จรรณยาบรรณของสื่อสารมวลชน
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจถึงจรรยาบรรณของสื่ออันได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์กันก่อน ในที่นี้ได้กล่าวถึงจรรยาบรรณสื่อโดย *อ้างอิงจาก “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสื่อมวลชน” เอกสารการสอน สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หน่วยที่ 9-15) ดังนี้
1.จรรยาบรรณหนังสือพิมพ์โดย สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
โดยได้กำหนด “จริยธรรมของสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2510 ไว้ดังนี้
• ความรับผิดชอบ (Responsibility) ได้แก่ ความรับผิดชอบต่อผลประโยชน์อันชอบธรรมของปัจเจกชน สถาบัน ประเทศชาติ ศาสนา และราชบัลลังก์ (ตรงกับหลักพุทธศาสนาคือ กิจญาณ)
• ความมีเสรีภาพ (Freedom) ได้แก่ เสรีภาพที่มีความรับผิดชอบกำกับ (ตรงกับหลักธรรมในพุทธสาสนาคือ ปวารณา หรือ ธรรมาธิปไตย)
• ความเป็นไท (Independence) ได้แก่ ความไม่ตกเป็นทาสของใครทั้งกายและจิตใจ โดยอามิสสินจ้างอื่นใด(ตรงกับหลักธรรมในพุทธศาสนาคือ ความไม่ตกเป็นทาสของอกุศลมูล)
• ความจริงใจ (Sincerity) ได้แก่ ความไม่มีเจตนาบิดเบือน ผิดพลาดต้องรีบแก้ไข (ตรงกับหลักธรรมในพุทธศาสนา คือ สัจจะ)
• ความเที่ยงธรรม (Impartiality) ได้แก่ ความไม่ลำเอียง หรือความไม่เข้าใครออกใคร (ตรงกับหลักธรรมในพุทธศาสนา คือ ความไม่มีอคติ 4 ประการ หมายถึง “ฉันทาคติ” ลำเอียงเพราะรัก “โทสาคติ” ลำเอียงเพราะชัง “ภยาคติ” ลำเอียงเพราะกลัว “โมหาคติ” ลำเอียงเพราะหลง)
• ความมีน้ำใจนักกีฬา (Fair Play) ได้แก่ การปฏิบัติดีงาม ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เว้นแต่จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ (ตรงกับหลักธรรมในพุทธศาสนา คือ สุปฏิบัติ)
• ความมีมารยาท (Decency) ได้แก่ การใช้ภาษาและภาพที่ไม่หยาบโลนและลามกอนาจาร หรือส่อไปในทางดังกล่าว (ตรงกับหลักพุทธศาสนาคือ โสเจยยะ หรืออาจารย์สมบัติ)
นอกจาก “จริยธรรมของสามาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” แล้ว ยังกำหนด “จรรยาบรรณหนังสือพิมพ์” ไว้อีก 7 ข้อ คือ
• การส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ เป็นภารกิจอันมีความสำคัญเหนืออื่นใดสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์
• การเสนอข่าว ภาพ หรือการแสดงความคิดเห็น ต้องเป็นไปด้วยความสุภาพ สุจริต ปราศจากความมุ่งหวังในประโยชน์ส่วนตนหรืออามิสสินจ้างใดๆ
• การเสนอข่าวต้องเสนอแต่ความจริง พึงละเว้นการต่อเติมเสริมแต่ง หากปรากฏว่าข่าวใดๆไม่ตรงต่อความจริงต้องรีบแก้ไขโดยเร็ว
• การที่จะให้ได้ข่าว ภาพ หรือข้อมูลอย่างใดๆมาเป็นของตน ต้องใช้วิธีการที่สุภาพและซื่อสัตย์
• ต้องเคารพต่อความไว้วางใจที่ได้รับมอบหมายจากการปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพของตน
• ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยถือเอาสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์ส่วนตน หรือหมู่คณะโดยมิชอบ
• ต้องไม่กระทำการใดๆอันเป็นการบั่นทอนเกียรติคุณของวิชาชีพหรือความสามัคคีของเพื่อนร่วมวิชาชีพ
2. จรรยาบรรณสื่อวิทยุและโทรทัศน์ โดยสมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
โดยได้ตราประมวลจรรยาบรรณวิชาชีพนักจัดรายวิทยุและโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2538 แบ่งเป็น 5 หมวด คือ หมวดทั่วไป หมวดจรรยาบรรณในการเสนอข่าว หมวดจรรยาบรรณในการแสดงความเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์ หมวดจรรยาบรรณในการประกาศโฆษณา หมวดความประพฤติ ในที่นี้จะยกหมวดว่าด้วยการเสนอข่าว มาเป็นหลักในการพิจารณาคือ
• ไม่เสนอข่าวและภาพซึ่งรู้อยู่แก่ใจว่าเป็นเท็จ ไม่ว่าลักษณะใดๆ
• ไม่เสนอข่าวและภาพซึ่งทำให้ประชาชนเสียขวัญ เกิดการแตกแยกกระทบกระเทือนความมั่นคงแห่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างประเทศ
• ไม่เสนอข่าวและภาพลามกอนาจาร ซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
• ไม่เสนอข่าวลือและภาพไร้สาระ ชวนให้หลงเชื่องมงาย
• ไม่เสนอข่าวลือและภาพไร้สาระ
• ไม่สอดแทรกความเห็นใดๆของตนลงไปในข่าว
• ในกรณีคัดลอกข้อความจากหนังสือพิมพ์ หรือหนังสืออื่น ต้องแจ้งให้ทราบถึงแหล่งที่มาของข้อความนั้น
• ภาษาที่ใช้ในการเสนอข่าวและการบรรยายภาพต้องสุภาพ ปราศจากความหมายในเชิงเหยียดหยาม กระทบกระเทียบ เปรียบเปรย เสียดสี
• ไม่ใช้การเสนอข่าวและภาพเป็นไปในทางโฆษณาตนเอง
• ไม่เสนอข่าวและภาพซึ่งขัดกับสาธารณประโยชน์ของประชาชนและสังคมประเทศชาติ
• ไม่เสนอข่าวและภาพซ้ำเติม ระบายสี บุคคล องค์กร สถาบัน ซึ่งตกเป็นข่าว
• ไม่เสนอข่าวและภาพ ในเชิงดูหมิ่นเหยียดหยามลัทธิความเชื่อศาสนาใดๆ
• พึงให้ความเคารพต่อสิทธิของบุคคล องค์กร และสถาบันอื่นตามกฎหมาย
• พึงรับผิดและแก้ไขโดยเปิดเผยและไม่ชักช้าถ้าเกิดความเสียหายแก่บุคคล องค์กร หรือสถาบัน ในการเสนอข่าวผิดพลาด คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
• พึงละเว้นจากการรับอามิสสินจ้างใดๆ ให้ทำหรือละเว้นการกระทำเกี่ยวกับการเสนอข่าวตรงไปตรงมา
หลักจริยธรรมหรือจรรยาบรรณขององค์กรสื่อที่ยกมาข้างต้นนั้น ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของสื่อแต่ต้องเป็นไปโดยเคารพกฎ ระเบียบและไม่ละเมิดผู้อื่น ทั้งยังกำหนดให้สื่อยึดถือประโยชน์แห่งสาธารณะเป็นหลัก มีความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ให้เกียรติแก่ผู้อื่น เป็นที่น่าสังเกตว่าหลักจริยธรรมของสมาคมหนังสือพิมพ์ที่ออกมาเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว (พ.ศ.2510) และจรรยาบรรณวิชาชีพนักจัดรายวิทยุและโทรทัศน์ ที่ตราออกมาเมื่อ 13 ปีก่อน (พ.ศ.2538) ยังคงเป็นสิ่งที่สื่อโดยทั่วไปคำนึงถึงและให้ความสำคัญกันอยู่หรือไม่ หรือคิดไปว่าข้อกำหนดเหล่านั้นได้ถูกเปลี่ยนไปโดยนวัตกรรมใหม่ๆ ของสื่อเกิดขึ้นมากมายในปัจจุบันไปแล้ว?
สื่อสารมวลชนนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อพลวัตด้านต่างๆ ในสังคมมาโดยตลอด นับตั้งแต่หนังสือพิมพ์ถือกำเนิดขึ้นจนกระทั่งมีการพัฒนาเทคโนโลยีในด้าน วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ก็ยิ่งทำให้บทบาทของสื่อสารมวลชนแพร่กระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้นประชาชน สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ในหลากหลายรูปแบบและยอมรับสื่อต่างๆเข้ามาเป็น ส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวันสื่อสารมวลชนจึงกลายเป็นสถาบันที่มี บทบาทสำคัญยิ่งทั้งในแง่ของการให้ข้อมูลข่าวสารและการโน้มนำสังคมในด้าน ต่างๆ จนได้รับการยอมรับว่าสื่อมวลชนเป็นดัง “ฐานันดรที่สี่” (The Fourth Estate) ต่อจากพระมหากษัตริย์ ศาสนจักร และรัฐสภา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น