วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

กบฏ" ที่ไม่ "ขบถ





"กบฏ" ที่ไม่ "ขบถ"!!?

ความเข้าใจในตนเองของ "คณะกู้บ้านกู้เมือง"

การ เข้าใจชุดกระบวนการที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการปฏิวัติ ๒๔๗๕ กับการเผชิญหน้ากันครั้งสำคัญระหว่างฝ่ายคณะราษฎรกับฝ่ายต่อต้านนั้น การให้ความสำคัญกับการพิจารณาความคิด ความหมาย จุดยืนทางอุดมการณ์เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เกิดความกระจ่างขึ้น

สำหรับ งานเขียนที่นิยามความหมายของจุดยืนทางอุดมการณ์การเมืองในเวลาใกล้เคียงนั้น ทั้ง ม.ร.ว.ทรงสุจริต นวรัตน และ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน ให้ความหมายของคำว่า "อนุรักษ์นิยม หมายถึง พวกหัวเก่าเห็นว่าวิธีการเก่าๆ ที่ใช้นั้นดีอยู่แล้ว การแก้ไขเปลี่ยนแปลงมีแต่จะได้รับผลร้าย...พวกนี้ถือคติว่า ก่อนกระโดดจงมองดูให้ดี กล่าวโดยทั่วไปแล้ว พวกนับถือราชวงศ์คือ พวกรอยัลลิสม์ (Royalism) และโมนาคิสม์ (Monarchism) นับเป็นแขนงหนึ่งของพวกคอนเซอเวตีฟ หรือจะกล่าวว่า พวกคอนเซอเวตีฟพวกหนึ่งมาจากคตินับถือราชวงศ์ก็ได้" ทั้งนี้ "คอนเซอเวตีฟพวกนี้เห็นว่ากษัตริย์ทรงคุณแก่ประเทศ จึงสมควรสนับสนุนด้วยการถวายพระราชอำนาจ ความนับถือและเทิดทูนบูชา คติรอยัลลิสม์เห็นได้ชัดเจนในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ถึงแม้เลิกใช้ลัทธิสมบูรณาญาสิทธิราชแล้ว คติรอยัลลิสม์ก็ยังมีอยู่"  ( ม.ร.ว.ทรงสุจริต นวรัตน และ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน. พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ. พระนคร : โรงพิมพ์เจตนาผล, ๒๔๘๑, หน้า ๒๐, ๒๘. )
ในงานบันทึกความทรงจำมากมายหลายชิ้นของเหล่าผู้เข้า ร่วมกับ "คณะกู้บ้านกู้เมือง" ซึ่งนำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช ปี ๒๔๗๖ นั้น ไม่มีงานชิ้นใดที่บอกว่า พวกตนเป็น "ขบถ" ซึ่งก็เป็นเรื่องแน่นอนว่า ไม่มีใครยอมรับว่า การกระทำของตนไม่ถูกต้อง แต่ประเด็นที่น่าสนใจกว่าก็คือ สำหรับพวกเขาแล้ว พวกเขาให้ความหมายกับคำนี้อย่างไรต่างหาก การพิจารณาประเด็นดังกล่าวต้องการความละเอียดอ่อนพอที่จะเข้าใจความแตกต่าง ของการให้ความหมายของคำที่ "คณะกู้บ้านกู้เมือง" ใช้เพื่อสามารถเข้าใจฐานคิด จุดยืนของอุดมการณ์การเมือง และการกล่าวอ้างถึงความชอบธรรมของฝ่ายตน ซึ่งเป็นประเด็นที่โต้แย้งกันมาตลอด ตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และการกลับมาอีกครั้งของการยืนยันตัวเองในการเป็น "นักประชาธิปไตย" และการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ของคนเหล่านี้

คำ ว่า "ขบถ" ในอักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ (พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖) ให้ความหมายว่า "คิดจะทำร้ายเจ้าชีวิต" แต่สำหรับปทานุกรมของกรมตำรากระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๗๐ คำว่า กบฏ คือ ความคดโกง พยศร้าย ล่อลวง ส่วนพจนานุกรมสำหรับนักเรียน ฉบับแก้ไขปรับปรุงของกรมตำรา กระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๗๒ คำว่า กบฏ คือ ความคด ความโกง ความทรยศ การประทุษร้ายต่ออาณาจักร

จากความหมายข้าง ต้น สามารถสรุปความหมายได้ ๒ ความหมาย คือ คำว่า "ขบถ" ที่เก่าที่สุดนั้นแนวคิดสำคัญคือ การต่อต้านกษัตริย์ การคิดทำร้ายกษัตริย์ การช่วงชิงพระราชอำนาจ ซึ่งให้ความสำคัญกับบุคคลมากกว่า แต่สำหรับอีกความหมายหนึ่งซึ่งใหม่ขึ้นมาอีกนั้น จะให้ความหมายของคำดังกล่าวในเชิงนามธรรมภายใต้แนวคิดสมัยใหม่ที่มองหรือให้ ความสำคัญกับคำว่าอาณาบริเวณที่หมายรวมถึงสิ่งอื่นๆ ที่ประกอบกันขึ้นมาตามแนวคิดรัฐสมัยใหม่ควบคู่มากขึ้น เช่น ดินแดน และรัฐบาล ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า คำว่า "กบฏ" มีความหมายเกี่ยวกับ การคิดคด ความโกง ความทรยศ การต่อต้านศูนย์กลางอำนาจ/รัฐบาล

เมื่อนำ "คำ" ดังกล่าวมาพิจารณาควบคู่กับบริบททางการเมืองหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ แล้วก็จะพบว่า รัฐบาลเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความเป็นรัฐสมัยใหม่ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญที่ ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และมีการแบ่งแยกอำนาจ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงใช้อำนาจอธิปไตยการบริหารแทนประชาชนโดยรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นการต่อต้านรัฐบาลคือกบฏ แต่สำหรับ "คณะกู้บ้านกู้เมือง" แล้ว อย่างน้อยพวกเขาไม่เคยยอมรับว่าพวกเขาเป็น "ขบถ" ในความหมายที่คิดร้ายต่อกษัตริย์ หรือแย่งชิงพระราชอำนาจ แต่เป็น "การเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่"

ความเข้าใจต่อตนของพวกเขาในการยกทหาร ลงมา "ปราบขบถ" นั้นเป็นการต่อต้านรัฐบาล (ศูนย์กลางอำนาจ) แต่ไม่ได้ทรยศต่อพระมหากษัตริย์ ดังจะเห็นถึงตัวอย่างความรู้สึกนึกคิดของหลวงโหมรอนราญ ที่ได้บันทึกไว้ว่า "สำคัญที่สุดอยู่ในหัวใจของข้าพเจ้านั้น ซื่อสัตย์กตัญญูต่อพระมหากษัตริย์และพระบรมราชจักรีวงศ์อยู่ในสายเลือด จึงเกลียดชังผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินยิ่งนัก เพราะข้าพเจ้าถือว่านี้เป็นขบถ หมิ่นหยามและอกตัญญูต่อพระมหากษัตริย์ จึงตั้งใจว่าถ้ามีโอกาส จะลุกขึ้นต่อสู้และปราบปรามพวกขบถเหล่านี้ให้จงได้" ( หลวงโหมรอนราญ. "ชีวประวัติของข้าพเจ้า". อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตำรวจโท หลวงโหมรอนราญ, หน้า ๔๕-๔๖. ในขณะที่รัฐบาลและฝ่ายสนับสนุนระบอบรัฐธรรมนูญ อย่างกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้สะท้อนทัศนะต่อเหตุการณ์นี้ ว่า "ทำไมยังไม่ถึงเวลาที่จะเรียกเจ้าบวรเดชว่าอ้ายพวกกบฏ เจ้าบวรเดชกบฏต่อรัฐบาล กบฏต่อรัฐธรรมนูญ กบฏต่อมติมหาชน นี่เรายังเรียกกบฏไม่ได้อีกหรือ" ("ลาก่อนรัฐธรรมนูญ," ใน เทอดรัฐธรรมนูญ. ๒๔๗๖, หน้า ๒๘๖.)
แม้ว่าในช่วงปลายสงคราม รัฐบาลได้ประกาศพระราชกำหนดนิรโทษกรรมฯ แล้วก็ตาม แต่หลวงโหมรอนราญยังคงมีจุดยืนความคิดที่ไม่แตกต่างไปจากเดิมที่ว่าคณะราษฎร แย่งชิงพระราชสมบัติ เขายืนยันว่า "ข้าพเจ้าเห็นว่าพวกคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินยังมีอำนาจราช ศักดิ์ เป็นคณะรัฐบาลอยู่หลายคน ข้าพเจ้าไม่อยากอยู่ร่วมแผ่นดินกับพวกขบถเหล่านี้ [เน้นโดยผู้เขียนบทความ]" (  หลวงโหมรอนราญ. อ้างแล้ว. หน้า ๔๖. )

การ ตระหนักรู้ตนเองในการเป็นพวก "รอยัลลิสต์" นี้ แกนนำอีกคนหนึ่งในการยกกองทัพจากหัวเมืองครั้งนี้ คือพระยาศราภัยพิพัฒ ได้เล่าถึงความรู้สึกของเขาหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ไม่นานว่า เขาไม่หวาดวิตกในการมีรายชื่อที่จะถูกปลดจากราชการในฐานเป็น "พวกเจ้า" เลย แต่เขากลับเห็นว่าเป็นเรื่องน่าภูมิใจว่าเป็น "พวกเจ้า" เขาเห็นว่า สำหรับเขาแล้ว เมื่อพวกเจ้าตกอับ เขาก็พร้อมที่จะตกเหวตามไปด้วย  ( พระยาศราภัยพิพัฒ. ฝันจริงของข้าพเจ้า. พระนคร : เดลิเมล์, ๒๔๗๖, หน้า ๒-๓. )

หลัง การปฏิวัติไม่นาน เขาถูกปลดออกจากราชการ และได้ไปทำงานที่บริษัทสยามฟรีเพรสส์ ของหลุย คีรีวัต ต่อมาเขาได้เดินทางไปปีนังเข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เขาเล่าว่า เมื่อเขากลับมาได้ถูกจับจ้องจากคณะราษฎรมาก จนได้รับหนังสือตักเตือนจากหลวงพิบูลสงครามและหลวงศุภชลาศัย ไม่นานหลังจากนั้น เขาได้เดินทางไปท่องเที่ยวในจีนและญี่ปุ่นและได้เขียนสารคดีท่องเที่ยว ประกอบการวิจารณ์การเมือง ทำให้เราได้ทราบความคิดทางการเมือง หรือเค้าความคิดในรัฐธรรมนูญอุดมคติของพระยาศราภัยพิพัฒ คือ เขาชื่นชมกับรัฐธรรมนูญฉบับพระราชทานของจักรพรรดิเมจิของญี่ปุ่นที่บัญญัติ ให้พระองค์มีพระราชอำนาจมาก

และเขาเห็นว่าองค์จักรพรรดิมีการเตรียม การเป็นเวลานานเพื่อให้ประชาชนมีความพร้อม เขาประเมินว่าการที่องค์จักรพรรดิมีอำนาจสูงสุดแบบเอกาธิปไตยในรัฐธรรมนูญ นั้นมีความเหมาะสม เพราะพระองค์จะชี้ขาดปัญหาทั้งมวล โดยประชาชนจะรอคอยพระบรมราชโองการอย่างจงรักภักดี

และพระยาศราภัย พิพัฒได้ประเมินสภาพการณ์หลังการปฏิวัติว่า การปฏิวัติเป็นการนำความเสื่อมมาสู่สังคม โดยเขากล่าวถึงความเสื่อมโทรมของศีลธรรมเยาวชนว่า "จะเห็นได้จากพฤติการณ์และนิสัยเด็กหนุ่มของเราได้เสื่อมลงไปในระหว่างปีก ลาย [๒๔๗๕] กับปีนี้ [๒๔๗๖] เป็นอันมาก เพราะเสรีภาพปลุกให้เขาตื่นอย่างัวเงีย"

การจัดวางพระราชอำนาจในรัฐ ธรรมนูญที่ไม่เหมาะสมหลังการปฏิวัติให้สอดคล้องตามพระราชประสงค์ของพระบาท สมเด็จพระปกเกล้าฯ และเหล่าพระราชวงศ์ ทำให้เกิดการสนับสนุนงบประมาณจากพระคลังข้างที่ในการยกกองทัพจากหัวเมือง เป็นเหตุให้เกิด "คณะกู้บ้านกู้เมือง" เมื่อเดือนตุลาคม ๒๔๗๖ พร้อมกับการยื่นคำขาดต่อคณะราษฎร จากความพ่ายแพ้ของการโต้ "อภิวัฒน์" นี้ ทำให้พระองค์เจ้าบวรเดชและแกนนำต้องลี้ภัยไปยังเวียดนามและสิงคโปร์ ส่วนนายทหารระดับนำเสียชีวิตในที่รบ แนวร่วมจำนวนมากถูกจับขึ้นศาล และนำไปสู่การจับกุมผู้เกี่ยวข้อง ๖๐๐ คน โดยถูกส่งฟ้องศาลพิเศษ ๓๔๖ คน ถูกตัดสินลงโทษ ๒๕๐ คน ถูกปลดจากราชการ ๑๑๗ คน  (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย. หน้า ๑๘-๑๙.)

ใน ระหว่างคุมขังนักโทษทางการเมืองเหล่านี้ พวกเขาได้บันทึกความทรงจำและแต่งนิยายขึ้นจำนวนมากที่เล่าในลักษณะกลับหัว กลับหาง และภายหลังถูกนำมาเผยแพร่เมื่อได้รับการปลดปล่อย อย่างไรก็ตามบันทึกความทรงจำและนิยายเหล่านี้ ทำให้เราได้ทราบความรู้สึกนึกคิด ความคิดทางการเมืองและความเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขาในเวลาต่อมา

1 ความคิดเห็น: