วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

ราชธรรมนูญ" กับ "ราษฎร์ธรรมนูญ

"ราชธรรมนูญ" กับ "ราษฎร์ธรรมนูญ"

ปัญหากำเนิด "ระบอบรัฐธรรมนูญ" และความขัดแย้งของขนาดพระราชอำนาจหลังการปฏิวัติ

ประเด็นหนึ่งในการรื้อสร้างการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ของ "การเมืองเรื่องเล่า" คือการกล่าวว่า การปฏิวัติของคณะราษฎรนั้นเป็นการ "ชิงสุกก่อนห่าม" โดยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์พระราชทาน "รัฐธรรมนูญ" อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงก็คือ การร่าง "รัฐธรรมนูญ" นั้นเป็นการร่างลับตามพระราชประสงค์ของพระองค์ โดยมีน้อยคนที่รู้ นอกนั้นไม่เคยมีใครได้เห็นเอกสาร นอกจากพูดต่อกันมา มีขุนนางในระบอบเก่าคนหนึ่งนาม***พระยาศรีวิสารวาจา*** เท่านั้นที่รู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี

พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล, ๒๔๓๙-๒๕๑๑) บัณฑิตเกียรตินิยมทางกฎหมายจากออกซฟอร์ด บาร์ริสเตอร์มิดเดิลเทมเปิล อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศในระบอบเก่า รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศสมัยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (๒๔๙๕-๒๔๙๖) รัฐมนตรี (๒๔๘๙, ๒๔๙๐-๒๔๙๑) สมาชิกวุฒิสภา (๒๔๙๒-๒๔๙๔) องคมนตรี (๒๔๙๕-๒๕๐๕) ประธานที่ปรึกษาราชการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (๒๕๐๕-๒๕๐๖) ชีวประวัติ พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา, พิมพ์เป็นบรรณาการเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๘ มิถุนายน ๒๕๑๑, พระนคร : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี.

เพราะเขามีส่วนร่วมในการร่าง และรู้ว่ามันมีสาระเช่นไร อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏหลักฐานถึงการบอกถึงสาระที่แท้จริงในฉบับร่างจากเขาตลอดช่วงชีวิต แม้ว่าเขาจะมีส่วนในการเป็นรัฐมนตรีหลังการปฏิวัติหลายครั้งจนกระทั่งถึง สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ตาม ในอีกแง่หนึ่งนี่อาจเป็นเรื่องปกติก็ได้หากมองจากจุดยืนทางการเมืองของเขา เพราะสำหรับพระยาศรีวิสารวาจาแล้วอาจเป็นการดีกว่า ถ้าจะปล่อยให้เรื่องเล่าการจะพระราชทานสิ่งที่เรียกว่า "รัฐธรรมนูญ" ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และการชิงสุกก่อนห่ามของคณะราษฎรนั้นให้คงอยู่ในสังคมต่อไป เพราะเรื่องเล่าแบบนี้มีผลบวกต่อสิ่งที่เขาชื่นชมและทำให้คนฟังเห็นถึงความไม่จำเป็นของการปฏิวัติ ๒๔๗๕

หลังการเปิดหอจดหมายเหตุแห่งชาติเมื่อปี ๒๕๑๘ ความกระจ่างแจ้งในสาระสำคัญของเอกสารที่ทรงให้ร่างขึ้น และถูกเรียกจากผู้ต่อต้านการปฏิวัติว่าเป็น "รัฐธรรมนูญ" อันจะพระราชทานให้กับปวงชนชาวสยามนั้นก็ได้ปรากฏขึ้น เมื่อมีการค้นพบเอกสารสำคัญ ๒ ชิ้น ชิ้นแรกคือ ร่างกฎหมาย ปี ๒๔๖๙ ฉบับพระยากัลยาณไมตรี ( (Francis B. Sayre) (ในต้นฉบับไม่ระบุชื่อกฎหมายและไม่ได้เรียกว่ารัฐธรรมนูญ) แถมสุข นุ่มนนท์. การเมืองและการต่างประเทศในประวัติศาสตร์ไทย. )

ซึ่งมีสาระสำคัญคือ สถาบันพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจสูงสุดในราชอาณาจักร ให้มีอภิรัฐมนตรีสภา และตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่เสนอนโยบายทั่วไปให้พระมหากษัตริย์ทรงตัดสินพระทัย และนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้อำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ กล่าวโดยสรุปแล้วหมายความว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจสูงสุดทาง การบริหาร นิติบัญญัติและการแก้ไขกฎหมาย หรือนัยหนึ่งก็คือทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยนั่นเอง

เอกสารอีกชิ้นหนึ่งคือ สำหรับร่างกฎหมาย ปี ๒๔๗๔ ซึ่งเขียนโดยเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ และพระยาศรีวิสารวาจา เอกสารนี้ใช้ชื่อว่าเค้าโครงร่างการเปลี่ยนรูปรัฐบาล (An Outline of Changes in the Form of the Government) มิได้ใช้คำว่ารัฐธรรมนูญ  ( หจช.ร.๗ ม.๑.๓/๑๔๒ "An Outline of Changes in the Form of the Government" )

ร่างฉบับนี้มีสาระสำคัญคือ พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจสูงสุดทางการบริหารและการนิติบัญญัติ โดยมีพระราชอำนาจเหนือสภานิติบัญญัติ เหนือสภาอภิรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีกับคณะรัฐมนตรี พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจสูงสุดในการแต่งตั้ง และถอดถอนสภาอภิรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์ ส่วนที่มาของสภานิติบัญญัตินั้น อาจมาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งก็ได้ แต่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการยุบสภา โดยสรุปแล้วพระมหากษัตริย์คือผู้ทรงอำนาจอธิปไตยอีกเช่นกัน ( โปรดดูเปรียบเทียบ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ มาตรา ๑ ระบุว่า อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย )

จากหลักฐานเหล่านี้ยืนยันว่า เป็นความจริงที่พระองค์ทรงเตรียมร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปกครอง แต่จะเป็นประชาธิปไตยตามหลักประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยหรือไม่ ขอให้พิจารณาขนาดของพระราชอำนาจที่มีอย่างมากมายแล้วคงไม่ต้องเถียงกันอีกต่อไป

(สำหรับข้อกล่าวหาคณะราษฎรที่ชิงสุกก่อนห่ามในการนำการปฏิวัติทั้งๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะพระราชทาน "รัฐธรรมนูญ" นั้น เรื่องเล่าเหล่านี้ได้ผ่านไปสู่การตั้งคำถามต่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรม แกนนำคนสำคัญของคณะราษฎรซึ่งเขาได้กล่าวว่า คณะราษฎรเพิ่งได้ทราบถึงสาระสำคัญในร่างกฎหมายหรือเค้าโครงร่างการเปลี่ยนรูปรัฐบาลจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ หลังการปฏิวัติไม่กี่วัน แต่อย่างไรก็ตามเขาเห็นเกี่ยวกับสาระสำคัญที่อยู่ภายในร่างว่า ปัญญาชนรับฟังสิ่งใดควรไตร่ตรองให้รอบคอบให้สามารถแยกแยะออกเป็นประเภทอย่างแจ่มชัดได้ เช่น "เมื่อจะรู้เรื่องปลาก็มิเพียงแต่เห็นว่าสัตว์น้ำนั้นมีเหงือกมีหางว่ายน้ำ ได้ก็เป็นปลาประเภทเดียวกัน คือ จะต้องรู้ว่า สัตว์น้ำนั้น เป็นปลาช่อน หรือปลาหมอ ฉันใดฉันนั้น เมื่อรับฟังว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้วก็ควรสอบถามผู้บอกเล่าว่า พระองค์จะพระราชทานรัฐธรรมนูญชนิดใด" (ปรีดี พนมยงค์. "บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎร และระบบประชาธิปไตย," ใน รัฐศาสตร์ ๑๔. ชมรมหนังสือยูงรำแพน, ๒๕๑๗, หน้า ๒๖๒-๒๖๓.)

การเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างรวดเร็วในเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้นเป็นเสมือนหนึ่งการปิดฉากระบอบเก่าลง พร้อมกับการสถาปนา "ระบอบรัฐธรรมนูญ" ขึ้นมาได้ (ภายหลังเรียกระบอบประชาธิปไตย ) มีการถกเถียงกันในการตีความกำเนิดรัฐธรรมนูญสยามว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการตกลงกันระหว่างราษฎรและผู้ปกครอง ( ในสายตานักกฎหมายและครูกฎหมายร่วมสมัยอย่างเดือน บุนนาค หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ และไพโรจน์ ชัยนาม ต่างประเมินตรงกันว่า รัฐธรรมนูญสยามนั้นเกิดจากการตกลงกันระหว่างผู้ปกครองกับราษฎร หาใช่การพระราชทานไม่ ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงสามารถอธิบายถึงความชอบธรรมของที่มาสมาชิกสภาผู้แทนประเภท ๒ ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยคณะราษฎรได้ ในตำรากฎหมายขณะนั้นเห็นว่ากำเนิดรัฐธรรมนูญมี ๓ แบบ ดังนี้

แบบแรก ผู้ปกครองรัฐเป็นผู้ให้ (charter) ซึ่งเกิดจากเจตนาของผู้ปกครองฝ่ายเดียว ดังนั้นการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างพระราชอำนาจของผู้ปกครองจะอยู่สูงสุด เหนือสถาบันการเมืองอื่นๆ เช่น รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นฉบับเมจิ ค.ศ. ๑๘๘๙

แบบที่ ๒ ราษฎรเป็นผู้ร่างเองทั้งหมด หรือตั้งสภาราษฎรขึ้นเพื่อร่าง (convention) เช่น รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ค.ศ. ๑๗๘๗

แบบสุดท้าย ผู้ปกครองกับราษฎรกัน (pact) เป็นการแสดงเจตนาร่วมกันหลังการปฏิวัติ เมื่อตกลงกันได้จึงจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น เช่น รัฐธรรมนูญของอังกฤษ ค.ศ. ๑๖๘๘ รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๓๐ และรัฐธรรมนูญสยามฉบับวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ และฉบับวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ความคิด ความรู้และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕. กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, หน้า ๑๓-๑๕.)

หรือเกิดจากการพระราชทาน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางการเมือง

ฝ่ายสนับสนุนการปฏิวัติเห็นว่ากำเนิดรัฐธรรมนูญเป็นการตกลงกันระหว่าง ๒ ฝ่าย (มีเหตุแห่งการปฏิวัติ ฝ่ายปฏิวัติชนะ และตกลงกันได้) พระมหากษัตริย์ + คณะราษฎร รัฐธรรมนูญ = พระมหากษัตริย์ + สถาบันการเมือง (กรรมการคณะราษฎร-ต่อมาเรียกคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และศาล) + ประชาชน] พระมหากษัตริย์จึงทรงมีฐานะเป็นประมุขแห่งรัฐ ทรงอยู่เหนือการเมือง ตามหลักพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่ละเมิดมิได้เพื่อทรงจะไม่ถูกวิจารณ์ จากผลของการกระทำนั้นโดยตรง การกระทำใดๆ ของพระมหากษัตริย์จะต้องมีผู้สนองพระบรมราชโองการเสมอ ดังนั้นการแต่งตั้งสมาชิกสภาประเภท ๒ จึงเป็นอำนาจของสถาบันการเมืองเสนอให้ทรงแต่งตั้ง สำหรับสมาชิกประเภทแรกมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

แต่สำหรับฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติ (หรือพวกที่เรียกกันในเวลานั้นว่าพวก "รอยัลลิสต์") กลับเห็นว่า รัฐธรรมนูญสยามกำเนิดจากการพระราชทานจากพระมหากษัตริย์แต่ฝ่ายเดียว [(ไม่สมควรมีเหตุแห่งการปฏิวัติ (แม้จริงๆ แล้วจะมีการปฏิวัติ) เพราะจะพระราชทานอยู่แล้ว)  โปรดดูสาระสำคัญในร่างกฎหมายและเค้าโครงร่างการเปลี่ยนรูปรัฐบาลที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะพระราชทานฯ ข้างต้น

พระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญ = พระมหากษัตริย์ + สถาบันการเมือง + ประชาชน] พระมหากษัตริย์ต้องมีพระราชอำนาจทางการเมืองมากในลักษณะที่เท่าๆ หรือเหนือกว่ารัฐธรรมนูญ เพราะพระองค์ทรงเป็นที่มาแห่งกำเนิดรัฐธรรมนูญ เป็นที่มาแห่งอำนาจอธิปไตย ดังนั้นย่อมนำไปสู่ความเห็นว่าการแต่งตั้งสมาชิกประเภท ๒ ต้องเป็นพระราชอำนาจของกษัตริย์อย่างสมบูรณ์ และสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมิใช่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญแบบที่พวกแรกกำหนด

ด้วยความเข้าใจเช่นนี้ จึงนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านการปฏิวัติ และการรื้อสร้างการปฏิวัติ ซึ่งจะกลายเป็นกระบวนการที่ยาวนานกระบวนการหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ความไม่สบพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงบันทึกความรู้สึกเมื่อแรกเห็น พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามว่า "หลักการของผู้ก่อการกับหลักการของข้าพเจ้านั้น ไม่พ้องกันเสียแล้ว...ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการฉุกเฉิน...ข้าพเจ้าจึงได้ยอม ผ่อนผันไปตามความประสงค์ของคณะผู้ก่อการในครั้งนั้นก่อน ทั้งนี้ ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับหลักการเหล่านั้นเลย" (แถลงการณ์เรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ, ๒๔๗๘, หน้า ๘๙.) และทรงเติมคำว่า "ชั่วคราว" ลงไป

ต่อพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ (ฉบับหลังการปฏิวัติใหม่ๆ) ในประเด็นคำเรียกขาน และการบัญญัติให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีเท่าๆ กับสถาบันการเมืองอื่น เช่น กรรมการคณะราษฎร สภาผู้แทนราษฎร และศาล ตลอดจนประเด็นเรื่องพระราชอำนาจ นำมาสู่การที่ทรงต่อรองกับคณะราษฎรว่า ทรงจะขอแก้ไข "เรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่ง" ซึ่งคณะราษฎรยินยอม หลังจากนั้นทรงเติมพระอักษรลงไปในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินว่า "ชั่วคราว" ก่อนจะทรงลงพระปรมาภิไธย  ยาสุกิจิ ยาตาเบ อดีตอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสยาม (๒๔๗๑-๒๔๗๙) ผู้มีสายตาที่ละเอียดอ่อนและได้มีส่วนรับรู้เหตุการณ์ในช่วงนี้ เขาเห็นว่า การเติมคำว่า "ชั่วคราว" ลงไปของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ นี้ เป็นการแก้ไขที่สำคัญอย่างยิ่ง หากเปรียบกับธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวกับรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ในประเด็นเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจ (นอกจากนี้เขาบันทึกเกี่ยวกับการรัฐประหารด้วยการปิดสภาผู้แทนฯ (๑ เมษายน ๒๔๗๖) ในสมัยพระยามโนปกรณ์ฯ ว่า เขาทราบว่ามีการเตรียมแผนการระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับพระยามโนปกรณ์ฯ ในการปิดสภาผู้แทนฯ อย่างน้อย ๑ สัปดาห์ เพื่อกำจัดหลวงประดิษฐ์ฯ และพรรคพวก และเขาเห็นว่ารัฐบาลขณะนั้นโฆษณาเกินความจริงเกี่ยวกับร่างเค้าโครงการ เศรษฐกิจฯ เพื่อมุ่งประหารชีวิตทางการเมืองของหลวงประดิษฐ์ฯ และเป็นการสร้างความชอบธรรมในการรัฐประหารร่วมของพระยามโนปกรณ์ฯ กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โปรดดูเพิ่มเติมประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจในบันทึกความทรงจำของยาสุกิจิ ยาตาเบ (เขียน) เออิจิ มูราชิมา และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (แปล). การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม. หน้า ๒๐, ๔๔-๔๕.)

ผลแห่งการแก้ไขเรื่อง "เล็กๆ" นี้นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ ฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นฉบับที่คณะผู้ร่างเกือบทั้งหมดมาจากขุนนางระบอบเก่า ประเด็นสำคัญที่มีการแก้ไขและเพิ่มเติมคือ การใช้คำว่าพระมหากษัตริย์ การใช้คำว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี การบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่เคารพสักการะผู้ใดละเมิดมิได้ พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าอยู่เหนือการเมือง เป็นต้น การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ได้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา ประเด็นเรื่องที่มาของผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ อันมาจากแต่งตั้งโดยคณะราษฎรแทนที่จะเป็นพระราชอำนาจนั้นนำมาซึ่งความไม่พอ ใจเป็นอันมากในหมู่พระราชวงศ์และพวก "รอยัลลิสต์" ทั้งๆ ที่คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญเกือบทั้งหมดล้วนมาจากขุนนางระบอบเก่า และการร่างอยู่ใต้การปรึกษาอย่างใกล้ชิดกับพระองค์ทั้งสิ้น

สภาวะความหวาดระแวงระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับคณะราษฎรนั้นดำรงมาตลอดและปรากฏชัดเจนเมื่อพระองค์ให้เจ้าพระยาวรพงศ์ พิพัฒน์ เจ้ากรมสำนักพระราชวังจัดตั้งหน่วยราชการพิเศษขึ้น โดยเลือกพโยม โรจนวิภาต ข้าราชการสำนักพระราชวังซึ่งคลุกคลีกับวงการหนังสือพิมพ์เป็น "สายลับส่วนพระองค์" ในนาม "พ.๒๗" เพื่อทำหน้าที่รายงานความเคลื่อนไหวของคณะราษฎรและแวดวงหนังสือพิมพ์ให้พระองค์ทรงทราบเป็นการลับโดยตรง สำหรับ "พ.๒๗" เขาเห็นว่าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็น "วันโลกาวินาศ"  ("อ.ก.รุ่งแสง" (พโยม โรจนวิภาต). พ.๒๗ สายลับพระปกเกล้าฯ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยเกษม, หน้า ๒๒๙. (งานชิ้นนี้ พโยมเขียนเป็นตอนๆ ลงพิมพ์ครั้งแรกในฟ้าเมืองไทย ในช่วงปี ๒๕๑๓)

"พ.๒๗" ได้ปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี จนได้รับคำชมจากพระองค์ว่ารายงานลับของเขานั้นรู้ดี แต่ยังไม่ลึกพอ รายงานฉบับสุดท้ายของ "พ.๒๗" ก่อนการลี้ภัยของเขาก็คือ การรายงานว่า เกิดการเคลื่อนไหวของทหารที่หัวเมืองเมื่อต้นเดือนตุลาคม ๒๔๗๖ โดยมีพระองค์เจ้าบวรเดชทรงเป็นต้นคิดแผนการครั้งนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น