บทความ เนื้อเรื่อง หรือ คำอธิบาย โดยละเอียด
คมชัดลึก : นอกจาก "ขุนพลภูพาน" เตียง ศิริขันธ์ แห่งสกลนครแล้ว ยังมีนักสู้แดนอีสานที่มีวีรกรรมอยู่ในยุคเดียวกัน ผู้มุ่งมั่นให้เกิดสังคมอุดมคติ เท่าเทียมและเสมอภาค จนกลายเป็นตำนานนักสู้อีกคน ที่มีหน้าประวัติศาสตร์ไล่เรียงกับเตียง คือ "ครอง จันดาวงศ์" ผู้ได้รับการขนานนามว่า "วีรบุรุษสว่างแดนดิน"
ด.ช.ครอง จันดาวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2451 ในครอบครัวชาวนามีฐานะ ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่คุ้มวัดศรีสะเกษ ต.ธาตุเชิงชุม อ.ธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร บิดาชื่อนายกี จันดาวงษ์ ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็นหมื่นศรีภักดี มารดาชื่อแม่เชียงวัน มีเชื้อสายไทยย้อ มีบุตรด้วยกัน 9 คน เขาเป็นคนสุดท้อง เริ่มอาชีพรับราชการครูแห่งแรกที่บ้านตาลโกน อ.สว่างแดนดิน ก่อนจะย้ายไปอีกหลายแห่ง แต่งงานครั้งแรกกับลูกสาวกำนัน แต่ความสัมพันธ์ไปไม่รอด หย่าขาดจากกันไป ต่อมาแต่งงานใหม่กับ น.ส.แตงอ่อน แซ่เต็ง ในปี 2480
ระยะนี้เป็นช่วงเวลาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมือง ปี 2481 กลุ่มครูในสกลนครได้รวมตัวกัน หนึ่งในนั้นมี ครูเตียง ศิริขันธ์ เพื่อนของครูครอง ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ทั้งสองมีความเห็นร่วมกันในการตั้งโรงเรียนราษฎร เพื่อส่งเสริมการศึกษาของเยาวชนในจังหวัด จนสามารถก่อตั้ง ร.ร.มัธยมศิริขันธ์ 1 และ ร.ร.มัธยมศิริขันธ์ 2
ต่อมาเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นเข้ายึดครองประเทศไทย เกิดขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น ครูเตียงเป็นหัวหน้าเสรีไทยสายอีสาน ส่วนครูครองเข้าร่วมขบวนการอย่างแข็งขัน และลาออกจากราชการครูมาทำการค้าขายบังหน้าในการติดต่อประสานงานให้ขบวนการเสรีไทย จนกลายเป็นแกนนำสำคัญในการขยายพลพรรคและจัดตั้งกองกำลังเสรีไทย หาที่ตั้งค่ายฝึก สร้างสนามบินที่ จ.สกลนคร ตลอดจนจัดหน่วยลำเลียงอาวุธ หาข่าวและส่งข่าวให้แก่กองบัญชาการเสรีไทยที่ภูพาน กระทั่งสงครามโลกยุติลง และขบวนการเสรีไทยยุบตัวลง
มานะศักดิ์ จันดาวงศ์ พ่อค้าวัย 40 เศษ หลานของครูครองและย่าแตงอ่อน เล่าให้ฟังว่า จากหนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพย่าแตงอ่อน ทราบว่า ครอบครัวจันดาวงศ์เริ่มเข้าสู่ความยุ่งยากตั้งแต่ปู่เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย ย่าแตงอ่อนต้องอดทนต่อพฤติกรรมของสามีที่หายตัวออกจากบ้านครั้งละหลายๆ วัน โดยไม่ทราบสาเหตุและไม่รู้ว่าไปไหน ปล่อยให้ทำงานหนักจนแท้งลูก กว่าจะกลับก็แทบจะเอาชีวิตไม่รอด พออาการดีขึ้นหน่อยก็หายไปอีก จนย่าแตงอ่อนทนไม่ไหวต้องไปพบญาติผู้ใหญ่ของสามีเพื่อขอหย่าขาด ในที่สุดครูครองก็จำเป็นต้องเปิดเผยความจริงทั้งหมด
"เมื่อได้รู้ความจริง นอกจากหายเข้าใจผิดแล้ว ย่ากลับภาคภูมิใจในตัวสามี และทำหน้าที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวอย่างแข็งขัน บ้านกลายเป็นที่พบปะของพลพรรค และแหล่งเก็บอาวุธ ส่วนปู่อยู่แนวหน้าถูกทหารญี่ปุ่นจับได้ แต่ก็เอาตัวรอดมาได้อย่างหวุดหวิด"
"เมื่อได้รู้ความจริง นอกจากหายเข้าใจผิดแล้ว ย่ากลับภาคภูมิใจในตัวสามี และทำหน้าที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวอย่างแข็งขัน บ้านกลายเป็นที่พบปะของพลพรรค และแหล่งเก็บอาวุธ ส่วนปู่อยู่แนวหน้าถูกทหารญี่ปุ่นจับได้ แต่ก็เอาตัวรอดมาได้อย่างหวุดหวิด"
หลังสงครามสิ้นสุดลง ครอบครัวของครูครองก็ประสบปัญหา จากที่เคยมีฐานะค่อนข้างดี ทรัพย์สินถูกนำมาช่วยงานกู้ชาติจนร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ ภาวะสงครามยังทำให้เศรษฐกิจฝืดเคือง ครูครองและภรรยาต้องขายบ้าน ม้า และรถม้าใช้หนี้ เนื่องจากไม่ได้ประกอบอาชีพหลายปี ระหว่างที่หันมาทำการค้าขายจนฐานะเริ่มกระเตื้องขึ้นก็เกิดการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 โดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล พล.ร.อ.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
"รัฐบาลใหม่มุ่งจับครูเตียง ศิริขันธ์ จนต้องหลบไปอยู่บนภูพาน กระทั่งล้มป่วยลงในปี 2491 ปู่ไปดูอาการและพาหมอไปรักษาด้วย ในที่สุดปู่พร้อมกับเพื่อนอีก 18 คน ก็ถูกจับกุมในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขให้ครูเตียงมอบตัว เมื่อครูเตียงมอบตัวทั้งหมดก็ถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน จนถึงปี 2492 ศาลก็ยกฟ้อง"
หลังพ้นข้อกล่าวหาไม่นานครูครองลงสมัครเป็น ส.จ.เขตสว่างแดนดิน ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ในปี 2495 เข้าร่วมการเคลื่อนไหวคัดค้านจักรวรรดินิยมอเมริกา ที่ก่อสงครามในเกาหลีและคัดค้านรัฐบาลไทยที่ส่งทหารไปร่วมรบกับสหรัฐในเกาหลี โดยเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการสันติภาพในเดือนสิงหาคม 2495
หลังพ้นข้อกล่าวหาไม่นานครูครองลงสมัครเป็น ส.จ.เขตสว่างแดนดิน ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ในปี 2495 เข้าร่วมการเคลื่อนไหวคัดค้านจักรวรรดินิยมอเมริกา ที่ก่อสงครามในเกาหลีและคัดค้านรัฐบาลไทยที่ส่งทหารไปร่วมรบกับสหรัฐในเกาหลี โดยเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการสันติภาพในเดือนสิงหาคม 2495
อีก 3 เดือนต่อมารัฐบาลสั่งกวาดล้างจับกุมคณะสันติภาพ ครูครองถูกจับเป็นครั้งที่ 2 ในข้อหากบฏสันติภาพ ต่อมารัฐบาลออกกฎหมายว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และฟ้องคณะกบฏสันติภาพในข้อหาคอมมิวนิสต์ ในที่สุดศาลตัดสินให้จำคุกจำเลย 38 คน คนละ 13 ปี 8 เดือน แต่ทั้งหมดได้รับการนิรโทษกรรมในอีก 5 ปีต่อมา
ระหว่างนี้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกโค่นล้มโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในเดือนกันยายน 2500 มีการยุบสภาและเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ครูครอง จันดาวงศ์ ชนะเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร จ.สกลนคร ในนามพรรคแนวร่วมเศรษฐกร แต่อยู่ได้เพียง 10 เดือน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ก่อรัฐประหารตัวเองขึ้นครองอำนาจ ยกเลิกระบอบรัฐสภาและการเลือกตั้ง ใช้รัฐธรรมนูญปกครองประเทศเพียง 20 มาตรา จากนั้นก็ลงมือกวาดล้างนักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองฝ่ายค้าน
เมื่อการเมืองพลิกผันครูครองกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรและค้าขายที่บ้านเกิด และทำงานร่วมกับประชาชนเช่นเดิม ปลายปี 2503 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปราบปรามอย่างหนัก จนครูครองและเพื่อนครูถูกล่าหนีหัวซุกหัวซุนไปลี้ภัยอยู่ที่ภูพานชั่วคราว ก่อนจะแอบกลับมาบ้านในวันที่ 4 พฤษภาคม 2504 เพื่อเตรียมสัมภาระไปอยู่บนภู ระหว่างรอเพื่อน ในที่สุดครูครองก็ถูกจับกุมอีกครั้ง ในข้อหากบฏต่อความมั่นคง และมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พร้อมกับผู้ถูกจับกุมคนอื่นๆ รวม 108 คน ถูกนำตัวมาสอบสวนที่กรุงเทพฯ นานกว่า 20 วัน สุดท้ายก็ถูกนำตัวไปประหารชีวิตที่ อ.สว่างแดนดิน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2504
11.30 น. ณ ลานประหาร หลังจากกินข้าวและดื่มน้ำมื้อสุดท้ายด้วยอาการสงบ ครูครอง จันดาวงศ์ และทองพันธ์ สุทธิมาศ ก็ถูกนำตัวเข้าหลักประหาร ใช้ผ้าปิดตาเรียบร้อย มีการอ่านคำตัดสินตามมาตรา 17 ของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ครูครองได้เปล่งคำขวัญ "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" จบประโยคเสียงปืนกลยิงรัว 90 นัด เวลา 12.13 น. ครูครอง จันดาวงศ์ ก็เสียชีวิตด้วยอายุ 54 ปี
ในขณะที่เวทีประหารดำเนินไป แตงอ่อนคู่ชีวิตครูครองกำลังทำนาอยู่ เธอไม่ได้รู้ตัวล่วงหน้ามาก่อน เมื่อมีคนไปแจ้งให้ทราบจึงรีบวิ่งมายังหลักประหาร พบเพียงร่างที่แหลกเละด้วยคมกระสุนปืน เลือดไหลนองพื้นดิน ท่ามกลางผู้คนที่ยืนมุงดูอยู่ห่างๆ ท่าทางหวาดผวาระคนตื่นกลัว ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วยจัดการกับร่างไร้วิญญาณที่ทอดร่างอยู่ ณ ลานกว้างนั้น เพราะกลัวจะถูกดึงเข้าไปพัวพันนำภัยมาถึงตัว แม้กระทั่งพ่อค้าโลงศพหลายรายยังปฏิเสธที่จะขายโลงให้
31 พฤษภาคม 2552 จะครบรอบ 48 ปี การจากไปของครูครอง และจะมีการจัดงาน 101 ชาตกาล ครบรอบ 48 ปี วันประหารครูครอง จันดาวงศ์ ที่บ้านของครูครองใน อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้
มานะ จันดาวงศ์ บอกว่า แม้ปู่จะจากไป 48 ปีแล้วก็ตาม แต่อนุชนคนรุ่นหลังใน อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ก็ยังจำคุณงามความดีของปู่ได้อยู่ ทุกปีจะมีงานรำลึกถึงปู่บริเวณลานประหาร ปัจจุบันคนละแวกนี้ได้ตั้งชื่อถนนว่า ถนนจันดาวงศ์ ขณะเดียวกันก็มีนักคิดนักเขียนหลายคนเขียนบทความและบทกวีสรรเสริญ เช่น อาจารย์ไขแสง สุกใส อดีต ส.ส.นครพนม ที่แต่งกลอนสดุดีวีรกรรมของปู่ไว้ว่า
โอ้ครูครอง จันดาวงศ์ เราเคารพ
ไม่สยบ ก้มหัว กลัวประหาร
เกียรติศักดิ์ ท่านเปรื่อง กระเดื่องนาม
ตลอดกาล ตราบสิ้น แผ่นดินไทย
โอ้ครูครอง จันดาวงศ์ เราเคารพ
ไม่สยบ ก้มหัว กลัวประหาร
เกียรติศักดิ์ ท่านเปรื่อง กระเดื่องนาม
ตลอดกาล ตราบสิ้น แผ่นดินไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น