ความยุติธรรมในนิทาน
โดย ไพร่แขนขาว
“ไพร่แขนขาว” เคยอ่านนิทานที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง เข้าใจว่าเป็นนิทานอินเดีย ซึ่งศาสตราจารย์ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร หรือท่านมหาแสง ได้เล่าไว้ใน “อนุสรณ์มหาจุฬาฯ” พ.ศ. 2505 นิทานเรื่องนี้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับความยุติธรรมในการแบ่งของ 8 ชิ้นให้แก่คน 2 คน ตามสัดส่วนที่แต่ละคนพึงจะได้รับ
เรื่องมีอยู่ว่ามีกระทาชาย 2 คน เดินทางไปทางเดียวกัน ทั้งสองรู้จักกันในระหว่างเดินทาง ก็ถือเป็นเพื่อนเดินทางไปด้วยกัน ครั้นเดินไปไกล ทั้งสองรู้สึกเหนื่อยจึงนั่งพักที่ใต้ร่มไม้ริมสระแห่งหนึ่งแล้วเปิดห่อ อาหารของตนออก กระทาชายคนหนึ่งมีโรตี 5 แผ่น อีกคนหนึ่งมี 3 แผ่น ทั้งสองเริ่มจะกิน ขณะนั้นมีเศรษฐีคนหนึ่งขี่ม้าเข้ามาใกล้ กระทาชายทั้งสองนั้นจึงทักขึ้นแล้วเชิญให้รับประทานอาหารด้วยกัน เศรษฐีกล่าวขอบใจและบอกว่าตนก็หิวอยู่เหมือนกัน แต่เกรงว่าอาหารของคนทั้งสองนั้นจะไม่พอกิน
กระทาชายเดินทางพูดว่า “หามิได้ นาย! อาหารของเรามีพอ เชิญท่านรับประทานกันเราเถิด”
เศรษฐีลงจากหลังม้า เข้าร่วมวงรับประทานอาหารกับกระทาชายทั้งสองนั้น
ทั้ง 3 คน จึงแบ่งอาหารเท่าๆ กัน แล้วให้เศรษฐีรับประทาน เมื่อเสร็จการรับประทานแล้ว เศรษฐีขึ้นหลังม้าเริ่มจะออกเดินทาง จึงโยนเงินให้ 8 แอนนา แล้วพูดว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกคิดถึงบุญคุณท่านมากที่ท่านได้ให้อาหารข้าพเจ้ารับประทาน ขอท่านได้กรุณารับเงิน 8 แอนนานี้แบ่งกันเถิด”
กระทาชายทั้งสองพูดว่า “ข้าพเจ้าเชิญท่านรับประทานเอง มิได้คิดค่าอาหารเป็นสนนราคาอะไร ทำไมท่านจึง [ทำ] อย่างนี้”
เศรษฐีทำเป็นไม่ได้ยิน เป็นแต่ร้องสั่งว่า “เก็บเงินไว้เถิด” แล้วขับ [sic] ม้าออกจากที่นั้นไป
กระทาชายคนหนึ่งพูดขึ้นว่า “เอาละพี่ชาย แอนนานี่มี 8 อันเรามาแบ่งกันเถอะ ฉันมีโรตี 5 แผ่น ฉันจะเอา 5 แอนนา พี่มี 3 แผ่น พี่เอา 3 แอนนาก็แล้วกัน”
กระทาชายอีกคนค้านว่า “ไม่เอา แบ่งอย่างนี้ไม่ถูก เราทั้งสองต้องแบ่งให้เท่ากัน เธอเอา 4 แอนนา ฉันเอา 4 แอนนา อย่างนี้มันจะยุติธรรม”
กระทาชายคนแรกไม่ยอม คนที่สองก็จะเอา 4 แอนนา ให้ได้ ทั้งสองก็ได้เถียงกันไม่ตกลงกัน ข้างหนึ่งก็จะเอา 5 แอนนา ให้เพื่อนเดินทาง 3 แอนนา ตามจำนวนโรตีเท่าที่มีอยู่ อีกฝ่ายหนึ่งก็จะให้แบ่งเท่าๆ กัน คนละ 4 แอนนา เพราะคิดว่าได้ 3 แอนนาน้อยไป ผู้ที่จะเอา 5 แอนนาก็รู้มากเกินไป เมื่อโต้เถียงกันไม่ตกลงจึงปรึกษากันว่า ถ้ากระนั้นเราไปให้ผู้พิพากษาตัดสินเถิด จะได้รู้ว่าใครได้เท่าไร
ทั้งสองไปหาผู้พิพากษา บอกให้ผู้พิพากษาทราบธุรกิจที่ตนมา ผู้พิพากษาจึงไต่ถามทราบเรื่องชัดเจนแล้ว จึงถามว่า “พี่ชายมีโรตี 3 อันมิใช่หรือ เขาแบ่งแอนนาให้ 3 แอนนาก็ดีแล้วนี่ ทำไมพี่ชายจึงไม่รับส่วนแบ่งล่ะ”
กระทาชายผู้นั้นตอบว่า “มิได้นาย ฉันต้องการให้แบ่งเท่ากันคนละครึ่งจึงจะยุติธรรม ท่านโปรดพิจารณาตัดสินให้ฉันด้วย”
ผู้ พิพากษาพูดว่า “ดีล่ะ ฉันจะตัดสินให้ แต่ท่านต้องไม่โกรธเคืองอีกคนหนึ่งนะ” แล้วผู้พิพากษาก็สั่งให้กระทาชายที่มีโรตี 5 แผ่น ได้แอนนา 7 แอนนา ให้ผู้ที่มีโรตี 3 แผ่น ได้แอนนา 1 อันเท่านั้น
กระทาชายที่ถูกตัดสินให้ได้แอนนา 1 อัน เมื่อได้ยินคำตัดสินของผู้พิพากษาเช่นนั้นก็ทำท่าจะร้องไห้ คิดว่า เอนี่ผู้พิพากษาอะไรกัน ทีแรกเราจะได้ 3 แอนนา เราขอให้เป็น 4 แอนนา แต่แล้วไหงให้เราได้แอนนาเดียวเท่านั้น ผู้พิพากษาอะไรอย่างนี้ อดรนทนไม่ได้ จึงถามขึ้นว่า “ทำไมจะเป็นอย่างนี้ล่ะนาย”
ผู้พิพากษาจึงพูดว่า “เธอคงคิดว่าฉันตัดสินไม่ถูกซินะ เอาละฟังฉันว่า ฉันตัดสินถูกหรือไม่ถูก ให้มันรู้ไปซิไหน โรตีทั้งหมดมีกี่แผ่น?”
“แปดแผ่น”
“คนกิน กี่คน?”
“สามคน”
“แต่ละคนกินเท่าๆ กันหรือ?”
“จ๊ะ เท่าๆ กัน เราแบ่งเท่าๆ กัน”
“โรตีแผ่นหนึ่งๆ แบ่งออกกี่ชิ้น?”
“แผ่นละสามชิ้น”
“ทั้งหมดรวมเป็นกี่ชิ้น?”
“ยี่สิบสี่ชิ้น”
“เอาละ บอกทีหรือว่าคนหนึ่งๆ กินโรตี กี่ชิ้น?”
“คนละ แปดชิ้น”
“เธอล่ะกินกี่ชิ้น?”
“ฉันก็กินแปดชิ้นน่ะซิ”
“แขกที่มา กินโรตีของท่านกี่ชิ้น?”
“ชิ้นเดียว”
“แล้วแขกที่มา เขากินโรตีของอีกคนหนึ่งกี่ชิ้น?”
“เจ็ดชิ้น”
“ถ้าเช่นนั้น เธอบอกมาทีหรือว่า เธอควรจะได้ส่วนแบ่งกี่แอนนา และอีกคนหนึ่งเขาควรจะให้กี่แอนนา?”
นิทานข้างต้นมีข้อที่น่าพิเคราะห์หลายประการ แต่ “ไพร่แขนขาว” ขอกล่าวถึงบางแง่มุมเท่านั้น
1. เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ขอแสดงแบบจำลองการแบ่งโรตีและเงินตอบแทน ดังปรากฏข้างล่างนี้ แต่โปรดพิเคราะห์และตีความกันเองตามอัธยาศัย
A = ผู้มีโรตี 3 แผ่น ซึ่งกินโรตีของตัวเองไปถึง 7 ชิ้นเล็ก แต่แบ่งให้เศรษฐีกินเพียง 1 ชิ้นเล็ก
B = ผู้มีโรตี 5 แผ่น ซึ่งกินโรตีของตัวเองไป 8 ชิ้นเล็ก โดยแบ่งให้เศรษฐีกินถึง 7 ชิ้นเล็ก
C = เศรษฐี ซึ่งกินโรตีของ A ไปเพียง 1 ชิ้นเล็กแผ่น แล้วกินโรตีของ B ไปถึง 7 ชิ้นเล็ก
2. ผลประโยชน์นั้นทำให้คนทะเลาะกัน ทั้ง ๆ ที่ตามเนื้อเรื่องแล้ว กระทาชายทั้งสองมิได้ประสงค์จะรับเงินตอบแทนจากเศรษฐีแต่อย่างใด แถมยังตัดพ้อเศรษฐีว่า ทำไมต้องให้เงินตอบแทนด้วยเล่า หากเศรษฐีไม่ให้เงินมา ปัญหาคงไม่เกิดปัญหาขึ้น แต่ทั้งสองรับเงินแล้วก็จำเป็นต้องแบ่งกันอย่างเป็นธรรม รู้ ๆ กันอยู่ว่าผลประโยชน์นั้นไม่เข้าใครออกใคร ขนาดพ่อแม่ญาติพี่น้องกันยังทะเลาะกันได้เพราะเงินตัวเดียว นับประสาอะไรกับเพื่อนเดินทางที่เพิ่งรู้จักกันล่ะ
3. การแบ่งส่วนดังกล่าวมีเกณฑ์ในการแบ่งอยู่ 2 เกณฑ์ที่ขัดกัน คือ เกณฑ์แรก เป็นเกณฑ์ที่ตรงกับความรู้สึกของคนทั่วไปหรือสามัญสำนึก ที่จะแบ่งเงินตอบแทน (ผลกำไร) เป็น 5 ต่อ 3 ตามสัดส่วนของโรตี (ทุนที่ลง) เกณฑ์นี้มักจะใช้ในการร่วมกันทำธุรกิจ เมื่อคนหนึ่งลงทุน 5 ส่วน อีกคนลงทุน 3 ส่วน ผลกำไรย่อมต้องแบ่งตามสัดส่วน 5:3 ”ไพร่แขนขาว” ขอเรียกการแบ่งตามเกณฑ์นี้ว่าเป็น “ความยุติธรรมแบบหุ้นส่วน” เกณฑ์ที่สอง “ไพร่แขนขาว” ขอเรียกว่าเป็น “ความยุติธรรมแบบสัดส่วน”จะใช้ในกรณีที่ผู้เกี่ยวข้องมิได้เป็นหุ้นส่วนกัน โดยดูว่าผู้นั้นเสียสัดส่วนของตน (เสียหาย) ไปเท่าใด ก็ย่อมจะได้รับการตอบแทน (ชดเชย) ตามส่วนนั้น เมื่อคนหนึ่งเสียส่วนของตนไป 7 ส่วน และอีกคนหนึ่งเสียไป 1 ส่วน การได้รับค่าตอบแทนจึงต้องเป็นไปตามสัดส่วน 7:1 โดยปกติแล้ว เกณฑ์ที่สองนี้มักจะใช้ในกรณีการเฉลี่ยความเสียหายระหว่างกัน หรือการขายสินค้าเฉพาะส่วนของแต่ละคน มิได้มีการร่วมกันลงทุนแต่อย่างใด ซึ่งนับว่าเข้ากับความยุติธรรมตามนิทานข้างต้นนี้พอดี
4. “ไพร่แขนขาว” เคยทดลองเล่านิทานดังกล่าวให้แก่ผู้ฟังนับถึงปัจจุบันน่าจะรวมพันคนได้ (ต่างเวลาและสถานที่กัน ทั้งนี้เป็นผู้ฟังที่มีการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก) โดยอุบเหตุผลของผู้พิพากษาไว้ก่อน แล้วหยั่งเสียงดู ปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าการแบ่งตามสัดส่วน 5:3 ถูกต้อง เสียงข้างน้อยเห็น 4:4 ถูกต้อง มีเพียง 2–3 ท่านเท่านั้นที่เห็นว่าควรเป็น 7:1 แต่ให้เหตุผลเชิงศีลธรรมคือเพื่อเป็นการลงโทษแก่ผู้ละโมบโลภมาก
5. เมื่อ “ไพร่แขนขาว” เฉลยคำตอบ ผู้ฟังเกือบทั้งหมดก็ยอมจำนนต่อเหตุผลของผู้พิพากษา มีเพียงผู้กล้าหาญท่านหนึ่งที่แสดงความเห็นแย้ง โดยให้เหตุผลพ้องกับแนวคิดของความยุติธรรมแบบหุ้นส่วน ทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้น “ไพร่แขนขาว” ยังมิได้กล่าวถึงเรื่องความยุติธรรมแต่อย่างใด ก็ต้องขอให้กำลังใจและชื่นชมผู้ที่แสดงความเห็นนั้น แม้จะมิได้เห็นตรงกันก็ตาม
6. “ไพร่แขนขาว” สรุปเอาเองว่า คนโดยทั่วไปมักจะตกอยู่ภายใต้กรอบวิธีคิดแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่เวลาขอให้แสดงเหตุผล ก็อึกอัก อ้ำอึ้ง ติดอยู่ในลำคอ (จริง ๆ แล้วอาจจะให้เหตุผลได้อย่างคล่องปากก็ได้ เพียงแต่โชคร้ายที่เกิดมาในวัฒนธรรมที่มีกลวิธีอันแยบคายในการสกัดกั้นการ แสดงความคิดเห็น) อย่างไรก็ดี “ไพร่แขนขาว” สังเกตเห็นว่า ผู้สนับสนุนสัดส่วน 5:3 จำนวนไม่น้อยก็ยังไม่แน่ใจในคำตอบของตนว่าถูกต้อง อาจเป็นเพราะในใจคงคิดว่าไม่เป็นธรรมนั่นเอง แต่ไม่รู้จะเอาวิธีคิดแบบใดมาแทนวิธีคิดแบบเดิมของตน
7. ในนิทานดังกล่าว ผู้พิพากษาเริ่มต้นด้วยการบ่ายเบี่ยงที่จะตัดสิน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือผู้พิพากษากำลังปฏิเสธที่จะใช้เกณฑ์ความยุติธรรมแบบ สัดส่วน (7:1) ตั้งแต่ต้นนั่นเอง โดยยอมรับให้ผู้เกี่ยวข้องใช้เกณฑ์ความยุติธรรมแบบหุ้นส่วน (5:3) ได้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้พิพากษาเห็นว่าการแบ่ง 5:3 เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความรู้สึกของคนทั่วไปในสังคมก็เป็นได้ (ดังที่ “ไพร่แขนขาว” ได้ลองหยั่งเสียงด้วยตนเองมาแล้ว) แต่เมื่อคู่พิพาทยืนกรานให้ตัดสินแล้ว ผู้พิพากษาผู้เที่ยงธรรมก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้เกณฑ์ความยุติธรรมแบบสัด ส่วน (7:1) แม้จะต้องฝืนกับความรู้สึกของสังคมก็ตาม แล้วก็ได้แสดงเหตุผลอย่างสิ้นข้อสงสัย เมื่อเป็นเช่นนี้จุดเน้นของเรื่องจึงมิได้อยู่ที่ผลแห่งคำตัดสิน แต่อยู่ที่การให้เหตุผลเป็นสำคัญ ดังที่ทราบกันดีในหมู่นักนิติศาสตร์ว่า โดยเนื้อแท้แล้ววิชานิติศาสตร์เป็นวิชาว่าด้วยการให้เหตุผล มิใช่วิชาว่าด้วยการเล่นถ้อยคำดังที่นักกฎหมายจำนวนมากถือเป็นวัตรปฏิบัติ กันจนมีผู้ปรามาศว่าเป็นนักนิติอักษรศาสตร์
8. บางท่านอาจคิดว่า ถึงผู้พิพากษาจะตัดสิน 5:3 หรือ 7:1 ผู้คนในสังคมก็ต้องยอมรับอยู่ดี เพราะคำพิพากษาต้องถือเป็นที่สุด โดยไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ ก็ตัดสินไปแล้วจะเอาอะไรกันอีก บางท่านก็ชอบใช้จินตนาการมากกว่าจะฟังเหตุผลของเรื่อง พอได้ยินผลของคำวินิจฉัยไม่ว่าเรื่องใด ถ้าตรงกับจริตของตน ก็จะรีบกล่าวยกย่องสรรเสริญ โดยปราศจากการพินิจพิเคราะห์ถึงความมีเหตุผลของคำพิพากษาเลย บางท่านก็มักจะอ้าง “อำนาจ” ของคำพิพากษามาปิดปากผู้คน บังคับให้ผู้คนต้องเคารพในอำนาจนั้น เชื่อในอำนาจนั้น ผู้ใดวิพากษ์วิจารณ์แม้จะกระทำอย่างมีเหตุมีผลก็ตาม อาจถูกมองจากคนบ้าอำนาจเหล่านี้ว่า เป็นผู้ละเมิดอำนาจแห่งคำพิพากษา ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้วิจารณ์กำลังทำหน้าที่ช่วยกันจรรโลงสถาบันตุลาการมิให้ละทิ้งอุดมการณ์ ของการมีอยู่ของตนเอง
9. นิทานเรื่องนี้ได้เตือนสติให้ “ไพร่แขนขาว” ตระหนักว่าอำนาจที่แท้จริงแห่งคำพิพากษานั้นอยู่ที่ “ความมีเหตุผล” ความมีเหตุผลแห่งคำพิพากษาเท่านั้นที่ทำให้สังคมรับรู้ถึงความยุติธรรม และเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อความน่าเชื่อถือของสถาบันตุลาการ แม้แต่ฝ่ายผู้ต้องเสียประโยชน์จากผลของคำพิพากษาเมื่อได้ยินเหตุผลที่ชอบ ธรรมแล้ว อย่างน้อยก็ยังสบายใจขึ้นว่าที่ตนแพ้นั้น ด้วยเหตุผลอันยุติธรรมแท้จริง สมศักดิ์ศรีแห่งความพ่ายแพ้
10. ถ้าเราเชื่อในอำนาจแห่งความมีเหตุผลของคำพิพากษาแล้ว อุดมการณ์สูงสุดของผู้พิพากษาจึงไม่มีอะไรสูงส่งไปกว่า “เหตุผล เหตุผล และเหตุผล” คำวินิจฉัยที่ปราจากเหตุผล หรืออ่อนด้อยด้วยเหตุผล หรือจงใจละเลยไม่ใช้เหตุผลในการหักล้างประเด็นแห่งคดี หรือทำเนียนประหนึ่งว่าประเด็นนั้นไม่สำคัญจึงไม่ต้องหาเหตุผลมาหักล้าง หาได้มีคุณค่าใดๆ ต่อสังคมไม่ และยังเป็นตัวทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันตุลาการในที่สุด
11. สิ่งที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งที่จะทำให้คำพิพากษาคงอยู่ในร่องในรอยของความ มีเหตุผลได้นั้น คือ การวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบคำพิพากษาโดยสาธารณชนนั่นเอง
ที่บ่นมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องในนิทานเท่านั้น