วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สงครามนอกแบบ – สงครามกองโจร – การทำสงครามตัวแทนในยุคหลังสงครามเย็น


Saving Private Ryan

         
                         หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นสงครามขนาดใหญ่ และสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับมวลมนุษยชาติได้ยุติลง สภาวะความขัดแย้งรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นมาทดแทน การทำสงครามด้วยกำลังทหารขนาดใหญ่ในรูปแบบเดิม ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่การทำสงครามตัวแทน (Proxy War) โดยการใช้สงครามนอกแบบ (Unconventional Warfare) หรือ สงครามกองโจร (Guerrilla Warfare) เพื่อสร้างและโน้มน้าวประเทศอื่นๆ มาเป็นแนวร่วมในอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งในขณะนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ค่ายใหญ่ได้แก่ อุดมการณ์ประชาธิปไตย และ อุดมการณ์คอมมิวนิสต์
        ตลอดระยะเวลาในห้วงของสงครามเย็นจึงปรากฏว่ามีการดำเนินสงครามในลักษณะของ การทำสงครามตัวแทน อย่างไม่หยุดหย่อน การทุ่มเททรัพยากรจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง วัสดุอุปกรณ์ หรือบุคคล ต่างถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ฝ่ายตนเองต้องการ จนในที่สุดนำมาซึ่งปัญหาทางด้านอื่นๆ และนำไปสู่การล่มสลายของฝ่ายที่ขาดการจัดการทรัพยากรที่ดี

        ต่อมาหลังจากสงครามเย็นได้ยุติลงในปลายศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมานั้น จะพบว่าความขัดแย้งและภัยคุกคามที่นำไปสู่สภาวะที่ไม่มั่นคงจะมีรูปแบบและลักษณะที่สลับซับซ้อนมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา และ มีแนวโน้มที่จะมีความสลับซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นการยากที่จะหาแนวทางที่ดีที่สุดมาใช้ในการแก้ไขสภาพปัญหาที่เผชิญอยู่ และที่สำคัญการดำเนินสงครามนอกแบบ ยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่นๆ ของประเทศที่มุ่งแต่รักษาผลประโยชน์ของชาติตนเป็นที่ตั้งมากกว่าการแสวงประโยชน์ร่วมกันเป็นชาติพันธมิตร
นอกจากนี้ความสลับซับซ้อนของสภาวะแวดล้อมโลกยังส่งผลให้เกิดความแตกต่างในลักษณะของปัจเจกนิยมมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการสื่อสารระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือบุคคลกับกลุ่มบุคคลสามารถกระทำได้โดยสะดวก ง่าย รวดเร็ว และตลอดเวลา สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงส่งผลให้เกิดการรวมตัวในลักษณะของกลุ่มต่างๆ ทั้งเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ตามความเชื่อหรือความชื่นชอบในสิ่งที่เหมือนกัน สิ่งที่ตามมาคือ การรวมตัวกันเรียกร้องหรือต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่กลุ่มตัวเองต้องการ และถ้าสถานการณ์เหล่านี้ถูกพัฒนาไปสู่การรวมตัวเพื่อเรียกร้องและต่อต้านอำนาจรัฐแล้ว การต่อสู้ในลักษณะของการใช้กองกำลังติดอาวุธ โดยในใช้ยุทธวิธีของสงครามนอกแบบ หรือ การทำสงครามกองโจร คงเป็นแนวทางหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการดำเนินการ
        ดังนั้นแม้สงครามเย็นจะยุติลง การปะทะกันอย่างรุนแรงของอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์จะอยู่ในระดับที่ลดลง โดยฝ่ายคอมมิวนิสต์อาจจะเพลี่ยงพล้ำ ทำให้กระแสหลักของโลกกลายเป็นกระแสของประชาธิปไตยไป ก็ไม่ได้หมายความว่าแนวคิดที่จะใช้สงครามนอกแบบหรือสงครามกองโจรจะหมดไป ในทำนองกลับกันสงครามนอกแบบกลับกับถูกพัฒนาขึ้นใหม่ ให้มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น มีรูปแบบในการดำเนินการที่แตกต่างจากเดิมมากขึ้น ทำให้การเผชิญกับสงครามนอกแบบ อาจจะไม่ได้เป็นการเผชิญหน้ากันในลักษณะของการรักษาผลประโยชน์ระหว่างรัฐต่อรัฐเท่านั้น การรักษาผลประโยชน์ระหว่างตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (Non-state Actors) กับรัฐ กลับกลายมาเป็นภัยคุกคามใหม่ที่รัฐต้องเผชิญ การศึกษาถึงความสลับซับซ้อนต่างๆ เหล่านี้จึงกลายมาเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับหน่วยงานด้านความมั่นคงอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

2. สงครามนอกแบบ
        การใช้กำลังทหารเข้าทำสงคราม นั้นถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสุดท้ายที่คณะผู้บริหารประเทศใช้ในแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามการที่ประเทศหนึ่งประเทศใดจะตัดสินใจทำสงครามกับประเทศอื่น เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ประเทศต่างๆ ล้วนแต่มีกลไกในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีความสลับซับซ้อน ประกอบกับนวัตกรรมและกระแสโลกาภิวัตน์ได้ส่งผลให้การสื่อสารและการเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนต่างๆ นั้นสามารถกระทำได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องตลอดเวลา ทำให้การแทรกแซง การตรวจสอบ หรือการเจรจาต่อรอง กระทำได้โดยง่าย อย่างไรก็ตามถึงแม้สงครามจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยากแต่ก็มิได้หมายว่าสงครามจะไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
        นอกจากนี้สงครามมีหลายรูปแบบจึงยากที่จะประเมินชัดเจนลงไปว่าประเทศชาติจะเผชิญกับสงครามแบบใด ปัจจุบันแนวโน้มที่จะเกิดสงครามตามแบบขนาดใหญ่นับวันจะลดน้อยลง ความน่าจะเป็นที่อาจจะเกิดขึ้นได้ก็คือการเกิดสงครามในความขัดแย้งระดับต่ำ เป็นสงครามที่มีลักษณะเป็นการรบเฉพาะแห่ง มีความมุ่งหมายเพื่อการต่อรองทางการเมืองหรือเงื่อนไขอื่น ฉะนั้นการเตรียมการเพื่อรองรับกับสภาวะการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ หน่วยงานด้านความมั่นคงจะต้องตระหนักถึง ซึ่งในอดีตนั้นประเทศไทยสามารถผ่านวิกฤตการสำคัญหลายครั้งด้วยการใช้แนวความคิดของ "ระบบการต่อสู้เบ็ดเสร็จ" (Total Defense) เพื่อให้สามารถต่อสู้กับภัยคุกคาม (Threats) ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามตามธรรมชาติหรือภัยคุกคามที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่าภัยนั้นจะเกิดขึ้นภายในประเทศหรือมาจากภายนอกก็ตาม
        สำหรับสงครามนอกแบบนั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการดำเนินสงคราม โดยคำนิยามที่ใช้กันในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก จะให้ความหมายไว้ว่า “สงครามนอกแบบ คือ การปฏิบัติการทางทหารและกึ่งทหาร ในดินแดนที่ข้าศึกยึดครองอยู่ หรือพื้นที่ที่ข้าศึกมีอิทธิพล มุ่งกระทำต่อเป้าหมายทางทหาร การเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา โดยใช้กำลังหน่วยรบพิเศษล้วนๆ หรือปฏิบัติการร่วมกับกำลังประชาชนในท้องถิ่น รวมทั้งปฏิบัติการร่วมกับมิตรประเทศในดินแดนภายนอกประเทศ”[1]
        ส่วนในเว็บ wisegeek ได้ให้ความหมายไว้ว่า Unconventional warfare is a form of warfare which is based on the idea that it is possible to destabilize an enemy so much that it concedes even if it has the ability to continue making war. Rather than relying on the brute force tactics of conventional warfare, unconventional warfare is based on using creative, innovative, and usually stealthy tactics so that the enemy never knows what to expect. This style of warfare is also called “nonconventional” or “asymmetrical” warfare, although when the enemy is using unconventional tactics, it is often referred to as “terrorism.” ซึ่งถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า “สงครามนอกแบบเป็นสงครามที่ตั้งอยู่บนแนวคิดที่ต้องการทำลายเสถียรภาพของข้าศึกในการดำเนินสงคราม โดยไม่ใช่กำลังขนาดใหญ่เข้าทำการรบในลักษณะของสงครามตามแบบ สงครามนอกแบบจึงเป็นสงครามที่ตั้งอยู่บน แนวคิดที่ริเริ่ม นวัตกรรม และใช้ยุทธวิธีที่ปกปิดคาดไม่ถึง ซึ่งรูปแบบของสงครามในลักษณะนี้มักจะมีชื่อเรียกว่า สงครามไม่ตามแบบ หรือ สงครามอสมมาตร และถ้าฝ่ายตรงข้ามนำยุทธวิธีสงครามนอกแบบมาใช้กับฝ่ายเรา ก็จะถูกขนานนามว่า การก่อการร้าย” [2]

        สำหรับสารานุกรมออนไลน์ [3] ได้กล่าวถึงความหมายของสงครามนอกแบบไว้ดังนี้ “UW as a broad spectrum of military and paramilitary operations, normally of long duration, predominantly conducted through, with, or by indigenous or surrogate forces who are organized, trained, equipped, supported, and directed in varying degrees by an external source. It includes, but is not limited to, guerrilla warfare, subversion, sabotage, intelligence activities, and unconventional assisted recovery. Organization varies by culture and type of conflict.” ซึ่งถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า“สงครามนอกแบบเป็นการปฎิบัติการทางทหารร่วมกันระหว่างทหารประจำการกับกองกำลังกึ่งทหาร ทั่วไปแล้วจะเป็นการปฏิบัติที่ยืดเยื้อยาวนาน ซึ่งกองกำลังเหล่านี้จะมีโครงสร้างการจัด ได้รับการฝึก และมียุทโธปรกรณ์ โดยมีการควบคุมจัดการของจากภายนอกประเทศ สงครามนอกแบบจะไม่จำกัดที่ สงครามกองโจร การบ่อนทำลาย การก่อวินาศกรรม ดำเนินการด้านการข่าว และการฟื้นฟูภายใต้สภาวะพิเศษ โดยมีโครงสร้างการจัดของกองกำลังจะมีลักษณะตาม วัฒนธรรม และรูปแบบของความขัดแย้ง”
จากคำจำกัดความที่กล่าวมาในข้างต้นสามารถกล่าวได้ว่า “สงครามนอกแบบคือการปฏิบัติการทางทหารต่อข้าศึกหรือเป้าหมาย โดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามแบบแผน หรือ ธรรมเนียมปฏิบัติ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางทหารที่ต้องการ” โดยการปฏิบัติการสงครามนอกแบบ [4][5] จะประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญต่างๆ ดังนี้
        2.1 สงครามกองโจร เป็นการปฏิบัติการทางทหารและกึ่งทหาร โดยใช้กำลังรบนอกแบบ กำลังประชาชนในดินแดนที่ฝ่ายตรงข้ามยึดครอง หรือในดินแดนของฝ่ายตรงข้าม มีทหารหน่วยรบพิเศษเป็นผู้กำกับดูแลและให้คำแนะนำ สำหรับสงครามกองโจรนั้นถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติการทางทหารโดยเปิดเผยของกลุ่มก่อความไม่สงบ หรือขบวนการต่อต้านติดอาวุธ ภารกิจที่มอบให้กองโจรทำได้แก่ การซุ่มโจมตี การวางกับระเบิด และการลอบสังหาร โดยกำลังรบของกลุ่มต่อต้านที่ผ่านกระบวนการจัดตั้งแล้วสามารถปฏิบัติการทางทหารในลักษณะที่กล่าวมาได้โดยกำลังของตนเองเพียงลำพัง ส่วนใหญ่แล้วลักษณะของการปฏิบัติการจะเป็น การขัดขวางเส้นทาง การรบกวนการติดต่อสื่อสาร และขัดขวางการซ่อมบำรุงของฝ่ายข้าศึกด้วยการวางทุ่นระเบิด กับระเบิด นอกจากนี้กองโจรอาจถูกใช้ในการรวบรวมข่าวสารอีกด้วย
        2.2 การปฏิบัติการรวบรวมข่าวสาร-ข่าวกรอง เพื่อรวบรวมและรายงานข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับขีดความสามารถ เป้าหมาย และการดำเนินการของรัฐบาลหรือพลังอำนาจรัฐที่ยึดครองรวมทั้งอิทธิพลของผู้อุปถัมภ์ภายนอก การปฏิบัติการรวบรวมข่าวกรอง หมายรวมถึงการปฏิบัติการรวบรวมข่าวสารของแหล่งข่าวระดับผู้ปฏิบัติ ทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ
        2.3 การบ่อนทำลาย เป็นงานที่ดำเนินการทำลายความเข้มแข็งของกำลังอำนาจของชาติ ด้านการทหาร เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และการเมืองของชาตินั้นๆ กลุ่มต่อต้านจะสนับสนุนการดำเนินงานบ่อนทำลายด้วยการปฏิบัติการลับ พวกใต้ดินจะเป็นผู้ปฏิบัติงานนี้เป็นส่วนใหญ่ หน่วยรบพิเศษที่เป็นผู้ฝึกกลุ่มต่อต้านอาจกำหนดให้กลุ่มต่อต้านการบ่อนทำลายเป็นพื้นที่ เป็นเขตหรือเฉพาะจุดก็ได้
        2.4 การก่อวินาศกรรม เป็นการปฏิบัติเพื่อทำให้เกิดอันตรายหรือขัดขวางการป้องกันรัฐหรือประเทศหนึ่งๆ ด้วยการก่อให้เกิดความเสียหายและการทำลายล้างอย่างจงใจ ต่อเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยการก่อวินาศกรรมอาจเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพและส่งผลกระทบมากที่สุด และยังเป็นวิธีการที่เข้าปฏิบัติต่อเป้าหมายเดียวที่พ้นขีดความสามารถของระบบอาวุธตามแบบ การก่อวินาศกรรมสามารถกระทำได้ด้วย การใช้ เพลิง ระเบิด เครื่องมือกล และ การก่อวินาศกรรมทางธุรการซึ่งมุ่งลดทอนประสิทธิภาพของระบบการทำงานใดๆของฝ่ายตรงข้าม
        2.5 การเล็ดลอด-หลบหนี เป็นการปฏิบัติการทางทหารเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ทางทหารและบุคคลพลเรือนทั่วไปที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว โดยทำการเคลื่อนย้ายออกจากดินแดนที่ถูกข้าศึกยึดครองหรือพื้นที่วิกฤต พื้นที่ล่อแหลม หรือพื้นที่ขัดแย้ง ไปยังพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายเรา
        2.6 การปฏิบัติการลับ จากกระแสโลกในปัจจุบัน การจัดระเบียบโลกใหม่และยุคแห่งข้อมูลข่าวสารทำให้การดำเนินการสงครามนอกแบบ ด้วยการใช้สงครามกองโจรเต็มรูปแบบอาจไม่สามารถดำเนินการได้สะดวกนัก โดยกลุ่มต่อต้านจำเป็นต้องปรับรูปแบบมาเป็นการปฏิบัติในลักษณะของการปฏิบัติ การลับแทน โดยการปฏิบัติการลับมุ่งเน้นการปกปิดการปฏิบัติการมากกว่าการปกปิดผู้ อุปถัมภ์ อาจปรากฏในลักษณะของการจารกรรม การรวบรวมข่าวสารทางลับ เป็นต้น
        2.7 การปฏิบัติการปกปิด เป็นการปฏิบัติการทั้งทางทหารและการเมืองซึ่งประเทศผู้อุปถัมภ์จะไม่แสดงตนรับผิดชอบใดๆ ต่อการปฏิบัติการในลักษณะนี้ เช่น การก่อวินาศกรรม การโฆษณาชวนเชื่อประเภทสีดำ การใช้ความรุนแรง มีการปฏิบัติการในหลายรูปแบบทั้ง การจารกรรม การสงครามจิตวิทยา การลักพาตัว การโจมตีด้วยหน่วยปฏิบัติการพิเศษ เป็นต้น
        ณ วันนี้กิจกรรมต่างๆ ในการดำเนินสงครามนอกแบบได้มีพัฒนาการ และมีรูปแบบที่เป็นพลวัตรเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ในอนาคตอันใกล้ การดำเนินสงครามนอกแบบคงจะมีรูปแบบในการดำเนินการที่สลับซับซ้อนมายิ่งขึ้น ซึ่งนักวิชาการด้านความมั่นคงจะต้องให้ความสนใจ และติดตามศึกษาอย่างต่อเนื่อง

3. แนวทางในการดำเนินสงครามนอกแบบยุคหลังสงครามเย็น

        การยุติลงของสงครามเย็นไม่เพียงแต่เป็นการสิ้นสุดแนวคิดในเรื่องของยุทธศาสตร์ป้องปราม (Deterrence Strategy) ที่แต่ละฝ่ายต่างสะสมอาวุธนิวเคลียร์จนสามารถกล่าวได้ว่า อาวุธนิวเคลียร์ที่แต่ละค่ายสะสมนั้นสามารถทำลายล้างโลกได้ทั้งใบ อย่างไรก็ตามการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นนั้นไม่ได้นำมาซึ่ง สันติภาพและเสถียรภาพของโลกใบนี้ เพราะความสลับซ้อนที่เกิดขึ้นใหม่จากกระแสโลกาภิวัตน์และ นวัตกรรรมต่างๆ ที่ทำให้เกิดภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ ที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินการต่างๆ ของแต่ละประเทศเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติตน และที่สำคัญแนวความคิดที่จะแทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่นโดยประเทศหรือกลุ่มบุคคล ยังคงมีอยู่ ดังนั้นสงครามนอกแบบจึงกลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการแทรกแซงกิจการประเทศอื่นๆ ที่ยังคงมีการใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่รูปแบบ วิธีการ และวิธีคิดได้มีกระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนไป สามารถอธิบายได้ดังรูปที่ 1 และมีราละเอียดดังต่อไปนี้
 

ภาพที่ 1 กรอบแนวคิดและรูปแบบของการดำเนินสงครามนอกแบบที่เปลี่ยนแปลง
        • ผู้อุปถัมภ์ – มีทิศทางจากตัวแสดงที่เป็นรัฐไปสู่ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (State Sponsor to Non-state Sponsor) : ในอดีตการทำสงครามนอกแบบจะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องอาศัยประเทศที่เป็น ผู้อุปถัมภ์ที่คอยให้การสนับสนุน ช่วยเหลือทั้งด้านการเงิน อาวุธยุทโธปกรณ์ การฝึกกองโจร และ สนับสนุนด้านอื่นๆ แต่สำหรับการทำสงครามนอกแบบในปัจจุบันมีแนวโน้มและทิศทางที่เปลี่ยนไปเป็น กลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่อุปถัมภ์ กลุ่มบุคคลเหล่านี้มีทั้งเป็นองค์กรเปิดเผยและองค์กรลับ และที่สำคัญกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะมีงบประมาณ มีรายได้เป็นของตนเอง ซึ่งรายได้เหล่านี้จะมีทั้งรายได้ที่ปรากฏให้ตรวจสอบได้ กับ รายได้ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้เนื่องจากเป็นรายได้ที่เกิดจากการฟอกเงินและ การทำอาชญากรรมต่างๆ เพราะฉะนั้นเมื่อกลุ่มผู้อุปถัมภ์ไม่ได้เป็นรัฐแล้ว ย่อมจะทำให้การทำสงครามนอกแบบมุ่งไปสู่การตอบสนองผลประโยชน์ของกลุ่มกลุ่ม ผู้อุปถัมภ์มากกว่าผลประโยชน์ของรัฐผู้อุปถัมภ์ดังที่มีในอดีต

        • การจัดองค์กร – มีทิศทางจากองค์กรตามลำดับขั้นไปสู่องค์กรแบนราบ (Hierarchy Organization to Flat Organization) : การจัดองค์กรในยุคสงครามเย็นนั้น องค์กรสำหรับการก่อความไม่สงบจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนได้แก่ พรรค กำลังติดอาวุธ และ องค์กรมวลชน โดยแต่ละองค์ประกอบจะมีโครงสร้างภายในที่มีลักษณะเป็นลำดับขั้น (hierarchy) การดำเนินการต่างๆ มักจะมีทิศทางและนโยบายที่มีลักษณะจากบนลงสู่ล่าง (Top Down) จากนั้นกำลังติดอาวุธจะแยกกันไปปฏิบัติการตามนโยบายถึงแม้จะแยกย้ายกันไปปฏิบัติแต่การดำเนินการต่างๆ ยังมีลักษณะของโครงสร้างที่เป็นลำดับขั้นอยู่ องค์กรในลักษณะนี้มักจะถูกเปรียบเทียบให้เป็น แมลงมุมที่เครือข่ายอำนาจในลักษณะศูนย์กลาง [6] ในขณะที่แนวโน้มและทิศทางของการดำเนินสงครามนอกแบบในยุคหลังสงครามเย็นนั้น การปฏิบัติการต่าง ๆ จะมีขอบเขตโครงร่างขององค์กรที่ไม่ชัดเจน มีการทำงานในลักษณะเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งบางครั้งปฏิบัติการต่างๆ กลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มจะมีอิสระในการปฏิบัติการต่างๆ เอง บางครั้งกลุ่มแต่ละกลุ่มก็ไม่ได้มีการสื่อสารกัน และมีอิสระต่อกัน ทำให้ความสลับซับซ้อนขององค์กรมีมากยิ่งขึ้นจนสามารถกล่าวได้ว่าควบคุมได้ยาก และเมื่อเริ่มดำเนินสงครามกองโจรไปแล้ว จะหยุดการดำเนินการต่างๆ ได้อย่างไร องค์กรในลักษณะนี้มักจะถูกเปรียบเทียบให้เป็น ปลาดาวที่มีเครือข่ายอำนาจกระจายอำนาจ เพราะถูกตัดออกเป็นส่วนแล้วแต่ละส่วนสามารถงอกกลับมาใหม่ได้ [7]
        • อาวุธยุทโธปกรณ์ – มีทิศทางจากการใช้เทคโนโลยีต่ำไปสู่เทคโนโลยีสูง (Low Technologies to High Technologies) : ในอดีตช่วงสงครามเย็นนั้นการดำเนินสงครามนอกแบบจะมุ่งเน้นไปในเรื่องของการใช้สงครามกองโจร โดยปฏิบัติการในลักษณะจรยุทธ์ ด้วยกำลังกลุ่มต่อต้านขนาดเล็ก ทำให้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ไม่ได้มีความสลับซับซ้อน เนื่องจากเทคโนโลยีในขณะนั้นยังไม่ได้มีพัฒนาการอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ปัจจุบันด้วยนวัตกรรมต่างๆ ส่งผลให้เกิดระบบอาวุธยุโธกรณ์ที่มีความทันสมัยและมีขนาดเล็ก ทำให้กลุ่มต่อต้านกำลังติดอาวุธ สามารถพกพา เคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก มีขนาดเบา และที่สำคัญมีความทันสมัย สามารถเชื่อมโยงกับระบบอาวุธอื่นๆ ได้ทำให้การปฏิบัติการของกลุ่มต่อต้านต่างๆ ปฏิบัติการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และประเด็นที่สำคัญที่จะต้องคำนึงถึงในปัจจุบันคือ อำนาจในการทำลายล้างที่รุนแรงสร้างความเสียหาย ต่อชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างหนัก และเป็นบริเวณกว้าง อย่างเช่น อาวุธทำลายล้างสูง (Weapon of Mass Destruction : WMD) ที่สามารถขนย้ายได้ด้วยคนเพียงคนเดียวในลักษณะที่ปกปิดซ่อนเร้นได้ หรือการใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพการปฏิบัติการที่มีความรุนแรง แล้วนำภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวไปเผยแพร่ในที่สาธารณะในทันที อย่างเช่น อินเตอร์เน็ตเพื่อขยายผลการปฏิบัติหรือ สร้างความหวาดกลัว
        • การปฏิบัติทางยุทธวิธี – มีทิศทางจากสงครามกองโจรไปสู่สงครามพันทาง (Guerrilla Warfare to Hybrid Warfare): การดำเนินสงครามนอกแบบในยุคสงครามเย็นนั้นกองกำลังติดอาวุธหรือกลุ่มต่อต้าน ที่สร้างขึ้นโดยประเทศผู้อุปถัมถ์ จะเป็นกำลังหลักในการปฏิบัติการทางยุทธวิธี ที่มุ่งปฏิบัติการโดยใช้กำลังคนน้อย เข้ากระทำในลักษณะของการตีโฉบฉวย การซุ่มโจม และการก่อวินาศกรรม เป็นหลัก แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มต่อต้านจะเข้าปฏิบัติการร่วมหรือสนับสนุนให้ กับกำลังทหารตามแบบ อย่างเช่น ในสงครามเวียดนามที่ฝ่ายเวียดนามเหนือ ได้ใช้การผสมผสานการปฏิบัติการทางทหารระหว่าง กองทัพเวียดนามเหนือและเวียดกง โดยการปฏิบัติทางทหารจะมีการแบ่งแยกเขตความรับผิดชอบหรือพื้นที่ปฏิบัติการ (Operation Area) กันอย่างชัดเจน การใช้กลุ่มต่อต้านลักษณะนี้จะเรียกว่า สงครามผสม (Compound War) [7] แต่ในยุคหลังสงครามเย็นกลุ่มต่อต้านจะถูกใช้เป็นสงครามที่มีการผสมผสานกำลัง ตามแบบและกำลังนอกแบบปฏิบัติการทางทหารร่วมกันอย่างแยกไม่ออก ตัวอย่างเช่น สงครามระหว่างอิสราเอล-เลบานอน พ.ศ. 2549 (The Second Lebanon War: 2006) ที่มีการปฏิบัติการทางทหารอย่างเด่นชัดของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธที่เป็นตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (Non-State Actor) ที่มีความขัดแย้งกับรัฐคืออิสลาเอลโดยตรง การใช้กลุ่มต่อต้านลักษณะนี้จะเรียกว่า สงครามพันทาง (Hybrid War) [8]
        • การอุดมการณ์ในการต่อสู้ – มีทิศทางจากอุดมการณ์ทางการเมืองไปสู่อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และศาสนา (Political Ideology to Identity, Culture, and Religion) : การดำเนินสงครามนอกแบบในยุคสงครามเย็นนั้นสิ่งสำคัญในส่วนของกองกำลังติดอาวุธ เช่น กำลังกลุ่มต่อต้านหรือ กองโจร จะใช้แนวความคิดในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลาและหล่อหลอมให้ต่อสู้ เสียสละ และ ทำทุกอย่างเพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งในขณะนั้นจะมีแนวคิดสำคัญอยู่ 2 ค่ายคือ อุดมการณ์ประชาธิปไตย กับ คอมมิวนิสต์ ต่อมาอุดมการณ์ที่ใช้ในหล่อหลอมการต่อสู้ด้วยสงครามกองโจรจะมีทิศทางที่เปลี่ยนจากอุดมการณ์ทางการเมืองไปสู่ การใช้แนวคิดในเรื่องของ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และศาสนา ถูกยกมาเป็นสาเหตุหลักในการต่อสู้ เพราะไม่ต้องการให้อัตลักษณ์ วัฒนธรรม หรือศาสนา ในกลุ่มของตน ดังจะเห็นได้จากการ การเผชิญหน้าของการสู้รบในบริเวณตะวันออกกลางที่มีการใช้สงครามนอกแบบ และใช้อุดมการณ์ในการต่อสู้กันด้วย อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และศาสนา อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายว่าความทิศทางใหม่ของอุดมการณ์ในการดำเนินสงครามนอกแบบจะส่งผลให้การใช้อุดมการณ์ทางการเมือง เพื่อดำเนินสงครามนอกแบบจะหายไป
        • การหล่อหลอมอุดมการณ์และสร้างแนวร่วม – มีทิศทางจากการปฏิบัติการจิตวิทยาไปสู่ปฏิบัติการข่าวสาร (Psychological Operations to Information Operations): ในยุคสงครามเย็นการดำเนินสงครามนอกแบบจะใช้การปฏิบัติการจิตวิทยา (Psychological Operations : PSYOP) เป็นเครื่องมือหลักที่สำคัญในการโน้มน้าว หล่อหลอมอุดมการณ์ และสร้างมวลชนให้หันมาสนับสนุนการปฏิบัติต่างๆ ของกลุ่มต่อต้าน ต่อมาในยุคหลังสงครามเย็น นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อสังคมของมนุษย์ทุกแห่งบนโลก การสื่อสารระหว่างมนุษย์กับมนุษย์บนโลกสามารถกระทำได้อย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้เกิดแนวคิดในการสื่อสารข้อมูลเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติพรรม และสร้างความเชื่อต่างๆ รวมถึงการจัดการเกี่ยวกับการรับรู้ต่างๆ (Perception Management) ที่เรียกว่า ปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations : IO) โดยการปฏิบัติการข่าวสารจะมีการใช้การรณรงค์ทางสารเทศ (Information Campaign) เพื่อใช้สนับสนุนการปฏิบัติการต่างๆ ปัจจุบันปฏิบัติการจิตวิทยา ถูกจัดให้เป็นสาขาหนึ่งของการปฏิบัติการข่าวสาร และการปฏิบัติการข่าวสารมีขอบข่ายในการปฏิบัติที่กว้างไกล และเป็นกิจกรรมที่มีความสอดคล้องกับทางพลเรือนคือ การสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ (Integrated Marketing communication : IMC) ที่ใช้ในภาคธุรกิจ สำหรับการดำเนินสงครามนอกแบบในปัจจุบันได้ใช้การปฏิบัติการข่าวสารเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินการ

4. บทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะ
        จากที่กล่าวมาในข้างต้นจะพบว่าแนวคิดในการดำเนินสงครามนอกแบบ มีทิศทางที่ขยับออกไปจากกระบวนทัศน์เดิมที่เคยปฏิบัติกันมาในช่วงยุคสงครามเย็น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งนั้นมากจากบริบทที่เปลี่ยนไปภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และนวัตกรรมการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการที่กองทัพในฐานะที่เป็นหน่วยงานความมั่นคงที่มีภารกิจเกี่ยวข้องโดยตรงกับ สงครามนอกแบบ กองทัพจึงมีความจำเป็นต้องศึกษา ปรับเปลี่ยน และพัฒนากิจกรรมต่างให้สามารถรองรับกับภารกิจที่จะต้องปฏิบัติในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมิติที่สำคัญที่กองทัพต้องพิจารณามีดังต่อไปนี้
        4.1 โครงสร้างที่เหมาะสม : เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพในการเผชิญกับสงครามนอกแบบ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างขงสงครามนอกแบบ และรวมไปถึงหน่วยต่างๆ ที่มีเกี่ยวข้องกับกิจการสงครามนอกแบบทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ควรจะมีการวิจัยเพื่อหาแนวทางในการจัดหน่วยที่เหมาะสมสำหรับการรับมือกับ สงครามนอกแบบที่จะเกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เพราะการโครงสร้างการจัดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อาจจะมีขีดความสามารถไม่ตรงกับบริบทที่เปลี่ยนไปของสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน
        4.2 ใช้องค์ความรู้อย่างสูงสุด : การพัฒนาแนวคิดในการทำสงครามนอกแบบ และการปฏิบัติการทางทหารต่างๆ ต้องมีการประยุกต์ใช้ความรู้ในด้านต่างๆ เข้ามาเป็นหลักสำคัญในการดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำหลักนิยมที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมของสงครามนอกแบบ ควรจะมีความสอดคล้องกับบริบทของกองทัพไทย และภัยคุกคามจริง มากกว่าที่จะทำการแปลมาจากหลักนิยมต่างประเทศ นอกจากนี้กองทัพควรที่จะเชื่อมโยงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ทั้งภายในของกองทัพ และความรู้จากหลักวิชาการภายนอก เพื่อให้เกิดการเข้าใจปัญหาในลักษณะขององค์รวม (Holistic) และมีการใช้ความรู้ที่เป็นสหวิทยาการ (Multidisciplinary) เข้ามาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการปฏิบัติงาน มากกว่ายึดมั่นในความรู้ของทหารแต่เพียงฝ่ายเดียว
        4.3 กำลังพลมีคุณภาพ : สิ่งที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งนั้นได้แก่ การมีกำลังพลที่มีคุณภาพ มีขีดความสามารถ และความชำนาญในด้านต่างๆ หลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำลังพลในหน่วยที่เกี่ยวพันกับสงครามนอแบบอย่างเช่น หน่วยรบพิเศษ ที่ต้องมีกำลังพลที่มีความแข็งแรง เชี่ยวชาญในหน้าที่ และ มีความสามารถรอบตัว เพราะแนวโน้มในการปฏิบัติการในอนาคต หน่วยทหารที่เข้าปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจะมีขนาดเล็ก ใช้ทหารจำนวนไม่มาก ทำให้กำลังจะต้องมีความเชี่ยวชาญในหลายๆ ด้าน และต้องปฏิบัติงานร่วมกันในลักษณะเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
        4.4 ระบบอาวุธและเทคโนโลยีทันสมัย : การมีระบบอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยคงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่าง ที่เลี่ยงไม่ได้ เพราะระบบอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะช่วยให้การปฏิบัติการ ต่างๆ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างหลายเท่าตัว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ การปฏิบัติการของทหารในอนาคตจะมีแนวโน้มที่จะใช้ทหารขนาดเล็กที่มีความ สามารถสูงการมีระบบอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะช่วยสนับสนุนให้ การปฏิบัติภารกิจลุล่วงไปได้ด้วยดี มีการสูญเสียน้อย และมีความได้เปรียบฝ่ายตรงข้ามที่ไม่มีระบบอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ ทันสมัย
        4.5 เครือข่ายดีมีประสิทธิภาพ : การปฏิบัติการของกองทัพในปัจจุบันนั้นไม่เหมือนในอดีตที่เวลาปฏิบัติงานกองทัพจะเป็นหลักผู้เดียวในการปฏิบัตินั้นๆ แต่ในบริบทปัจจุบันนั้นกองทัพไม่ใช่เป็นหน่วยงานเดียว แต่ต้องปฏิบัติงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐอื่นๆ หรือ ภาคเอกชน หรือ ภาคประชาสังคม ดังนั้นหากกองทัพมีการพัฒนาเครือข่ายที่ดีแล้ว ย่อมจะส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมของสงครามนอกแบบ และการปฏิบัติการทางทหารอื่นๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
5. สรุป
        สงครามนอกแบบเป็นรูปแบบหนึ่งของการดำเนินสงคราม และถ้าจะว่ากันไปแล้วประเทศไทยนั้นเผชิญกับสงครามนอกแบบกันมานานและเผชิญกับสงครามนอกแบบมากกว่าสงครามตามแบบ เพราะสงครามตามแบบครั้งสุดท้ายที่ประเทศไทยได้เข้าปฏิบัตินั้นคงเป็นสงครามมหาเอเชียบูรพา และหลังจากนั้นประเทศไทยก็ต้องเผชิญกับสงครามนอกแบบมาเป็นเวลายาวนาน ร่วมๆ 40 ปี ในอนาคตอันใกล้ในทศวรรษนี้แนวโน้มของการเกิดสงครามขนาดใหญ่นั้นคงเป็นไปได้ยาก และภัยคุกคามสำคัญที่ประเทศไทยคงจะต้องเผชิญคือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และที่สำคัญในภัยคุกคามรูปแบบใหม่บางประเภทจะใช้เทคนิคและวิธีการของสงครามนอกแบบ มาดำเนินการ
        ปัจจุบันการดำเนินสงครามนอกแบบได้มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นทำให้รูปแบบมีการลักษณะที่เปลี่ยนไป คือ 1) ผู้อุปถัมภ์ – มีทิศทางจากตัวแสดงที่เป็นรัฐไปสู่ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ 2) การจัดองค์กร – มีทิศทางจากองค์กรตามลำดับขั้นไปสู่องค์กรแบนราบ 3) อาวุธยุทโธปกรณ์ – มีทิศทางจากการใช้เทคโนโลยีต่ำไปสู่เทคโนโลยีสูง 4) การปฏิบัติทางยุทธวิธี – มีทิศทางจากสงครามกองโจรไปสู่สงครามพันทาง 5) การอุดมการณ์ในการต่อสู้ – มีทิศทางจากอุดมการณ์ทางการเมืองไปสู่อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และศาสนา และ 6) การหล่อหลอมอุดมการณ์และสร้างแนวร่วม – มีทิศทางจากการปฏิบัติการจิตวิทยาไปสู่ปฏิบัติการข่าวสาร
        บริบทของการเปลี่ยนแปลงหลังจากสงครามเย็นยุติลง ประกอบกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ได้ส่งผลกระทบโดยภาพรวมต่อวิถีการดำเนินชีวิต วิธีคิด และ รูปแบบในการดำรงชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองได้ส่งผลให้การทำสงครามนอกแบบ นั้นมีกรอบแนวคิดและรูปแบบที่เปลี่ยนไป การดำเนินการต่างๆ ด้วยแนวคิดเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นเพราะไม่ชอบที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่รู้และไม่แสวงหาเรียนรู้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ส่งผลให้การปฏิบัติงานของกองทัพอาจจะมีประสิทธิภาพไม่ดีเท่าที่ควรนัก เพราะต้องยอมรับว่าพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก และเป็นการยากที่จะวิ่งตามให้ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่มีขนาดใหญ่อย่างเช่น กองทัพ เป็นต้น
        วันนี้ความชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ปรากฏชัดเจนมากขึ้น ทำให้เกิดคำถามในใจของทั้งคนที่เป็นทหารและไม่เป็นทหารว่า สิ่งที่กองทัพคิดและทำอยู่ในปัจจุบันนั้นมีประสิทธิภาพเพียงไร และจะมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ในการปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญยิ่งนั่นคือ การรักษาผลประโยชน์ของชาติ และรักษาความมั่นคงให้เกิดขึ้นในชาติ ซึ่งภาวะการเปลี่ยนแปลงจากกระแสต่างๆ นี้เองถือได้ว่าเป็นความท้าทายของกองทัพที่จะต้องเผชิญ แล้วกองทัพและกำลังพลในกองทัพทราบหรือไม่ว่าท่านกำลังเผชิญกับอะไร

วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บันทึกวีรกรรมที่ทำให้ เสด็จเตี่ย ทรงมีเรื่องบาดหมางใจกับรัชกาลที่ ๖


บันทึกของ น.ต.หลวงเจนจบสมุทร

          เรื่องราวต่อไปนี้เป็นเรื่องราวของนักเรียนนายเรือในอดีต ที่ได้สร้างวีรกรรม ๆ หนึ่งที่ทำให้ เสด็จเตี่ย ทรงมีเรื่องบาดหมางใจกับ ในหลวงรัชกาลที่ ๖ โดยได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือนาวิกศาสตร์ ฉบับเดือน กรกฎาคม ๒๕๑๐
          สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของบันทึกนี้คือ น.ต.หลวงเจนจบสมุทร (เจือ สหนาวิน) ได้บันทึกไว้ในปี พ.ศ.๒๔๘๕ (เหตุการณ์ที่บันทึกปี ๒๔๕๒ - ๒๔๕๓) แต่ผู้ที่นำมาเผยแพร่ คือ พล.ร.ต.สมุทร์ สหนาวิน (อดีต ผบ.ทร.) บุตรชาย โดยมีจุดประสงค์เพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริง และเฉลิมพระเกียรติแด่เสด็จในกรมฯ

พลเรือเอก สมุทร์ สหนาวิน

 ผบ.ทร. เมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ - ๓๐ กันยายน ๒๕๒๔ บุตรของผู้บันทึก



 บันทึกของ น.ต.หลวงเจนจบสมุทร

          เมื่อกำลังเป็นนักเรียนเล่าเรียนอยู่ในโรงเรียนนายเรือนี้ มีเรื่องเกี่ยวกับตัวฉันขึ้นเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรบันทึกไว้ให้ลูกหลานทราบเป็นประวัติส่วนตัว คือเวลานั้นกำลังเป็นนักเรียนชั้น ๓ ครบกำหนดถึงคราวที่โรงเรียนตัดฟอร์ม (เครื่องแบบ) ขาวและฟอร์มสีกากีให้คนหนึ่งอย่างละ ๓ สำรับ ฉันตัดได้แล้ว แต่เจ๊กตัดให้รุ่มร่ามไม่กระทัดรัดเป็นที่พอใจ พอถึงวันเสาร์โรงเรียนหยุดเรียน นักเรียนก็เตรียมตัวกลับบ้าน ถึงเวลาก็ปล่อยไปตามเคย พวกที่อยู่โรงเรียนใครมีธุระจะไปไหนก็ได้ ดูหนัง ดูละคร ฯลฯ ตามความพอใจ พอเวลา ๑๖ น. เศษ ฉันก็แต่งตัวหนีบฟอร์มข้ามฟากไปถึงท่าเตียน พบนักเรียนห้องสองชื่อตู้ เขาหนีบฟอร์มไปแก้ที่เจ๊กแห่งเดียวกัน จึงได้เดินชวนกันไป เพราะร้านเจ๊กอยู่ที่แถวสะพานข้างโรงสีนี่เอง
          ออกจากท่าเตียนเดินทางตามถนนระหว่างวัดโพธิ์กับกำแพงพระบรมมหาราชวัง แล้วผ่านสวนสราญรมย์ไปทางหน้าพลับพลาสูง จวนจะเลี้ยวเข้าถนนระหว่างกลาโหมกับวังสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (คือรัชกาลที่ ๖) คือที่กระทรวงการต่างประเทศเดี๋ยวนี้ จากกำแพงวังถึงต้นมะขามเป็นสนามหญ้า มีพวกมหาดเล็กของวังนี้ ประมาณทั้งเด็กและผู้ใหญ่สัก ๕๐-๖๐ คนได้ กำลังเล่นฟุตบอลกันอย่างเอิกเกริกเฮฮา ครื้นเครงกันอยู่อย่างสนุกสนาน พอฉันทั้งสองคนเดินผ่านคล้อยหมู่ที่กำลังเล่นอยู่ใกล้เข้ามาทางหัวเลี้ยวได้สักหน่อยก็ธงลง เพราะเป็นเวลาย่ำค่ำ แตรวงที่หน้ากระทรวงกลาโหมบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี (แต่ก่อนนี้ที่ป้อมเผด็จดัสกร มีเสาธง ชักธงมหาราชเสมอ) เอาธงลงฉันก็หยุดทำความเคารพ ในระหว่างที่กำลังบรรเลงเพลงอยู่นั้น เขาก็เลิกฟุตบอลเดินคุยกันมาเสียงขรมถมเถ (เพราะพวกเขาไม่ต้องเคารพธงชาติเหมือนราษฎรเดี๋ยวนี้) มาทางข้างหลัง เมื่อสุดเสียงแตรแล้ว ฉันเอามือลงแล้วก้าวขาออกเดินพร้อม ๆ กัน เขาเดินกระชั้นเข้ามาใกล้สัก ๑๐ วาได้ การที่เอามือลงและก้าวเท้าออกเดินนี้ เป็นหน้าที่ของทหาร ไม่ต้องทำการนัดหมายก็ทำพร้อมกันได้ และก็เหตุนี้แหละที่จะเกิดเป็นเรื่องใหญ่โต เดือดร้อนขึ้นถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ คือ เมื่อเอามือลงและก้าวเท้าออกเดินพร้อมกันนั้น เขาคงนึกชอบใจด้วยกำลังหนุ่มคะนองและลำพองว่าตนเป็นคนใหญ่คนโต ตามมติของเขาหรือมิฉะนั้นก็เหมือนเด็กที่เคยมีอำนาจอาจทำเกเรข่มเหงคนอื่นเล่นได้ตามชอบใจ ซึ่งพวกเราเคยพูดกันจนชินปากว่า
          "อ้ายนี่เล่นอวดดีราวกับเจ้า"
          เรียกว่าฝ่ายที่พูดเหลืออดเหลือทนเต็มที จึงได้ออกวาจาดังนี้ แล้วก็ออกกำลังเข้าหากัน ลงท้ายปากกินน้ำพริกไม่ได้ไปหลายวัน

 วังสราญรมย์

          เขานับ "หนึ่ง ๆ และ หนึ่งสอง" ฉันก็เหลียวไปดูตามเสียงที่ได้ยินนั้นอยู่ข้างหลังว่าเขานับฉันสองคนที่กำลังเดินพร้อมกันนี้ หรือเขานับอะไร ? ที่ไหน ? กันแน่ พอเหลียวไปก็พอดีเหมาะทีเดียวเขาอ้าปากจะนับอีก แต่เขาเห็นฉันเหลียวไปสบตาเข้า เขาก็หยุดไม่กล้านับแล้วก็หลบหน้าเข้าปนเปกับหมู่พรรคพวกของเขาทันที ระยะคนที่นับกับฉันเดินห่างกันสัก ๗ - ๘ วาเท่านั้น พอจะจำหน้ากันได้ถนัด ฉันก็เหลียวกลับมาพูดกับเพื่อนร่วมทางของฉันว่า "เขานับถูกกับเท้าของเราและฉันเหลียวไปมองดู เขาหลบหน้าฉัน" ในระหว่างที่พูดกันนี้ต่างก็ลดฝีเท้าลง คือก้าวสั้น ๆ ชลอให้เขาขึ้นมาทัน พอเขาขึ้นมาทัน ฉันก็หันไปถามขึ้นว่า เมื่อตะกี้นับอะไรกัน เจ้าเด็กคนนั้นไม่ยักตอบฉัน กลับหลบหน้าวูบวาบ เข้าไปปะปบกับพรรคพวกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหลบหน้าไม่ให้ฉันจำได้ว่าใครเป็นใครกันแน่ มีอีกคนอยู่ข้าง ๆ เขาเลยตอบฉันแทนคนนั้นว่า "เขานับอะไรต่ออะไรของเขาเล่นต่างหาก" ฉันก็ตอบว่า "ถ้าไม่ได้นับฉันแล้ว ฉันถามดี ๆ ก็ควรจะตอบฉันซี นี่ไม่ตอบฉันกลับหลบหน้าไปเสียอีก และเป็นเรื่องเกี่ยวข้องอะไรกับแกด้วยเล่า จึงได้มาพูดแก้ตัวแทนกันดังนี้"
         เขาทั้งหมดไม่มีใครกล้าตอบ ยังมีอีกคนหนึ่งซึ่งทราบภายหลังว่าเขาชื่อนายร่วม มีรูปร่างทั้งสูงทั้งใหญ่เดินตามมาห่าง ๆ ข้างหลัง เมื่อเขาเห็นพรรคพวกของเขา ต่างยืนจังงัง ไม่มีใครกล้าตอบคำพูดของฉัน เขาก็แหวกพรรคพวกของเขาเข้ามา เหมือนกับว่าเขาเป็นนักเลงโตหัวหน้าข่มหมู เดินแบะท่าอย่านักมวยตรงเข้ามาหาฉัน พร้อมทั้งพูดว่า "ฉันเอง ๆ" เมื่อเขาตรงเข้ามาพร้อมด้วยคำพูดและอาการเช่นนั้น ฉันก็ปล่อยฟอร์มที่ฉันหนีบลงกลางถนน หันมารับพร้อมกับเสือกหมัดไปพบกันอย่างจัง แล้วต่อไปก็เล่นมวยหมู่กลุ้มชุลมุนไม่รู้ว่าใครเป็นใครอย่างขนานใหญ่ ข้างหนึ่ง ๒ คน อีกข้างหนึ่ง ๕๐ - ๖๐ คน รวมกำลังกินหมู คือฉันสองคนเวลานั้นฉันนึกอะไรออกไม่ได้ นึกถึงได้แต่คาถา หนุมานคลุกฝุ่น ที่ครูอาจารย์สอนให้เท่านั้น แต่เมื่อชุลมุนกันหนักเข้าก็ลืมอีก รู้แต่ว่าเมื่อตัวถูกหมัดเซไปทางไหน ฉันก็ใช้หมัดซ้ายเหวี่ยงออกไปแล้วก็กวาดด้วยหมัดขวาเป็นระยะเป็นจังหวะมิได้หยุดหย่อนและก็ไม่เหน็ดเหนื่อยกลับเห็นเป็นของสนุกดี ต่อยกันได้อย่างจังเลย กระบี่(ที่เรียกว่ามีดเหน็บ) ที่ติดอยู่ที่บั้นเอว ก็รู้ตัวอยู่ว่ามีอยู่เหมือนกัน แต่ยังคงนึกว่า ไม่ถึงคราว เขาเล่นมือเปล่าเราก็ควรจะตอบด้วยมือเปล่าจึงจะควร แล้วก็มือไม่ว่างที่จะมาจับกระบี่ด้วย มันน่าขำและสนุกมาก
          เวลานั้นฉันแต่งยูนิฟอร์มขาว แต่ถูกขว้างปาด้วยก้อนอิฐข้างถนนจนตัวของฉันแดงเป็นอิฐ และเป็นจุด ๆ ไปเต็มตัว พวกคนเล็กเขาอยู่ห่าง ๆ แล้วเขาใช้ก้อนอิฐขว้างฉัน แต่ไม่ยักถูกศีรษะ เพราะมีหมวกที่ฉันใส่จนแน่นจึงไม่หลุด ถ้าหมวกหลุดฉันอาจหัวแตกได้ ถ้าหัวฉันแตก ฉันเห็นเลือดเข้าคงเดือดเป็นแน่ ตอนนี้เองกระบี่คงจออกจากฝักหั่นกันละ แต่เมื่อไม่ถึงระยะนั้น ใจฉันยังดีอยู่เป็นส่วนมาก มิได้หวาดหวั่น พรั่นพรึง กลัวเกรงแม้แต่น้อย จนตัวของฉันเองเซถลาเข้าไปจนถึงหน้าประตูวัง ซึ่งมียามพลทหารบกยืนถือปืนสวมดาบพร้อมระวังเหตุการณ์อยู่ที่ประตูนั้น พวกเขาเหล่านั้นได้ร้องบอกยามว่า "ยามแกต้องจับตัวไว้ ถ้าไม่จับแกผิดด้วย" ส่วนยามก็เงอะงะเป็นที่ตกใจตื่นเล็กน้อย และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร
          ตอนนี้เองฉันจึงมีเวลาเหลียวแลดูรอบ ๆ ตัว เห็นตัวเข้ามายืนถึงประตูวัง เห็นเขาล้อมฉันอยู่ห่าง ๆ เหมือนสังเวียนไก่ และเหลียวไปดูเพื่อนร่วมทางของฉัน เขาลงไปยืนอยู่ในท่อข้างถนนฝั่งข้างแบแรค (กลาโหม) และคนที่ล้อมเขาอยู่ห่าง ๆ โดยรอบก็มี และคนที่อยู่ใกล้ฉันที่สุด ก็คือยามทหารบกที่ยืนถือปืนสวมดาบปลายปืนพร้อมอยู่อย่างตกใจห่างจากฉันสัก ๒ - ๓ ศอกไม่ถึงดี ฉันจึงพูดขึ้นว่า "ยาม ! เธอก็เป็นทหาร ฉันก็เป็นทหาร ไม่ควรทำร้ายกันเอง และเราก็ไม่มีเหตุเกี่ยวข้องหมองใจกันด้วย แต่เมื่อเธอจะจับฉันให้ได้ ก็เท่ากับเธอไม่รักชีวิตของเธอเหมือนกัน" เวลาที่พูดนั้นมือซ้ายจับฝักกระบี่ขยับดังกรอกแกรกอยู่ แต่ในใจนั้นจับอยู่ที่ดาบปลายปืนของยามจะแย่งเอาดาบปลายปืนอันนั้น และประหารเขาให้ได้ ตาของฉันจับตาของเขา และระวังอากัปกิริยาทุกประการ
          เวลานั้นถ้าเขาขยับตัว หรือมีท่าทางบอกว่าเป็นพวกข้างโน้น ฟังเสียงข้างโน้นแม้แต่หน่อยหนึ่งแล้ว หรือขยับตัวด้วยประการใด ๆ ก็ตาม ฉันเป็นพุ่งตัวโถมเข้าใส่ยามทันที คราวนี้แหละเห็นจะถึงเลือดถึงชีวิตกันละ ฉันนึกในใจ แต่ก็เป็นอยู่อย่างหนักหนา ยามยืนถือปืนนิ่งเฉยเหมือนยักษ์วัดแจ้งยืนถือกระบองอยู่หน้าโบสถ์นั้น เห็นแต่ตากระพริบ ๆ ระวังตรงเฉยอยู่ ในระหว่างที่ฉันประจันหน้าอยู่กับยามดังกล่าวมานี้ มีทหารบกคนหนึ่งจะเป็นนายหรือพลทหารก็ไม่ทราบ เห็นจะได้ยืนดูมวนหมู่มานาน ตั้งแต่เกิดเหตุมาแล้วหรืออย่างไรไม่ทราบแน่เหมือนกัน เขาร้องตระโกนลงมาว่า "นายอย่าสู้เขาเลย เขามากกว่านายมากนัก กลับไปเสียเถิด" ฉันจึงได้คิดหันไปมองเห็นคนยืนบนหน้าต่าง กระทรวงกลาโหม จึงนึกดีใจที่เขาเป็นคนให้สติ ยกมือคำนับขอบใจเขา แล้วหันออกมาห่างจากยามประตูข้ามท่อน้ำหน้าวังมาเก็บเสื้อกางเกงที่ทำตกอยู่กลางถนน พร้อมทั้งบอกกับเพื่อนร่วมทาง นายตู้ เพื่อนคู่ยากของฉันว่า "เราจัดแจงไปกันเถิด" และเมื่อหนีบเสื้อกางเกงเข้ารักแร้แล้ว ฉันก็พูดขึ้นดัง ๆ ประกอบกับชี้มือไปทางสะพานข้างโรงสีว่า "ฉันจะไปทางนี้แหละ ถ้าใครรักชีวิตอยู่ก็จงหลีกไป ขืนขวางทางคราวนี้เป็นเห็นดีกันละ" พูดแล้วก็ออกเดินนำเพื่อนคู่ยากของฉันไป พวกนั้นที่ยืนเกลื่อนกลาด เขาไม่กล้าขวางฉัน เขาหลีกทางเป็นช่องให้ฉันสองคนเดินเคียงกันไปได้อย่างสบาย ห่างจากฉันสองคนข้างละสองวาได้ ผ่านพ้นพวกเขาไปแล้วจึงไปแก้เสื้อที่โรงเจ๊ก ขากลับโรงเรียนฉันสองคนไปทางอื่น กลับทางเก่ากลัวจะเกิดเรื่องอีก
          รุ่งขึ้นหน้าตาของฉันบวมอูมหลายแห่ง แต่ก็ไม่ได้เจ็บป่วยถึงกับนอนโรงพยาบาล เวลาเรียนก็เข้าห้องเรียน มีเพื่อนฝูงถามก็เล่าให้ฟังแล้วทำรายงานเสนอกัปตันตอน และนำเสนอขึ้นไปถึงผู้บังคับการโรงเรียน น.ต.หลวงพินิจจักรพันธ์ (ภายหลังเป็นพระยาสาครสงคราม สุริเยศ อมาตยกุล) เมื่อท่านทราบแล้วเกรงว่าจะเกิดเรื่องต่อไปอีก จึงเรียกฉันมาตักเตือนต่าง ๆ ฉันก็เรียนท่านว่า ตั้งใจมาเล่าเรียนมากกว่า ไม่ได้ตั้งใจจะมาเป็นคนเกะกะ ทำให้เป็นเรื่องร้อนใจผู้บังคับบัญชา และแล้วก็แล้วกันไป ไม่อาฆาตมาดร้ายอย่างใดต่อไปอีก เรื่องจึงระงับกันไปตอนหนึ่ง 

 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          ต่อมาประมาณ ๓ - ๔ เดือน ถึงคราวสอบไล่เลื่อนชั้นก็เลื่อนขึ้นชั้น ๔ เลยออกไปฝึกหัดที่ทะเลอยู่ทางโน้น ส่วนทางกรุงเทพ ฯ ก็เกิดเหตุเรื่องของฉันลุกแดงโชนขึ้นมาอีก คือพวกมหาดเล็กเหล่านั้น ได้ไปเที่ยวข่มเหงคนโน้นคนนี้มากต่อมากเห็นว่าจะเกิดเรื่องเสียหายถึงพวกเขาทั้งหมด และจะปิดความไว้ไม่ได้แล้ว จึงกราบทูลเรื่องของฉันขึ้นเพื่อเป็นการกลบเกลื่อนเรื่องอื่น ๆ หาว่านักเรียนนายเรือมาข่มเหงถึงหน้าวัง เป็นการรุกรานดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ว่ากันมากมายเป็นเรื่องใหญ่โต สมเด็จพระบรม ฯ ได้ทรงฟังเลยเอาว่าทหารเรือมาข่มเหงมหาดเล็กของพระองค์อย่างอุกอาจ แท้ที่จริงพระองค์ท่านไม่ถูกกับพระองค์อาภากรมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ไปทรงศึกษาที่เมืองนอกมาด้วยกัน ในกรมเคยทรงเล่าเรื่องให้ฟังมาบ้างแล้ว รุ่งขึ้นก็เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ขอให้ชำระลงโทษทหารเรืออย่างที่เคยกระทำมากับทหารบก (ก่อนหน้าเกิดเหตุเรื่องนี้ประมาณ ๕ - ๖ เดือน ได้เกิดเรื่องกับนายทหารบกขึ้นเรื่องหนึ่ง หาว่านายร้อยเอก โฉม ตีมหาดเล็กของพระองค์ด้วยแซ่ม้า เป็นการเหยียดหยามดูหมิ่นพระเดชยิ่งนัก ลงโทษถึงออกจากนายร้อยเอก แล้วเฆี่ยนหลังอีก ๓๐ ที นายโฉมผู้นี้ต่อมาภายหลัง เมื่อสมเด็จพระบรม ฯ ขึ้นเสวยราชย์เป็นรัชกาลที่ ๖ ได้เป็นผู้ปราบอ้ายเสือเปีย ผู้ร้ายสำคัญที่มีคนยำเกรงครั่นคร้ามมาก ตายที่จังหวัดสมุทรปราการ และจัดการปราบด้วยมือของตนเอง) 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้า

          เรื่องที่นายร้อยเอก โฉม ถูกถอดถูกเฆี่ยนนั้น ดังนี้ คือ นายร้อยเอก โฉม นั่งรถม้าเรียกว่ารถด๊อกการ์ดมาหยุดลงที่ข้างถนนข้างกลาโหมนั่นเอง เจ้าพวกนี้เป็นพวกที่ยกหัวเป็นกิ้งก่า แส่หาเรื่องอวดดี เดินมาเป็นกลุ่ม ๆ เป็นหมู่ พอประจวบกับนายร้อยเอกโฉมหยุดรถเข้า พวกนี้ก็กรากเข้าไปที่หน้าม้า จะจับลูบคลำม้าเล่นตามที่ใจคึกคะนอง ม้าก็ตกใจออกวิ่ง นายร้อยเอก โฉม จึงรั้งบังเหียนด้วยมือซ้าย และมือขวาที่ถือแซ่ม้าอยู่ก็หวดไปทางผู้ที่ยกมือลูบคลำม้า คงถูกปลายแซ่ม้าลงบ้าง พวกเขาจึงโกรธเก็บเนื้อความขึ้นกราบทูลสมเด็จพระบรมฯ ว่าทหารบกข่มเหง ส่วนตัวพวกเขาที่ทำให้ม้าตกใจพาทั้งรถทั้งคนวิ่งไปอย่างไม่เป็นท่าเป็นทางเขาไม่กล่าวถึง นี่แหละเป็นเรื่องที่ใครมีโอกาสฟ้องได้ก็ฟ้องเอา อย่างที่เรียกว่า "โทษคนอื่นเท่าเหาก็ยกขึ้นมากล่าวให้เหลือหลาย ส่วนโทษของตนเป็นต้นเหตุถึงจะโตเท่าภูเขาหรือเท่าช้างก็ปิดบังอำพรางไว้" ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงรับรายงานคำฟ้องของพ่อโต (ในหลวงเรียกสมเด็จพระบรมฯ) ไว้แล้ว ก็สั่งให้กรมวังเรียกหากรมหมื่นชุมพรฯ ไปเข้าเฝ้า 

เสด็จเตี่ย 

          ในกรมเมื่อได้ทราบว่ามีรับสั่งเรียกหาตัว และสืบทราบเรื่องที่ให้ไปเฝ้าตามเรื่องที่กล่าวมาแล้ว พระองค์ประทับที่โรงเรียนนายเรืออยู่แล้ว จึงทรงสอบถามถึงเรื่องราว ว่าใครรู้เห็นถึงเรื่องนี้บ้าง ทรงกริ้วหาว่าเมื่อมีเหตุเกิดเรื่องขึ้นแล้ว ทำไมจึงไม่บอกให้พระองค์ทรงทราบ สั่งหาตัวให้ได้  จะทำโทษไล่ออก บังเอิญนายอ่อง เป็นหัวหน้ากัปตันจำเรื่องได้ จึงกราบทูลว่าเรื่องนี้ได้ผ่านมาหลายเดือนแล้ว เจ้าทุกข์คือฉัน เมื่อเกิดเรื่องทำรายงานเสนอขึ้นมาแล้ว แต่รายงานจะไปตกอยู่ที่ใดไม่ทราบ ในกรมจึงสั่งให้ค้นหาเรื่องให้ได้ ถ้าไม่ได้จะลงโทษผู้บังคับบัญชาทุกคนทุกชั้น ตอนนี้ช่วยกันค้นหาหนังสือฉบับนั้นกันเป็นจ้าละหวั่นไปหมด ค้นไปค้นมาก็ไปพบรายงานฉบับนั้นนอนอยู่ในก้นลิ้นชักของผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ ในกรมสั่งขังผู้บังคับการทันที แต่นายทหารช่วยกันทูลขอโทษแก้ตัวไว้จึงรอดตัวไป เมื่อได้ทรงอ่านรายงานของฉันแล้ว ก็เก็บใส่กระเป๋า เสด็จข้ามฟากเลยไปเฝ้ากรมหลวงราชบุรีฯ ซึ่งเวลานั้นเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เอาเป็นพยานเอกแล้วเชิญชวนให้ไปเฝ้าพรุ่งนี้พร้อมกัน ณ ท้องพระโรงรับพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว ต่อมาวันรุ่งขึ้นก็ไปพบพร้อมกันยังที่หมาย พอในหลวงรัชกาลที่ ๕ เสด็จออกประทับเหลียวไปพบในกรมเข้าก็รับสั่งถามว่า "อาภา พ่อโต (หมายถึงสมเด็จพระบรมฯ )เขาฟ้องว่าทหารเรือมารังแกเด็กของเขาจริงหรือ" ในกรมถวายคำนับแล้วกราบบังคมว่า "ไม่จริง พวกมหาดเล็กของสมเด็จพระบรม ฯ รังแกนักเรียนนายเรือจึงจะถูก เพราะนักเรียนเพียง ๒ คนเท่านั้น ส่วนมหาดเล็กตั้ง ๕๐ - ๖๐ คน ใครจะข่มเหงใครแน่ กฎหมายที่ไหนก็ไม่มีใครเขาออก เป็นระเบียบแบบแผนว่า คนน้อยข่มเหงคนมาก ถ้าไม่เชื่อขอให้รับสั่งถามในกรมราชบุรีดู" ในหลวงทรงหันไปทางกรมหลวงราชบุรีฯ (เวลานั้นเป็นกรมหมื่น) ๆ ถวายคำนับกราบบังคมทูลว่า "จริงพระเจ้าข้า ทั่วโลกไม่มีกฎหมายว่าคนน้อยข่มเหงคนมาก มีแต่คนมากข่มเหงคนน้อย" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เลยหันพระพักตร์มาทางสมเด็จพระบรม ฯ แล้วรับสั่งว่า "พ่อโตก็ไม่ควรนำเอาเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้มากล่าวให้เป็นเรื่องเป็นราวเสียเวลา" แล้วก็เลยรับสั่งถึงเรื่องอื่น ๆ ต่อไป 
          เป็นอันว่าเรื่องของฉันจบลงกันที นี่แหละเป็นเรื่อง ๆ หนึ่งที่เขาล่ำลือกันนักว่า กรมหมื่นชุมพรฯ ท่านทรงรักลูกศิษย์ หรือช่วยเหลืออุ้มชูลูกน้องของท่านเสมอ มีผู้รู้เห็นเป็นพยานกันอยู่มาก แท้ที่จริงก็มีแง่ที่จะทรงช่วย มิใช่ว่าจะช่วยจนไม่มีเหตุผล ฉันเองก็หวุดหวิดจะถูกเฆี่ยนหลัง แล้วไล่ออกอยู่ลอมมะล่อเหมือนกัน นับว่าหลุดรอดพ้นไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ สาธุ ขอส่วนกุศลที่ฉันมีอยู่ จงตามสนองพระองค์ท่าน ทุกชาติทุกภพ ด้วยเถิด มิเช่นนั้นแล้วฉันจะต้องเสียคนตลอดชาติทีเดียว นี่เป็นความรอดตายของสกุล สหนาวิน ยังระลึกถึงพระกรุณาของเตี่ยอยู่เสมอ (สานุศิษย์ทุกคนเรียกพระองค์ท่านว่า ติ๊กเตี่ย) และแต่นั้นมาพระองค์ท่านก็ทรงรู้จัก จำชื่อจำหน้าได้ดี ตลอดจนได้เข้าใกล้ชิดหม่อมเจ้าลูก ๆ ของพระองค์ท่านทั้งหญิงทั้งชาย ได้อุ้มชูนำเที่ยวเล่นในบางเวลารอบ ๆ วัง ฯลฯ เพื่อนนักเรียนก็มีคนนับหน้าถือตากันขึ้นอีกมาก ลูกของในกรมมีท่าน อาทิตย์รังสุริยา ท่านขลัว ท่านบ๋วย ฯลฯ เหล่านี้ เมื่อกลับจากนอกแล้วฉันไม่ได้ไปหาท่าน เพราะฉันออกจากราชการแล้ว และอายุก็มาก ยอมตนเป็นคนแก่ หาใส่ปากใส่ท้องไปตามกำลัง ไม่อยากรบกวนพระองค์ชายลูกของนายหนุ่ม ๆ ที่กลับจากเมืองนอกให้มีเรื่องกังวลพระทัย ด้วยคนแก่เช่นตัวฉันนี้ ส่วนลูกเต้าของฉันถ้าเขามีปัญญา เขาก็คงหาที่พึ่งของเขาเอาใหม่ ๆ เหมาะ ๆ ตามอัธยาศัยพอใจของเขาต่อไป.

วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เศรษฐศาสตร์สามัญสำนึก 55 ปีทุนกองทัพไทย (ตอนที่ 1)(ตอนที่ 2)




กานดา นาคน้อย
23 มีนาคม 2555
ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สื่อมวลชนบางสังกัดและนักวิชาการบางกลุ่มร่วมกันสร้างวาทกรรม “ทุนสามานย์” เพื่อโจมตีกลุ่มทุนในธุรกิจโทรคมนาคมของอดีตนายกทักษิณฯ ว่าเป็นกลุ่มทุนผูกขาดที่ชั่วช้าสามานย์ราวปิศาจ วาทกรรมนี้ พยายามสร้างความชอบธรรมให้รัฐประหาร ทั้งๆที่จริงแล้วกองทัพไทยคือกลุ่มทุนที่ผูกขาดหลายกิจการมา 55 ปี ถ้าเรานิยาม “ทุนสามานย์” ว่าเป็นทุนผูกขาดก็แปลว่ากองทัพไทยเป็นทุนสามานย์มานานกว่าครึ่งศตวรรษ ดังนั้นถ้าเปรียบทุนสามานย์ว่าเป็นปิศาจ ก็แปลว่าสื่อมวลชนและนักวิชาการที่สนับสนุนรัฐประหารชื่นชอบปิศาจหน้าเก่า ที่สิงประเทศมา 55 ปีมากกว่าปิศาจหน้าใหม่ที่สิงประเทศมาไม่ถึง 6 ปี
ทุนกองทัพไทยคือเอกลักษณ์ของทุนนิยมแบบไทยๆ
กองทัพบกภายใต้การนาของจอมพลสฤษดิ์ในตาแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเริ่ม ประกอบธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศตั้งแต่ปีพศ. 2500 กล่าวคือ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจถ่ายทอดรายการทางโทรทัศน์ ธุรกิจกระจายเสียงทางวิทยุ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจการพนัน ส่วนกองทัพอากาศเริ่มธุรกิจการบินพาณิชย์ระหว่างประเทศตั้งแต่ปีพศ. 2502
การขยายกิจการของกองทัพเข้าสู่ธุรกิจเหล่านี้ทำให้เกิดการสะสมทุน (Capital accumulation) ภายในกองทัพมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ปีพศ. 2500 กองทัพมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหมือนกลุ่มทุนอื่นๆในไทย ทำให้การป้องกันประเทศกลายเป็นกิจกรรมรองของกองทัพ กิจกรรมหลักของกองทัพคือการทำธุรกิจและทารัฐประหารเพื่อผลประโยชน์จากธุรกิจ ความเป็นกลุ่มทุนของกองทัพไทยคือปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ทำให้ไทยมีรัฐประหาร บ่อยจนติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และทำให้ศักยภาพของอุตสาหกรรมอาวุธไทยต่ำมาก ไทยไม่มีวันกลายเป็นทุนนิยมสากลตราบใดที่ธุรกิจของกองทัพไม่โดนแปรรูปให้ เป็นเอกชน การแปรรูปธุรกิจของกองทัพสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าการแปรรูปรัฐ วิสาหกิจด้วยซ้ำ
กองทัพสหรัฐฯไม่ใช่ต้นแบบโมเดลของทุนกองทัพไทย
แม้ว่ากองทัพไทยได้รับความช่วยเหลือทางการทหารจากกองทัพสหรัฐฯตั้งแต่ สงครามเกาหลีในปี 2493 กองทัพสหรัฐฯไม่ใช่ต้นแบบความเป็นกลุ่มทุนเพราะกองทัพสหรัฐฯไม่ใช่กลุ่มทุน กองทัพสหรัฐฯเกี่ยวข้องกับธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆผ่านสัมปทานและการจัดซื้อ เหมือนกองทัพในประเทศทุนนิยมสากลอื่นๆเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาวุธ โทรคมนาคม หรือขนส่ง กองทัพในประเทศทุนนิยมสากลไม่ถือหุ้นธนาคารและไม่บริหารธนาคาร ไม่ถือหุ้นและไม่บริหารสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ ไม่บริหารสายการบินพาณิชย์หรือสนามบินพาณิชย์ ไม่บริหารบ่อนพนัน และไม่บริหารอสังหาริมทรัพย์ในเชิงพาณิชย์
แม้ว่าค่ายทหารในสหรัฐฯบางแห่งมีบริการสันทนาการและสนามกอล์ฟ บริการสันทนาการในค่ายทหารสหรัฐฯ มีลักษณะเดียวกับบริการสันทนาการในป่าสงวนแห่งชาติ คือมีที่ดินให้ตั้งแคมป์กลางแจ้งพร้อมบริการห้องน้ำสาธารณะ หรือบริการบ้านพักเคบินที่เรียบง่าย ค่ายทหารสหรัฐฯไม่มีบริการบ้านพักตากอากาศที่สะดวกสบายพร้อมห้องจัดเลี้ยง เหมือนโรงแรม นอกจากนี้ สหรัฐฯมีสนามกอล์ฟสาธารณะมากมาย มหาวิทยาลัยทั้งรัฐบาลและเอกชนที่สหรัฐฯจำนวนมากมีสนามกอล์ฟสาธารณะเช่น เดียวกัน ผู้เสียภาษีที่ไม่อยากจ่ายค่าใช้สนามกอล์ฟเอกชนที่ราคาแพงก็ใช้สนามกอล์ฟ สาธารณะที่ราคาถูกกว่าได้ แต่ผู้เสียภาษีในไทยมีทางเลือกแค่สนามกอล์ฟเอกชนที่ราคาแพงและสนามกอล์ฟใน ค่ายทหารเท่านั้น
ดิฉันไม่มีเจตนาสนับสนุนให้ไทยหันมาสร้างสนามกอล์ฟสาธารณะมากมายแบบ สหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯมีพื้นที่ใหญ่กว่าไทยถึง 20 เท่า ประเด็นคือการแสวงหากำไรจากทรัพยากรที่ดิน กล่าวคือ กองทัพไทยแสวงหากำไรจากที่ดินมากกว่ากองทัพในประเทศทุนนิยมสากล ถ้าจะปฎิรูปกองทัพไทยให้หมดสภาพความเป็นกลุ่มทุนแบบกองทัพในประเทศทุนนิยม สากล ก็ต้องออกกฎหมายกำหนดให้กองทัพโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินบางส่วนคืนให้กรมที่ดิน หรือกรมป่าไม้ รวมทั้งโอนกรรมสิทธิ๋ให้สนามกอล์ฟและสนามกีฬาทหารกลายเป็นสนามสาธารณะ
ธนาคารทหารไทยคือฐานเงินทุนของทุนกองทัพไทย
ธนาคารทหารไทยเริ่มดำเนินกิจการในปี 2500 แต่จดทะเบียนเป็นธนาคารในปี 2499 ซึ่งเป็นปีเดียวกันที่นักธุรกิจอเมริกันร่วมกันก่อตั้งหอการค้าอเมริกันใน ไทยเพื่อสนับสนุนให้บรรษัทข้ามชาติอเมริกันเข้ามาลงทุนในไทย ด้วยการผลักดันของจอมพลสฤษดิ์ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกธนาคารทหารไทยขอใบ อนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์จากแบงค์ชาติและกระทรวงการคลังด้วยเหตุผล ว่ากองทัพต้องการมีธนาคารเพือทำธุรกรรมต่างๆของกองทัพรวมทั้งการชำระเงินใน การซื้อขายอาวุธ
ไม่มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ใดๆ สามารถสร้างความชอบธรรมให้แก่การก่อตั้งธนาคารทหาร กองทัพในประเทศทุนนิยมสากลรวมทั้งสหรัฐฯ ไม่ถือหุ้นธนาคาร ไม่บริหารธนาคาร และใช้บริการธนาคารพาณิชย์ในการทำธุรกรรมรวมทั้งการซื้อขายอาวุธ สถาบันการเงินสำหรับทหารในประเทศทุนนิยมสากลจำกัดอยู่ในรูปแบบสหกรณ์ออม ทรัพย์เหมือนสถาบันการเงินของผู้เสียภาษีในวิชาชีพอื่นๆ แม้แต่องค์การระหว่างประเทศที่ผลักดันระบบทุนนิยมอย่างธนาคารโลกและกองทุน การเงินระหว่างประเทศก็จำกัดสถาบันการเงินเพื่อพนักงานให้อยู่ในรูปแบบ สหกรณ์ออมทรัพย์
สหกรณ์ออมทรัพย์ต่างจากธนาคารพาณิชย์อย่างไร? สหกรณ์ออมทรัพย์ระดมทุนด้วยเงินฝากจากสมาชิก(หรือผู้ถือหุ้น)และให้สินเชื่อ บุคคลแก่ สมาชิก ส่วนธนาคารพาณิชย์ระดมทุนด้วยเงินฝากจากใครก็ได้เพื่อปล่อยสินเชื่อทั้งสิน เชื่อบุคคลและสินเชื่อธุรกิจ ความแตกต่างอีกด้านที่สำคัญคือขนาด ธนาคารพาณิชย์เปิดสาขาได้ทั่วประเทศ แต่สหกรณ์ออมทรัพย์ผูกติดกับองค์กรวิชาชีพในระดับท้องถิ่นจึงเปิดสาขาทั่ว ประเทศไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ความสามารถในการระดมทุนของธนาคารพาณิชย์สูงกว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ มาก การก่อตั้งธนาคารทหารไทยเป็นการสร้างฐานเงินทุนให้แก่กองทัพและธุรกิจส่วน ตัวของทหาร
รัฐประหารและการผูกขาดธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในไทย
ธนาคารทหารไทยเริ่มดำเนินกิจการในปีที่จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารล้มรัฐบาล จอมพลป.พิบูลสงคราม ปีถัดไปจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารอีกครั้งและกลายเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลสฤษดิ์ได้ออกพรบ.การธนาคารพาณิชย์พ.ศ. 2505 เพื่อให้รัฐบาลมีอำนาจไม่ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ในอนาคต ทำให้ธุรกิจธนาคารพาณิชย์โดนผูกขาดโดยกองทัพและครอบครัวไม่กี่ครอบครัว พรบ.ดังกล่าวเพิ่งได้รับการยกเลิกเมื่อปีพศ. 2551 นี้เอง [1] แม้พรบ.การธนาคารพาณิชย์พ.ศ. 2505 โดนยกเลิกแล้ว จานวนธนาคารพาณิชย์ไทยไม่เคยมากกว่า 20 ตัวเลขนี้ต่ำกว่าในต่างประเทศมาก
ยกตัวอย่างสหรัฐฯและญี่ปุ่น ประชากรสหรัฐฯคิดเป็น 5 เท่าของประชากรไทย แต่จำนวนธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯมากกว่า 6,000 [2] คือมากกว่า 300 เท่าของไทย ในบางทศวรรษจำนวนธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯมากกว่า 10,000 ด้วยซ้า ต่อให้หักลบความแตกต่างของขนาดพื้นที่สหรัฐฯซึ่งมีพื้นที่ 20 ของไทย จำนวนธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯก็ยังมากกว่าไทยถึง 280 เท่า ในกรณีญี่ปุ่น ประชากรญี่ปุ่นคิดเป็น 2 เท่าของประชากรไทย แต่จานวนธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นมากกว่า 120 [3] คือมากกว่า 6 เท่าของไทย นอกจากนี้พื้นที่ประเทศญี่ปุ่นก็เล็กกว่าไทยด้วย ที่สาคัญ ทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐฯมีธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นที่แข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ ขนาดใหญ่ที่มีสาขาทั่วประเทศ
การแปรรูปธนาคารทหารไทยหลังวิกฤตการเงินพศ. 2540
ปัจจุบันกองทัพลดสัดส่วนการถือหุ้นธนาคารทหารไทยเหลือเพียง 2.15% [4] แต่ก็ยังนับว่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 6 การลดสัดส่วนถือหุ้นของกองทัพไม่ได้เกิดความตั้งใจของกองทัพ กองทัพไม่เคยต้องการเลิกเป็นเจ้าของหรือเลิกบริหารธนาคารทหารไทย [5]
สัดส่วนการถือหุ้นทีลดลงมาเป็นผลลัพธ์จากปัญหาหนี้เสียของธนาคารทหารไทย กระทรวงการคลังกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เพราะการอัดฉีดเงินเพื่ออุ้มธนาคาร ทหารไทยหลังวิกฤตการเงินพศ. 2540 นอกจากนี้ธนาคารทหารไทยจำเป็นต้องเพิ่มทุนด้วยการขายหุ้นให้นักลงทุนต่าง ชาติ ธนาคารทหารไทยได้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษจาก Thai Military Bank เป็น TMB Bank เพื่อประชาสัมพันธ์ต่อนักลงทุนต่างชาติว่าไม่ใช่ “ธนาคารของทหาร” แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดก็ยังไม่ใช่เอกชนอยู่ดี ดังนั้นการแปรรูปธนาคารทหารไทยยังไม่แล้วเสร็จตราบใดที่กระทรวงการคลังยัง ไม่สามารถขายหุ้นให้เอกชน ที่สำคัญ ตราบใดที่ไม่มีกฎหมายห้ามกองทัพถือหุ้นธนาคารพาณิชย์และบังคับให้กองทัพขาย หุ้นธนาคารทหารไทยให้เอกชนให้หมด กองทัพไทยก็จะคงสภาพความเป็นกลุ่มทุนและการป้องกันประเทศก็จะไม่มีวันเป็น กิจกรรมหลักของกองทัพไทย
ธุรกิจอื่นๆของกองทัพไทย
นอกจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ จอมพลสฤษดิ์ได้วางรากฐานการสะสมทุนของกองทัพไว้หลายกิจการ อาทิ สถานีวิทยุและโทรทัศน์กองทัพบก ที่ดินสาธารณะถูกโอนกรรมสิทธิจากกรมป่าไม้ให้กลายเป็นกรรมสิทธิ์ของกองทัพบก ในยุครัฐบาลสฤษดิ์ เช่น ที่ดินริมทะเลกว่าพันไร่ในอ.สวนสน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กองทัพพัฒนาที่ดินบางส่วนให้เป็นสนามกอล์ฟและสนามกีฬากองทัพบก สนามกีฬากองทัพบกในบางจังหวัดได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการบ่อนพนันแข่งม้า ส่วนกองทัพอากาศก็ดำเนินธุรกิจการบินพาณิชย์ระหว่างประเทศตั้งแต่ยุครัฐบาล สฤษดิ์ กล่าวได้ว่าจอมพลสฤษดิ์คือ “บิดาของทุนกองทัพไทย”
ในตอนต่อไปดิฉันจะเขียนถึงธุรกิจเหล่านี้และบทบาทของ “บุตรหลานของทุนกองทัพไทย” ที่รับมรดกมาจากจอมพลสฤษดิ์

หมายเหตุ
  1. พรบ.ธุรกิจสถาบันการเงิน : http://www.bot.or.th/Thai/LawsAndRegulations/Pages/Law_3.aspx
  2. จำนวนธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ : http://research.stlouisfed.org/fred2/series/USNUM
  3. สมาชิกสมาคมธนาคารญี่ปุ่น: http://www.zenginkyo.or.jp/en/outline/list_of_members/
  4. โครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ธนาคารทหารไทย จากัด (มหาชน) : http://www.tmbbank.com/ir/share-info/major-shareholders.php
  5. "ทำไม! กองทัพในแบงก์ทหารไทยไม่มีวันแยกจากไปเด็ดขาด" นิตยสารผู้จัดการ (กรกฎาคม 2535) : http://www.gotomanager.com/news/printnews.aspx?id=6700   

กานดา นาคน้อย: เศรษฐศาสตร์สามัญสำนึก 55 ปีทุนกองทัพไทย (ตอนที่ 2)

Wed, 2012-04-25 18:09
กานดา นาคน้อย
25 เมษายน 2555
ในบทความตอนที่แล้วดิฉันอธิบายความเป็นกลุ่มทุนของกองทัพไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของทุนนิยมแบบไทยๆ บทบาทของธนาคารทหารไทยในฐานะธุรกิจที่สำคัญที่สุดของกองทัพ และการผูกขาดธุรกิจธนาคารพาณิชย์โดยกองทัพและครอบครัวไม่กี่ครอบครัว ในตอนนี้ดิฉันขอเขียนถึงธุรกิจของกองทัพที่สำคัญรองลงมา กล่าวคือ ธุรกิจฟรีทีวีและธุรกิจวิทยุกระจายเสียง
ใครใหญ่กว่ากัน: ไอทีวี vs. ททบ.5 + ช่อง7สี + ทีวีพูล?
ก่อนรัฐประหารปี 2549 สื่อมวลชนและนักวิชาการบางกลุ่มนำเสนอว่าอดีตนายกฯทักษิณมีพฤติกรรม“เผด็จการ”โดยแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนโดยเฉพาะไอทีวีหลังจากที่ชินคอร์ปเข้าไปถือหุ้นไอทีวี วาทกรรมดังกล่าวพยายามสร้างความชอบธรรมให้รัฐประหารและการยกเลิกสัมปทานไอทีวี ทั้งๆที่จริงแล้วกองทัพบกเป็นเจ้าของฟรีทีวี 2 ช่องมา 55 ปีและแทรกแซงฟรีทีวีทุกช่องด้วยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจหรือทีวีพูล ถ้าเรานิยามว่า“เผด็จการ”คือผู้นำทางการเมืองที่ถือหุ้นฟรีทีวีและแทรกแซงฟรีทีวี กองทัพบกก็เป็น“เผด็จการ”มา 55 ปี ดังนั้นถ้าเปรียบเผด็จการว่าเป็นปิศาจ ก็แปลว่าสื่อมวลชนและนักวิชาการที่สนับสนุนรัฐประหารชื่นชอบปิศาจหน้าเก่าที่สิงทีวีมา 55 ปีมากกว่าปิศาจหน้าใหม่ที่สิงทีวีมา 7 ปี
ฟรีทีวีคือธุรกิจสำคัญของกองทัพบก
ในปีพศ.2500 ธนาคารทหารไทยเริ่มเปิดทำการด้วยการผลักดันของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในปีเดียวกันกองทัพบกก่อตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก(ททบ.)เพื่อทำธุรกิจฟรีทีวีซึ่งมีรายได้จากการให้เช่าเวลาแก่ผู้ผลิตรายการและผู้โฆษณาสินค้า รายได้จากธุรกิจฟรีทีวีในปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาทและททบ.ที่กองทัพบกบริหารเองโดยตรงมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 20% [1] ททบ.มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่แตกต่างจากธนาคารทหารไทย กล่าวคือ กองทัพบกเป็นเหล่าทัพเดียวที่ถือหุ้นททบ. แต่กองทัพเรือและกองทัพอากาศถือหุ้นธนาคารทหารไทยร่วมกับกองทัพบก แม้ปัจจุบันเอกชนและกระทรวงการคลังร่วมถือหุ้นธนาคารทหารไทยด้วย กองทัพบกก็ยังถือกรรมสิทธิ์ททบ. 5 เพียงผู้เดียวเนื่องจากโครงการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ของททบ.5 ไปให้บริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีที่ชื่ออาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนท์จำกัดโดนระงับไปเมื่อ 2 ปีก่อนรัฐประหารครั้งล่าสุด
สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกและรัฐประหารล้มรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม
ททบ.ในยุคแรกรู้จักกันทั่วไปว่าททบ.7 เนื่องจากถ่ายทอดรายการผ่านช่อง7 ททบ.7เป็นฟรีทีวีช่องที่2ในไทย ฟรีทีวีช่องแรกคือสถานีไทยทีวีช่อง4ที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม (ภายหลังกลายเป็นช่อง9 อสมท.และโมเดิร์นไนน์ทีวีในปัจจุบัน) ไทยทีวีช่อง4เป็นธุรกิจของบริษัทไทยโทรทัศน์ซึ่งถือหุ้นโดยหน่วยราชการหลายแห่งรวมทั้งกรมประชาสัมพันธ์ ไทยทีวีช่อง 4 เริ่มถ่ายทอดรายการตั้งแต่ปีพศ. 2498 เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาลจอมพลป. รวมทั้งถ่ายทอดการประชุมรัฐสภาและงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จอมพลสฤษดิ์จึงผลักดันให้กองทัพบกก่อตั้งททบ.เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกองทัพบ้าง ททบ.7เริ่มถ่ายทอดรายการตั้งแต่ปี 2501 หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลจอมพลป. หน้าที่ของททบ.7คือการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของกองทัพ พระราชกรณียกิจ และพระราชพิธีที่รื้อฟื้นมาจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราช เพื่อเรียกเรตติ้งททบ.7ยุคแรกนำเสนอความบันเทิงในรูปแบบภาพยนตร์จากต่างประเทศและรายการวาไรตี้ที่จัดโดยนายทหารจากกองทัพบก [2] [3]
สัมปทานฟรีทีวีภายใต้รัฐบาลทหาร
ในปี 2510 กองทัพบกภายใต้การนำของจอมพลประภาส จารุเสถียรในตำแหน่งผบ.ทบ.ให้สัมปทานความถี่บางส่วนแก่บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุของครอบครัวน้องสาวภรรยาผบ.ทบ. น้องสาวภรรยาทบ.ทบ.สมรสกับทายาทสกุลกรรณสูตซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองสุพรรณบุรีในอดีต สกุลกรรณสูตถือหุ้นบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุร่วมกับสกุลจารุเสถียรและสกุลรัตนรักษ์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยา ฟรีทีวีที่กองทัพบกให้สัมปทานคือสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง7หรือช่อง7สี ซึ่งเป็นช่องแรกที่ถ่ายทอดด้วยภาพสี สกุลกรรณสูตและสกุลรัตนรักษ์ได้สัมปทานช่อง7สีจากกองทัพบกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ในปีเดียวกันรัฐบาลถนอมให้สัมปทานความถี่บางส่วนของบริษัทไทยโทรทัศน์(ซึ่งเป็นเจ้าของไทยทีวีช่อง4)แก่บริษัทของสกุลมาลีนนท์ซึ่งถ่ายทอดทีวีทางช่อง 3 ทำให้จำนวนฟรีทีวีเพิ่มเป็น 4 ช่อง ในปี 2517 ททบ.7 เปลี่ยนชื่อเป็นททบ.5 และหันมาออกอากาศทางช่อง 5 ในขณะที่ไทยทีวีช่อง 4 ก็เปลี่ยนมาออกอากาศช่อง 9 ไม่กี่ปีให้หลังรัฐบาลธานินทร์ยุบบริษัทไทยโทรทัศน์และโอนช่อง 9 ให้องค์การสื่อสารมวลชน(อสมท.) กรมประชาสัมพันธ์ในยุครัฐบาลเปรมจึงจัดตั้งทีวีช่อง11ขึ้นมาแทนเพื่อให้เป็นฟรีทีวีของรัฐบาล
การก่อตั้งและบริหารโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจโดยกองทัพบก
กองทัพบกก่อตั้งโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจหรือทีวีพูลในปี 2511 [2] ทำให้กองทัพบกแทรกแซงฟรีทีวีได้ทุกช่องด้วยการเชื่อมเครือข่ายฟรีทีวีเพื่อประชาสัมพันธ์ลัทธิชาตินิยมและการปกครองแบบรวมศูนย์ เพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในรูปแบบต่างๆ อาทิ ถ่ายทอดพระราชกรณียกิจและพระราชพิธีที่รื้อฟื้นมาจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราช ถ่ายทอดกิจกรรมของกองทัพ ถ่ายทอดพิธีกรรมทางศาสนา และถ่ายทอดการแข่งขันกีฬานานาชาติที่มีนักกีฬาไทยร่วมแข่งขัน ในระยะหลังทีวีพูลหันมาถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาที่นักกีฬาไทยไม่ได้เข้ารอบด้วย เช่น การแข่งขันฟุตบอลโลก
แม้ว่าสงครามเย็นจบไปแล้วกว่า 20 ปี อำนาจของกองทัพบกในการแทรกแซงฟรีทีวีทุกช่องด้วยทีวีพูลไม่ได้ลดลงตามกาลเวลา ประธานกรรมการทีวีพูลคือผู้อำนวยการททบ.5 มาจนถึงปัจจุบัน ทีวีพูลกลายเป็นเครื่องมือทำรัฐประหารและประชาสัมพันธ์ชัยชนะของคณะรัฐประหารมาตลอด หลังจากรัฐประหารล้มรัฐบาลชาติชาติชายเหตุการณ์พฤษภาทมิฬทำให้เห็นชัดเจนว่าฟรีทีวีทุกช่องโดนควบคุมโดยคณะรัฐประหารและไม่รายงานสถานการณ์ตามความจริง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแรงผลักดันให้จัดตั้งฟรีทีวีที่เป็นอิสระซึ่งก็คือไอทีวี หลังรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณไอทีวีโดนยึดสัมปทานไปให้ทีวีช่องใหม่ที่เรียกกันว่าไทยพีบีเอส แน่นอนว่าไทยพีบีเอสก็โดนแทรกแซงโดยทีวีพูลด้วย ความล่าช้าของฟรีทีวีในการเตือนภัยสึนามิเมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมาบ่งชี้ชัดว่ากองทัพบกในปัจจุบันยังคงแทรกแซงการทำงานของฟรีทีวีทุกช่องด้วยทีวีพูล ตราบใดที่ยังไม่ยุบทีวีพูลก็ยากที่ไทยจะมีฟรีทีวีที่รายงานข่าวอย่างอิสระ
อิทธิพลของททบ.5 และช่อง7สีต่อดารานักแสดงและนักร้อง
เมื่อวัดด้วยรายได้ททบ.5 มีส่วนแบ่งตลาดฟรีทีวีเป็นอันดับ 3 ส่วนช่อง 7 สีที่กองทัพบกเป็นเจ้าของสัมปทานมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 (อันดับ 1 คือช่อง 3 และอันดับ 4 คือช่อง 9) ส่วนแบ่งตลาดของททบ.5 รวมกับช่อง7สีสูงถึง 43% ถ้าวัดด้วยเรตติ้งอันดับ 1 คือช่อง7สีส่วนททบ.5 ติดอันดับ 3 [4] ด้วยเหตุนี้กองทัพบกจึงมีอิทธิพลต่อวงการบันเทิงผ่านรายการของททบ.5 และช่อง7สีมานานหลายทศวรรษ อาทิ รายการคอนเสิร์ต รายการวาไรตี้ เกมโชว์ ละครหลังข่าว ฯลฯ ทำให้ดารานักแสดงและนักร้องจำนวนมากอยู่ในสภาวะที่ต้องพึ่งพากองทัพบกและมีผลประโยชน์ร่วมกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ดารานักแสดงและนักร้องมากมายกลายเป็นเชียร์ลีดเดอร์ให้คณะรัฐประหาร
ความเกี่ยวข้องของททบ.5กับบริษัทอาร์ทีเอเอ็นเตอร์เทนเม็นท์และธนาคารทหารไทย
ก่อนวิกฤตการเงินในปี 2540 เพียง 3 เดือนกองทัพบกได้จัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีชื่อบริษัทททบ.5จำกัด ในปี 2541 บริษัทททบ.5จำกัดกู้เงินจากสถานีททบ.5 เพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นธนาคารทหารไทย กองทัพบกถือหุ้นธนาคารทหารไทย 2 ทาง ทางตรงคือถือหุ้นในนามของกองทัพบกและทางอ้อมคือถือหุ้นผ่านบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนี ทำให้กองทัพบกถือหุ้นธนาคารทหารไทยมากกว่าเหล่าทัพอื่นๆ [6] [7] ต่อมาบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีดังกล่าวกู้เงินจากธนาคารทหารไทยไปลงทุนในธุรกิจทีวีดาวเทียม หลังจากนั้นกองทัพบกยินยอมให้เอกชนเข้ามาถือหุ้นบริษัทททบ.5ร่วมกัน ภายหลังกองทัพบกพยายามถ่ายโอนกรรมสิทธิ์คลื่นความถี่ของททบ.5 เพื่อให้บริษัทททบ.5 จำกัดให้สัมปทานคลื่นความถี่แก่เอกชน และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นบริษัทอาร์ทีเอเอ็นเตอร์เทนเมนท์จำกัดเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน [5] แต่การถ่ายโอนกรรมสิทธิ์คลื่นความถี่ของททบ.5 ให้บริษัทอาร์ทีเอฯกลายเป็นประเด็นสาธารณะที่เอ็นจีโอและสื่อมวลชนบางสังกัดคัดค้านอย่างรุนแรงจนรัฐบาลทักษิณต้องระงับไม่ให้บริษัทอาร์ทีเอฯจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2547
ความขัดแย้งกรณีบริษัทอาร์ทีเอฯทำให้อดีตนายกฯทักษิณโดนประนามว่าสมคบกับพลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตรผบ.ทบ.ในขณะนั้นเพื่อฮุบทรัพย์สินสาธารณะไปให้พวกพ้อง แม้ว่ามีความเป็นไปได้ว่าอดีตนายกฯทักษิณอาจจะขอแบ่งผลประโยชน์จากบริษัทอาร์ทีเอฯ ที่จริงแล้วบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้การนำของพลเอกแป้ง มาลากุล ณ อยุธยาในฐานะผู้อำนวยการททบ.5 ตั้งแต่ปี 2538 ถึงปี 2542 การวางแผนจัดสรรหุ้นให้เอกชนและคนในกองทัพเข้ามาร่วมลงทุนในโฮลดิ้งคอมปะนีก่อนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคนั้น [8] นอกจากนี้บริษัทนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาหนี้เสียของธนาคารทหารไทยมาตั้งแต่ก่อนรัฐบาลทักษิณ ถ้ารัฐบาลทักษิณไม่ระงับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทอาร์ทีเอฯ อดีตนายกฯทักษิณและพวกพ้องจะไม่ได้ประโยชน์จากบริษัทอาร์ทีเอฯเท่ากองทัพบกซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในอาร์ทีเอฯหรือเอกชนที่ร่วมลงทุนกับบริษัทนี้ตราบใดที่กองทัพบกไม่จัดสรรหุ้นบริษัทอาร์ทีเอฯให้อดีตนายกฯทักษิณและพวกพ้องให้มากกว่าสัดส่วนหุ้นของกองทัพบกและพันธมิตรเอกชน
นอกจากฟรีทีวี 2 ช่องกองทัพบกมีสถานีวิทยุ 126 สถานีทั่วประเทศ
นอกจากการจัดตั้งโฮลดิ้งคอมปะนีเพื่อถ่ายโอนกรรมสิทธิ์คลื่นความถี่แล้ว กองทัพบกพยายามปกป้องผลประโยชน์จากคลื่นความถี่อย่างชัดเจนผ่านกระบวนการสรรหากรรมการกสทช.หลังรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ กล่าวคือ 2 ใน 5 ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกสทช.คือนายทหารจากกองทัพบก [9] เนื่องจากนโยบายของกสทช.ในอนาคตจะมีผลกระทบต่อกรรมสิทธิ์ของคลื่นความถี่ที่กองทัพถือกรรมสิทธิ์อยู่ในปัจจุบัน นอกจากคลื่นความถี่ของฟรีทีวี 2 ช่องแล้ว กองทัพบกยังเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ของสถานีวิทยุ 126 สถานีทั่วประเทศ [10] อาทิ สถานีวิทยุจส. 100 (ให้สัมปทานแก่บริษัทแปซิฟิกคอร์ปอเรชันจำกัดซึ่งมีนายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยาเป็นประธานกรรมการ นายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยาคือพี่ชายของพลเอกแป้ง มาลากุล ณ อยุธยาอดีตผอ.ททบ.5 ผู้ริเริ่มการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนีททบ.5จำกัด) สถานีวิทยุยานเกราะ (ให้สัมปทานคลื่นความถี่บางส่วนแก่บริษัทจีเอ็มเอ็มมีเดียจำกัด(มหาชน)ซึ่งเป็นบริษัทในเครือแกรมมี่) ฯลฯ
ในตอนต่อไปดิฉันจะเขียนถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินของกองทัพและการหากำไรจากกรรมสิทธิ์ที่ดินของกองทัพในรูปแบบต่างๆ

หมายเหตุ
  1. สถิติรายได้ของช่อง 3 และช่อง 9 มาจากงบการเงินของบริษัทบีซีอีเวิร์ลด์ จำกัด (มหาชน)และบริษัทอสมท.จำกัด(มหาชน)จากตลาดหลักทรัพย์:
    http://www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=BEC&language=th&country=TH
    http://www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=MCOT&language=th&country=TH
    ส่วนสถิติรายได้ของช่อง 5 และช่อง 7 มาจากการรายงานโดยททบ.5และสื่อมวลชน: http://www.tv5.co.th/news/show2.php?id=2680
    http://www.suthichaiyoon.com/detail/19403
  2. ประวัติของทบบ.5: http://www.tv5.co.th/abhis.html
  3. อนุสรณ์ พ.อ. การุณ เก่งระดมยิ่ง (โฆษกเสียงเสน่ห์และผู้ร่วมขบวนการเสรีไทย):  http://www.lovesiamoldbook.com/product.detail_489893_th_3967526
  4. อสมท.ขึ้นค่าโฆษณา7% มีค.นี้หวังแชร์ตลาดแซงช่อง 5 ปรับผังใหม่เรตติ้งตกยกออก:  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1330658046&grpid=&catid=05&subcatid=0503
  5. รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 (ททบ.): http://www.ryt9.com/s/cabt/153128
  6. ข้อมูลผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารทหารไทยจากธนาคารทหารไทย บริษัทอาร์ทีเอ เอ็นเตอณ์เทนเมนท์ จำกัดในอดีตคือบริษัทททบ.5 จำกัด: http://www.tmbbank.com/ir/share-info/major-shareholders.php
  7. ข้อมูลผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารทหารไทยจากตลาดหลักทรัพย์: http://www.set.or.th/set/companyholder.do?symbol=TMB&language=th&country=TH
  8. แป้งปฎิวัติ เงื่อนปมที่รัดแน่น: http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=1489
  9. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.): http://nbtc.nbtc.go.th/
  10. รายชื่อสถานีวิทยุในเครือกองทัพบก 126 สถานีทั่วประเทศจากศูนย์ข่าววิทยุกองทัพบก: http://radio.tv5.co.th/radionews/index.php?option=com_content&view=article&id=2&Itemid=4

วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประวัติศาสตร์ต่างประเทศ การปฏิวัติฝรั่งเศส


ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส


          ประวัติศาสตร์ ฝรั่งเศสมีวิวัฒนาการยาวนาน แม้จะยุ่งเหยิง แต่ก็มี
พลวัตร    ปรัชญาการเมืองของฝรั่งเศส ก็ได้ยึดมั่นในหลักการ เสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ สืบมาโดยตลอด โดยที่คำทั้งสามคำนี้ คือ คำขวัญของสาธารณรัฐ

 ประวัติศาสตร์ ฝรั่งเศส (France) ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า มีวิวัฒนาการยาวนาน แม้จะยุ่งเหยิง แต่ก็มีพลวัตร (Dynamic) บทเรียนต่างๆ จากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสในลำดับถัดไปจะช่วยให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนา ประชาธิปไตยของประเทศนี้ ได้ตามสมควร แต่อาจจะช่วยให้เกิดความเข้าใจกระจ่างยิ่งขึ้นอีก หากว่านำเอาไปศึกษาในเชิงเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญของประเทศอื่นๆ อย่าง สหราชอาณาจักรกับสหรัฐอเมริกา พร้อมกันไป
 9.2 ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์

ฝรั่งเศส เป็นประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งในยุโรป เมื่อประมาณ 300 ถึง 400 ปีที่แล้ว เพราะรุ่งเรืองด้วยศิลปวิทยาการนานาประการ พระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์ฝรั่งเศสก็แผ่ขยายไปทั่วยุโรปเรียกได้ว่ามี อิทธิพลไม่น้อยกว่าอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าสมุทรและเจ้าของดินแดนมหาศาลในขณะนั้น แต่ขณะที่อังกฤษเข้าสู่พัฒนาการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภามา เป็นลำดับ ตั้งแต่เริ่มจำกัดพระราชอำนาจตามมหาบัตร (Magna Carta, 1215) จนกระทั่งการมีรัฐสภา การมีนายกรัฐมนตรี และการมีพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิพลเมือง (Bill of Rights, 1689) ฝรั่งเศศยังคงยึดการปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างหนักแน่นมั่นคง และสมบูรณ์แบบ ทำให้กษัตริย์เชื่อมั่นว่า พระองค์ทรงมีอำนาจอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด จนเกิดเป็นประโยค รัฐคือตัวข้า ขึ้นมา
   ตอนปลายของคริสตศตวรรษที่ 18 ในยามที่ประชาชนทุกข์ยาก ข้าวยากหมากแพง และเศรษฐกิจตกต่ำอันเนื่องมาจากการใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือยในราชสำนัก ขณะเดียวกันสภาพสังคม และการเมืองของฝรั่งเศส ก็เสื่อมโทรมลงอย่างหนัก กอปรกับความแตกต่างระหว่างชนชั้นต่างๆ เป็นผลทำให้เกิดการต่อต้านอำนาจอันไม่ชอบธรรมของรัฐกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการจับกุมคุมขังผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลในที่สุด ก็นำไปสู่การปฏิวัติครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 โดยชนชั้นกลางนำราษฎรเข้าทำลายที่คุมขังนักโทษทางการเมือง คือ คุกบาสติล (Bastille) และสามารถยึดอำนาจจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้ 
 ใน เวลาต่อมา (เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา 13 ปี) ซึ่งในอีกหนึ่งร้อยปีต่อมา รัฐบาลฝรั่งเศส ก็ได้ประกาศให้ถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันชาติฝรั่งเศส  การปฏิวัติในปี 1789 น่าจะได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากการปฏิวัติในสหรัฐอเมริกาอยู่บ้างไม่มากก็ น้อยและความพยายามครั้งนั้น ก็คือ ความต้องการที่จะนำระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย (ซึ่งมีตัวอย่างชัดเจนในสหรัฐอเมริกาและมีเค้าให้เห็นในอังกฤษ) มาใช้ในฝรั่งเศส โดยได้มีการจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) ซึ่งแปรสภาพมาจากมาจากสภาฐานันดร (Les Etats Genereaux) ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งเป็นที่รวมของผู้แทน 3 ชนชั้น อันมีฐานะทางกฎหมายต่างกัน คือ ขุนนาง พระ ซึ่งเป็นกลุ่มอภิสิทธิชน และสามัญชน แล้วจึงได้ประกาศใช้ ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง (Declaration of the Rights of Man and of the Citizen, 1789) ขึ้น เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ในปีเดียวกัน
     สาระ สำคัญของปฏิญญาดังกล่าว เน้นในเรื่อง การยอมรับสิทธิมูลฐานของมนุษย์ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเทิดทูนความเสมอภาค เสรีภาพตามกฎหมาย และพลังสาธารณะรวมทั้งเน้นความสำคัญของการวางระเบียบหลักการปกครองแบบใหม่ ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของมวลชน การแบ่งแยกอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ หลังจากนั้น ปรัชญาการเมืองของฝรั่งเศส ก็ได้ยึดมั่นในหลักการ เสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ สืบมาโดยตลอด โดยที่คำทั้งสามคำนี้ ก็คือ คำขวัญของสาธารณรัฐฝรั่งเศส อันมีสาระสำคัญคร่าวๆ ดังนี้
        เสรีภาพ (Liberty) คือ การเน้นในเสรีภาพของบุคคล หรือ ปัจเจกชนนิยม และได้ขยายไปในเรื่องเสรีภาพในด้านความคิด ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาหาความรู้ การพิมพ์และเผยแพร่ข่าวสาร รวมทั้งเสรีภาพในทางการเมือง 

      เสมอภาค (Equality) คือ ความเท่าเทียมกันตามกฎหมายของปัจเจกชน ความเสมอภาค ขึ้นอยู่กับหลักความเที่ยงธรรม ความเท่าเทียมกันในเรื่อง สิทธิและหน้าที่ เช่น ความเท่าเทียมในด้านการเสียภาษี การรับใช้ชาติโดยการเป็นทหาร และสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง 

      ภราดรภาพ (Fraternity) คือ ความเป็นพี่เป็นน้องกัน มนุษย์ทุกคนจะต้องมีความเท่าเทียมกันและปฏิบัติต่อกันดุจพี่น้อง ความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้มนุษย์ คือ การไม่เน้นผิวพรรณ หรือ เผ่าพันธุ์ 

     อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสก็ยอมรับว่า ความหมายหรือความสำเร็จที่แท้จริงของการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส คือ การยุติระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยซึ่งวางรากฐานมานานปีเท่านั้น (เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ได้ยุติอย่างถาวร เพราะต่อมาก็ได้กลับฟื้นฟูขึ้นอีก) แต่ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ตั้งต้นขึ้นอย่างบริบูรณ์ต่อเนื่องกันเพราะการ ปฏิวัติ ค.ศ. 1789 ยังผลให้เกิดความขัดแย้งมากมายระหว่างชนในชาติระหว่างกลุ่มผู้ได้อำนาจใหม่ กับผู้สูญเสียอำนาจ ระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนอำนาจรัฐและผู้สนับสนุนอำนาจศาสนจักร ตลอดจนมีความแตกแยกทางความคิดในการจัดระเบียบการปกครองรัฐใหม่ในบรรดาผู้นำ การปฏิวัติทั้งหลา
        
 เมื่อวันที่ 3 กันยายน ในปี 1791 ภายหลังการปฏิวัติใหญ่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของฝรั่งเศส  
 รัฐธรรมนูญฉบับนี้นำเอาหลักการในปฏิญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองฝรั่งเศสฉบับ ค.ศ. 1789 มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ยังคงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ อำนาจอธิปไตยแบ่งออกได้เป็นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขไม่ได้เป็นราชาธิปัตย์ แต่ทรงถืออำนาจอธิปไตยในฐานะผู้แทนของชาติและทรงเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารด้วย
การปฏิวัติในฝรั่งเศส

       การออกกฎหมายซึ่งเคยเป็นพระราชอำนาจกลับตกมาเป็นอำนาจของสภา นิติบัญญัติซึ่งเป็นสภาเดียวและพัฒนามาจากสมัชชาแห่งชาติเมื่อสมัยหลังการ ปฏิวัติใหม่ๆ พระมหากษัตริย์ไม่สามารถยุบสภาได้ และสภานิติบัญญัติก็ไม่อาจถอดถอนพระมหากษัตริย์หรือบุคคลในคณะรัฐบาลได้ ส่วนการบริหารประเทศ พระมหากษัตริย์ยังคงเป็นหัวหน้าบริหารและมีรัฐมนตรีหรือเสนาบดีเป็นผู้ร่วม งาน ลักษณะการจัดการองค์กรเช่นนี้ใกล้เคียงกับระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข แต่ลักษณะการจัดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรต่างๆ ใกล้เคียงกับระบบประธานาธิบดีมาก แต่ถ้าจะว่ากัน อันที่จริงแล้วเห็นจะเป็นระบบพิเศษไม่ซ้ำแบบใคร เสียมากd;jk      ส่วนระบอบกษัตริย์แบบใหม่ของฝรั่งเศสไม่สำเร็จเท่าที่ควร เพราะความไม่ไว้วางใจของพระมหากษัตริย์ยังคงมีอยู่ พลเมืองนับไม่ถ้วนถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิต รวมทั้งผู้ก่อการปฏิวัติหลายคนด้วย พระมหากษัตริย์เองก็ไม่พอใจสภา เพราะทรงเสนอร่างกฎหมายไม่ได้ (ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ) หน้าที่ของรัฐ คือ การปฏิบัติตามกฎหมายของสภาเท่านั้น ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภารุนแรงขึ้นทุกที จนในที่สุดได้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ได้รับอิทธิพลจากสภาร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา) ในปี ค.ศ. 1792เพื่อล้มเลิกระบอบกษัตริย์ และให้ตรารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น
           

 9.2.3 สมัยจักรวรรดิที่ 1

         ประวัติศาสตร์การปกครองของฝรั่งเศสมี          แต่เรื่องความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงระหว่างสมัย
สาธารณรัฐกับสมัยจักรวรรดิ             เมื่อสิ้นสมัยสาธารณรัฐสมัยแรก          พระเจ้านโปเลียนมหาราช
ก็เข้ามามีอำนาจและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1799 มีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติหลายสภา หลายประเภท และสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ (Conseil d' Etats) ขึ้น ฝ่ายบริหารประกอบด้วยคณะกงสุล 3 คน ซึ่งไม่เรียกว่า กษัตริย์ นโปเลียนเองก็เป็นผู้นำในกงสุลผู้หนึ่งต่อมามีการแก้รัฐธรรมนูญที่เน้นอำนาจฝ่ายบริหาร จนมีการเปลี่ยนแปลงกลับไปมีสถาบันพระมหากษัตริย์ (จักรพรรดิ) อีกครั้งหนึ่ง และลดจำนวนสภานิติบัญญัติลงเหลือสองสภา คือสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง และอยู่ในตำแหน่งตามวาระ กับ วุฒิสภาซึ่งสมาชิกมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ และอยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิต แต่แล้วต่อมาก็เกิดการปฏิวัติขึ้นอีก จึงเป็นอันยุติสมัยจักรวรรดิที่ 1 ลง

      9.2.4 สมัยสาธารณรัฐที่ 2

         คณะปฏิวัติได้สถาปนาสาธารณรัฐที่ 2 ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายของสหรัฐอเมริกาขึ้น ในปี 1848 คือ มีการแต่งตั้งประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศและหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีสภานิติบัญญัติทำหน้าที่ออกกฎหมาย และยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจเคร่งครัด โดยได้รับอิทธิพลมาจากรูปแบบการปกครองของสหรัฐอเมริกา ซึ่งนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสชื่อ ต๊อกเกอวิลล์ (Toqueville) นำมาเผยแพร่ รัฐธรรมนูญของสมัยสาธารณรัฐที่ 2

    โดย กำหนดให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่ง 4 ปี และไม่อาจรับเลือกตั้งซ้ำได้อีกซึ่งเป็นข้อห้ามที่ทำให้เกิดความตึงเครียด ขึ้นหลุยส์นโปเลียนโบนาปาร์ตเป็นประธานาธิบดีคนแรกและคนเดียวในสมัยนี้เพราะ ต่อมาก็ได้เกิดการรัฐประหารขึ้นกล่าวกันว่าเป็นเพราะนโปเลียนต้องการสมัคร เป็นประธานาธิบดีอีก แต่ไม่อาจรวบรวมเสียงเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ จึงต้องใช้วิธีล้มล้างรัฐธรรมนูญ
Toqueville

      9.2.5 สมัยจักรวรรดิที่ 2

         พระเจ้าหลุยส์นโปเลียน (พระราชนัดดาของพระองค์แรก) ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี หลังการรัฐประหารโดยมีกฎหมายให้อำนาจไว้ 10 ปี ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งรัฐมนตรีมีอำนาจเสนอร่างกฎหมายและมีอำนาจบริหาร อย่างเต็มที่แต่ต่อมามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนฝรั่งเศสกลายเป็นจักรวรรดิและ กษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในประเทศ ในที่สุดจักรวรรดิฝรั่งเศสก็เสื่อมลง ระบอบกษัตริย์จึงค่อยๆ สลายตัว และเข้าสู่สมัยสาธารณรัฐที่ 3 ในที่สุด

      9.2.6 สมัยสาธารณรัฐที่ 3

         ค.ศ. 1870 ประชาชนได้เดินขบวนเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ จนกระทั่งมีการจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติขึ้น และนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญกำหนดรูปแบบสาธารณรัฐขึ้นใหม่อีกครั้ง ซึ่งรูปแบบการปกครองเป็นแบบรัฐสภา โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขและได้รับเลือกจากสภานิติบัญญัติอยู่ในตำแหน่ง 7 ปี รัฐบาลสามารถยุบสภาได้ สภาสามารถตั้งกระทู้ถามและเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ ซึ่งในสาธารณรัฐที่ 3 เป็นสมัยมีความยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติใหญ่ กล่าวคือ มีอายุนานประมาณ 70 ปี แต่รัฐบาลในสมัยนี้ไม่สู้จะมีเสถียรภาพนัก ดังเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีกว่า 100ครั้ง ซึ่งในที่สุดสาธารณรัฐที่ 3 ก็สิ้นสุดลง

      9.2.7 สมัยสาธารณรัฐที่ 4

         สาธารณรัฐที่ 4 เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1946 ซึ่งเป็นปีที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รูปแบบการปกครองตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังคงเป็นแบบรัฐสภา โดยมีตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ ซึ่งจะต้องผ่านการเลือกตั้งโดยอ้อมจากคณะผู้เลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร สภานิติบัญญัติประกอบด้วยสภาล่างซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และสภาสูงซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม ต่อมาปรากฏว่า พรรคการเมืองต่างๆ กลับมีความแตกแยกกันมาก ประกอบกับเกิดปัญหาแอลจีเรียขึ้น รัฐบาลฝรั่งเศสไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้เต็มที่
        ด้วย ความล้มเหลวของสาธารณะที่ 4 ข้างต้น สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ลงมติให้ นายพล ชาร์ลส์ เดอโกลล์ (General Charles De Gaulle) เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลและมอบอำนาจให้เดอโกลล์ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย โดยมีบทเรียนจากวิวัฒนาการการเมืองการปกครองของประเทศ แต่มีต้องมีเงื่อนไขว่าต้องให้ประชาชนมีสิทธิออกเสียงแสดงประชามติ ซึ่งผลปรากฏว่า ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนอย่างท่วมท้น คือ เห็นด้วย ร้อยละ 66 และคัดค้าน (ไม่รับ) ร้อยละ 17 ส่วนที่เหลือ งดออกเสียง จากนั้นแล้ว จึงได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม   ค.ศ. 1958 อันเป็นการเริ่มต้นสาธารณรัฐที่ 5 จนกระทั่งถึงบัดนี้

General Charles De Gaulle

      9.2.8 สมัยสาธารณรัฐที่ 5

        รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐที่ 5 (the Fifth Republic) ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐ หรืออาจเรียกว่า มหาชนรัฐ ก็ได้ โดยมุ่งรักษาหลักการใหญ่ของระบบรัฐสภาแบบอังกฤษ ซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยสาธารณรัฐที่ 3 และ 4 เอาไว้บ้างแต่นำเอาส่วนดีหรือส่วนที่แข็งแกร่งของระบบประธานาธิบดีแบบสหรัฐ อเมริกามาผสมเข้าด้วยกัน จึงมีผู้เรียกระบบที่เกิดขึ้นใหม่นี้ว่า ระบบกึ่งรัฐสภา กึ่งประธานาธิบดี (semi-parliamentary-presidential system) ซึ่งทำให้ดูห่างไกลจากระบบรัฐสภาแบบขนานแท้และดั้งเดิม (classical parliamentary regime) ไม่ใช่น้อย และในขณะเดียวกันก็กระเดียดไปในทางระบบประธานาธิบดีมากกว่า ยิ่งเมื่อประกอบกับบุคลิกและความสามารถส่วนตัวของเดอโกลล์ ประธานาธิบดีคนแรกของสมัยสาธารณรัฐที่ 5 ซึ่งได้รับคะแนนนิยมและความไว้วางใจจากชาวฝรั่งเศสอย่างมาก ประธานาธิบดีจึงกลายเป็นสถาบันแห่งอำนาจ ซึ่งมีอำนาจมหาศาลกว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีฐานะเหนือองค์กรอื่นใด โดยเฉพาะรัฐสภากลับถดถอยลงจนไม่อาจทัดทานประธานาธิบดีได้ ต่อมาเมื่อหลังสมัยของเดอโกลล์พ้นไปแล้วอำนาจประธานาธิบดีคนต่อมา จึงได้ลดลงเหลือแต่เฉพาะตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น ส่วนแนวความคิดที่ว่าจะให้ฝ่ายบริหารไม่เป็นรองฝ่ายนิติบัญญัตินั้นเชื่อกัน ว่ามีที่มาจากความต้องการของเดอโกลล์เป็นหลัก จะเห็นได้ว่าความพยายามที่จะสร้างระบบการเมืองให้มีความมั่นคงและมี ประสิทธิภาพนั้น ได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลานาน จากตอนนั้น (ตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789) จนถึงตอนนี้ ประเทศฝรั่งเศสได้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหลายครั้ง คือ ได้มีการจัดตั้งสาธารณรัฐ 5 ครั้งและได้มีการเปลี่ยนมาใช้ระบอบจักรวรรดิ 2 ครั้ง ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงอาจจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ ฉะนั้น ฝรั่งเศส ในรอบ 200 กว่าปีมานี้ จึงมีรัฐธรรมนูญมาแล้วไม่น้อยกว่า 9 ฉบับ ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่สูงมากในยุโรปตะวันตก สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น มีชื่อในภาษาฝรั่งเศสว่า la Cinqui?me R?publique หรือ รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐที่ 5 นั่นเอง

9.3 รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐที่ 5

    รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐที่ 5 หรือที่มักเรียกกันว่า "ฉบับเดอโกลล์" ประกาศใช้เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1958 มาจนกระทั่งถึงบัดนี้กว่า 46 ปีแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้เข้าได้กับสถานการณ์ทางการเมืองต่างๆ ที่เกิดเปลี่ยนแปลงไป ในแต่ละยุค แต่ละสมัย รัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงถูกแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดบางส่วนอยู่เสมอๆ หลายครั้ง เช่น การให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง (1962) การเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับการรับโทษทางอาญาของรัฐมนตรี (1993) การให้มีการประชุมสภาเพียงสมัยเดียว การขยายขอบข่ายที่จะให้มีการออกเสียงประชามติ (1995) การกำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับสถานภาพของนิวแคลีโดเนีย (1998) การจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจและเงินตรา การให้หญิงและชายมีสิทธิเท่าเทียมกันสำหรับการอยู่ในวาระเลือกตั้งและการ ดำรงตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้ง การยอมรับขอบข่ายอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ (1999) การลดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี (2000)เป็นต้น ดังนั้น รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับนี้ ซึ่งรวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมด้วย จึงมีทั้งสิ้น 15 หมวด (Title) รวมจำนวน 90 มาตรา (Article)

     เจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ ปรากฏอยู่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับนี้  ซึ่งได้ยืนยันรับรองปฏิญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองที่ได้ประกาศเมื่อ ค.ศ. 1789 และคำปรารภอันยืดยาวของรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐที่ 4ค.ศ. 1946 เขียนไว้ 3 หน้า รวมถึงได้ประกาศสิทธิในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพิ่มเติมรวมไว้ในส่วนต้นนี้ด้วย

     กล่าวคือ รัฐธรรมนูญนี้ได้นำเอาหลักการในปฏิญญาดังกล่าวมาใช้เป็นส่วนหนึ่ง ก็คือ การประกันความเสมอภาคเท่าเทียมกันตามกฎหมายของพลเมืองทุกคน โดยปราศจากการแบ่งแยกชาติกำเนิด ผิวพรรณ หรือศาสนา ตลอดจนเพศ รัฐจะต้องให้การยอมรับและเคารพในความเชื่อถือศรัทธาของพลเมืองแต่ละคนเพื่อ จุดหมายปลายทางร่วมกัน คือ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ นั่นเอง

     อีกทั้งยังได้เน้นย้ำถึงหลักการของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ด้วย ดังความในมาตรา 2 ที่ว่า รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน หรือตามมาตรา 3 ที่ว่า อำนาจอธิปไตยแห่งชาติเป็นของประชาชน โดยที่สามารถใช้ได้ทั้งโดยผ่านทางผู้แทนของเขาเหล่านั้น และโดยตรงผ่านการออกเสียงลงประชามติ

    แน่นอน หลักการสำคัญอีกประการหนึ่ง อันเป็นเนื้อหาของรัฐธรรมนูญนี้ ในลำดับต่อๆ ไป นั่นก็คือการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งเป็นการแบ่งแยกอำนาจอย่างผ่อนคลาย ได้มีการแบ่งแยกองค์กรเป็นรัฐสภา รัฐบาลและศาล แต่ก็ยังยอมให้แต่ละองค์กรมีความสัมพันธ์และควบคุมกันได้ตามสมควรด้วย

9.4 สถาบันการเมืองการปกครอง

     โดยที่รัฐธรรมนูญได้ระบุบทบาทหน้าที่ของสถาบันต่างๆ ของสาธารณรัฐที่ 5 เอาไว้มาก โดยนำเอากฎเกณฑ์บางเรื่องในระบบอังกฤษมาผสมกับระบบอเมริกัน และระบบเดิมของฝรั่งเศสเอง จึงสรุปได้ว่า ระบบการเมืองในสมัยสาธารณรัฐที่ 5 เป็นประชาธิปไตยในแบบกึ่งรัฐสภา กึ่งประธานาธิบดี ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 ฝ่าย ดังนี้

      ในส่วนของ อำนาจบริหาร (Executive Power) นั้น ผู้ใช้ คือ ประธานาธิบดี กับ รัฐบาลที่ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีซึ่งประธานาธิบดีแต่งตั้ง แต่จะต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อรัฐสภา สำหรับ อำนาจนิติบัญญัติ (Legislative Power) นั้น รัฐสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร กับ สภาสูง เป็นผู้ใช้อำนาจนี้และยังทำหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของรัฐบาลให้เป็น ไปตามที่เสนอไว้ต่อสภา และมีอำนาจลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐบาลด้วย แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าประธานาธิบดีก็มีอำนาจยุบสภาผู้แทนฯ ได้เช่นกัน สำหรับ อำนาจตุลาการ (Judicial Power) ซึ่งผู้ใช้ ก็คือ ศาล นั้น ถูกจัดให้เป็นอิสระจากทุกฝ่าย

9.5 อำนาจบริหาร

    กรณีฝรั่งเศส ฝ่ายบริหารจะมีลักษณะผู้นำคู่ (Dual Executive) กล่าวคือ มีทั้งประธานาธิบดี เป็นประมุขแห่งรัฐ และผู้นำอำนาจบริหาร และก็มีนายกรัฐมนตรี อยู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ดังนั้น ในทางปฏิบัติ เมื่อกล่าวถึงรัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจบริหาร จึงหมายถึง สองสถาบัน คือ ประธานาธิบดี กับนายกรัฐมนตรี
      9.5.1 ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ 

         ประธานาธิบดี (หมวด 2) คือ ประมุขแห่งรัฐ และผู้นำอำนาจบริหาร ประธานาธิบดีซึ่งเป็นตำแหน่งประมุขของสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้มาจากการเลือก ตั้งทั่วไปโดยตรงของประชาชน  ตามระบบการเลือกตั้งสองรอบกล่าวคือ หากได้ผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด (absolute majority) จากผู้มาลงคะแนน คือ เกินกว่ากึ่งหนึ่ง ในรอบแรก (first ballot) จะถือว่าได้รับการเลือกตั้งทันที แต่ในกรณีที่ไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเสียงอย่างเด็ดขาด ก็จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในรอบที่สอง (second
ballot) ภายใน 2 สัปดาห์ โดยให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรกมาแข่งขันกันใหม่ ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากกว่าก็จะชนะการเลือกตั้ง โดยเป็นการนับคะแนนเสียงข้างมากธรรมดา (simple majority) ผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดี อาจจะเป็นตัวแทนของพรรคทางการเมืองหรือไม่เป็นก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ผู้สมัครจะมาจากพรรคการเมืองเกือบทุกพรรค


Elysee

Chirac
        ปัจจุบัน ประธานาธิบดีมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี (ตามประชามติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2000) จากเดิมที่มีวาระการดำรงตำแหน่งถึง 7 ปี ซึ่งตำแหน่งประธานาธิบดีก็มิได้ผูกพันกับวาระการดำรงตำแหน่งของรัฐสภา หรือ ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่อย่างใด และสามารถจะสมัครในสมัยที่ 2 หรือสมัยต่อไปได้เรื่อยๆกรณีที่ตำแหน่งว่างลงก่อนครบกำหนด ไม่ว่าโดยกรณีใดๆ อาทิ เสียชีวิต ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง ลาออก ผู้ที่จะทำหน้าที่รักษาการแทน ก็คือ ประธานวุฒิสภา เท่านั้น

         รัฐธรรมนูญได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดีเอาไว้ในหลายๆ มาตรา สามารถสรุปได้ดังนี้ 
        (1) ประธานาธิบดีมีหน้าที่เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอรายชื่อ (มาตรา 8)
        (2) ประธานาธิบดีมีอำนาจในการขอให้ประชาชนมีประชามติต่างๆ ตามข้อเสนอจากรัฐบาล หรือ จากสภาสูงกับสภาผู้แทนราษฎรร่วมกัน (มาตรา 11)
        (3) ประธานาธิบดีมีอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎรได้(มาตรา 12)
        (4) ประธานาธิบดีมีอำนาจพิเศษในการประกาศภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดวิกฤตการณ์ร้ายแรง (มาตรา 16)
        (5) ประธานาธิบดีมีหน้าที่เป็นผู้แต่งตั้งสมาชิก จำนวน 3 คน ในคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (มาตรา 56)
          นอกจากนี้ ประธานาธิบดีก็มีหน้าที่ในการเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี (มาตรา 9) ตลอดจนเป็นผู้นำของทุกเหล่าทัพ (มาตรา 15) รวมถึงยังมีสิทธิที่จะลงนามประกาศใช้กฎหมายต่างๆ ด้วย

      9.5.2 อำนาจขอประชามติ (Referendum)

         อำนาจสำคัญอำนาจหนึ่งของประธานาธิบดีที่ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญ มาตรา 11 ก็คือ ประธานาธิบดีสามารถขอให้ประชาชนลงคะแนนประชามติในร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรแห่งอำนาจสาธารณะ การให้สัตยาบันในข้อตกลงของประชาคม หรือ การมอบหมายอำนาจการให้สัตยาบันในสนธิสัญญา ตลอดจนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่ในการเสนอขอประชามตินั้น จะเกิดขึ้นโดยการเสนอจากรัฐบาล ในระหว่างที่สภาอยู่ในสมัยประชุม หรือ มาจากข้อเสนอขอร่วมของสภาสูงและสภาผู้แทนราษฎร การขอประชาชนให้ลงประชามติตามข้อเสนอของรัฐบาลนั้น นับแต่ปี 1958 เป็นต้นมา ได้มีการดำเนินการมาแล้ว 8 ครั้ง 

      9.5.3 อำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎร (Dissolution Power)

          เป็นอำนาจสำคัญของประธานาธิบดีที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 12 แห่งรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ประธานาธิบดีสามารถประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ ภายหลังที่ได้หารือกับนายกรัฐมนตรี
ประธานสภาสูง และประธานสภาผู้แทนราษฎร มีข้อยกเว้นที่ว่า ประธานาธิบดีไม่สามารถยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ ในขณะที่ประธานาธิบดีใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญมาตรา 16และในกรณีที่ได้มีการประกาศยุบสภาผู้แทนฯ ไปแล้ว และได้มีการเลือกตั้งสภาชุดใหม่เข้าไปทำหน้าที่ยังไม่ครบ 1 ปี การยุบสภาในสาธารณรัฐที่ 5 เกิดขึ้น 4 ครั้งด้วยกัน
      9.5.4 อำนาจฉุกเฉินในสถานการณ์พิเศษ (Implementation of special powers)    

          เป็นอำนาจพิเศษหรืออำนาจฉุกเฉินที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 16 โดยมีเหตุผลว่า ในกรณีที่สถาบันหลักแห่งสาธารณรัฐ เอกราชแห่งชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน หรือ การปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศถูกคุกคามในลักษณะที่เป็นอันตราย รวมทั้งกรณีการปฏิบัติภารกิจยามปกติของรัฐตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญถูกขัดขวางด้วยวิธีใดๆ ก็ตามประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสามารถดำเนินมาตรการทุกอย่างตามความเหมาะสม ซึ่งในภายหลังการปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการกับนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานสภาสูง และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ และจะต้องแถลงต่อประชาชนในเรื่องที่ได้กระทำลงไป ฉะนั้น ในช่วงของการใช้มาตรา 16 ประธานาธิบดีจึงเป็นผู้เดียวที่จะตัดสินใจในปัญหาสำคัญของชาติ ทำให้มาตรานี้ถูกคัดค้านในช่วงของการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ โดยเหตุผลที่ว่าจะทำให้ผู้ใช้อำนาจนี้กลายเป็นเผด็จการได้โดยง่าย ในที่สุด จึงมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ในขณะที่กำลังใช้อำนาจตามมาตรา 16 หรือ อำนาจพิเศษนี้ ประธานาธิบดีจะยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้

          สำหรับเหตุผลของการบัญญัติมาตรา 16 เอาไว้ สืบเนื่องจาก นายพลเดอโกลล์ เห็นว่าอำนาจของฝ่ายบริหารไม่เพียงพอ ทำให้การตัดสินใจที่เด็ดขาด รวดเร็วฉับพลัน ทำไม่ได้ ดังกรณีที่เคยเกิดขึ้นในสาธารณรัฐที่ 3 และที่ 4 การบัญญัติมาตราดังกล่าว เป็นผลมาจากการที่ เดอโกลล์ เคยเผชิญกับเหตุการณ์สำคัญในเดือน พฤษภาคม 1940 เมื่อเขาเผชิญกับการบุกของกองทัพเยอรมนี ทว่า อำนาจตัดสินใจกลับกลายเป็นอัมพาตโดยที่ฝ่ายบริหารไม่สามารถดำเนินการใดๆ ให้ทันต่อเหตุการณ์ได้เลย

           นับตั้งแต่ ค.ศ. 1958 เป็นต้นมา ได้มีการประกาศใช้อำนาจพิเศษนี้ เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ในช่วงระหว่างวันที่ 25 เมษายน จนกระทั่งถึง 30 กันยายน ค.ศ. 1961 เนื่องจากเกิดกรณีการแข็งข้อพยายามก่อกบฏของกองทัพฝรั่งเศสในอัลจีเรีย โดยที่ในช่วงเวลาของการประกาศใช้มาตราดังกล่าวนั้น จะมีการควบคุมเอกสารสิ่งพิมพ์เป็นกรณีๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องวางตัวเป็นกลาง และมีการจัดตั้งศาลพิเศษ เพื่อพิจารณาผู้ก่ออาชญากรรมอย่างรุนแรง หรือ บุคคลที่จะบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ
 
      9.5.5 คณะรัฐบาล
              9.5.5.1 คณะรัฐบาล (The Government)

                  คณะรัฐบาล (The Government)
 คือ สถาบันทางการเมืองที่ใช้อำนาจบริหารภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี (อันประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี กับ  รัฐมนตรี) ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดนโยบายของประเทศ และเป็นผู้ดำเนินงานให้เป็นไปตามแนวนโยบายดังกล่าว ทำให้มีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยงานของรัฐบาลและเหล่าทัพอีกทั้งรัฐบาลยังเป็น ผู้รับผิดชอบในการตรากฎหมาย และสามารถเสนอร่างกฎหมายได้เช่นเดียวกับรัฐสภาอีกด้วย
               ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรสามารถเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ ในกรณีที่ไม่เห็นชอบในแผนงานหรือนโยบายทั่วไปทางการเมืองของรัฐบาล หากว่ารัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล รัฐบาลก็จะต้องลาออกตามประเพณีปฏิบัติของระบบรัฐสภา 
              9.5.5.2 นายกรัฐมนตรี (Prime Minister)

               นายกรัฐมนตรี (Prime Minister) อยู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี จึงต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อประธานาธิบดี ส่วนวาระการดำรงตำแหน่งนั้น จะขึ้นอยู่กับประธานาธิบดี เพราะว่าประธานาธิบดีสามารถที่จะปลดผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งเมื่อใดก็ย่อมได้ แน่นอนว่า นายกรัฐมนตรีมักจะมาจากผู้นำเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร หรือ บุคคลที่ประธานาธิบดีไว้วางใจ ซึ่งอาจเป็นบุคคลที่ มิใช่ เป็นสมาชิกรัฐสภาก็ได้ แต่หากมาจากสมาชิกรัฐสภา ก็จะต้องให้พ้นจากตำแหน่ง จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาในขณะเดียวกันไม่ได้ (มาตรา 23) นายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา (มาตรา 20) กับประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำกับดูแลกิจการต่างๆ ของฝ่ายรัฐบาลและดูแลการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ (มาตรา 21)

Jospi
              9.5.5.3 รัฐมนตรี (Ministers)

                รัฐมนตรี (Ministers) เป็นผู้ที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจเลือกแล้วเสนอชื่อต่อประธานาธิบดีให้แต่ง ตั้ง แต่หากมาจากสมาชิกรัฐสภาก็จะต้องพ้นจากตำแหน่ง จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาในขณะเดียวกันไม่ได้จะดำรงตำแหน่งสิ้น สุดวาระเช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี

สรุปอำนาจบริหาร

      เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 20 จะเห็นว่า การกำหนดนโยบายของชาติเป็นหน้าที่ของรัฐบาล โดยที่ ประธานาธิบดี ไม่ใช่ รัฐบาลๆ คือ คณะรัฐมนตรี เท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ประธานาธิบดีทุกคนในสาธารณรัฐที่ 5 ล้วนแล้วแต่มีบทบาทอยู่ในฐานะผู้นำหรือ เป็นผู้ ชี้นำ ในการกำหนดนโยบายบริหารประเทศของรัฐบาล ทั้งหมด ทั้งสิ้นโดยเฉพาะการมีอำนาจอย่างแท้จริงในเรื่องอันเกี่ยวเนื่องกับนโยบายที่อยู่เหนือรัฐบาล อาทิเช่นด้านต่างประเทศ การป้องกันประเทศ ด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น

      กรณีศึกษา เช่น ในสมัยเดอโกลล์ ประธานาธิบดีทำตัวเหมือนหัวหน้ารัฐบาลตัวจริง ทั้งนี้ด้วยความยินยอมของคณะรัฐมนตรี บ่อยครั้งที่การแก้ปัญหาของประเทศต้องเป็นไปตามนโยบายของเดอโกลล์ นายกรัฐมนตรีเกือบไม่มีบทบาทอะไรนอกจากเป็นแม่บ้านของคณะรัฐมนตรี เดอโกลล์เองก็ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์บ่อยๆ จนกลายเป็นศูนย์กลางของการให้ข่าวและการวิจารณ์การเมืองทั้งในและนอกประเทศ ระบบอย่างนี้มีผู้เรียกว่า เป็นแบบเผด็จการโดยเดอโกลล์ แต่ความที่เดอโกลล์ได้รับความนิยมและความไว้วางใจจากประชาชนมากในฐานะ วีรบุรุษสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และในฐานผู้เข้ามาแก้วิกฤติการณ์ของประเทศโดยการสถาปนาสาธารณรัฐที่ 5 ขึ้น จึงไม่มีเสียงไปในทำนองรังเกียจ หรือ โต้แย้งอย่างมากนัก ในแง่สิทธิเสรีภาพ ประชาชนก็ยังคงมีอยู่อย่างเดิม และอาจมากกว่าสมัยสาธารณรัฐที่ 3 และ 4 เสียด้วยซ้ำ การเลือกตั้งก็ยังมีอยู่ ฝ่ายค้านก็ยังทำหน้าที่ได้ดีแต่รัฐสภาไม่อาจที่จะควบคุมรัฐบาลได้เต็มที่ เพราะนโยบายของรัฐบาลเป็นนโยบายของเดอโกลล์ ซึ่งไม่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา นานเข้ารัฐสภา รัฐบาล และประธานาธิบดี ก็เกือบกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 

       โดยนัยนี้ เมื่อกล่าวถึงอำนาจบริหาร จึงต้องหมายถึงทั้งอำนาจของประธานาธิบดีและอำนาจของคณะรัฐบาล อ้างอิงตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้บัญญัติไว้โดยสรุปดังนี้
        (1) รัฐบาลมีหน้าที่กำหนดและบริหารนโยบายแห่งชาติ ควบคุมดูแลการบริหารงานของรัฐการป้องกันประเทศ และการรับผิดชอบต่อสภา
       (2)นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำในการดำเนินงานของรัฐบาล เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกันประเทศ บริหาร
งานตามที่กฎหมายกำหนดแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางพลเรือน และทางทหาร (เว้นแต่ตำแหน่งที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของประธานาธิบดี)นายกรัฐมนตรีสามารถ มอบหมายอำนาจบางอย่างให้แก่รัฐมนตรีแต่ละคนตามที่เห็นสมควร
       (3) นายกรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่แทนประธานาธิบดีเป็นการชั่วคราวในกรณีที่ ประมุขแห่งรัฐไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในตำแหน่งประธานกรรมการบางตำแหน่ง เช่น ประธานสภากลาโหม ประธานที่ประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งปกติผู้ทำหน้าที่ประจำประธานาธิบดี
        (4) นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาบรรดารัฐมนตรีในคณะรัฐบาล และเป็นตัวแทนของรัฐมนตรีทั้งคณะ
           กล่าวโดยสรุป ประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศและเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรี และเสนอให้ประธานาธิบดีทำ
การแต่งตั้ง คณะรัฐบาลต้องแถลงนโยบายต่อสภา เมื่อได้รับความไว้วางใจแล้ว จึงจะเข้าบริหารประเทศได้ กระนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ได้แยกตำแหน่งรัฐมนตรีออกจากสมาชิกรัฐสภา คือ ห้ามการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเวลาเดียวกันจุด ประสงค์ก็เพื่อต้องการสกัดความทะเยอทะยานของสมาชิกสภาฯ ที่ต้องการจะเป็นรัฐมนตรี อันเป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่สมัยสาธารณรัฐก่อนๆ นั่นเอง

        แต่ทว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ร่างขึ้นโดยยึดหลักการขั้นพื้นฐานของ ระบบรัฐสภา นั่นก็คือ ความรับผิดชอบทางการเมืองต่อรัฐสภา ด้วยเช่นกัน ดังนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจึงต้องรับผิดชอบต่อนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภา ก่อนบริหารประเทศ หรือต่อร่างกฎหมายที่สำคัญๆ ของตนต่อสภาขณะบริหารประเทศ ในกรณีที่รัฐสภาลงมติไม่รับรอง หรือ ไม่เห็นด้วย หรือ รัฐบาลแพ้ญัตติไม่ไว้วางใจ คณะรัฐบาลจะต้องลาออกตามประเพณีปฏิบัติของระบบรัฐสภาโดยทั่วไป

        แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องลงนามสนองการออกคำสั่งทาง การเมืองของประมุขแห่งรัฐ และรับผิดชอบแทนประธานาธิบดีในหลายๆ เรื่องฉะนั้นรัฐบาลจึงเสมือนเป็น กันชนระหว่างรัฐสภากับประธานาธิบดี กล่าวคือ ในทางปฏิบัติรัฐบาลต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อสภาแทนประธานาธิบดี ทั้งๆ ที่การกำหนดนโยบายเป็นอำนาจและการกระทำของประธานาธิบดี นอกจากนั้นหากมีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและรัฐสภา ซึ่งหมายถึง สภาผู้แทน ประธานาธิบดีสามารถที่จะพิจารณาตัดสินใจยุบสภาผู้แทนตามมาตรา 12 หรือจะเลือกตัดสินใจปลดนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 8 ก็ได้ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ชื่อ ฌาคส์ ชีรัก เขาดำรงตำแหน่งนี้เป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 5พฤษภาคม 2002 หลังจากที่เขาได้รับเลือกตั้งครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 1995เขานับเป็นประธานาธิบดีคนที่ 5 ของสาธารณรัฐที่ 5 ของฝรั่งเศส

        ขณะที่ ฌอง ปิแอร์ ราฟฟาแรง ก็คือ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีชีรัก เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2002 หลังจากที่นายชีรักได้รับเลือกตั้งอีกเป็นวาระที่ 2 โดยพรรค UMP (Union pour la Majorit? Pr?sidentielle) ที่นายราฟฟาแรงสังกัดได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2002
 
9.6 อำนาจนิติบัญญัติ

     ผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา ซึ่งคงลักษณะเป็นระบบทวิสภา ประกอบด้วยวุฒิสภา หรือสภาสูง (Senate) กับ สภาผู้แทนราษฎร หรือ สมัชชาแห่งชาติ (National Assembly)สำหรับอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติฝรั่งเศสนั้น ก็ไม่ต่างไปจากอำนาจนิติบัญญัติของประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบมี ตัวแทนอื่นๆ เท่าใดนัก ความแตกต่างจะอยู่ที่ ความเด็ดขาดของอำนาจแห่งรัฐสภา ในการตรากฎหมายและการควบคุมรัฐบาลตามประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสนั้น นับตั้งแต่ ค.ศ. 1789 รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ก็ให้อำนาจรัฐสภามาก จนบางครั้งกลายเป็นอำนาจเผด็จการโดยรัฐสภา แต่ในบางสมัยอำนาจของรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติก็ถูกจำกัดลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1958 ทำให้มีผลการเปลี่ยนแปลงอำนาจของสถาบันทางการเมืองระหว่างสถาบันนิติบัญญัติ กับองค์กรบริหารเป็นอย่างมาก

      รัฐสภาของฝรั่งเศส ซึ่งเคยเป็นองค์กรนิติบัญญัติที่มีอำนาจสูงสุด องค์กรหนึ่งในโลก ในสาธารณรัฐที่ 3 และ 4 กลับกลายเป็นองค์กรนิติบัญญัติที่อ่อนแอและมีอำนาจน้อยที่สุด รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารของฝรั่งเศส ซึ่งเคยเป็นสถาบันบริหารที่อ่อนแอที่สุดในสาธารณรัฐที่ 4 กลับกลายเป็นสถาบันบริหารที่มีอำนาจที่สุดในโลกสถาบันหนึ่งในสาธารณรัฐที่ 5
 
     9.6.1 รัฐสภา
              9.6.1.1 สภาผู้แทนราษฎร 




        Assemblee nationale
            ปัจจุบัน ฝรั่งเศสมีจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (Depute) ทั้งสิ้น 577 คน (แล้วแต่จำนวนประชากรในแต่ละจังหวัด) ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากพลเมืองที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในแต่ละเขตเลือกตั้ง เขตละ 1 คน โดยวิธีการลงคะแนนใช้ระบบเสียงข้างมากสองรอบ และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี แต่อาจจะมีการเลือกตั้งก่อนกำหนดหากมีการยุบสภา
                     9.6.1.1.1 การเลือกตั้ง ส.ส.

                  การเลือกตั้ง ส.ส. รัฐธรรมนูญได้บัญญัติวิธีการเลือกตั้งไว้ในมาตรา 24 ว่าจะต้องเป็นแบบโดยตรง (suffrage universaldirect) โดยประชาชนที่มีสิทธิตามกฎหมายจะเลือกตั้งผู้แทนของตนในแต่ละเขตเลือกตั้ง ได้เขตละ 1 คน วิธีการลงคะแนนใช้ระบบเสียงข้างมาก 2 รอบ (Two ballot system) เช่นเดียวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี กล่าวคือ การแข่งขันในรอบแรกเปิดกว้างสำหรับบุคคลโดยทั่วไป ผู้สมัครจะสังกัดพรรค หรือ จะอิสระก็ได้ แต่เมื่อการลงคะแนนเสร็จสิ้น ผู้ที่ได้คะแนนเกินกว่าครึ่งของผู้มาลงคะแนน ก็จะได้รับเลือกตั้งทันที เป็นการนับคะแนนแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด แต่หากไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเสียงเด็ดขาด ก็ให้เลือกตั้งใหม่ในรอบที่สอง โดยให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรกมาแข่งขันกันใหม่ ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดก็ชนะการเลือกตั้ง โดยเป็นการนับคะแนนแบบเสียงข้างมากธรรมดา นั่นเองผลของการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดที่มีขึ้นเมื่อวันที่9 และ 16 มิถุนายน 2002 นั้น ปรากฏว่า พรรค UMP ได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ถึงกว่า 400 เสียงตามรัฐธรรมนูญการสิ้นสุดของตำแหน่ง หรือ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นอกจากครบวาระตามปกติ คือ 5 ปีแล้วนั้น สาเหตุของการสิ้นสุดอื่นๆ ก็ได้แก่ การตาย การลาออก การที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ การที่สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบก่อนครบ 5 ปี การที่สมาชิกสภาผู้แทนไปรับตำแหน่งฝ่ายอื่นๆ ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีตุลาการรัฐธรรมนูญ สำหรับในกรณีหลังนี้ ตัวสำรองจะดำรงตำแหน่งแทนทันที แต่หากตัวสำรองพ้นจากสมาชิกภาพโดยวิธีใดๆ หรือ เสียชีวิตให้ถือว่าตำแหน่งของสมาชิกรัฐสภาตำแหน่งหรือ ที่นั่งนั้นว่างลงและจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อมต่อไปสำหรับการจัดตั้งสถาบันนิติบัญญัตินั้น ก็เพื่อทำหน้าที่สำคัญในด้านนิติบัญญัติ เช่น ตรากฎหมาย (กระบวนการตรากฎหมาย มี 3 ระยะ คือการเสนอร่าง การอภิปราย และการอนุมัติร่างกฎหมาย) ควบคุมการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหาร (กรณีนี้ เฉพาะสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ที่มีอำนาจในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และสามารถลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งอาจมีผลให้รัฐบาลต้องลาออกได้ ในที่สุด) ควบคุมการใช้จ่าย และรายได้ของรัฐ การทำหน้าที่เฉกเช่นตัวเชื่อมระหว่างผู้เลือกตั้งกับผู้บริหารประเทศ เป็นต้น

      9.6.2 วุฒิสภา 




        Senat
         สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม (suffrage universal indirect) จากคณะผู้เลือกตั้งในแต่ละส่วนของประเทศ (ซึ่งแบ่งเป็น region, department และ commune)
อันได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภามณฑล สมาชิกสภาจังหวัด และสมาชิกสภาเทศบาล ซึ่งแต่ละเขตเลือกตั้ง หรือ จังหวัด จะมีจำนวนสมาชิกสภาสูงไม่เท่ากัน (แต่จะต้องอยู่ระหว่าง 2 คน ถึง 8 คน) จึงถือว่าสมาชิกสภาสูงเป็นตัวแทนขององค์กรการปกครองต่างๆ โดยที่ส่วนใหญ่ มักจะมีคุณวุฒิ วัยวุฒิ และประสบการณ์ทั้งสิ้น

         จำนวนสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อเดือนกันยายน 2001 มี 321 คน การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจะกระทำทุกๆ 3 ปี แต่สมาชิกทั้งหมดในสภาสูงจะได้รับเลือก
ให้อยู่ในตำแหน่งคราวละ 9 ปี ดังนั้น จึงต้องมีการแบ่งจำนวนที่นั่งออกเป็น 3 ชุด โดยที่ทุกๆ 3 ปี ย่อมต้องมีอยู่หนึ่งชุดเสมอที่จะต้องออกไป (โดยที่ 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดจะได้รับการเลือกตั้งใหม่ทุก 3 ปี) เป็นเช่นนี้เรื่อยมา

         ปัจจุบัน วุฒิสภามีอำนาจในการพิจารณาร่างกฎหมาย โดยทำหน้าที่ดูแล กลั่นกรอง ร่างกฎหมาย ที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎร หรือ อาจจะเป็นองค์กรที่ริเริ่มเสนอร่างกฎหมาย
เพื่อผ่านไปสู่สภาล่างก็ย่อมได้จุดประสงค์สำคัญของสภาสูง ก็คือ เป็นองค์กรถ่วงดุล หรือ คานอำนาจสภาล่าง นั่นเอง
 
              9.6.2.1 ระบบตัวสำรอง 

               ระบบตัวสำรอง 
มีการกำหนดลักษณะพิเศษไว้แก่สมาชิกรัฐสภาของฝรั่งเศส(ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา) คือ การกำหนดให้ผู้สมัคร
รับเลือกตั้งแต่ละคนจะต้องมีตัวสำรอง (Running mate) เอาไว้ด้วย โดยเงื่อนไขว่าหากผู้ได้รับเลือกตั้ง หรือว่าเป็นสมาชิกรัฐสภา แล้วได้เข้าดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี) เกินกว่า 1 เดือน รวมทั้งการที่สมาชิกรัฐสภาไปดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ ตัวสำรองก็จะเข้ารับหน้าที่แทน และมีฐานะเป็นสมาชิกรัฐสภา คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สมาชิกวุฒิสภา โดยสมบูรณ์ และสามารถดำรงตำแหน่งต่อจากระยะเวลาที่เหลือของตัวจริงได้จนครบ 5 ปี หรือจนกว่าจะมีการยุบสภาเหตุผลของการมีตัวสำรอง ก็เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการขัดกับตำแหน่งของสมาชิกรัฐสภาและตำแหน่งในฝ่าย บริหาร ดังหลักการตามรัฐธรรมนูญที่ว่า สมาชิกรัฐสภาจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในขณะเดียวกันไม่ได้ รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ ที่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ อาทิ ตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญ ตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมีรายได้ตอบแทนอันมิได้มาจากการเลือกตั้งอื่นๆ ตลอดจนห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกพร้อมกันกับดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้ แทนในเวลาเดียวกันอีกด้วย

9.7 อำนาจตุลาการ

    ในส่วนของอำนาจตุลาการนั้น ถือว่าเป็นอิสระจากทุกฝ่ายๆ ฝรั่งเศสมี ศาลยุติธรรม ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีทั่วไปเท่านั้น ไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่า กฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังกรณีศาลยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา อำนาจวินิจฉัยเช่นนี้กลับตกอยู่แก่ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ หรือ สภารัฐธรรมนูญ (Conseil Constitutional) ซึ่งทำหน้าที่วินิจฉัยก่อนจะมีการประกาศใช้เป็นกฎหมาย นอกจากนั้นศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจควบคุมฝ่ายปกครองอีกด้วย อำนาจในการวินิจฉัยคดีปกครองตกอยู่แก่ ศาลปกครองสูงสุด หรือ สภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ (Conseil d' Etat)

Conseil Constitutional

      9.7.1 ตุลาการรัฐธรรมนูญ 

         คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้ปกปักษ์รักษาพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามที่ถูกกำหนดไว้ในหมวด 7 ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ประกอบด้วยตุลาการจำนวนทั้งสิ้น 9 คน ตามข้อห้ามใน
รัฐธรรมนูญนั้น ห้ามมิให้ตุลาการรัฐธรรมนูญ ดำรงตำแหน่งใดในคณะรัฐบาล หรือ ฝ่ายบริหาร รวมทั้งตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาในเวลาเดียวกัน ตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญมีวาระการทำงาน 9 ปี และเป็นตำแหน่งที่ไม่สามารถต่อวาระการทำงานได้ และในขณะเดียวกัน ก็จะไม่มีการปลดตุลาการออกจากตำแหน่งด้วย โดยที่ตุลาการ 3 คนได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ส่วนอีก 6 คน จะได้รับการแต่งตั้งจากวุฒิสภา 3 คน และจากสมัชชาแห่งชาติอีก 3 คน

         รัฐธรรมนูญได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไว้อย่างชัดเจน สถาบันนี้เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดในการตัดสินใจทางด้านกฎหมาย และมีบทบาทหน้าที่
หลักใน การควบคุมกฎหมาย โดยการตรวจสอบ และดูแลความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยกฎหมายใดๆ ซึ่งจะออกใช้ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่(โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก่อนที่จะมีการประกาศใช้เป็นกฎหมาย) ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันมิให้ร่างกฎหมายใดๆ ที่ผ่านการลงคะแนนเสียงโดยรัฐสภาขัดต่อเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญ ขัดต่อสนธิสัญญาซึ่งร่วมทำกับต่างประเทศอื่นใด

          นอกจากนี้แล้ว คณะตุลาการรัฐธรรมนูญยังมีหน้าที่ การควบคุมการเลือกตั้ง (เช่นเดียวกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540)
คือ เป็นผู้ดูแล และตรวจสอบความถูกต้องของการเลือกตั้งในระดับชาติ ตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดี และการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ให้ดำเนินไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมโดยเป็นองค์กรที่จะประกาศรับรองผลขั้น เด็ดขาดของการเลือกตั้งดังกล่าว ในกรณีที่มีประชาชนหรือนักการเมืองร้องเรียนว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา มีการกระทำที่ผิดกฎหมายผู้ที่จะตัดสินชี้ขาดในกรณีนี้ คือ ตุลาการรัฐธรรมนูญ ทั้งยังรวมถึงการดูแลความถูกต้องในการแสดงประชามติอีกด้วย

          โดยผู้ที่สามารถเสนอให้ตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นต่างๆ ได้ ก็คือ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา นั่นเอง
 
       9.7.2 องค์กรตุลาการอื่นๆ 

         โครงสร้างขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งถือว่าเป็นผู้ปกปักษ์รักษาเสรีภาพส่วนบุคคล (guardian of individual liberty) ตามมาตรา 66 แห่งรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ศาลปกครอง ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาข้อพิพาทระหว่างประชาชนและหน่วยงานของรัฐ และศาลยุติธรรม ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาข้อพิพาทระหว่างประชาชนด้วยกันเอง
        9.7.3 ศาลปกครอง

          ประกอบด้วยศาลปกครองชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลปกครองสูงสุด (ที่เรียกว่า Conseil d’ Etat) ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของศาลประเภทนี้เช่นกัน แน่นอน ศาลปกครอง มีอำนาจในการ
พิจารณาวินิจฉัยคดีทางปกครอง เพื่อควบคุมฝ่ายปกครอง ไม่ให้ ใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต ศาลปกครองสามารถเพิกถอนคำสั่งของฝ่ายปกครอง หรือ สั่งให้ฝ่ายปกครองชดใช้ค่าเสียหายได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่พอใจ หรือ ได้รับความเสียหายจากคำพิพากษาของศาลนี้ สามารถที่จะคัดค้านได้ โดยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด สำหรับคดีความระหว่างหน่วยงานของรัฐและประชาชน เขตอำนาจศาลสูงสุด คือ ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งจะทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาความชอบด้วยกฎหมายของนิติกรรมทางการปกครองและ กฎระเบียบต่างๆ ที่ออกโดยฝ่ายปกครอง อีกทั้งยังพิจารณาพิพากษา คำอุทธรณ์ คำตัดสินของศาลปกครองชั้นต้นมาอีกด้วย ในกรณีคดีที่ฟ้องร้องไม่กระทำผ่านศาลปกครองชั้นต้นนั้น ประชาชนสามารถยื่นฟ้องโดยตรงต่อศาลปกครองสูงสุดที่ซึ่งสามารถพิจารณาพิพากษา คำร้องเบื้องต้น หรือสามารถรื้อฟื้นคดีอีกได้ คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดนั้น จึงถือว่าเป็นที่สุด

          ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการถูกกล่าวโทษในหน้าที่ ก็สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้ หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็จะพิจารณาให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นกลับเข้ารับหน้าที่เช่นเดิม พร้อมทั้งได้รับเงินเดือนย้อนหลังนับตั้งแต่ถูกพักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกถอดออกจากตำแหน่งสามารถฟ้องร้องต่อผู้บังคับบัญชา สูงสุดที่รับผิดชอบในกรณีที่ถูกพักงาน หากเขาเชื่อว่าผู้บังคับบัญชาปฏิบัติมิชอบ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ผู้เสียหายสามารถที่จะฟ้องร้องต่อองค์กรที่สังกัด หากเชื่อว่า การที่เขาถูกสั่งพักงานเป็นไปโดยความผิดพลาด และสะเพร่า เป็นต้นซึ่งศาลปกครองสูงสุดจะทำการพิจารณาพิพากษาคดีเหล่านี้ประมาณปีละกว่า 3,000 คดี  นอกจากนี้ศาลปกครอง ยังเป็นที่ปรึกษารัฐบาลเกี่ยวกับร่างกฎหมาย หรือ กฤษฎีกาบางฉบับที่รัฐบาลส่งเรื่องมาเพื่อขอทราบความเห็นอีกด้วย

       9.7.4 ศาลยุติธรรม

         ศาลยุติธรรม ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีทั่วไป นอกจากประกอบด้วยศาลแพ่งและอาญา ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นแล้ว ยังประกอบด้วยศาลฎีกา ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมชั้นสูงสุดที่จะรับผิดชอบเฉพาะการพิจารณาตรวจสอบ ข้อกฎหมายของอรรถคดีที่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เท่านั้น

9.8 กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
     สุดท้าย ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐที่ 5 นั้น สามารถจะกระทำได้ตามหมวด 14 (Amendment) แต่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐเอาไว้ สำหรับผู้ที่มีสิทธิในการริเริ่มเสนอให้แก้ไขได้นั้น ซึ่งจะมีเพียงประธานาธิบดีตามการเสนอความเห็นของนายกรัฐมนตรี และสมาชิกของรัฐสภาเท่านั้น โดยที่ข้อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนและวุฒิสภาตามลำดับ และถ้าประธานาธิบดีเห็นสมควร อาจขอให้ประชาชนออกเสียงแสดงประชามติว่าเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอหรือไม่ก็ได้ โดยที่การขอแก้ไขจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีการออกเสียงแสดงประชามติแล้ว

     เมื่อเทียบกับกฎหมายรัฐธรรมนูญอังกฤษ และรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาแล้ว รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐที่ 5 ถือว่ายังค่อนข้างใหม่ ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐ ซึ่งจัดรูปแบบของรัฐบาลเลียนแบบระบบรัฐสภา แต่มีประธานาธิบดีที่มีอำนาจมากภายใต้การผสมผสาน กฎเกณฑ์การปกครองอันโดดเด่นของทั้งอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาและระบบเดิมของฝรั่งเศสเอง คลุกเคล้าเข้าด้วยกันอย่างลงตัว อนึ่ง ควรสังเกตว่า ท่ามกลางความผันผวนนานัปการ แม้ดูจะสับสนวุ่นวาย แต่ฝรั่งเศสก็เป็นต้นแบบได้ ในเรื่องของ การเปลี่ยนแปลงการทดลอง และการแสวงหา และแน่นอนว่า การแสวงหานั้น ย่อมมีคุณค่า และอิทธิพลมหาศาลต่อชาวโลกเช่นกัน
 
เชิงอรรถ
[1] http://www.ambafrance-th.org/index.cfm
[2] วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ : แสวงสุทธิการพิมพ์, 2530)
[3] สุรพล ราชภัณฑารักษ์, ประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศส ใน ประชาธิปไตย : อุดมการณ์              หลักการ   และแบบอย่างการปกครองหลายประเทศ, (กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,           2543)
[4] วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, อ้างแล้ว
[5] http://www.ambafrance-th.org/index.cfm
[6] ต้นฉบับภาษาอังกฤษมีดังนี้ : The French people hereby solemnly proclaim their dedication to the Rights of Man and the principle of national sovereignty as defined by the Declaration of 1789, reaffirmed and complemented by the Preamble to the 1946 Constitution. By virtue of these principles and that of the free determination of peoples, the Republic offers to the Overseas Territories expressly desiring this to adhere to them new institutions based on the common ideal of liberty, equality, and fraternity and conceived with a view to their democratic evolution.
[7] สุรพล ราชภัณฑารักษ์, อ้างแล้ว
[8]  http:// www.elysee.fr
[9] ในช่วงต้นของสาธารณรัฐที่ 5 การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ก็ยังคงใช้วิธีการเดิม คือ การเลือกตั้งโดยทางอ้อมจากคณะผู้เลือกตั้ง โดยมีการประชุมร่วมกันของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภามณฑล สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาเทศบาลทั่วทั้งประเทศ และที่ประชุมจะลงมติเลือกผู้สมัครให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโดยถือคะแนนเสียงข้างมาก แต่ต่อมาในปี 1962 ได้มีประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงจากประชาชน
[10]  http://www.elysee.fr/ang/pres/index.htm
[11] สุรพล ราชภัณฑารักษ์, อ้างแล้ว
[12] สุรพล ราชภัณฑารักษ์, อ้างแล้ว
[13] วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, อ้างแล้ว
[14] สุรพล ราชภัณฑารักษ์, อ้างแล้ว
[15]  http://www.assemblee-nationale.fr
[16]  http:// www.senat.fr
[17]  สุรพล ราชภัณฑารักษ์, อ้างแล้ว
[18]  http://www.conseil-constitutionnel.fr 
[19]  http://www.justice.gouv.fr
[20] สุรพล ราชภัณฑารักษ์, อ้างแล้ว