วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

เชื้อสายพระราชวงศ์กรุงธนบุรี

พระราชวงศานุวงศ์กรุงธนบุรีมหาราช
1. พระราชบิดาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตามที่กล่าวไว้ในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษว่าเป็นขุนพัฒน์ นามเดิมไหยฮอง ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในพระนครศรีอยุธยา แต่ยังไม่พบหลักฐานที่อื่นสนับสนุน
2. สมเด็จพระราชชนนี พระนามเดิมว่า เอี้ยง ดำรงพระราชอิสริยยศเป็นกรมหลวงพิทักษ์เทพามาตย์ สวรรคตวันอังคารเดือน 8 ขึ้น 6 ค่ำ พ.ศ. 2317 ดูจดหมายเหตุฉบับลงวันอังคาร เดือน6 แรม 2 ค่ำ ปีมะแม จ.ศ. 1137 (พ.ศ. 2318) และหมายรับสั่ง ลงวันศุกร์เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ จ.ศ. 1138 ( พ.ศ. 2319 )
3. สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระนามเดิมว่าสิน มีพระบรมนามาภิไธยเมื่อปราบดาภิเษกแล้ว ตามที่ปรากฏในศุภอักษรเสนาบดีกรุงธนบุรี ซึ่งกำกับพระราชสารไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต ออกพระนามว่าพระศรีสรรเพ็ชญ์ สมเด็จบรมธรรมิกราชาธิราชรามาธิบดีที่สำหรับออกพระนามในศุภอักษรชองพระเจ้า ประเทศราชว่าสมเด็จพระเอกาทศรศรฐ ส่วนที่ออกพระนาม ในพระราชพงศาวดาร ฉบับทรงชำระในรัชกาลที่ 1 ว่า สมเด็จพระบรมหน่อพุทธางกูรเจ้าสมภพเมื่อ ปีขาล พ.ศ. 2277 มีเชื้อชาติสืบจากจีน รับราชการจนได้เป็นที่พระเจ้าตากก่อนพระชนมายุ 31 ปี แล้วเลื่อนเป็นพระยากำแพงเพ็ชรเจ้าเมืองชั้นโท เพราะ ความชอบในการสงครามที่ต่อสู้พม่าเมื่อก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา ถึงต้นปีกุน พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ทรงพยายามกู้คืน จากเงื้อมมือพม่าเสร็จในปลายปีนั้น รุ่งขึ้นนปีชวดพ.ศ. 2311 ณ วันอังคารเดือนอ้าย แรม 4ค่ำ ได้ปราบดาภิเษกถึงวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ถูกสำเร็จโทษเปลี่ยนพระราชวงศ์ใหม่ ต่อมา พ.ศ. 2327 ถวายพระเพลิงพระบรมศพที่วันอินทาราม บางยี่เรือ ธนบุรี
4.
 สมเด็จพระน้านาง พระนามเดิมว่า อั๋น ดำรงพระราชอิสริยยศเป็น กรมหลวงเทวินทรสุดา อยู่มาถึงรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ ถูกลดพระยศลงเป็นเพียง หม่อมอั๋น
5.สมเด็จพระราชินี (หอกลาง) พระนามเดิมว่า สอน ดำรงพระราชอิสริยยศเป็น กรมหลวงบาทบริจา อยู่มาถึงรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ ถูกลดพระยศลงเป็นเพียง หม่อมสอน
 6.พระราชโอรสธิดา 29 องค์ คือ(1) สมเด็จพระมหาอุปราชเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระนามเดิมว่า จุ้ย ที่ 1 ในสมเด็จพระราชินี ดำรงพระราชตำแหน่งรัชทายาท ( มีปรากฏในประชุมพงศาวดารภาคที่ 39 หน้า 138 ) ถูกสำเร็จโทษ วันเสาร์ เดือน 6 แรม 8 ค่ำ พ.ศ. 2325 ต้นสกุล สินสุข และสกุล อินทรโยธิน
(2) สมเด็จฯ เจ้าฟ้าชายน้อยที่ 2 ในสมเด็จพระราชินี ถูกสำเร็จโทษ พ.ศ. 2325
(3) พระองค์เจ้าชายอัมพวัน ในเจ้าจอมมารดาทิม ( ม.ร.ว. ราชตระกูลกรุงเก่า ธิดาท้าวทรงกันดาล ทองมอญ ) พระญาติแห่งสกุลศรีเพ็ญ
(4) สมเด็จฯ เจ้าฟ้าชายทัศพงษ์ที่ 1 ในกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (เจ้าหญิง ฉิม หรือเรียกในราชสำนักนครศรีธรรมราชว่า ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงใหญ่ ราชธิดาของพระเจ้านครศรีธรรมราช ) ในรัชกาลที่ 2 เป็นพระพงษ์อำมรินทร์ ( หรือเรียกอีกนามหนึ่งว่า พระพงษ์นรินทร์ ) ต้นสกุลพงษ์สิน
(5) สมเด็จฯเจ้าฟ้าหญิงโกมล
(6) สมเด็จฯ เจ้าฟ้าหญิงบุบผา
(7) สมเด็จฯ เจ้าฟ้าชายสิงหรา
(8) สมเด็จฯ เจ้าฟ้าชายศิลา
 ในรัชกาลที่ 3 เป็นพระยาประชาชีพ ต้นสกุล ศิลานนท์
(9) พระองค์เจ้าชายอรนิกา บรรพบุรุษแห่งสกุลรัตนภาณุที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาอำพัน (ธิดาเจ้าอุปราชจันทร์ นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นต้นสกุลจันโรจวงศ์ ) ถูกสำเร็จโทษเมื่อจะเริ่มรัชกาลที่ 2 วันพุธ เดือน 10 ขึ้น 5 ค่ำ พ.ศ. 2352 พร้อมกับสมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต
(10) พระองค์เจ้าหญิงสุมาลี
(11) พระองค์เจ้าชายธำรง
(12) พระองค์เจ้าชายละมั่ง
 ในรัชกาลที่ 3 เป็นพระยาสมบัติบาล
(13) สมเด็จฯเจ้าฟ้าชายเล็ก (แผ่นดินไหว)
(14) สมเด็จฯ เจ้าฟ้าชายทัศไภย เป็นโอรสองค์ที่ 2 ในกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (เจ้าหญิงฉิม) ถึงรัชกาลที่ 2 เป็นพระอินทอำไพ (หรือเรียกอีกนามหนึ่งว่าพระอินทรอภัย) ถูกสำเร็จโทษใน พ.ศ. 2358 เป็นพระบิดาเจ้าจอมมารดาน้อย ต้นสกุล นพวงศ์ และสุประดิษฐ์ ณ อยุธยา
(15) พระองค์เจ้าหญิงจามจุรี
(16) พระองค์เจ้าหญิงสังวาล
(17) พระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณ
 ต้นสกุล อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาอำพัน (ธิดาเจ้าอุปราชจันทร์ แห่งนครศรีธรรมราช) ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณเป็นพระราชชายากรมพระราชวังบวร รัชกาลที่ 2 แล้วถูกสำเร็จโทษ วันพุธ เดือน 10ขึ้น 5 ค่ำ พ.ศ. 2352 พร้อมกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต
(18) สมเด็จฯ เจ้าฟ้านเรนทรราชกุมารที่ 3 ในกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (เจ้าหญิงฉิม) ถึงรัชกาลที่ 2 เป็นพระนเรนทรราชา ดำรงพระชนม์มาถึงรัชกาลที่ 3 เป็นต้นสกุลรุ่งไพโรจน์
(19) พระองค์เจ้าชายคันธวงศ์
(20) พระองค์เจ้าชายเมฆิน
(21) พระองค์เจ้าชายอิสินธร
(22) พระองค์เจ้าหญิงประไพพักตร์
 ในเจ้าจอมมารดาเงิน
(23) สมเด็จฯ เจ้าฟ้าชายสุพันธุวงศ์ ในเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ ( พระราชธิดาในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ) ถึงรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ เปลี่ยนพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ แล้วได้ทรงกรมเป็นกรมขุนกษัตรานุชิต ทรงสถาปนาวัดอภัยธารามสามเสน เมื่อจะเริ่มรัชกาลที่ 2 วันพุธ เดือน 10 ขึ้น 5 ค่ำ พ.ศ. 2352 ถูกสำเร็จโทษพร้อมกับเจ้าชายที่เป็นโอรสเล็กๆ อีก 6 องค์
(24) พระองค์เจ้าชายบัว
(25) สมเด็จฯเจ้าฟ้าปัญจปาปีที่ 4 ในกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (เจ้าหญิงฉิม) ถึงรัชกาลที่ 1เป็นพระชายาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ราชภาคิไนยของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
(26) เจ้าชายน้อย ( ในฐานะเป็นราชบุตรบุญธรรมแห่งพระมหาอุปราชแห่งนครศรีธรรมราช) ในเจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงปราง ( ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงเล็กของนครศรีธรรมราช) กนิษฐภคินีของกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (เจ้าหญิงฉิม) ถึงรัชกาลที่ 2 เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช มีสกุลที่สืบมา คือ ณ นคร 
โกมารกุล จาตุรงคกุล

(27) พระองค์เจ้าชาย
(28) พระองค์เจ้าชายหนูแดง
(29) พระองค์เจ้าหญิงสุดชาตรี



7. พระเจ้าหลานเธอ 4 องค์ คือ(1) พระเจ้านราสุริวงศ์ เจ้าผู้ครองนครศรีธรรมราช ทิวงคต พ.ศ. 2319 (มีปรากฏในพระราชพงศาวดารและหมายรับสั่ง)
(2 ) กรมขุนอนุรักษ์สงคราม พระนามเดิมว่า บุญมี เป็นเจ้ารามลักษณ์ก่อน ต่อมามีความชอบในการสงครามจึงได้ทรงกรม ถูกสำเร็จโทษ พ.ศ. 2325
(3) กรมขุนรามภูเบศร์ พระนามเดิมว่า บุญจันทร์ เป็นเจ้าบุญจันทร์ ก่อน ต่อมามีความชอบในการสงครามจึงได้ทรงกรม ถูกสำเร็จโทษ พ.ศ. 2325
(4) กรมขุนสุรินทรสงคราม (มีปรากฏในบัญชีมหาดไทย ดูประชุมพงศาวดารภาคที่ 65 หน้า114 )

8. พระราชวงศานุวงศ์ที่ไม่ทราบระดับราชสัมพันธ์ 4 องค์ คือ
(1) ในกรมขุนอินทรพิทักษ์
 สิ้นพระชนม์ก่อน พ.ศ. 2320 (มีปรากฏในหมายรับสั่ง)
(2) หม่อมเจ้าแสง สิ้นชีพตักษัยก่อน พ.ศ. 2321 (มีปรากฏในหมายรับสั่ง)
(3) หม่อมเจ้าปทุมไพจิตร (มีปรากฏในจดหมายเหตุทรงตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราช)
(4) หม่อมเจ้านราภิเบศ (มีปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับ ชำระเรียบเรียงในรัชกาลที่ 1 คือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65

9. จำนวนสมาชิกเชื้อสายพระราชวงศ์กรุงธนบุรี ตั้งแต่ ชั้น 1 ถึงชั้น 8 ตามรายพระนาม และนามเท่าที่ปรากฏ(เพียงพ.ศ. 2522) มีรวม 1200 เศษ
10. สกุลสายตรง คือ
(1) สินสุข
               วงศ์สมเด็จพระมหาอุปราช
(2) อินทรโยธิน      วงศ์สมเด็จพระมหาอุปราช
(3) พงษ์สิน            วงศ์สมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศพงศ์
(4) ศิลานนท์          วงศ์สมเด็จเจ้าฟ้าชายศิลา
(5) รุ่งไพโรจน์       วงศ์สมเด็จเจ้าฟ้าชายนเรนทรราชกุมาร
(6) ณ นคร              วงศ์ เจ้าพระยานคร (เจ้าชายน้อย)
(7)โกมารกุล ณ นคร วงศ์ เจ้าพระยานคร (เจ้าชายน้อย)
(8) จาตุรงคกุล        วงศ์ เจ้าพระยานคร (เจ้าชายน้อย)

11. ผู้ที่อยู่ในสกุลสายตรง ที่มีศักดิ์สูงมีจำนวนดังนี้ คือ(1) สมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน     1
(2) สมเด็จพระมหาอุปราช     1
(3) สมเด็จเจ้าฟ้า                     11
(4) พระองค์เจ้า                       16
(5) หม่อมเจ้า                          17
(6) เจ้าพระยา                          8
(7) พระยา                               23
(8) คุณเท้า                               2
(9) เจ้าจอม                              37
(10) หม่อมห้าม                      16
(11) คุณหญิง                          14

12. สกุลที่สืบตรงทางสายหญิง คือ(1) อิศรเสนา ณ อยุธยา
(2) ธรรมสโรช
(3) นพวงศ์ ณ อยุธยา
(4) สุประดิฐ ณ อยุธยา
(5) ศรีธวัช ณ อยุธยา
(6) วัฒนวงศ์ ณ อยุธยา
(7) รัตนโกศ
(8) ภาณุมาศ ณ อยุธยา
(9) กาญจนวิชัย ณ อยุธยา

13. สกุลเกี่ยวพันทางสายหญิง คือ(1) อิศรากูร ณ อยุธยา
(2) ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา
(3) เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
(4) กุญชร ณ อยุธยา
(5) ชุมสาย ณ อยุธยา
(6) ลดาวัลย์ ณ อยุธยา
(7) สุริยกุล ณ อยุธยา
(8) แสงชูโต
(9) รัตนภาณุ
(10) วิภาตะศิลปิน
(11) ศรีเพ็ญ
(12) ศรียาภัย
(13) เทพหัสดิน ฯ อยุธยา
(14) บุนนาค
(15) บุรานนท์
(16) สุวงศ์
(17) ลักษณสุต
(18) สุขกสิกร
(19) บุรณศิริ
(20) แดงสว่าง
(21) กมลาศน์ ณ อยุธยา
(22) แสงต่าย
(23) มิตรกุล
(24) จุลดิลก
(25) สายะศิลป์
(26) พนมวัน ณ อยุธยา

14. ผู้อยู่ในสกุลอันสืบทางสายหญฺง ที่มีศักดิ์สูง คือ(1) พระองค์เจ้า       15
(2) หม่อมเจ้า          23
(3) พระยา               3
(4) เจ้าจอม              3
(5) หม่อมห้าม        2

บัญชี ลำดับวงศ์ขุนหลวงตากนี้ ว่าเดิมพระยาราชสัมภารากร (เลื่อน ) ผู้เป็นเป็นสมาชิกในสกุลคนหนึ่ง ได้เรียบเรียบขึ้นไว้ แล้วลอกคัดกันต่อๆไป ในเชื้อสายของสกุล ได้สำเนามายังหอพระสมุดสำหรับพระนคร เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2460 ในบัญชีเชื้อวงศ์ขุนหลวงตาก ซึ่งหอพระสมุดฯได้มาว่า พระยาประชาชีพศิลา ในรัชกาลที่ 3 กับพระยาสมบัติบาล (ละมั่ง ) ในรัชกาลที่3เป็นลูกเธอขุนหลวงตากอีก 2 คน จอมมารดาเดียวกัน ในบัญชีนั้นว่าธิดาพระยาประชาชีพศิลา (ชื่อทับ) เป็นหม่อมห้ามกรมพระ รามอิศเรศ มีหม่อมเจ้าหลายองค์ คือหม่อมเจ้าหญิงเป้า และมีธิดาอีกคนหนึ่ง (ชื่อพลับ) เป็นหม่อมห้ามของกรมหมื่นกระษัตริย์ศรีศักดิ์เดช มีหม่อมเจ้าหลายองค์ยังอยู่แต่ชั้นหลาน คือ พระยาวงศ์พงศ์พิพัฒน์ เป็นต้น ชี้แจงว่าพระยาประชาชีพศิลา หาได้เป็นลูกเธอของขุนหลวงตากไม่ เป็นแต่เป็นข้าในกรมเจ้าฟ้าเหม็น ครั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานข้าไทยของเจ้าฟ้า เหม็นและ พระยาประชาชีพศิลา กับพี่น้องจึงได้มาเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงรัชกาลที่3 จึงได้เป็นขุนนาง 

สาย สัมพันธ์ ราชสกุลพระเจ้าตาก กับราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทั้ง ๓ พระองค์ทรงเป็นวีรบุรุษไทย ทรงเป็นนักรบที่เคียงบ่าเคียงไหล่กอบกู้ อิสรภาพจากพม่ามาด้วยกัน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จพระราชสมภพปีขาล พ.ศ. ๒๒๗๗ ทรงแก่พระชันษากว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ๒ ปีและ ๙ ปีตามลำดับ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชปราบดาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขณะดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหา กษัตริย์ศึก ได้ถวายพระราชธิดา คือสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่ ให้เป็นพระราชชายาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งทรงประสูติพระราชโอรสคือสมเด็จเจ้าฟ้าชายสุพันธุวงศ์ และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต (เจ้าฟ้าเหม็น) เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) สมุหนายก ขณะเป็นที่พระยาอนุชิตราชา จางวางพระตำรวจ ได้รับหนังสือ (บัตรสนเท่ห์) ทิ้งที่ใต้ต้นแวงในลานชาลาพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท กล่าวกันว่ากาคาบมาทิ้งไว้ เนื้อความในหนังสือกล่าวโทษฟ้องว่าพระโอรสและพระธิดาของสมเด็จพระเจ้า ตากสินมหาราช คือ เจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต พระองค์เจ้าหนูดำ และจอมมารดาสำลีวรรณ คบคิดกับข้าราชการหลายคนจะก่อการกบฏแย่งชิงเอาราชสมบัติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสอบสวนได้ความเป็นสัตย์ รวมทั้งมีการพาดพิงซัดทอดข้าราชการหลายคน เช่น เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค บ้านแม่ลา) พระยาเพชรปราณี (กล่อม) พระยาพระราม (ทอง) พระอินทเดช (กระต่าย) เป็นต้น รวม ๑๐ คน กับข้าในกรมเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิตอีก ๓๐ คน รวม ๔๐ คน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดให้ถอดยศเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุ ชิต เป็นหม่อมเหม็นแล้วสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา ส่วนพระองค์เจ้าหนูดำ พระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณและข้าราชการที่สมรู้ร่วมคิดนั้นทรงโปรดให้ลงโทษ ด้วยการตัดศีรษะเสียทั้งสิ้น ส่วนโอรสของเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิตหรือหม่อมเหม็นจำนวน ๖ องค์นั้นทรงโปรดให้ใส่เรือไปถ่วงน้ำเสียทั้งหมดที่ปากน้ำเจ้าพระยา จอมมารดาสำลีวรรณ พระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณ หรือจอมมารดาสำลีวรรณ ท่านเป็นพระชายาในสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ พระอนุชาธิราชแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้าฉิมใหญ่นั้นสิ้นพระชนม์ในช่วงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้า ตากสินมหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จครองสิริราชสมบัติอยู่ ๑๕ ปี ทรงมีพระโอรสและพระธิดาทั้งสิ้น ๒๙ พระองค์ ช่วงปลายรัชสมัยของพระองค์บ้านเมืองเป็นจลาจล สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้เข้าทำการสงบระงับเหตุจลาจล และสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระปฐมกษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรี ครั้งนี้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ที่พระมหาอุปราช และสมเด็จเจ้าฟ้าชายน้อย พระราชโอรสพระองค์แรกและพระองค์ที่สองแห่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยอมพลี พระชนมชีพให้สำเร็จโทษตามพระราชบิดา ด้วยไม่ยอมเป็นข้าของแผ่นดินใหม่ สมเด็จพระอัครมเหสี กรมหลวงบาทบริจา (สอน) ถูดลดพระยศเป็น "หม่อมสอน" รวมทั้งพระโอรสและพระธิดาชั้นพระองค์เจ้าถูกลดพระยศ แต่ก็ยังเป็นที่เคารพรักของราษฎรและผูกพันกับเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีและ ผูกสายสัมพันธ์ทางการสมรสกับเจ้านายผู้ทรงเป็นต้นราชสกุลหลายพระองค์ และมีสายสืบราชสกุลมาจนทุกวันนี้ พระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณเป็นพระธิดาพระองค์ที่ ๘ ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาอำพัน ธิดาคนเดียวของอุปราชจันทร์เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ทรงโปรดให้เจ้า เมืองนครศรีธรรมราช (หนู) และอุปราชจันทร์เข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ท่านได้รับราชการในกรมคชบาลเป็นที่พระยาราชวังเมือง แล้วได้เป็นเจ้าเมืองถลาง และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาสุรินทราชา และภายหลังเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) สมุหพระกลาโหม ถึงแก่อสัญกรรม ทรงมีพระราชประสงค์จะให้เจ้าพระยาสุรินทราชาเข้ามาเป็นสมุหพระกลาโหมแทน แต่เจ้าพระยาสุรินทราชาขอรับราชการเป็นเจ้าเมืองถลางต่อไปด้วยอายุมากแล้ว ท่านเป็นต้นสกุล "จันทโรจนวงศ์" พระองค์เจ้าสำลีวรรณทรงเสกสมรสกับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๒ แต่ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ พระองค์เจ้าสำลีวรรณประสูติพระราชโอรสและพระราชธิดา ๖ พระองค์ ประกอบด้วย ๑. พระองค์ชายใหญ่ สิ้นพระชนม์แต่ทรงพระเยาว์ ๒. พระองค์เจ้าหญิงประชุมวงศ์ ๓. พระองค์เจ้าหญิงนัดดา ๔. พระองค์เจ้าหญิงขนิษฐา ๕. พระองค์เจ้าชายพงศ์อิศเรศ ๖. พระองค์เจ้าหญิงนฤนล กรมหมื่นกษัตริย์ศรีศักดิเดช พระองค์เจ้าชายพงศ์อิศเรศ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๘ ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ประสูติเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีวอก พ.ศ. ๒๓๔๓ ทรงเป็นพระราชโอรสที่สมเด็จพระราชบิดาโปรดปรานยิ่งนักด้วยทรงเป็น "หลานปู่" ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และทรงเป็น "หลานตา" ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นเจ้านายฝ่ายหน้าพระองค์เดียวที่เป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวทั้งสองพระองค์ข้างต้น ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๐๕ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาให้สถาปนาพระองค์เจ้าพงศ์อิศ เรศเป็นพระเจ้าราชวงศ์เธอ กรมหมื่นกษัตริย์ศรีศักดิเดช ซึ่งทรงเป็นต้นราชสกุลอิศรเสนา ณ อยุธยา ชายาของพระเจ้าราชวงศ์เธอ กรมหมื่นกษัตริย์ศรีศักดิ์เดช คือ คุณหญิงพลับ ธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าชายศิลา พระราชโอรสพระองค์ที่ ๘ ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คุณหญิงพลับประสูติพระโอรส ๓ พระองค์ คือ หม่อมเจ้ากระจ่างอิศรเสนา หม่อมเจ้าจันตรี อิศรเสนา และหม่อมเจ้าเสาวรส อิศรเสนา หม่อมเจ้าเสาวรสเป็นบิดาของเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) เสนาบดีกระทรวงวังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าราชวงศ์เธอกรมหมื่นกษัตริย์ศรีศักดิเดชสิ้นพระชนม์เมื่อเดือน ๘ ปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ขณะพระชันษาได้ ๗๕ ปี สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงปัญจวาปี พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอีกพระองต์หนึ่งที่ทรงมีสายสัมพันธ์ทาง การสมรสกับเจ้านายฝ่ายหน้าในพระราชวงศ์จักรีคือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงปัญจปาปี พระธิดาพระองค์ที่ ๑๑ ได้ทรงเสกสมรสกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ พระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นพระน้องนางในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเจ้าขรัวเงิน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทรงรับราชการกำกับกรมมหาดไทยในรัชสมัยพระ บาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นต้นราชสกุลอิศรางกูร ณ อยุธยา สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงปัญจปาปีประสูติพระโอรสพระธิดา ๕ พระองค์ประกอบด้วย หม่อมเจ้าใหญ่ หม่อมเจ้ากลาง หม่อมเจ้าหญิงศรีฟ้า หม่อมเจ้าสุนทรา และหม่อมเจ้าหญิงรสสุคนธ์ พระพงษ์นรินทร์-พระอินทร์อภัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีความเคารพรักในสมเด็จพระเจ้า ตากสินมหาราช เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองสงบเรียบร้อยแล้วทรงโปรดให้ขุดพระศพของสมเด็จพระ เจ้าตากสินมหาราชขึ้นมาถวายพระเพลิงที่วัดบางยี่เรือ พระองค์พร้อมสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงฉลองพระองค์พระภูษาขาว อันเป็นการถวายความเคารพและถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อย่างยิ่ง ในส่วนของพระโอรสและพระธิดาแห่งองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็ทรงให้ความเมตตาชุบเลี้ยงและให้รับราชการในตำแหน่งต่างๆ ทรงโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้าทัศพงศ์ และสมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศไภยเป็นที่ "พระพงษ์นรินทร์" และ "พระอินทร์อภัย" ที่หม่อมราชนิกุลรับราชการในราชสำนักเนื่องด้วยพระโอรสทั้งสองมีความรู้ทาง การแพทย์ และมีตำแหน่งเข้าเฝ้าต่อจากเสนาบดี และด้วยหน้าที่ทางการแพทย์ที่มีความสนิทคุ้นเคยและเข้านอกออกในได้ ทำให้พระอินทร์อภัยมีสัมพันธ์สวาทกับเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย ความทราบถึงพระกรรณทรงโปรดให้ไตร่สวนได้ความเป็นสัตย์ จึงโปรดให้ประหารชีวิตเสียทั้งพระอินทร์อภัยและเจ้าจอม เหตุเกิดเดือน ๑๐ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๕๕ เจ้าจอมมารดาน้อย ธิดาคนที่สองของพระอินทร์อภัยคือ คุณหญิงน้อย หรือเจ้าจอมมารดาน้อย ได้เป็นหม่อมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ ประสูติพระราชโอรส ๒ พระองค์ คือ พระองค์เจ้านพวงศ์ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส องค์ต้นราชสกุลนพวงศ์ ณ อยุธยา และพระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร องค์ต้นราชสกุลสุประดิษฐ์ ณ อยุธยา ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จทรง ผนวช ซึ่งขณะนั้นพระองค์เจ้านพวงศ์และพระองค์เจ้าสุประดิษฐ์มีพระชันษาได้ ๒ ปีและ ๒ เดือนตามลำดับ ระหว่างที่ทรงผนวชอยู่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตโดยมิได้ทรงมอบราชสมบัติแก่เจ้านายพระองค์ใด ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และพระบรมวงศานุวงศ์ได้ถวายสิริราชสมบัติแด่พระเจ้าลูก ยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นรัชกาลที่ ๓ แห่งพระราชวงศ์จักรี สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎจึงครองสมณเพศต่อมาตลอด ๒๗ ปี ช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดาน้อยได้อาศัยอยู่กับพระพงษ์นรินทร์ผู้เป็นลุงและเลี้ยงดู พระองค์เจ้านพวงศ์ ส่วนพระองค์เจ้าสุประดิษฐ์นั้น สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิมธนบุรีทรงเป็นผู้ชุบเลี้ยงให้การอุปถัมภ์ เจ้าจอมมารดาน้อยเป็นสตรีผู้น่าสงสาร เนื่องด้วยสมเด็จพระอัยกาคือพระเจ้าตากสินมหาราชก็ถูกสำเร็จโทษ พระบิดาคือสมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศไภยหรือพระอินทร์อภัยก็ถูกประหารชีวิต ชีวิตส่วนตัวก็ตกระกำลำบาก เพราะพระสวามีเสด็จทรงผนวชอยู่ถึง ๒๗ พรรษา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จครองราชแล้วก็ไม่โปรด และไม่ยกย่องเจ้าจอมมารดาน้อยเป็นพิเศษแต่ประการใด เจ้าจอมมารดาจึงมีพฤติกรรมการแสดงออกแปลกๆ ซึ่งอาจจะเป็นการเรียกร้องความสนใจก็ได้ ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จด้วยกระบวนเรือจากตำหนัก น้ำถึงวัดเขมาตลาดแก้วมีเรือเก๋งลำหนึ่งพายตามขึ้นมาแข่งกับเรือพระที่นั่ง เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี (เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง เพ็ง) ร้องถามก็ไม่บอก บ่าวผู้หญิงในเรือเก๋งนั้นพากันหัวเราะเยาะ ปรากฏว่าเรือเก๋งลำนั้นเป็นของเจ้าจอมมารดาน้อยซึ่ง "มาทำหน้าที่เป็นเล่นตัว ล้อข้าต่อหน้าทาสกำนัลน่าชังหนักหนา" เมื่อเจ้าจอมมารดาน้อยถึงแก่อนิจกรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้พระราชทานเพลิงศพที่สวนท้าย วังของพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นวิษณุนารถนิภาธร เมื่อเสร็จงานศพเจ้าจอมมารดาน้อยแล้ว กรมหมื่นวิษณุนารถนิภาธรจึงทรงกะการสร้างวัดขึ้นบริเวณสวนท้ายวังที่เป็นที่ ปลงศพเจ้าจอมมารดาน้อย วิธีการที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนารถนิภาธรทรงกะการสร้างวัด คือทรงโปรยเงินไปทั่วบริเวณพื้นที่ที่ทรงกำหนดว่าเป็นที่สร้างวัดแล้วโปรด ให้บ่าวไพร่ในพระองค์พากันแผ้วถางต้นไม้ใบหญ้าเพื่อเก็บเอาเงินนั้น ซึ่งก็คือวิธีการจ่ายค่าแรงของพระองค์นั่นเอง การสร้างวัดยังไม่แล้วเสร็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นวิษณุนารถนิภาธรสิ้นพระ ชนม์ลงเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๐๕ พระชันษาเพียง ๓๘ ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้พระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นมเหศวร ศิววิลาศทรงสร้างวัดต่อ แต่กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศก็สิ้นพระชนม์ลงไปอีกเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงรับเอาการสร้างวัดนั้นมาดำเนินการ ต่อ โดยทรงโปรดให้พระยาราชสงครามเป็นแม่กองก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จจึงพระราชทาน นามวัดว่า "วัดตรีทศเทพ" ซึ่งมีความหมายว่า "เทวดาสามนายสร้าง" แล้วโปรดให้แห่พระครูจุลานุนายก (คง) พระครูปลัดซ้ายฐานานุกรมของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์จากวัดบวรนิเวศวิหารมาครองวัดตรีทศเทพเป็นเจ้า อาวาสองค์แรก กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส เมื่อแรกประสูติมีพระยศเป็นหม่อมเจ้า พระนามว่าหม่อมเจ้านพวงศ์ หรือนภวงศ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วโปรดให้ เลื่อนพระยศเป็นพระองค์เจ้ามีพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า "พระองค์เจ้านพวงศ์ วรองค์เอกอรรคมหามกุฎ ปรมุตมราโชรส" และได้รับสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามว่า "พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส" ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้รับราชการใดๆ แต่มาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถได้ทรงเป็นผู้กำกับกองทหารล้อมวัง และเช่นเดียวกัน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร เมื่อแรกประสูติมีพระยศเป็นหม่อมเจ้าสุประดิษฐ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จครองราชย์แล้วทรงโปรดให้ เลื่อนพระยศเป็น "พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ วรฤทธิราชมหามกุฎ บุรุษยรัตนราชวโรรส" และเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมทรงพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ซึ่งได้ทรงกำกับราชการกรมพระคลังสมบัติ และได้ทรงเสด็จไปศึกษาดูงานการปกครองและการพัฒนาบ้านเมืองยังสิงคโปร์ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาให้เสด็จไปดูงานพร้อม สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งในขณะนั้นท่านมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนารถนิภาธรจึงเป็นเจ้านายชั้นพระราชโอรสพระองค์แรกที่เสด็จไป ศึกษาดูงานยังต่างประเทศ พระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระนัดดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่รับราชการเป็นเจ้าจอมมารดาในพระบาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือธิดาของเจ้าพระยานคร (น้อย) ซึ่งท่านถวายธิดาเกือบทุกคนเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสอง พระองค์ ธิดาคนโต คือ เจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ เป็นเจ้าจอมมารดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติพระราชโอรส คือ พระองค์เจ้าเฉลิมวงศ์ ธิดาคนที่ ๑๓ คือ เจ้าจอมมารดาบัวในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติพระราชโอรส พระราชธิดา ประกอบด้วย ๑. พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณเลิศ สิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์ ๒. กรมขุนสิริธัชสังกาศ ต้นราชสกุลศรีธวัช ณ อยุธยา ๓. พระองค์เจ้าหญิงอรไทยเทพกัญญา ๔. กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ ต้นราชสกุลวัฒนวงศ์ ณ อยุธยา ๕. พระองค์เจ้าดำรงฤทธิ์ สิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์ กุลสตรีซึ่งเป็นพระนัดดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชหลายท่านได้เป็นชายา และหม่อมของเจ้านายฝ่ายหน้าแห่งพระราชวงศ์จักรี ๑. คุณหญิงแสง ธิดาคนโตของพระองค์เจ้าอัมพวัน พระราชโอรสพระองค์ที่ ๓ ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้เป็นชายาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๒ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ต้นราชสกุลกุญชร ณ อยุธยา กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๒๒ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงรับราชการกำกับกรมม้าและได้รับทรงกรมเป็นกรมหมื่นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้เลื่อนพระยศ เป็นกรมพระและได้กำกับกรมพระคชบาลอีกตำแหน่งหนึ่ง กรมพระพิทักษ์เทเวศร์เป็นผู้สร้างวังบ้านหม้อขึ้นที่บริเวณคูเมืองด้านตะวัน ออก ซึ่งที่ตั้งในปัจจุบันคือถนนอัษฎางค์ตรงข้ามกรมการรักษาดินแดน วังบ้าน หม้อเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งนอกเหนือจากพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังบวรสถานมงคล ส่วนที่ยังปรากฏที่เป็นเอกลักษณ์คือ ท้องพระโรงซึ่งถือเป็นแบบฉบับท้องพระโรงของวังเจ้านายระดับพระองค์เจ้า คุณหญิงแสงประสูติโอรสและธิดาคือ หม่อมเจ้าหญิงลมุน กุญชร และหม่อมเจ้าสิงหนาท กุญชร ซึ่งเป็นพระโอรสองค์ใหญ่ของกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ หม่อมเจ้าสิงหนาทได้รับราชการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัว ได้ทรงบัญชาการกรมพระอัศวราช กรมมหรสพ และได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้ามีพระนามว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงคฤทธิ์ พระองค์เป็นพระบิดาของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) ผู้บัญชาการกรมม้า และกรมมหรสพ ท่านเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการและกระทรวงเกษตราธิการตามลำดับ ท่านถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๖๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒. คุณหญิงพึ่ง ธิดาคนที่ ๔ ของพระองค์เจ้าอัมพวันได้เป็นชายาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม พระราชโอรสพระองค์ที่ ๒๑ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยศเดิมคือ พระองค์เจ้าชุมสาย ทรงประทับทรงงานที่วังท่าพระ ทรงเป็นเจ้านายที่มีพระนิสัยดุ เอาจริงเอาจังกับหน้าที่ราชการได้ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรม ชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระอัธยาศัยเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ โปรดงานก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ไม่เน้นรายละเอียดวิจิตรตระการตามากนัก ทรงมีความสามารถในการคำนวณตามแบบสถาปัตยกรรมไทยได้ทรงกำกับราชการกรมช่าง ศิลาและกรมช่างสิบหมู่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสิงหวิกรมทรงเป็นต้นราชสกุลชุมสาย ณ อยุธยา สิ้นพระชนม์เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ ๓. คุณหญิงพลับ ธิดาของสมเด็จเจ้าฟ้าทัศพงษ์ หรือพระพงษ์นรินทร์ได้เป็นหม่อมห้ามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นภูมินทร ภักดี พระราชโอรสพระองค์ที่ ๑๕ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับราชการกรมช่างสิบหมู่ คุณหญิงพลับมีโอรส ๓ พระองค์ คือ หม่อมเจ้าสารภี ลดาวัลย์ หม่อมเจ้าชาย ลดาวัลย์ และหม่อมเจ้าเผือก ลดาวัลย์ เมื่อทรงพระชราภาพพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นภูมินทร์ภักดี ทรงประชวร ดวงพระเนตรเป็นต้อ ทอดพระเนตรไม่เห็น และในครั้งนั้นเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ก็ป่วยเป็นโรคตา เช่นเดียวกันพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ติดต่อแพทย์ตะวันตกเข้ามาผ่าตัดตาของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มหาโกษาธิบดี และโปรดให้ผ่าตัดพระเนตรของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี จนสายพระเนตรหายเป็นปกติ และได้ฉายพระรูปมอบให้แพทย์ฝรั่งเป็นที่ระลึกด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดีสิ้นพระชนม์เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๔. คุณหญิงทับ ธิดาของสมเด็จเจ้าฟ้าศิลา พระราชโอรสพระองค์ที่ ๘ ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เป็นหม่อมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระรามอิศเรศ พระราชโอรสพระองค์ที่ ๒๒ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งได้รับราชการศาลรับสั่งและความฎีกา ทรงเป็นต้นราชสกุลสุริยกุล ณ อยุธยา นอกจากการรับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอมมารดาหรือบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือเป็นหม่อมในเจ้านายฝ่ายหน้าแห่งพระราชวงศ์จักรีแล้ว กุลสตรีแห่งสกุลวงศ์พระเจ้ากรุงธนบุรีหลายท่านได้รับราชการใกล้ชิดพระราช สำนัก เช่น คุณหญิงจั่น และคุณหญิงขาว ธิดาของสมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศนพงศ์ คุณหญิงจั่นเป็นพระนมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกกันทั่วไปว่า "พระนมจั่น" ซึ่งเป็นพระนมที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความเคารพรัก ส่วนคุณหญิงขาวเป็นพระนมของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์ สมเด็จพระอนุชาร่วมพระครรภ์กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น