อบังคับของขุนนาง
พระเจ้าจอห์นทรงมีปัญหากับคริสตจักรโรมันคาทอลิก. พระองค์แข็งข้อต่อโปปอินโนเซนต์ที่ 3 โดยไม่ยอมรับสตีเฟน แลงตันเป็นอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี. ผลก็คือ คริสตจักรเพิกถอนการสนับสนุน และขับกษัตริย์ออกจากศาสนา. แต่พระเจ้าจอห์นพยายามขอการคืนดีกัน. พระองค์ยอมยกอาณาจักรแห่งอังกฤษและไอร์แลนด์ให้แก่โปป. ฝ่ายโปปก็คืนอาณาจักรเหล่านั้นให้แก่พระเจ้าจอห์นโดยที่กษัตริย์ต้องปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อคริสตจักรและจ่ายค่าบรรณาการประจำปี. บัดนี้ พระเจ้าจอห์นจึงตกอยู่ใต้อำนาจโปป.
ความลำบากทางการเงินทำให้กษัตริย์มีปัญหามากขึ้นอีก. ระหว่างการครองราชย์ 17 ปี พระเจ้าจอห์นเรียกเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินเพิ่มอีก 11 ครั้ง. ความวุ่นวายทั้งหมดเรื่องคริสตจักรและเรื่องการเงินทำให้มีการเชื่อกันอย่างแพร่หลายว่ากษัตริย์เป็นผู้ที่ไม่น่าไว้วางใจ. บุคลิกภาพของพระเจ้าจอห์นก็ดูเหมือนไม่ได้ช่วยบรรเทาความกังวลดังกล่าวเลย.
ในที่สุด ความไม่สงบก็ปะทุขึ้น เมื่อเหล่าขุนนางจากทางเหนือของประเทศไม่ยอมจ่ายภาษีอีกต่อไป. พวกเขาเดินขบวนมาที่ลอนดอนและประกาศยกเลิกการสวามิภักดิ์ต่อกษัตริย์. จากนั้นทั้งสองฝ่ายได้โต้เถียงกันมาก โดยที่กษัตริย์ประทับอยู่ในพระราชวังที่วินด์เซอร์ และเหล่าขุนนางตั้งค่ายอยู่ทางตะวันออกในเมืองใกล้ๆที่ชื่อสเตนส์. การเจรจาลับทำให้ทั้งสองฝ่ายมาเผชิญหน้ากันที่ทุ่งรันนีมีด ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองทั้งสอง. ในวันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน 1215 ณ ทุ่งหญ้าแห่งนี้ พระเจ้าจอห์นประทับตราในเอกสารซึ่งมีข้อบังคับ 49 ข้อ. เอกสารนี้ขึ้นต้นว่า ‘นี่คือข้อบังคับที่เหล่าขุนนางต้องการและได้รับการยินยอมโดยกษัตริย์.’
เสรีภาพภายใต้กฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ความไม่ไว้วางใจในเจตนาของพระเจ้าจอห์นก็ปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็ว. ท่ามกลางความรู้สึกต่อต้านอย่างมากต่อกษัตริย์และโปป กษัตริย์ได้ส่งทูตไปหาโปปที่กรุงโรม. โปปออกกฤษฎีกาทันทีเพื่อประกาศว่าข้อตกลงรันนีมีดเป็นโมฆะ. ส่วนที่อังกฤษสงครามกลางเมืองก็ปะทุขึ้นอย่างรวดเร็ว. แต่ในปีต่อมา พระเจ้าจอห์นก็สิ้นพระชนม์อย่างกะทันหัน และเจ้าชายเฮนรี พระโอรส ซึ่งมีพระชนมายุได้เก้าพรรษา ก็ขึ้นครองราชย์แทน.
ผู้สนับสนุนพระเจ้าเฮนรีวัยเยาว์จัดให้มีการออกข้อตกลงรันนีมีดอีกครั้ง. ตามที่กล่าวในหนังสือเล่มเล็กแมกนาคาร์ตา ข้อตกลงฉบับแก้ไขนี้ถูก “เปลี่ยนด้วยความเร่งรีบจากเครื่องมือต่อต้านทรราชไปเป็นแถลงการณ์ซึ่งผู้ที่เดินสายกลางอาจถูกโน้มน้าวให้สนับสนุนผลประโยชน์ [ของกษัตริย์].” มีการออกข้อตกลงนี้อีกหลายครั้งระหว่างรัชกาลของพระเจ้าเฮนรี. เมื่อกษัตริย์องค์ต่อมาคือ พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ 1 ประกาศรับรองกฎบัตรแมกนาคาร์ตาอีกครั้งในวันที่ 12 ตุลาคม 1297 จึงมีการรวมกฎบัตรนี้เข้ากับประมวลกฎหมายในที่สุด ซึ่งก็คือรายการเอกสารที่มีความสำคัญเป็นพิเศษต่อสาธารณชน.
กฎบัตรนี้จำกัดอำนาจของกษัตริย์. กฎบัตรนี้กำหนดว่า บัดนี้กษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเช่นเดียวกับพลเมืองทุกคนของพระองค์. วินสตัน เชอร์ชิลล์ นักประวัติศาสตร์และนายกรัฐมนตรีของอังกฤษผู้มีชื่อเสียงแห่งศตวรรษที่ 20 กล่าวว่า แมกนาคาร์ตาทำให้มี “ระบบการตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งจะให้อำนาจที่จำเป็นแก่กษัตริย์ แต่ก็ป้องกันทรราชหรือคนโง่เขลาไม่ให้ใช้อำนาจอย่างผิดๆ.” เป็นอุดมการณ์ที่สูงส่งจริงๆ! แต่กฎหมายนี้มีความหมายอย่างไรต่อสามัญชน? ในตอนนั้น แทบไม่มีความหมายเลย. แมกนาคาร์ตาให้รายละเอียดเฉพาะเรื่องสิทธิของ “เสรีชน” เท่านั้น ซึ่งจริงๆแล้วเป็นพวกชนชั้นสูงและในตอนนั้นเป็นเพียงชนกลุ่มน้อย.*
สารานุกรมบริแทนนิกา ชี้ให้เห็นว่า “นับตั้งแต่ช่วงต้นๆในประวัติศาสตร์” แมกนาคาร์ตา “กลายเป็นสัญลักษณ์และการเรียกร้องให้ต่อต้านการกดขี่ และผู้คนแต่ละรุ่นตีความว่ากฎบัตรนี้เป็นการปกป้องเสรีภาพของตนที่ถูกคุกคาม.” เพื่อชี้ถึงนัยสำคัญนี้ การประชุมรัฐสภาของอังกฤษแต่ละสมัยจะเปิดด้วยการรับรองแมกนาคาร์ตาอีกครั้ง.
ทนายความในอังกฤษสมัยศตวรรษที่ 17 ใช้มาตราต่างๆในแมกนาคาร์ตาเป็นพื้นฐานสำหรับสิทธิต่างๆ เช่น การพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุน, ฮาบีอัส คอร์ปัส,* ความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย, การไม่มีสิทธิ์จับกุมตามอำเภอใจ, และการที่รัฐสภาจะเป็นฝ่ายควบคุมการเก็บภาษี.
การแสวงหาดำเนินต่อไป
ลอร์ดบิงแฮม ผู้เป็นประธานศาลสูงสุดแห่งอังกฤษและเวลส์ตั้งแต่ปี 1996 ถึง 2000 ยอมรับว่า “หลายครั้งในอดีต ความสำคัญของแมกนาคาร์ตาตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่กล่าวในกฎบัตรนั้นจริงๆมากเท่ากับสิ่งที่คิดกันว่ามีกล่าวในกฎบัตรนั้น.” ถึงกระนั้น ในเวลาต่อมาแนวคิดเรื่องเสรีภาพที่ผูกโยงกับกฎบัตรนี้ก็ได้แพร่เข้าไปในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ.
ผู้ตั้งถิ่นฐาน ซึ่งออกจากอังกฤษในปี 1620 โดยมุ่งหน้าไปยังอเมริกา ได้นำแมกนาคาร์ตาไปด้วยฉบับหนึ่ง. ในปี 1775 เมื่ออาณานิคมของอังกฤษในอเมริกาก่อการกบฏเพื่อต่อต้านการเก็บภาษีทั้งๆที่ไม่ให้พวกเขามีผู้แทนในรัฐสภา สภาในที่ซึ่งปัจจุบันคือรัฐแมสซาชูเซตส์ได้ประกาศว่า การเก็บภาษีเช่นนั้นเป็นการฝ่าฝืนแมกนาคาร์ตา. ที่จริง ตราสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการของรัฐแมสซาชูเซตส์ที่ใช้กันในตอนนั้นเป็นรูปผู้ชายซึ่งมือข้างหนึ่งถือดาบและมืออีกข้างหนึ่งถือแมกนาคาร์ตา.
เมื่อเหล่าผู้แทนจากชาติที่เพิ่งก่อตั้งประชุมกันเพื่อร่างรัฐธรรมนูญสำหรับสหรัฐอเมริกา พวกเขายึดมั่นกับหลักการของเสรีภาพภายใต้กฎหมาย. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิแห่งสหรัฐได้มาจากการยอมรับหลักการดังกล่าวด้วย. ด้วยเหตุนี้ ในปี 1957 เพื่อเป็นการยอมรับแมกนาคาร์ตา สมาคมเนติบัณฑิตแห่งอเมริกาจึงได้ตั้งอนุสาวรีย์ที่รันนีมีดโดยมีคำจารึกว่า “เพื่อรำลึกถึงแมกนาคาร์ตา—สัญลักษณ์แห่งเสรีภาพภายใต้กฎหมาย.”
ในปี 1948 เอเลนอร์ รูสเวลต์ รัฐสตรีชาวอเมริกัน ได้ช่วยร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ โดยหวังว่าปฏิญญาฉบับนี้จะกลายเป็น “แมกนาคาร์ตาสากลสำหรับมวลมนุษย์ทุกหนแห่ง.” ที่จริง ประวัติความเป็นมาของแมกนาคาร์ตาแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามนุษยชาติปรารถนาเสรีภาพมากเพียงใด. แม้ว่าจะเป็นความปรารถนาอันสูงส่ง แต่สิทธิมนุษยชนพื้นฐานของมนุษย์ก็ยังถูกละเมิดในหลายประเทศ. รัฐบาลของมนุษย์ได้แสดงให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่าไม่สามารถรับประกันเสรีภาพสำหรับทุกคน. นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่พยานพระยะโฮวาหลายล้านคนในปัจจุบันทะนุถนอมเสรีภาพที่สูงส่งกว่าภายใต้กฎหมายของรัฐบาลที่ต่างไป นั่นคือราชอาณาจักรของพระเจ้า.
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงสิ่งที่น่าทึ่งเกี่ยวกับพระเจ้าคือ “พระวิญญาณของพระยะโฮวาอยู่ที่ใด เสรีภาพก็อยู่ที่นั่น.” (2 โกรินโธ 3:17ล.ม.) ถ้าคุณสนใจอยากทราบว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าจะให้เสรีภาพชนิดใดแก่มนุษยชาติ ขอเชิญถามพยานพระยะโฮวาเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อพวกเขามาเยี่ยมคุณครั้งต่อไป. คุณอาจพบว่าคำตอบเป็นเรื่องที่น่าทึ่งและให้เสรีภาพ.
“แม้ว่าในปี 1215 คำ ‘เสรีชน’ มีความหมายจำกัด แต่พอถึงศตวรรษที่สิบเจ็ด คำนี้หมายรวมถึงผู้คนเกือบทุกคน.”—ประวัติศาสตร์อารยธรรมตะวันตก (ภาษาอังกฤษ).
เป็นคำภาษาลาตินที่หมายความว่า “คุณควรมีสิ่งที่จับต้องได้” ข้อบัญญัติฮาบี
มหากฎบัตร
แมกนาคาร์ตา (ภาษาลาตินแปลว่า “มหากฎบัตร”) เดิมมีชื่อว่า “ข้อบังคับของเหล่าขุนนาง.” พระเจ้าจอห์นประทับตราของพระองค์ในเอกสารที่มี 49 มาตรานี้. ในช่วงไม่กี่วันถัดมา ความตกลงนี้ได้รับการขยายเป็น 63 มาตรา และกษัตริย์ก็ประทับตราในเอกสารอีกครั้ง. การออกกฎบัตรอีกครั้งในปี 1217 มีกฎบัตรที่สองที่เล็กกว่าออกคู่กันด้วยซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้. นับแต่นั้นมา มีการเรียกข้อบังคับนี้ว่า แมกนาคาร์ตา.
ทั้ง 63 มาตราแบ่งออกเป็นเก้าหมวด ซึ่งมีเรื่องที่เกี่ยวกับความคับแค้นใจของเหล่าขุนนาง, การปฏิรูปกฎหมายและความยุติธรรม, และเสรีภาพของคริสตจักร. มาตราที่ 39 ซึ่งเป็นพื้นฐานทางประวัติศาสตร์สำหรับเสรีภาพของพลเมืองอังกฤษ อ่านว่า “ไม่มีเสรีชนคนใดอาจถูกจับหรือถูกจำคุก, หรือถูกยึดสิทธิหรือทรัพย์สิน, หรือถูกประกาศว่าเป็นบุคคลนอกกฎหมายหรือถูกเนรเทศ, หรือถูกริบฐานะของตนในทางอื่นใด, ทั้งเราจะไม่ใช้กำลังกับเขา, หรือสั่งให้ผู้อื่นทำเช่นนั้น เว้นแต่มีการพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายจากผู้ที่เทียบเท่ากับเขาหรือโดยกฎหมายของประเทศ.”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น