วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประวัติศาสตร์ต่างประเทศ การปฏิวัติฝรั่งเศส


ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส


          ประวัติศาสตร์ ฝรั่งเศสมีวิวัฒนาการยาวนาน แม้จะยุ่งเหยิง แต่ก็มี
พลวัตร    ปรัชญาการเมืองของฝรั่งเศส ก็ได้ยึดมั่นในหลักการ เสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ สืบมาโดยตลอด โดยที่คำทั้งสามคำนี้ คือ คำขวัญของสาธารณรัฐ

 ประวัติศาสตร์ ฝรั่งเศส (France) ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า มีวิวัฒนาการยาวนาน แม้จะยุ่งเหยิง แต่ก็มีพลวัตร (Dynamic) บทเรียนต่างๆ จากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสในลำดับถัดไปจะช่วยให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนา ประชาธิปไตยของประเทศนี้ ได้ตามสมควร แต่อาจจะช่วยให้เกิดความเข้าใจกระจ่างยิ่งขึ้นอีก หากว่านำเอาไปศึกษาในเชิงเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญของประเทศอื่นๆ อย่าง สหราชอาณาจักรกับสหรัฐอเมริกา พร้อมกันไป
 9.2 ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์

ฝรั่งเศส เป็นประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งในยุโรป เมื่อประมาณ 300 ถึง 400 ปีที่แล้ว เพราะรุ่งเรืองด้วยศิลปวิทยาการนานาประการ พระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์ฝรั่งเศสก็แผ่ขยายไปทั่วยุโรปเรียกได้ว่ามี อิทธิพลไม่น้อยกว่าอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าสมุทรและเจ้าของดินแดนมหาศาลในขณะนั้น แต่ขณะที่อังกฤษเข้าสู่พัฒนาการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภามา เป็นลำดับ ตั้งแต่เริ่มจำกัดพระราชอำนาจตามมหาบัตร (Magna Carta, 1215) จนกระทั่งการมีรัฐสภา การมีนายกรัฐมนตรี และการมีพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิพลเมือง (Bill of Rights, 1689) ฝรั่งเศศยังคงยึดการปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างหนักแน่นมั่นคง และสมบูรณ์แบบ ทำให้กษัตริย์เชื่อมั่นว่า พระองค์ทรงมีอำนาจอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด จนเกิดเป็นประโยค รัฐคือตัวข้า ขึ้นมา
   ตอนปลายของคริสตศตวรรษที่ 18 ในยามที่ประชาชนทุกข์ยาก ข้าวยากหมากแพง และเศรษฐกิจตกต่ำอันเนื่องมาจากการใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือยในราชสำนัก ขณะเดียวกันสภาพสังคม และการเมืองของฝรั่งเศส ก็เสื่อมโทรมลงอย่างหนัก กอปรกับความแตกต่างระหว่างชนชั้นต่างๆ เป็นผลทำให้เกิดการต่อต้านอำนาจอันไม่ชอบธรรมของรัฐกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการจับกุมคุมขังผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลในที่สุด ก็นำไปสู่การปฏิวัติครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 โดยชนชั้นกลางนำราษฎรเข้าทำลายที่คุมขังนักโทษทางการเมือง คือ คุกบาสติล (Bastille) และสามารถยึดอำนาจจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้ 
 ใน เวลาต่อมา (เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา 13 ปี) ซึ่งในอีกหนึ่งร้อยปีต่อมา รัฐบาลฝรั่งเศส ก็ได้ประกาศให้ถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันชาติฝรั่งเศส  การปฏิวัติในปี 1789 น่าจะได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากการปฏิวัติในสหรัฐอเมริกาอยู่บ้างไม่มากก็ น้อยและความพยายามครั้งนั้น ก็คือ ความต้องการที่จะนำระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย (ซึ่งมีตัวอย่างชัดเจนในสหรัฐอเมริกาและมีเค้าให้เห็นในอังกฤษ) มาใช้ในฝรั่งเศส โดยได้มีการจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) ซึ่งแปรสภาพมาจากมาจากสภาฐานันดร (Les Etats Genereaux) ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งเป็นที่รวมของผู้แทน 3 ชนชั้น อันมีฐานะทางกฎหมายต่างกัน คือ ขุนนาง พระ ซึ่งเป็นกลุ่มอภิสิทธิชน และสามัญชน แล้วจึงได้ประกาศใช้ ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง (Declaration of the Rights of Man and of the Citizen, 1789) ขึ้น เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ในปีเดียวกัน
     สาระ สำคัญของปฏิญญาดังกล่าว เน้นในเรื่อง การยอมรับสิทธิมูลฐานของมนุษย์ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเทิดทูนความเสมอภาค เสรีภาพตามกฎหมาย และพลังสาธารณะรวมทั้งเน้นความสำคัญของการวางระเบียบหลักการปกครองแบบใหม่ ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของมวลชน การแบ่งแยกอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ หลังจากนั้น ปรัชญาการเมืองของฝรั่งเศส ก็ได้ยึดมั่นในหลักการ เสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ สืบมาโดยตลอด โดยที่คำทั้งสามคำนี้ ก็คือ คำขวัญของสาธารณรัฐฝรั่งเศส อันมีสาระสำคัญคร่าวๆ ดังนี้
        เสรีภาพ (Liberty) คือ การเน้นในเสรีภาพของบุคคล หรือ ปัจเจกชนนิยม และได้ขยายไปในเรื่องเสรีภาพในด้านความคิด ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาหาความรู้ การพิมพ์และเผยแพร่ข่าวสาร รวมทั้งเสรีภาพในทางการเมือง 

      เสมอภาค (Equality) คือ ความเท่าเทียมกันตามกฎหมายของปัจเจกชน ความเสมอภาค ขึ้นอยู่กับหลักความเที่ยงธรรม ความเท่าเทียมกันในเรื่อง สิทธิและหน้าที่ เช่น ความเท่าเทียมในด้านการเสียภาษี การรับใช้ชาติโดยการเป็นทหาร และสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง 

      ภราดรภาพ (Fraternity) คือ ความเป็นพี่เป็นน้องกัน มนุษย์ทุกคนจะต้องมีความเท่าเทียมกันและปฏิบัติต่อกันดุจพี่น้อง ความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้มนุษย์ คือ การไม่เน้นผิวพรรณ หรือ เผ่าพันธุ์ 

     อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสก็ยอมรับว่า ความหมายหรือความสำเร็จที่แท้จริงของการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส คือ การยุติระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยซึ่งวางรากฐานมานานปีเท่านั้น (เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ได้ยุติอย่างถาวร เพราะต่อมาก็ได้กลับฟื้นฟูขึ้นอีก) แต่ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ตั้งต้นขึ้นอย่างบริบูรณ์ต่อเนื่องกันเพราะการ ปฏิวัติ ค.ศ. 1789 ยังผลให้เกิดความขัดแย้งมากมายระหว่างชนในชาติระหว่างกลุ่มผู้ได้อำนาจใหม่ กับผู้สูญเสียอำนาจ ระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนอำนาจรัฐและผู้สนับสนุนอำนาจศาสนจักร ตลอดจนมีความแตกแยกทางความคิดในการจัดระเบียบการปกครองรัฐใหม่ในบรรดาผู้นำ การปฏิวัติทั้งหลา
        
 เมื่อวันที่ 3 กันยายน ในปี 1791 ภายหลังการปฏิวัติใหญ่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของฝรั่งเศส  
 รัฐธรรมนูญฉบับนี้นำเอาหลักการในปฏิญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองฝรั่งเศสฉบับ ค.ศ. 1789 มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ยังคงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ อำนาจอธิปไตยแบ่งออกได้เป็นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขไม่ได้เป็นราชาธิปัตย์ แต่ทรงถืออำนาจอธิปไตยในฐานะผู้แทนของชาติและทรงเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารด้วย
การปฏิวัติในฝรั่งเศส

       การออกกฎหมายซึ่งเคยเป็นพระราชอำนาจกลับตกมาเป็นอำนาจของสภา นิติบัญญัติซึ่งเป็นสภาเดียวและพัฒนามาจากสมัชชาแห่งชาติเมื่อสมัยหลังการ ปฏิวัติใหม่ๆ พระมหากษัตริย์ไม่สามารถยุบสภาได้ และสภานิติบัญญัติก็ไม่อาจถอดถอนพระมหากษัตริย์หรือบุคคลในคณะรัฐบาลได้ ส่วนการบริหารประเทศ พระมหากษัตริย์ยังคงเป็นหัวหน้าบริหารและมีรัฐมนตรีหรือเสนาบดีเป็นผู้ร่วม งาน ลักษณะการจัดการองค์กรเช่นนี้ใกล้เคียงกับระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข แต่ลักษณะการจัดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรต่างๆ ใกล้เคียงกับระบบประธานาธิบดีมาก แต่ถ้าจะว่ากัน อันที่จริงแล้วเห็นจะเป็นระบบพิเศษไม่ซ้ำแบบใคร เสียมากd;jk      ส่วนระบอบกษัตริย์แบบใหม่ของฝรั่งเศสไม่สำเร็จเท่าที่ควร เพราะความไม่ไว้วางใจของพระมหากษัตริย์ยังคงมีอยู่ พลเมืองนับไม่ถ้วนถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิต รวมทั้งผู้ก่อการปฏิวัติหลายคนด้วย พระมหากษัตริย์เองก็ไม่พอใจสภา เพราะทรงเสนอร่างกฎหมายไม่ได้ (ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ) หน้าที่ของรัฐ คือ การปฏิบัติตามกฎหมายของสภาเท่านั้น ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภารุนแรงขึ้นทุกที จนในที่สุดได้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ได้รับอิทธิพลจากสภาร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา) ในปี ค.ศ. 1792เพื่อล้มเลิกระบอบกษัตริย์ และให้ตรารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น
           

 9.2.3 สมัยจักรวรรดิที่ 1

         ประวัติศาสตร์การปกครองของฝรั่งเศสมี          แต่เรื่องความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงระหว่างสมัย
สาธารณรัฐกับสมัยจักรวรรดิ             เมื่อสิ้นสมัยสาธารณรัฐสมัยแรก          พระเจ้านโปเลียนมหาราช
ก็เข้ามามีอำนาจและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1799 มีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติหลายสภา หลายประเภท และสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ (Conseil d' Etats) ขึ้น ฝ่ายบริหารประกอบด้วยคณะกงสุล 3 คน ซึ่งไม่เรียกว่า กษัตริย์ นโปเลียนเองก็เป็นผู้นำในกงสุลผู้หนึ่งต่อมามีการแก้รัฐธรรมนูญที่เน้นอำนาจฝ่ายบริหาร จนมีการเปลี่ยนแปลงกลับไปมีสถาบันพระมหากษัตริย์ (จักรพรรดิ) อีกครั้งหนึ่ง และลดจำนวนสภานิติบัญญัติลงเหลือสองสภา คือสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง และอยู่ในตำแหน่งตามวาระ กับ วุฒิสภาซึ่งสมาชิกมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ และอยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิต แต่แล้วต่อมาก็เกิดการปฏิวัติขึ้นอีก จึงเป็นอันยุติสมัยจักรวรรดิที่ 1 ลง

      9.2.4 สมัยสาธารณรัฐที่ 2

         คณะปฏิวัติได้สถาปนาสาธารณรัฐที่ 2 ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายของสหรัฐอเมริกาขึ้น ในปี 1848 คือ มีการแต่งตั้งประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศและหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีสภานิติบัญญัติทำหน้าที่ออกกฎหมาย และยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจเคร่งครัด โดยได้รับอิทธิพลมาจากรูปแบบการปกครองของสหรัฐอเมริกา ซึ่งนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสชื่อ ต๊อกเกอวิลล์ (Toqueville) นำมาเผยแพร่ รัฐธรรมนูญของสมัยสาธารณรัฐที่ 2

    โดย กำหนดให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่ง 4 ปี และไม่อาจรับเลือกตั้งซ้ำได้อีกซึ่งเป็นข้อห้ามที่ทำให้เกิดความตึงเครียด ขึ้นหลุยส์นโปเลียนโบนาปาร์ตเป็นประธานาธิบดีคนแรกและคนเดียวในสมัยนี้เพราะ ต่อมาก็ได้เกิดการรัฐประหารขึ้นกล่าวกันว่าเป็นเพราะนโปเลียนต้องการสมัคร เป็นประธานาธิบดีอีก แต่ไม่อาจรวบรวมเสียงเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ จึงต้องใช้วิธีล้มล้างรัฐธรรมนูญ
Toqueville

      9.2.5 สมัยจักรวรรดิที่ 2

         พระเจ้าหลุยส์นโปเลียน (พระราชนัดดาของพระองค์แรก) ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี หลังการรัฐประหารโดยมีกฎหมายให้อำนาจไว้ 10 ปี ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งรัฐมนตรีมีอำนาจเสนอร่างกฎหมายและมีอำนาจบริหาร อย่างเต็มที่แต่ต่อมามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนฝรั่งเศสกลายเป็นจักรวรรดิและ กษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในประเทศ ในที่สุดจักรวรรดิฝรั่งเศสก็เสื่อมลง ระบอบกษัตริย์จึงค่อยๆ สลายตัว และเข้าสู่สมัยสาธารณรัฐที่ 3 ในที่สุด

      9.2.6 สมัยสาธารณรัฐที่ 3

         ค.ศ. 1870 ประชาชนได้เดินขบวนเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ จนกระทั่งมีการจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติขึ้น และนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญกำหนดรูปแบบสาธารณรัฐขึ้นใหม่อีกครั้ง ซึ่งรูปแบบการปกครองเป็นแบบรัฐสภา โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขและได้รับเลือกจากสภานิติบัญญัติอยู่ในตำแหน่ง 7 ปี รัฐบาลสามารถยุบสภาได้ สภาสามารถตั้งกระทู้ถามและเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ ซึ่งในสาธารณรัฐที่ 3 เป็นสมัยมีความยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติใหญ่ กล่าวคือ มีอายุนานประมาณ 70 ปี แต่รัฐบาลในสมัยนี้ไม่สู้จะมีเสถียรภาพนัก ดังเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีกว่า 100ครั้ง ซึ่งในที่สุดสาธารณรัฐที่ 3 ก็สิ้นสุดลง

      9.2.7 สมัยสาธารณรัฐที่ 4

         สาธารณรัฐที่ 4 เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1946 ซึ่งเป็นปีที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รูปแบบการปกครองตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังคงเป็นแบบรัฐสภา โดยมีตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ ซึ่งจะต้องผ่านการเลือกตั้งโดยอ้อมจากคณะผู้เลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร สภานิติบัญญัติประกอบด้วยสภาล่างซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และสภาสูงซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม ต่อมาปรากฏว่า พรรคการเมืองต่างๆ กลับมีความแตกแยกกันมาก ประกอบกับเกิดปัญหาแอลจีเรียขึ้น รัฐบาลฝรั่งเศสไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้เต็มที่
        ด้วย ความล้มเหลวของสาธารณะที่ 4 ข้างต้น สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ลงมติให้ นายพล ชาร์ลส์ เดอโกลล์ (General Charles De Gaulle) เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลและมอบอำนาจให้เดอโกลล์ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย โดยมีบทเรียนจากวิวัฒนาการการเมืองการปกครองของประเทศ แต่มีต้องมีเงื่อนไขว่าต้องให้ประชาชนมีสิทธิออกเสียงแสดงประชามติ ซึ่งผลปรากฏว่า ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนอย่างท่วมท้น คือ เห็นด้วย ร้อยละ 66 และคัดค้าน (ไม่รับ) ร้อยละ 17 ส่วนที่เหลือ งดออกเสียง จากนั้นแล้ว จึงได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม   ค.ศ. 1958 อันเป็นการเริ่มต้นสาธารณรัฐที่ 5 จนกระทั่งถึงบัดนี้

General Charles De Gaulle

      9.2.8 สมัยสาธารณรัฐที่ 5

        รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐที่ 5 (the Fifth Republic) ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐ หรืออาจเรียกว่า มหาชนรัฐ ก็ได้ โดยมุ่งรักษาหลักการใหญ่ของระบบรัฐสภาแบบอังกฤษ ซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยสาธารณรัฐที่ 3 และ 4 เอาไว้บ้างแต่นำเอาส่วนดีหรือส่วนที่แข็งแกร่งของระบบประธานาธิบดีแบบสหรัฐ อเมริกามาผสมเข้าด้วยกัน จึงมีผู้เรียกระบบที่เกิดขึ้นใหม่นี้ว่า ระบบกึ่งรัฐสภา กึ่งประธานาธิบดี (semi-parliamentary-presidential system) ซึ่งทำให้ดูห่างไกลจากระบบรัฐสภาแบบขนานแท้และดั้งเดิม (classical parliamentary regime) ไม่ใช่น้อย และในขณะเดียวกันก็กระเดียดไปในทางระบบประธานาธิบดีมากกว่า ยิ่งเมื่อประกอบกับบุคลิกและความสามารถส่วนตัวของเดอโกลล์ ประธานาธิบดีคนแรกของสมัยสาธารณรัฐที่ 5 ซึ่งได้รับคะแนนนิยมและความไว้วางใจจากชาวฝรั่งเศสอย่างมาก ประธานาธิบดีจึงกลายเป็นสถาบันแห่งอำนาจ ซึ่งมีอำนาจมหาศาลกว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีฐานะเหนือองค์กรอื่นใด โดยเฉพาะรัฐสภากลับถดถอยลงจนไม่อาจทัดทานประธานาธิบดีได้ ต่อมาเมื่อหลังสมัยของเดอโกลล์พ้นไปแล้วอำนาจประธานาธิบดีคนต่อมา จึงได้ลดลงเหลือแต่เฉพาะตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น ส่วนแนวความคิดที่ว่าจะให้ฝ่ายบริหารไม่เป็นรองฝ่ายนิติบัญญัตินั้นเชื่อกัน ว่ามีที่มาจากความต้องการของเดอโกลล์เป็นหลัก จะเห็นได้ว่าความพยายามที่จะสร้างระบบการเมืองให้มีความมั่นคงและมี ประสิทธิภาพนั้น ได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลานาน จากตอนนั้น (ตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789) จนถึงตอนนี้ ประเทศฝรั่งเศสได้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหลายครั้ง คือ ได้มีการจัดตั้งสาธารณรัฐ 5 ครั้งและได้มีการเปลี่ยนมาใช้ระบอบจักรวรรดิ 2 ครั้ง ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงอาจจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ ฉะนั้น ฝรั่งเศส ในรอบ 200 กว่าปีมานี้ จึงมีรัฐธรรมนูญมาแล้วไม่น้อยกว่า 9 ฉบับ ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่สูงมากในยุโรปตะวันตก สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น มีชื่อในภาษาฝรั่งเศสว่า la Cinqui?me R?publique หรือ รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐที่ 5 นั่นเอง

9.3 รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐที่ 5

    รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐที่ 5 หรือที่มักเรียกกันว่า "ฉบับเดอโกลล์" ประกาศใช้เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1958 มาจนกระทั่งถึงบัดนี้กว่า 46 ปีแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้เข้าได้กับสถานการณ์ทางการเมืองต่างๆ ที่เกิดเปลี่ยนแปลงไป ในแต่ละยุค แต่ละสมัย รัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงถูกแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดบางส่วนอยู่เสมอๆ หลายครั้ง เช่น การให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง (1962) การเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับการรับโทษทางอาญาของรัฐมนตรี (1993) การให้มีการประชุมสภาเพียงสมัยเดียว การขยายขอบข่ายที่จะให้มีการออกเสียงประชามติ (1995) การกำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับสถานภาพของนิวแคลีโดเนีย (1998) การจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจและเงินตรา การให้หญิงและชายมีสิทธิเท่าเทียมกันสำหรับการอยู่ในวาระเลือกตั้งและการ ดำรงตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้ง การยอมรับขอบข่ายอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ (1999) การลดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี (2000)เป็นต้น ดังนั้น รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับนี้ ซึ่งรวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมด้วย จึงมีทั้งสิ้น 15 หมวด (Title) รวมจำนวน 90 มาตรา (Article)

     เจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ ปรากฏอยู่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับนี้  ซึ่งได้ยืนยันรับรองปฏิญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองที่ได้ประกาศเมื่อ ค.ศ. 1789 และคำปรารภอันยืดยาวของรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐที่ 4ค.ศ. 1946 เขียนไว้ 3 หน้า รวมถึงได้ประกาศสิทธิในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพิ่มเติมรวมไว้ในส่วนต้นนี้ด้วย

     กล่าวคือ รัฐธรรมนูญนี้ได้นำเอาหลักการในปฏิญญาดังกล่าวมาใช้เป็นส่วนหนึ่ง ก็คือ การประกันความเสมอภาคเท่าเทียมกันตามกฎหมายของพลเมืองทุกคน โดยปราศจากการแบ่งแยกชาติกำเนิด ผิวพรรณ หรือศาสนา ตลอดจนเพศ รัฐจะต้องให้การยอมรับและเคารพในความเชื่อถือศรัทธาของพลเมืองแต่ละคนเพื่อ จุดหมายปลายทางร่วมกัน คือ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ นั่นเอง

     อีกทั้งยังได้เน้นย้ำถึงหลักการของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ด้วย ดังความในมาตรา 2 ที่ว่า รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน หรือตามมาตรา 3 ที่ว่า อำนาจอธิปไตยแห่งชาติเป็นของประชาชน โดยที่สามารถใช้ได้ทั้งโดยผ่านทางผู้แทนของเขาเหล่านั้น และโดยตรงผ่านการออกเสียงลงประชามติ

    แน่นอน หลักการสำคัญอีกประการหนึ่ง อันเป็นเนื้อหาของรัฐธรรมนูญนี้ ในลำดับต่อๆ ไป นั่นก็คือการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งเป็นการแบ่งแยกอำนาจอย่างผ่อนคลาย ได้มีการแบ่งแยกองค์กรเป็นรัฐสภา รัฐบาลและศาล แต่ก็ยังยอมให้แต่ละองค์กรมีความสัมพันธ์และควบคุมกันได้ตามสมควรด้วย

9.4 สถาบันการเมืองการปกครอง

     โดยที่รัฐธรรมนูญได้ระบุบทบาทหน้าที่ของสถาบันต่างๆ ของสาธารณรัฐที่ 5 เอาไว้มาก โดยนำเอากฎเกณฑ์บางเรื่องในระบบอังกฤษมาผสมกับระบบอเมริกัน และระบบเดิมของฝรั่งเศสเอง จึงสรุปได้ว่า ระบบการเมืองในสมัยสาธารณรัฐที่ 5 เป็นประชาธิปไตยในแบบกึ่งรัฐสภา กึ่งประธานาธิบดี ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 ฝ่าย ดังนี้

      ในส่วนของ อำนาจบริหาร (Executive Power) นั้น ผู้ใช้ คือ ประธานาธิบดี กับ รัฐบาลที่ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีซึ่งประธานาธิบดีแต่งตั้ง แต่จะต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อรัฐสภา สำหรับ อำนาจนิติบัญญัติ (Legislative Power) นั้น รัฐสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร กับ สภาสูง เป็นผู้ใช้อำนาจนี้และยังทำหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของรัฐบาลให้เป็น ไปตามที่เสนอไว้ต่อสภา และมีอำนาจลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐบาลด้วย แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าประธานาธิบดีก็มีอำนาจยุบสภาผู้แทนฯ ได้เช่นกัน สำหรับ อำนาจตุลาการ (Judicial Power) ซึ่งผู้ใช้ ก็คือ ศาล นั้น ถูกจัดให้เป็นอิสระจากทุกฝ่าย

9.5 อำนาจบริหาร

    กรณีฝรั่งเศส ฝ่ายบริหารจะมีลักษณะผู้นำคู่ (Dual Executive) กล่าวคือ มีทั้งประธานาธิบดี เป็นประมุขแห่งรัฐ และผู้นำอำนาจบริหาร และก็มีนายกรัฐมนตรี อยู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ดังนั้น ในทางปฏิบัติ เมื่อกล่าวถึงรัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจบริหาร จึงหมายถึง สองสถาบัน คือ ประธานาธิบดี กับนายกรัฐมนตรี
      9.5.1 ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ 

         ประธานาธิบดี (หมวด 2) คือ ประมุขแห่งรัฐ และผู้นำอำนาจบริหาร ประธานาธิบดีซึ่งเป็นตำแหน่งประมุขของสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้มาจากการเลือก ตั้งทั่วไปโดยตรงของประชาชน  ตามระบบการเลือกตั้งสองรอบกล่าวคือ หากได้ผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด (absolute majority) จากผู้มาลงคะแนน คือ เกินกว่ากึ่งหนึ่ง ในรอบแรก (first ballot) จะถือว่าได้รับการเลือกตั้งทันที แต่ในกรณีที่ไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเสียงอย่างเด็ดขาด ก็จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในรอบที่สอง (second
ballot) ภายใน 2 สัปดาห์ โดยให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรกมาแข่งขันกันใหม่ ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากกว่าก็จะชนะการเลือกตั้ง โดยเป็นการนับคะแนนเสียงข้างมากธรรมดา (simple majority) ผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดี อาจจะเป็นตัวแทนของพรรคทางการเมืองหรือไม่เป็นก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ผู้สมัครจะมาจากพรรคการเมืองเกือบทุกพรรค


Elysee

Chirac
        ปัจจุบัน ประธานาธิบดีมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี (ตามประชามติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2000) จากเดิมที่มีวาระการดำรงตำแหน่งถึง 7 ปี ซึ่งตำแหน่งประธานาธิบดีก็มิได้ผูกพันกับวาระการดำรงตำแหน่งของรัฐสภา หรือ ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่อย่างใด และสามารถจะสมัครในสมัยที่ 2 หรือสมัยต่อไปได้เรื่อยๆกรณีที่ตำแหน่งว่างลงก่อนครบกำหนด ไม่ว่าโดยกรณีใดๆ อาทิ เสียชีวิต ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง ลาออก ผู้ที่จะทำหน้าที่รักษาการแทน ก็คือ ประธานวุฒิสภา เท่านั้น

         รัฐธรรมนูญได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดีเอาไว้ในหลายๆ มาตรา สามารถสรุปได้ดังนี้ 
        (1) ประธานาธิบดีมีหน้าที่เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอรายชื่อ (มาตรา 8)
        (2) ประธานาธิบดีมีอำนาจในการขอให้ประชาชนมีประชามติต่างๆ ตามข้อเสนอจากรัฐบาล หรือ จากสภาสูงกับสภาผู้แทนราษฎรร่วมกัน (มาตรา 11)
        (3) ประธานาธิบดีมีอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎรได้(มาตรา 12)
        (4) ประธานาธิบดีมีอำนาจพิเศษในการประกาศภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดวิกฤตการณ์ร้ายแรง (มาตรา 16)
        (5) ประธานาธิบดีมีหน้าที่เป็นผู้แต่งตั้งสมาชิก จำนวน 3 คน ในคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (มาตรา 56)
          นอกจากนี้ ประธานาธิบดีก็มีหน้าที่ในการเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี (มาตรา 9) ตลอดจนเป็นผู้นำของทุกเหล่าทัพ (มาตรา 15) รวมถึงยังมีสิทธิที่จะลงนามประกาศใช้กฎหมายต่างๆ ด้วย

      9.5.2 อำนาจขอประชามติ (Referendum)

         อำนาจสำคัญอำนาจหนึ่งของประธานาธิบดีที่ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญ มาตรา 11 ก็คือ ประธานาธิบดีสามารถขอให้ประชาชนลงคะแนนประชามติในร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรแห่งอำนาจสาธารณะ การให้สัตยาบันในข้อตกลงของประชาคม หรือ การมอบหมายอำนาจการให้สัตยาบันในสนธิสัญญา ตลอดจนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่ในการเสนอขอประชามตินั้น จะเกิดขึ้นโดยการเสนอจากรัฐบาล ในระหว่างที่สภาอยู่ในสมัยประชุม หรือ มาจากข้อเสนอขอร่วมของสภาสูงและสภาผู้แทนราษฎร การขอประชาชนให้ลงประชามติตามข้อเสนอของรัฐบาลนั้น นับแต่ปี 1958 เป็นต้นมา ได้มีการดำเนินการมาแล้ว 8 ครั้ง 

      9.5.3 อำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎร (Dissolution Power)

          เป็นอำนาจสำคัญของประธานาธิบดีที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 12 แห่งรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ประธานาธิบดีสามารถประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ ภายหลังที่ได้หารือกับนายกรัฐมนตรี
ประธานสภาสูง และประธานสภาผู้แทนราษฎร มีข้อยกเว้นที่ว่า ประธานาธิบดีไม่สามารถยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ ในขณะที่ประธานาธิบดีใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญมาตรา 16และในกรณีที่ได้มีการประกาศยุบสภาผู้แทนฯ ไปแล้ว และได้มีการเลือกตั้งสภาชุดใหม่เข้าไปทำหน้าที่ยังไม่ครบ 1 ปี การยุบสภาในสาธารณรัฐที่ 5 เกิดขึ้น 4 ครั้งด้วยกัน
      9.5.4 อำนาจฉุกเฉินในสถานการณ์พิเศษ (Implementation of special powers)    

          เป็นอำนาจพิเศษหรืออำนาจฉุกเฉินที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 16 โดยมีเหตุผลว่า ในกรณีที่สถาบันหลักแห่งสาธารณรัฐ เอกราชแห่งชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน หรือ การปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศถูกคุกคามในลักษณะที่เป็นอันตราย รวมทั้งกรณีการปฏิบัติภารกิจยามปกติของรัฐตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญถูกขัดขวางด้วยวิธีใดๆ ก็ตามประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสามารถดำเนินมาตรการทุกอย่างตามความเหมาะสม ซึ่งในภายหลังการปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการกับนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานสภาสูง และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ และจะต้องแถลงต่อประชาชนในเรื่องที่ได้กระทำลงไป ฉะนั้น ในช่วงของการใช้มาตรา 16 ประธานาธิบดีจึงเป็นผู้เดียวที่จะตัดสินใจในปัญหาสำคัญของชาติ ทำให้มาตรานี้ถูกคัดค้านในช่วงของการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ โดยเหตุผลที่ว่าจะทำให้ผู้ใช้อำนาจนี้กลายเป็นเผด็จการได้โดยง่าย ในที่สุด จึงมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ในขณะที่กำลังใช้อำนาจตามมาตรา 16 หรือ อำนาจพิเศษนี้ ประธานาธิบดีจะยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้

          สำหรับเหตุผลของการบัญญัติมาตรา 16 เอาไว้ สืบเนื่องจาก นายพลเดอโกลล์ เห็นว่าอำนาจของฝ่ายบริหารไม่เพียงพอ ทำให้การตัดสินใจที่เด็ดขาด รวดเร็วฉับพลัน ทำไม่ได้ ดังกรณีที่เคยเกิดขึ้นในสาธารณรัฐที่ 3 และที่ 4 การบัญญัติมาตราดังกล่าว เป็นผลมาจากการที่ เดอโกลล์ เคยเผชิญกับเหตุการณ์สำคัญในเดือน พฤษภาคม 1940 เมื่อเขาเผชิญกับการบุกของกองทัพเยอรมนี ทว่า อำนาจตัดสินใจกลับกลายเป็นอัมพาตโดยที่ฝ่ายบริหารไม่สามารถดำเนินการใดๆ ให้ทันต่อเหตุการณ์ได้เลย

           นับตั้งแต่ ค.ศ. 1958 เป็นต้นมา ได้มีการประกาศใช้อำนาจพิเศษนี้ เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ในช่วงระหว่างวันที่ 25 เมษายน จนกระทั่งถึง 30 กันยายน ค.ศ. 1961 เนื่องจากเกิดกรณีการแข็งข้อพยายามก่อกบฏของกองทัพฝรั่งเศสในอัลจีเรีย โดยที่ในช่วงเวลาของการประกาศใช้มาตราดังกล่าวนั้น จะมีการควบคุมเอกสารสิ่งพิมพ์เป็นกรณีๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องวางตัวเป็นกลาง และมีการจัดตั้งศาลพิเศษ เพื่อพิจารณาผู้ก่ออาชญากรรมอย่างรุนแรง หรือ บุคคลที่จะบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ
 
      9.5.5 คณะรัฐบาล
              9.5.5.1 คณะรัฐบาล (The Government)

                  คณะรัฐบาล (The Government)
 คือ สถาบันทางการเมืองที่ใช้อำนาจบริหารภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี (อันประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี กับ  รัฐมนตรี) ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดนโยบายของประเทศ และเป็นผู้ดำเนินงานให้เป็นไปตามแนวนโยบายดังกล่าว ทำให้มีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยงานของรัฐบาลและเหล่าทัพอีกทั้งรัฐบาลยังเป็น ผู้รับผิดชอบในการตรากฎหมาย และสามารถเสนอร่างกฎหมายได้เช่นเดียวกับรัฐสภาอีกด้วย
               ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรสามารถเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ ในกรณีที่ไม่เห็นชอบในแผนงานหรือนโยบายทั่วไปทางการเมืองของรัฐบาล หากว่ารัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล รัฐบาลก็จะต้องลาออกตามประเพณีปฏิบัติของระบบรัฐสภา 
              9.5.5.2 นายกรัฐมนตรี (Prime Minister)

               นายกรัฐมนตรี (Prime Minister) อยู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี จึงต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อประธานาธิบดี ส่วนวาระการดำรงตำแหน่งนั้น จะขึ้นอยู่กับประธานาธิบดี เพราะว่าประธานาธิบดีสามารถที่จะปลดผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งเมื่อใดก็ย่อมได้ แน่นอนว่า นายกรัฐมนตรีมักจะมาจากผู้นำเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร หรือ บุคคลที่ประธานาธิบดีไว้วางใจ ซึ่งอาจเป็นบุคคลที่ มิใช่ เป็นสมาชิกรัฐสภาก็ได้ แต่หากมาจากสมาชิกรัฐสภา ก็จะต้องให้พ้นจากตำแหน่ง จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาในขณะเดียวกันไม่ได้ (มาตรา 23) นายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา (มาตรา 20) กับประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำกับดูแลกิจการต่างๆ ของฝ่ายรัฐบาลและดูแลการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ (มาตรา 21)

Jospi
              9.5.5.3 รัฐมนตรี (Ministers)

                รัฐมนตรี (Ministers) เป็นผู้ที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจเลือกแล้วเสนอชื่อต่อประธานาธิบดีให้แต่ง ตั้ง แต่หากมาจากสมาชิกรัฐสภาก็จะต้องพ้นจากตำแหน่ง จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาในขณะเดียวกันไม่ได้จะดำรงตำแหน่งสิ้น สุดวาระเช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี

สรุปอำนาจบริหาร

      เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 20 จะเห็นว่า การกำหนดนโยบายของชาติเป็นหน้าที่ของรัฐบาล โดยที่ ประธานาธิบดี ไม่ใช่ รัฐบาลๆ คือ คณะรัฐมนตรี เท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ประธานาธิบดีทุกคนในสาธารณรัฐที่ 5 ล้วนแล้วแต่มีบทบาทอยู่ในฐานะผู้นำหรือ เป็นผู้ ชี้นำ ในการกำหนดนโยบายบริหารประเทศของรัฐบาล ทั้งหมด ทั้งสิ้นโดยเฉพาะการมีอำนาจอย่างแท้จริงในเรื่องอันเกี่ยวเนื่องกับนโยบายที่อยู่เหนือรัฐบาล อาทิเช่นด้านต่างประเทศ การป้องกันประเทศ ด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น

      กรณีศึกษา เช่น ในสมัยเดอโกลล์ ประธานาธิบดีทำตัวเหมือนหัวหน้ารัฐบาลตัวจริง ทั้งนี้ด้วยความยินยอมของคณะรัฐมนตรี บ่อยครั้งที่การแก้ปัญหาของประเทศต้องเป็นไปตามนโยบายของเดอโกลล์ นายกรัฐมนตรีเกือบไม่มีบทบาทอะไรนอกจากเป็นแม่บ้านของคณะรัฐมนตรี เดอโกลล์เองก็ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์บ่อยๆ จนกลายเป็นศูนย์กลางของการให้ข่าวและการวิจารณ์การเมืองทั้งในและนอกประเทศ ระบบอย่างนี้มีผู้เรียกว่า เป็นแบบเผด็จการโดยเดอโกลล์ แต่ความที่เดอโกลล์ได้รับความนิยมและความไว้วางใจจากประชาชนมากในฐานะ วีรบุรุษสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และในฐานผู้เข้ามาแก้วิกฤติการณ์ของประเทศโดยการสถาปนาสาธารณรัฐที่ 5 ขึ้น จึงไม่มีเสียงไปในทำนองรังเกียจ หรือ โต้แย้งอย่างมากนัก ในแง่สิทธิเสรีภาพ ประชาชนก็ยังคงมีอยู่อย่างเดิม และอาจมากกว่าสมัยสาธารณรัฐที่ 3 และ 4 เสียด้วยซ้ำ การเลือกตั้งก็ยังมีอยู่ ฝ่ายค้านก็ยังทำหน้าที่ได้ดีแต่รัฐสภาไม่อาจที่จะควบคุมรัฐบาลได้เต็มที่ เพราะนโยบายของรัฐบาลเป็นนโยบายของเดอโกลล์ ซึ่งไม่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา นานเข้ารัฐสภา รัฐบาล และประธานาธิบดี ก็เกือบกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 

       โดยนัยนี้ เมื่อกล่าวถึงอำนาจบริหาร จึงต้องหมายถึงทั้งอำนาจของประธานาธิบดีและอำนาจของคณะรัฐบาล อ้างอิงตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้บัญญัติไว้โดยสรุปดังนี้
        (1) รัฐบาลมีหน้าที่กำหนดและบริหารนโยบายแห่งชาติ ควบคุมดูแลการบริหารงานของรัฐการป้องกันประเทศ และการรับผิดชอบต่อสภา
       (2)นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำในการดำเนินงานของรัฐบาล เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกันประเทศ บริหาร
งานตามที่กฎหมายกำหนดแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางพลเรือน และทางทหาร (เว้นแต่ตำแหน่งที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของประธานาธิบดี)นายกรัฐมนตรีสามารถ มอบหมายอำนาจบางอย่างให้แก่รัฐมนตรีแต่ละคนตามที่เห็นสมควร
       (3) นายกรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่แทนประธานาธิบดีเป็นการชั่วคราวในกรณีที่ ประมุขแห่งรัฐไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในตำแหน่งประธานกรรมการบางตำแหน่ง เช่น ประธานสภากลาโหม ประธานที่ประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งปกติผู้ทำหน้าที่ประจำประธานาธิบดี
        (4) นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาบรรดารัฐมนตรีในคณะรัฐบาล และเป็นตัวแทนของรัฐมนตรีทั้งคณะ
           กล่าวโดยสรุป ประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศและเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรี และเสนอให้ประธานาธิบดีทำ
การแต่งตั้ง คณะรัฐบาลต้องแถลงนโยบายต่อสภา เมื่อได้รับความไว้วางใจแล้ว จึงจะเข้าบริหารประเทศได้ กระนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ได้แยกตำแหน่งรัฐมนตรีออกจากสมาชิกรัฐสภา คือ ห้ามการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเวลาเดียวกันจุด ประสงค์ก็เพื่อต้องการสกัดความทะเยอทะยานของสมาชิกสภาฯ ที่ต้องการจะเป็นรัฐมนตรี อันเป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่สมัยสาธารณรัฐก่อนๆ นั่นเอง

        แต่ทว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ร่างขึ้นโดยยึดหลักการขั้นพื้นฐานของ ระบบรัฐสภา นั่นก็คือ ความรับผิดชอบทางการเมืองต่อรัฐสภา ด้วยเช่นกัน ดังนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจึงต้องรับผิดชอบต่อนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภา ก่อนบริหารประเทศ หรือต่อร่างกฎหมายที่สำคัญๆ ของตนต่อสภาขณะบริหารประเทศ ในกรณีที่รัฐสภาลงมติไม่รับรอง หรือ ไม่เห็นด้วย หรือ รัฐบาลแพ้ญัตติไม่ไว้วางใจ คณะรัฐบาลจะต้องลาออกตามประเพณีปฏิบัติของระบบรัฐสภาโดยทั่วไป

        แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องลงนามสนองการออกคำสั่งทาง การเมืองของประมุขแห่งรัฐ และรับผิดชอบแทนประธานาธิบดีในหลายๆ เรื่องฉะนั้นรัฐบาลจึงเสมือนเป็น กันชนระหว่างรัฐสภากับประธานาธิบดี กล่าวคือ ในทางปฏิบัติรัฐบาลต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อสภาแทนประธานาธิบดี ทั้งๆ ที่การกำหนดนโยบายเป็นอำนาจและการกระทำของประธานาธิบดี นอกจากนั้นหากมีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและรัฐสภา ซึ่งหมายถึง สภาผู้แทน ประธานาธิบดีสามารถที่จะพิจารณาตัดสินใจยุบสภาผู้แทนตามมาตรา 12 หรือจะเลือกตัดสินใจปลดนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 8 ก็ได้ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ชื่อ ฌาคส์ ชีรัก เขาดำรงตำแหน่งนี้เป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 5พฤษภาคม 2002 หลังจากที่เขาได้รับเลือกตั้งครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 1995เขานับเป็นประธานาธิบดีคนที่ 5 ของสาธารณรัฐที่ 5 ของฝรั่งเศส

        ขณะที่ ฌอง ปิแอร์ ราฟฟาแรง ก็คือ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีชีรัก เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2002 หลังจากที่นายชีรักได้รับเลือกตั้งอีกเป็นวาระที่ 2 โดยพรรค UMP (Union pour la Majorit? Pr?sidentielle) ที่นายราฟฟาแรงสังกัดได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2002
 
9.6 อำนาจนิติบัญญัติ

     ผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา ซึ่งคงลักษณะเป็นระบบทวิสภา ประกอบด้วยวุฒิสภา หรือสภาสูง (Senate) กับ สภาผู้แทนราษฎร หรือ สมัชชาแห่งชาติ (National Assembly)สำหรับอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติฝรั่งเศสนั้น ก็ไม่ต่างไปจากอำนาจนิติบัญญัติของประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบมี ตัวแทนอื่นๆ เท่าใดนัก ความแตกต่างจะอยู่ที่ ความเด็ดขาดของอำนาจแห่งรัฐสภา ในการตรากฎหมายและการควบคุมรัฐบาลตามประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสนั้น นับตั้งแต่ ค.ศ. 1789 รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ก็ให้อำนาจรัฐสภามาก จนบางครั้งกลายเป็นอำนาจเผด็จการโดยรัฐสภา แต่ในบางสมัยอำนาจของรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติก็ถูกจำกัดลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1958 ทำให้มีผลการเปลี่ยนแปลงอำนาจของสถาบันทางการเมืองระหว่างสถาบันนิติบัญญัติ กับองค์กรบริหารเป็นอย่างมาก

      รัฐสภาของฝรั่งเศส ซึ่งเคยเป็นองค์กรนิติบัญญัติที่มีอำนาจสูงสุด องค์กรหนึ่งในโลก ในสาธารณรัฐที่ 3 และ 4 กลับกลายเป็นองค์กรนิติบัญญัติที่อ่อนแอและมีอำนาจน้อยที่สุด รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารของฝรั่งเศส ซึ่งเคยเป็นสถาบันบริหารที่อ่อนแอที่สุดในสาธารณรัฐที่ 4 กลับกลายเป็นสถาบันบริหารที่มีอำนาจที่สุดในโลกสถาบันหนึ่งในสาธารณรัฐที่ 5
 
     9.6.1 รัฐสภา
              9.6.1.1 สภาผู้แทนราษฎร 




        Assemblee nationale
            ปัจจุบัน ฝรั่งเศสมีจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (Depute) ทั้งสิ้น 577 คน (แล้วแต่จำนวนประชากรในแต่ละจังหวัด) ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากพลเมืองที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในแต่ละเขตเลือกตั้ง เขตละ 1 คน โดยวิธีการลงคะแนนใช้ระบบเสียงข้างมากสองรอบ และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี แต่อาจจะมีการเลือกตั้งก่อนกำหนดหากมีการยุบสภา
                     9.6.1.1.1 การเลือกตั้ง ส.ส.

                  การเลือกตั้ง ส.ส. รัฐธรรมนูญได้บัญญัติวิธีการเลือกตั้งไว้ในมาตรา 24 ว่าจะต้องเป็นแบบโดยตรง (suffrage universaldirect) โดยประชาชนที่มีสิทธิตามกฎหมายจะเลือกตั้งผู้แทนของตนในแต่ละเขตเลือกตั้ง ได้เขตละ 1 คน วิธีการลงคะแนนใช้ระบบเสียงข้างมาก 2 รอบ (Two ballot system) เช่นเดียวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี กล่าวคือ การแข่งขันในรอบแรกเปิดกว้างสำหรับบุคคลโดยทั่วไป ผู้สมัครจะสังกัดพรรค หรือ จะอิสระก็ได้ แต่เมื่อการลงคะแนนเสร็จสิ้น ผู้ที่ได้คะแนนเกินกว่าครึ่งของผู้มาลงคะแนน ก็จะได้รับเลือกตั้งทันที เป็นการนับคะแนนแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด แต่หากไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเสียงเด็ดขาด ก็ให้เลือกตั้งใหม่ในรอบที่สอง โดยให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรกมาแข่งขันกันใหม่ ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดก็ชนะการเลือกตั้ง โดยเป็นการนับคะแนนแบบเสียงข้างมากธรรมดา นั่นเองผลของการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดที่มีขึ้นเมื่อวันที่9 และ 16 มิถุนายน 2002 นั้น ปรากฏว่า พรรค UMP ได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ถึงกว่า 400 เสียงตามรัฐธรรมนูญการสิ้นสุดของตำแหน่ง หรือ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นอกจากครบวาระตามปกติ คือ 5 ปีแล้วนั้น สาเหตุของการสิ้นสุดอื่นๆ ก็ได้แก่ การตาย การลาออก การที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ การที่สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบก่อนครบ 5 ปี การที่สมาชิกสภาผู้แทนไปรับตำแหน่งฝ่ายอื่นๆ ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีตุลาการรัฐธรรมนูญ สำหรับในกรณีหลังนี้ ตัวสำรองจะดำรงตำแหน่งแทนทันที แต่หากตัวสำรองพ้นจากสมาชิกภาพโดยวิธีใดๆ หรือ เสียชีวิตให้ถือว่าตำแหน่งของสมาชิกรัฐสภาตำแหน่งหรือ ที่นั่งนั้นว่างลงและจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อมต่อไปสำหรับการจัดตั้งสถาบันนิติบัญญัตินั้น ก็เพื่อทำหน้าที่สำคัญในด้านนิติบัญญัติ เช่น ตรากฎหมาย (กระบวนการตรากฎหมาย มี 3 ระยะ คือการเสนอร่าง การอภิปราย และการอนุมัติร่างกฎหมาย) ควบคุมการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหาร (กรณีนี้ เฉพาะสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ที่มีอำนาจในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และสามารถลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งอาจมีผลให้รัฐบาลต้องลาออกได้ ในที่สุด) ควบคุมการใช้จ่าย และรายได้ของรัฐ การทำหน้าที่เฉกเช่นตัวเชื่อมระหว่างผู้เลือกตั้งกับผู้บริหารประเทศ เป็นต้น

      9.6.2 วุฒิสภา 




        Senat
         สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม (suffrage universal indirect) จากคณะผู้เลือกตั้งในแต่ละส่วนของประเทศ (ซึ่งแบ่งเป็น region, department และ commune)
อันได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภามณฑล สมาชิกสภาจังหวัด และสมาชิกสภาเทศบาล ซึ่งแต่ละเขตเลือกตั้ง หรือ จังหวัด จะมีจำนวนสมาชิกสภาสูงไม่เท่ากัน (แต่จะต้องอยู่ระหว่าง 2 คน ถึง 8 คน) จึงถือว่าสมาชิกสภาสูงเป็นตัวแทนขององค์กรการปกครองต่างๆ โดยที่ส่วนใหญ่ มักจะมีคุณวุฒิ วัยวุฒิ และประสบการณ์ทั้งสิ้น

         จำนวนสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อเดือนกันยายน 2001 มี 321 คน การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจะกระทำทุกๆ 3 ปี แต่สมาชิกทั้งหมดในสภาสูงจะได้รับเลือก
ให้อยู่ในตำแหน่งคราวละ 9 ปี ดังนั้น จึงต้องมีการแบ่งจำนวนที่นั่งออกเป็น 3 ชุด โดยที่ทุกๆ 3 ปี ย่อมต้องมีอยู่หนึ่งชุดเสมอที่จะต้องออกไป (โดยที่ 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดจะได้รับการเลือกตั้งใหม่ทุก 3 ปี) เป็นเช่นนี้เรื่อยมา

         ปัจจุบัน วุฒิสภามีอำนาจในการพิจารณาร่างกฎหมาย โดยทำหน้าที่ดูแล กลั่นกรอง ร่างกฎหมาย ที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎร หรือ อาจจะเป็นองค์กรที่ริเริ่มเสนอร่างกฎหมาย
เพื่อผ่านไปสู่สภาล่างก็ย่อมได้จุดประสงค์สำคัญของสภาสูง ก็คือ เป็นองค์กรถ่วงดุล หรือ คานอำนาจสภาล่าง นั่นเอง
 
              9.6.2.1 ระบบตัวสำรอง 

               ระบบตัวสำรอง 
มีการกำหนดลักษณะพิเศษไว้แก่สมาชิกรัฐสภาของฝรั่งเศส(ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา) คือ การกำหนดให้ผู้สมัคร
รับเลือกตั้งแต่ละคนจะต้องมีตัวสำรอง (Running mate) เอาไว้ด้วย โดยเงื่อนไขว่าหากผู้ได้รับเลือกตั้ง หรือว่าเป็นสมาชิกรัฐสภา แล้วได้เข้าดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี) เกินกว่า 1 เดือน รวมทั้งการที่สมาชิกรัฐสภาไปดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ ตัวสำรองก็จะเข้ารับหน้าที่แทน และมีฐานะเป็นสมาชิกรัฐสภา คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สมาชิกวุฒิสภา โดยสมบูรณ์ และสามารถดำรงตำแหน่งต่อจากระยะเวลาที่เหลือของตัวจริงได้จนครบ 5 ปี หรือจนกว่าจะมีการยุบสภาเหตุผลของการมีตัวสำรอง ก็เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการขัดกับตำแหน่งของสมาชิกรัฐสภาและตำแหน่งในฝ่าย บริหาร ดังหลักการตามรัฐธรรมนูญที่ว่า สมาชิกรัฐสภาจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในขณะเดียวกันไม่ได้ รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ ที่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ อาทิ ตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญ ตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมีรายได้ตอบแทนอันมิได้มาจากการเลือกตั้งอื่นๆ ตลอดจนห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกพร้อมกันกับดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้ แทนในเวลาเดียวกันอีกด้วย

9.7 อำนาจตุลาการ

    ในส่วนของอำนาจตุลาการนั้น ถือว่าเป็นอิสระจากทุกฝ่ายๆ ฝรั่งเศสมี ศาลยุติธรรม ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีทั่วไปเท่านั้น ไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่า กฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังกรณีศาลยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา อำนาจวินิจฉัยเช่นนี้กลับตกอยู่แก่ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ หรือ สภารัฐธรรมนูญ (Conseil Constitutional) ซึ่งทำหน้าที่วินิจฉัยก่อนจะมีการประกาศใช้เป็นกฎหมาย นอกจากนั้นศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจควบคุมฝ่ายปกครองอีกด้วย อำนาจในการวินิจฉัยคดีปกครองตกอยู่แก่ ศาลปกครองสูงสุด หรือ สภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ (Conseil d' Etat)

Conseil Constitutional

      9.7.1 ตุลาการรัฐธรรมนูญ 

         คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้ปกปักษ์รักษาพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามที่ถูกกำหนดไว้ในหมวด 7 ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ประกอบด้วยตุลาการจำนวนทั้งสิ้น 9 คน ตามข้อห้ามใน
รัฐธรรมนูญนั้น ห้ามมิให้ตุลาการรัฐธรรมนูญ ดำรงตำแหน่งใดในคณะรัฐบาล หรือ ฝ่ายบริหาร รวมทั้งตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาในเวลาเดียวกัน ตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญมีวาระการทำงาน 9 ปี และเป็นตำแหน่งที่ไม่สามารถต่อวาระการทำงานได้ และในขณะเดียวกัน ก็จะไม่มีการปลดตุลาการออกจากตำแหน่งด้วย โดยที่ตุลาการ 3 คนได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ส่วนอีก 6 คน จะได้รับการแต่งตั้งจากวุฒิสภา 3 คน และจากสมัชชาแห่งชาติอีก 3 คน

         รัฐธรรมนูญได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไว้อย่างชัดเจน สถาบันนี้เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดในการตัดสินใจทางด้านกฎหมาย และมีบทบาทหน้าที่
หลักใน การควบคุมกฎหมาย โดยการตรวจสอบ และดูแลความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยกฎหมายใดๆ ซึ่งจะออกใช้ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่(โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก่อนที่จะมีการประกาศใช้เป็นกฎหมาย) ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันมิให้ร่างกฎหมายใดๆ ที่ผ่านการลงคะแนนเสียงโดยรัฐสภาขัดต่อเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญ ขัดต่อสนธิสัญญาซึ่งร่วมทำกับต่างประเทศอื่นใด

          นอกจากนี้แล้ว คณะตุลาการรัฐธรรมนูญยังมีหน้าที่ การควบคุมการเลือกตั้ง (เช่นเดียวกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540)
คือ เป็นผู้ดูแล และตรวจสอบความถูกต้องของการเลือกตั้งในระดับชาติ ตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดี และการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ให้ดำเนินไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมโดยเป็นองค์กรที่จะประกาศรับรองผลขั้น เด็ดขาดของการเลือกตั้งดังกล่าว ในกรณีที่มีประชาชนหรือนักการเมืองร้องเรียนว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา มีการกระทำที่ผิดกฎหมายผู้ที่จะตัดสินชี้ขาดในกรณีนี้ คือ ตุลาการรัฐธรรมนูญ ทั้งยังรวมถึงการดูแลความถูกต้องในการแสดงประชามติอีกด้วย

          โดยผู้ที่สามารถเสนอให้ตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นต่างๆ ได้ ก็คือ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา นั่นเอง
 
       9.7.2 องค์กรตุลาการอื่นๆ 

         โครงสร้างขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งถือว่าเป็นผู้ปกปักษ์รักษาเสรีภาพส่วนบุคคล (guardian of individual liberty) ตามมาตรา 66 แห่งรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ศาลปกครอง ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาข้อพิพาทระหว่างประชาชนและหน่วยงานของรัฐ และศาลยุติธรรม ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาข้อพิพาทระหว่างประชาชนด้วยกันเอง
        9.7.3 ศาลปกครอง

          ประกอบด้วยศาลปกครองชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลปกครองสูงสุด (ที่เรียกว่า Conseil d’ Etat) ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของศาลประเภทนี้เช่นกัน แน่นอน ศาลปกครอง มีอำนาจในการ
พิจารณาวินิจฉัยคดีทางปกครอง เพื่อควบคุมฝ่ายปกครอง ไม่ให้ ใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต ศาลปกครองสามารถเพิกถอนคำสั่งของฝ่ายปกครอง หรือ สั่งให้ฝ่ายปกครองชดใช้ค่าเสียหายได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่พอใจ หรือ ได้รับความเสียหายจากคำพิพากษาของศาลนี้ สามารถที่จะคัดค้านได้ โดยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด สำหรับคดีความระหว่างหน่วยงานของรัฐและประชาชน เขตอำนาจศาลสูงสุด คือ ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งจะทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาความชอบด้วยกฎหมายของนิติกรรมทางการปกครองและ กฎระเบียบต่างๆ ที่ออกโดยฝ่ายปกครอง อีกทั้งยังพิจารณาพิพากษา คำอุทธรณ์ คำตัดสินของศาลปกครองชั้นต้นมาอีกด้วย ในกรณีคดีที่ฟ้องร้องไม่กระทำผ่านศาลปกครองชั้นต้นนั้น ประชาชนสามารถยื่นฟ้องโดยตรงต่อศาลปกครองสูงสุดที่ซึ่งสามารถพิจารณาพิพากษา คำร้องเบื้องต้น หรือสามารถรื้อฟื้นคดีอีกได้ คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดนั้น จึงถือว่าเป็นที่สุด

          ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการถูกกล่าวโทษในหน้าที่ ก็สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้ หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็จะพิจารณาให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นกลับเข้ารับหน้าที่เช่นเดิม พร้อมทั้งได้รับเงินเดือนย้อนหลังนับตั้งแต่ถูกพักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกถอดออกจากตำแหน่งสามารถฟ้องร้องต่อผู้บังคับบัญชา สูงสุดที่รับผิดชอบในกรณีที่ถูกพักงาน หากเขาเชื่อว่าผู้บังคับบัญชาปฏิบัติมิชอบ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ผู้เสียหายสามารถที่จะฟ้องร้องต่อองค์กรที่สังกัด หากเชื่อว่า การที่เขาถูกสั่งพักงานเป็นไปโดยความผิดพลาด และสะเพร่า เป็นต้นซึ่งศาลปกครองสูงสุดจะทำการพิจารณาพิพากษาคดีเหล่านี้ประมาณปีละกว่า 3,000 คดี  นอกจากนี้ศาลปกครอง ยังเป็นที่ปรึกษารัฐบาลเกี่ยวกับร่างกฎหมาย หรือ กฤษฎีกาบางฉบับที่รัฐบาลส่งเรื่องมาเพื่อขอทราบความเห็นอีกด้วย

       9.7.4 ศาลยุติธรรม

         ศาลยุติธรรม ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีทั่วไป นอกจากประกอบด้วยศาลแพ่งและอาญา ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นแล้ว ยังประกอบด้วยศาลฎีกา ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมชั้นสูงสุดที่จะรับผิดชอบเฉพาะการพิจารณาตรวจสอบ ข้อกฎหมายของอรรถคดีที่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เท่านั้น

9.8 กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
     สุดท้าย ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐที่ 5 นั้น สามารถจะกระทำได้ตามหมวด 14 (Amendment) แต่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐเอาไว้ สำหรับผู้ที่มีสิทธิในการริเริ่มเสนอให้แก้ไขได้นั้น ซึ่งจะมีเพียงประธานาธิบดีตามการเสนอความเห็นของนายกรัฐมนตรี และสมาชิกของรัฐสภาเท่านั้น โดยที่ข้อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนและวุฒิสภาตามลำดับ และถ้าประธานาธิบดีเห็นสมควร อาจขอให้ประชาชนออกเสียงแสดงประชามติว่าเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอหรือไม่ก็ได้ โดยที่การขอแก้ไขจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีการออกเสียงแสดงประชามติแล้ว

     เมื่อเทียบกับกฎหมายรัฐธรรมนูญอังกฤษ และรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาแล้ว รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐที่ 5 ถือว่ายังค่อนข้างใหม่ ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐ ซึ่งจัดรูปแบบของรัฐบาลเลียนแบบระบบรัฐสภา แต่มีประธานาธิบดีที่มีอำนาจมากภายใต้การผสมผสาน กฎเกณฑ์การปกครองอันโดดเด่นของทั้งอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาและระบบเดิมของฝรั่งเศสเอง คลุกเคล้าเข้าด้วยกันอย่างลงตัว อนึ่ง ควรสังเกตว่า ท่ามกลางความผันผวนนานัปการ แม้ดูจะสับสนวุ่นวาย แต่ฝรั่งเศสก็เป็นต้นแบบได้ ในเรื่องของ การเปลี่ยนแปลงการทดลอง และการแสวงหา และแน่นอนว่า การแสวงหานั้น ย่อมมีคุณค่า และอิทธิพลมหาศาลต่อชาวโลกเช่นกัน
 
เชิงอรรถ
[1] http://www.ambafrance-th.org/index.cfm
[2] วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ : แสวงสุทธิการพิมพ์, 2530)
[3] สุรพล ราชภัณฑารักษ์, ประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศส ใน ประชาธิปไตย : อุดมการณ์              หลักการ   และแบบอย่างการปกครองหลายประเทศ, (กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,           2543)
[4] วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, อ้างแล้ว
[5] http://www.ambafrance-th.org/index.cfm
[6] ต้นฉบับภาษาอังกฤษมีดังนี้ : The French people hereby solemnly proclaim their dedication to the Rights of Man and the principle of national sovereignty as defined by the Declaration of 1789, reaffirmed and complemented by the Preamble to the 1946 Constitution. By virtue of these principles and that of the free determination of peoples, the Republic offers to the Overseas Territories expressly desiring this to adhere to them new institutions based on the common ideal of liberty, equality, and fraternity and conceived with a view to their democratic evolution.
[7] สุรพล ราชภัณฑารักษ์, อ้างแล้ว
[8]  http:// www.elysee.fr
[9] ในช่วงต้นของสาธารณรัฐที่ 5 การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ก็ยังคงใช้วิธีการเดิม คือ การเลือกตั้งโดยทางอ้อมจากคณะผู้เลือกตั้ง โดยมีการประชุมร่วมกันของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภามณฑล สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาเทศบาลทั่วทั้งประเทศ และที่ประชุมจะลงมติเลือกผู้สมัครให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโดยถือคะแนนเสียงข้างมาก แต่ต่อมาในปี 1962 ได้มีประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงจากประชาชน
[10]  http://www.elysee.fr/ang/pres/index.htm
[11] สุรพล ราชภัณฑารักษ์, อ้างแล้ว
[12] สุรพล ราชภัณฑารักษ์, อ้างแล้ว
[13] วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, อ้างแล้ว
[14] สุรพล ราชภัณฑารักษ์, อ้างแล้ว
[15]  http://www.assemblee-nationale.fr
[16]  http:// www.senat.fr
[17]  สุรพล ราชภัณฑารักษ์, อ้างแล้ว
[18]  http://www.conseil-constitutionnel.fr 
[19]  http://www.justice.gouv.fr
[20] สุรพล ราชภัณฑารักษ์, อ้างแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น